ลำนำแห่งการปฏิวัติ เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เสียงก้องของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’

ลำนำแห่งการปฏิวัติ เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เสียงก้องของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’
หลายคนพูดว่า เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มีเนื้อหาเป็นสากล ใครต่อใคร จึงนำไปขับขานปลุกหัวใจผู้คนให้ลุกขึ้นสู้ แม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและอุปสรรคทั้งปวง   20 ปีมานี้ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ถูกนำไปขับร้องบนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง และ กปปส. มีข้อถกเถียงมากมาย ระหว่างฝักฝ่าย   แท้จริงแล้ว เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา มีสถานะเป็นเพลงปฏิวัติอย่างมิต้องสงสัย เพราะเพลงนี้เกิดท่ามกลางการต่อสู้ในเรือนจำลาดยาว   บทเพลงจากลาดยาวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้มีการเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ “คอมมิวนิสต์ลาดยาว” เขียนโดย ทองใบ ทองเปาด์ เมื่อปี 2517   ทองใบ ทองเปาด์ เป็นนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กวาดล้างจับกุมผู้คนในข้อหาคอมมิวนิสต์ ทองใบได้บันทึกเรื่องราวของบุคคลในวงการต่าง ๆ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำลาดยาว ตั้งแต่ชีวิตของชาวนา กรรมกร นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงนักการเมือง   บทเพลงของจิตรในเรือนจำลาดยาว ระหว่างปี 2503-2506 ในนามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง” ได้มีการตีพิมพ์คำร้อง พร้อมโน้ตตัวเลข ในหนังสือ “คอมมิวนิสต์ลาดยาว” ได้แก่เพลงมาร์ชชาวนาไทย, มาร์ชลาดยาว ,เทิดสิทธิมนุษยชน, ฟ้าใหม่, ความหวังยังไม่สิ้น,แสงดาวแห่งศรัทธา, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, ศักดิ์ศรีของแรงงาน, อินเตอร์เนชั่นแนล, รำวงวันเมย์เดย์, วีรชนปฏิวัติ, มนต์รักจากเสียงกระดึง, ทะเลชีวิต, หยดน้ำบนผืนทราย และอาณาจักรความรัก   จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2501 ขณะนั้น จิตรอายุ 28 ปี ตำรวจยึดของกลางเป็นหนังสือ 21 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์   ทองใบ บันทึกเกี่ยวกับจิตร ในหนังสือคอมมิวนิสต์ลาดยาว ตอนหนึ่งว่า “ผมถูกขังอยู่ที่ห้อง 2 เรือนขังเล็กตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามาอยู่เรือนจำลาดยาว(เล็ก) เรือนขังเล็กมีห้องทั้งหมด 5 ห้อง ห้องแรกเป็นพวกคนหนุ่ม มีจิตร ภูมิศักดิ์ หรือทีปกร หรือสมชาย ปรีชาเจริญ หรือกวี การเมือง และนามปากกาอื่นๆ อยู่ร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เป็นคนรุ่นหนุ่ม และเป็นกำลังแรงงานของหน่วยผลิต ทั้ง 10 คน”   เพื่อนร่วมห้องขังของจิตร เป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนฯ ที่ได้รับการบ่มเพาะมาจากหน่วยจัดตั้งนอกคุกคือ บุญลาภ เมธางกูร และนิพนธ์ ชัยชาญ   จิตรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของ “คอมมูนลาดยาว” หน่วยการผลิตในเรือนจำ ที่คนหนุ่มรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น เพื่อหล่อหลอมความคิดและจิตใจ   หน่วยพรรค   จิตรและคนหนุ่มกลุ่มนี้ ได้รวมตัวกันตั้งวงดนตรีประจำ “คอมมูนลาดยาว” จิตรแตกฉานเรื่องดนตรีไทย และมีความรู้โน้ตสากลในระดับยอดเยี่ยม จึงแต่งเพลงไว้ขับกล่อมในแดนตาราง และร่วมแสดงในงานฉลองวันปีใหม่ และวันกรรมกรสากล   ผลงานเพลงของจิตรนั้น ปลุกเร้า ปลอบประโลม สร้างหวัง สร้างพลังใจให้แก่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ในเรือนจำลาดยาว   “ขอเยาะเย้ยทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง” (แสงดาวแห่งศรัทธา)   “ความใฝ่ฝันแสนงาม แต่ครั้งเคยเนาว์ ชื่นหวานในใจเรา อยู่มิเว้นวัน ความหวังเอย ไม่เคยไหวหวั่น ยึดมั่นว่าจักได้คืนเหมือนศรัทธา” (เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ)   ผ่านมาถึง พ.ศ.นี้ คงไม่ต้องไปปิดบังอำพรางเรื่องชาวคอมมิวนิสต์ไทยในเรือนจำลาดยาว เวลานั้น ที่นี่ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และแนวร่วม มีจำนวนมากกว่าประชาชนทั่วไปที่ตกเป็นเหยื่ออำนาจเผด็จการ   จิตรได้รับการศึกษาลัทธิมาร์กซ-เลนิน จากนิสิตหญิงรุ่นพี่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในหน่วยพรรคจุฬาฯ และเมื่อจิตรเข้ามาอยู่ในลาดยาว จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยพรรคคุกลาดยาว   สำหรับชาวลาดยาวในขณะนั้น จะนิยมร้องเพลง “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” มากกว่า “แสงดาวแห่งศรัทธา” เพราะพวกเขาคิดถึงบ้าน   เพลงปฏิวัติ   นักวิชาการบางคนใช้คำว่า “โฉ่งฉ่าง” สำหรับการแต่งเพลง “วีรชนปฏิวัติ” ของจิตร เมื่อนำไปเปรียบเทียบการแต่งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”   วิทิต จันดาวงศ์ บุตรชายครูครอง จันดาวงศ์ ถูกจับเข้าคุกลาดปี 2505 หลังการประหารชีวิตครูครอง และทองพันธ์ สุทธิมาศ ที่สนามบินสว่างแดนดิน จ.สกลนคร   วิทิตได้เข้าร่วมกลุ่มคนหนุ่มที่มีจิตรเป็นผู้นำ เพราะเป็นคนที่ชอบเล่นดนตรี และร้องเพลง จึงเข้าร่วมวงดนตรีลาดยาว   คืนวันที่ 31 พ.ค.2506 หน่วยพรรคในลาดยาว จัดงานรำลึกวันประหารชีวิตครูครอง ครบรอบ 2 ปี หลังพิธีรำลึกไว้อาลัยเสร็จสิ้น ชาวลาดยาวมารวมตัวที่โรงเลี้ยง พากันดื่มเหล้า ร้องเพลง พอดีมีกระดานดำอยู่ในห้องนั้น จิตรก็บอกเพื่อนหนุ่มว่า คืนนี้จะร่วมกันร้องเพลง จากนั้นเขาก็เขียนเนื้อเพลงบนกระดานดำว่า “ลูกไทยห้าวหาญสู้เผด็จการทารุณไม่เคยไหวหวั่น เผด็จการประหารชีวัน ศรัทธายังมั่นเสมอจนสิ้นใจ...”   ชาวหนุ่มลาดยาวร้องวนกันอยู่ท่อนนี้จนงานเลี้ยงเลิกรา ถัดมาอีกสองวัน จิตรก็เขียนเนื้อเพลงต่อจนจบ และพวกเขาร้องกันทุกงาน . จริง ๆ แล้ว การปลุกหวังปลุกพลังใจ มิใช่แค่ต่อสู้กับเผด็จการหากยังต่อสู้ทางความคิดภายในหมู่ชาวคอมมิวนิสต์ลาดยาว ในประเด็นการต่อสู้ทางข้อกฎหมาย   ฝ่ายคนหนุ่มได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งชี้ขาดว่า ตำรวจจับกุมพวกเขามาขังไว้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ฝ่ายผู้อาวุโส ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการเอาไม้ไปแหย่รังแตน   จิตรอยู่ในฝ่ายคนหนุ่ม ที่มิยอมยอมจำนน แม้ไม่เห็นหนทางที่จะชนะในกระบวนการยุติธรรม แต่พวกเขาก็ไม่สิ้นหวัง   “ขอเยาะเย้ยทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย..”   การยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเชื่อมั่นใน “ดาวศรัทธา” จิตรเรียนรู้วิชากฎหมายในลาดยาว ต่อสู้คดีด้วยตัวเองจนศาลทหาร กระทรวงกลาโหมพิพากษายกฟ้อง และปล่อยตัวเขา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2507   “พร่างพรายแสง..ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้าเด่นพราว   “ไกลแสนไกล ดั่งโคมทองส่องเรืองรุ้งในหทัย เหมือนธงชัยส่องนำ จากห้วงทุกข์ทน”   จิตรมีโคมทองส่องนำทาง จึงเดินทางจากเมืองหลวง สู่ดงพระเจ้าในคืนหนาวปี 2508    เรื่อง: ชน บทจร