ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กับภารกิจ ยกระดับทักษะดิจิทัลเพื่อคนไทย 10 ล้านคน
ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กับภารกิจ ยกระดับทักษะดิจิทัลเพื่อคนไทยกว่า 10 ล้านคน เดินหน้าเปิดตัว ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ร่วมกับ 7 ภาคีภาครัฐและเอกชน มุ่งเป้าเสริมการจ้างงานให้แก่คนไทย 250,000 ภายใน 1 ปี
ในสภาวะที่โลกทั้งใบต้องก้าวเดินให้ทัน digital transformation ทว่ากลับถูกเร่งให้เปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าเดิมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนให้ทุกอุตสาหกรรม ซึ่งในประเทศไทยหลายธุรกิจถูกแช่แข็งและยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่แม้ผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้วจากการปิดประเทศ และมาตรการรักษาระยะห่าง จนไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้เหมือนในช่วงสถานการณ์ปกติ จำนวนคนตกงานจึงพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่า ภายในปีนี้จะมีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างในภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่น ๆ ทั้งหมดร่วม 8.4 ล้านคน ไม่นับรวมบัณฑิตจบใหม่อีกกว่า 5.2 แสนคน
แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอโดยเฉพาะกับคนที่ปรับตัวเร็วท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเกือบเต็มตัวจากการเร่งของโควิด-19 เช่นเดียวกับ ไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของโลกมองเห็นโอกาสนั้น จึงส่งทีมภูมิภาคเข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการสั่นคลอนโลกทั้งใบในครั้งนี้
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปีนี้คาดว่าจะมีกลุ่มงานที่หายไป และการจ้างงานใหม่จะเป็นการมองหาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านทักษะดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พอดีกับที่ทาง บริษัท ไมโครซอฟท์ ที่สหรัฐอเมริกา มีโครงการ philanthropies ที่มีความตั้งใจจะสร้างทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับคนที่กระทบจากโควิด-19 กว่า 25 ล้านคนทั่วโลก เราจึงกลับมาดูบริบทของประเทศไทยว่าเรามีความมุ่งมั่นในการนำดิจิทัลเข้ามาเสริมทักษะให้กับทุกคน ให้สามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงและเพิ่มมูลค่าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมปรับตัวรับงานใหม่ ๆ และสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มโอกาสด้านการจ้างงานในอนาคต ผมต้องขอขอบพระคุณพันธมิตรทุกราย กับความร่วมมืออันแข็งแกร่งในครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะดิจิทัลในการจ้างงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะเติมเต็มความตั้งใจของเรากับเส้นทางการสร้างทักษะทางแรงงานด้วยการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยกว่า 10 ล้านคนได้โดยเร็วที่สุด”
ทางด้าน สุภารัตน์ จูระมงคล Philanthropies Lead ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสริมว่า “โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน” จะมาช่วยยกระดับคุณภาพแรงงานไทย 250,000 คน ให้มีทักษะเชิงดิจิทัล หรือ digital skill เพราะ ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าเป็น citizen ที่มีคุณค่า ต้องไม่มีแค่มุมมองด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจาก research ทั้งหมดที่นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาโครงนี้คือ ผลการศึกษาของ AlphaBeta strategy x economics ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่คาดการณ์ว่าในประเทศไทย ธุรกิจโรงแรม การบริการส่วนบุคคล และการขนส่งจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด ทว่าในวิกฤตที่มืดหม่นนี้ยังมีแสงสว่าง หากนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาช่วยในการดำเนินธุรกิจจะช่วยเพิ่มการเติบโตได้ถึงขึ้น 5-6 เปอร์เซ็นต์
“แต่คนที่เขาได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่ได้มีทักษะทางด้านดิจิทัลมากนัก หลังจากที่เขาถูกให้ออกจากงาน เราเข้าใจว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะกลับบ้านไปอยู่ตามท้องถิ่นของเขา แล้วเราจะดึงพวกเขากลับมาสู่การจ้างงานได้ยังไง” สุภารัตน์ เล่าให้ฟังถึงภารกิจสำคัญในครั้งนี้
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน โดยจัดอบรมผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในรูปแบบวิดีโอการอบรม และคู่มือภาษาไทยเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมสำนักงานและจัดทำเอกสารทั้ง Microsoft Word, Microsoft Excel และ Microsoft PowerPoint รวมถึงซอฟต์แวร์ที่สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องมีทักษะด้าน coding บนซอฟต์แวร์ Power App, Power BI, Digital Literacy ไปจนถึงการติวสอบ Microsoft Office Specialist ในโปรแกรม Microsoft Excel ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของในสายงานวิเคราะห์ข้อมูล Data Analyst และ Data Scientist
อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าภารกิจเหล่านี้ทีมไมโครซอฟท์ ทำคนเดียวไม่ได้อย่างแน่นอน หากขาดความช่วยเหลือจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการจัดฝึกอบรม digital skill แก่บุคลากรฝึก เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่แรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เตรียมจัดอบรมแก่ครูของสำนักงาน กศน. แล้วจึงขยายผลองค์ความรู้เหล่านี้ผ่าน กศน. ตำบล 7,424 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 180,000 คน และเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม lll-olc.net ของยูเนสโกเพื่อเข้าถึงเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือแม้กระทั่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมินสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการบางส่วน รวมถึงมีการจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน ตั้งแต่การการทำเรซูเม่ให้น่าสนใจจากทีม JobsDB
“เราต้องการให้กลุ่มแรงงานได้รับการจ้างงานด้วย เราจึง research ดูว่าองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนมีใครบ้างที่คิดว่าน่าจะมาจับมือร่วมกันได้ แล้วก็สามารถที่จะเข้าถึงคนได้เยอะ ๆ ลงไปถึงรากหญ้า หรืออยู่ใกล้บ้านของคนที่เขาขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ” สุภารัตน์ กล่าว
ขณะที่ ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa หนึ่งในพันธมิตรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ด้าน digital skill ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พัฒนาขึ้น อาทิ www.digitalskill.org และเปิดพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการเชื่อมงานและคนเข้าด้วยกันภายใต้แพลตฟอร์มชื่อ JobD2U ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาที่เข้าเรียนด้านคอมพิวเตอร์ในสถาบันอุดมศึกษาปีละกว่า 20,000 คน แต่กลับมีแรงงานเข้ามาทำงานในระบบไม่เกิน 6,000 คนต่อปี ซึ่งไทยได้สูญเสียกำลังหลักระหว่างทางเช่นนี้มาอย่างน้อย 6-7 ปีแล้ว ดังนั้น จึงต้องการผลิตบัณฑิตจบใหม่สาขาคอมพิวเตอร์เติมเข้าสู่ระบบ พร้อมกับยกระดับทักษะดิจิทัลของเด็กอาชีวะทั่วประเทศให้สูงขึ้นและเป็นไปในแนวทางที่ตลาดมีความต้องการ เนื่องจากตลาดแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ขณะนี้ต้องการทางด่วน หากต้องรอการเรียนรู้แบบเดิม 2 ปี หรือ 4 ปี อาจจะไม่ทันการแล้ว
“ผมเชื่อว่าโครงการนี้ถ้าทำได้ตามเป้าหมายจะช่วยเติมเต็มช่องว่างการตลาดได้ในส่วนหนึ่ง แล้วครั้งนี้ไม่ใช่โครงการที่เป็น one time activity แต่เป็น journey ถ้าวันนี้เราอบรมคนเสร็จ อาทิตย์หน้ามีระบบใหม่มาอีก แล้วก็ต้องมีการ reskill upskill ไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การทำงานกับไมโครซอฟท์ เรียกว่าเป็นการเดินทางที่เราจับมือร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาคนไทยให้ตอบโจทย์ธุรกิจได้เรื่อย ๆ และมีวิธีพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต”
ในมุมมองของธนวัฒน์และทีมไมโครซอฟท์ อีกด้านหนึ่งโควิด-19 ก็เป็นโอกาสใหญ่ในการพลิกสถานการณ์ เพราะหลังจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งใครที่ปรับตัวได้เร็วกว่าจะได้เปรียบในเกมนี้ และคาดหวังว่าโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงานจะเข้าไปพัฒนา digital skill ในกลุ่มแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีรายได้ พร้อมช่วยขยายเป้าหมายของแต่ละองค์กรที่เป็นพันธมิตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้มากกว่า 180,000 คน โดยอาจจะเพิ่มช่องทางออนไลน์ให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง “จริง ๆ ก็คิดว่าเป้าหมายโครงการที่ตั้งไว้ 250,000 คน อาจน้อยไป แต่เราก็คิดว่าเป็นตัวเลขที่ไปได้ถึงอย่างแน่นอน” คุณสุภารัตน์เสริม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ยังช่วยให้ภาคธุรกิจที่อยากจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI แต่ยังขาดแรงงานที่มีทักษะด้านนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ พร้อมต่อการแข่งขันในระดับโลกมากขึ้น
นอกจากคาดหวังให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัลในเชิงธุรกิจแล้ว อีกเป้าหมายหนึ่งของโครงการนี้คือการขยาย comfort zone เพื่อสร้าง growth mindset กับผู้เข้าร่วมโครงการให้เติบโตไปสู่สิ่งที่ที่ตั้งหวังไว้ “คนจะมีความสุขได้ก็ต้องมองว่าตัวเองไม่เป็นภาระให้กับคนอื่น แล้วต้องมีรายได้ในระดับหนึ่งที่สามารถจะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะฉะนั้น ทักษะดิจิทัลเป็นทักษะความสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน หรือถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดการจ้างงาน เขาก็สามารถที่จะเป็นนายของตัวเองได้” คุณธนวัฒน์ สรุปปิดท้าย
ผู้สนใจเรียนแบบออฟไลน์สามารถติดต่อ กศน. ตำบลใกล้บ้าน หรือ กศน. เขต ในกรุงเทพ รวมทั้งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด เริ่มในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 สำหรับการเรียนออนไลน์สามารถเรียนได้ที่ https://www.digitalskill.org/, www.nfe.go.th, www.lll-olc.net และ www.e-training.tpqi.go.th ได้ตั้งแต่มกราคมนี้เป็นต้นไป