คำถามถึงชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติ 4 ล้านคนในสภาวะโควิด-19

คำถามถึงชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติ 4 ล้านคนในสภาวะโควิด-19
จากเหตุการณ์การตรวจพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 จำนวน 516 คนจากการตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จำนวน 1,192 คนในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อในจังหวัดพุ่งขึ้นเป็น 548 คน ซึ่งมีการรายงานว่าส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อคือแรงงานข้ามชาติ จนนำไปสู่การปิดสถานที่สำคัญที่ต้องสงสัยว่าเป็นสถานที่แพร่เชื้อ เช่นตลาดกุ้ง หอพักแรงงานข้ามชาติ และงดการเดินทางออกนอกเคหะสถานโดยไม่จำเป็นระหว่าง 22.00-05.00 ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563-3 มกราคม 2564 . เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดรอบที่สองของโควิด-19 ในประเทศไทย และดูเหมือนว่าแรงงานข้ามชาติจะเป็นจุดสนใจของการติดเชื้อครั้งนี้ในจังหวัดสมุทรสาคร . แรงงานข้ามชาติใน ประเทศไทยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแท้จริง แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ เมียนมา กัมพูชา ลาว เข้ามาเสริมช่องว่างการขาดแคลนแรงงานด้านการผลิต แรงงานประมง การก่อสร้าง และการเกษตร พวกเขาและเธอเหล่านี้เข้ามาทำงานในลักษณะการทำงานแบบ 3D กล่าวคือ งานสกปรก (dirty) งานอันตราย (dangerous) และงานที่ยาก (difficult) จากสถิติจากกระทรวงแรงงาน ณ เดือนตุลาคม 2563 พบแรงงานข้ามชาติจาก 3 สัญชาติดังกล่าวกว่า 2.2 ล้านคน แต่อาจจะมีแรงงานถึง 4 ล้านคนหากรวมคนที่อยู่นอกระบบ . การตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นผลพวงจากการสั่งสมของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและสถานกาณ์โควิด-19 ทำให้ปัญหารุนแรงและแหลมคมขึ้น ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างเป็นคนไร้งานหรือถูกพักงานโดยไร้การชดเชยที่เหมาะสมจากนายจ้าง ทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีวิต และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงนโยบายการชดเชยของรัฐบาล เช่นแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงนโยบายเราไม่ทิ้งกันเพราะไม่ใช่ผู้ที่มีสัญชาติไทย หรือมีแรงงานข้ามชาติเพียง 7 หมื่นคนเท่านั้นที่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคมจากจำนวนแรงงานข้ามชาติกว่า 1.1 ล้านคนอยู่ในกองทุนประกันสังคม ประกอบกับนโยบายการปิดชายแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย . จากการรวบสถิติของเครือข่ายประชากรข้ามชาติ พบว่ามีจำนวนแรงงานกว่า 6 แสนรายที่หลุดออกจากระบบในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และอาจจะเป็นผู้ที่ทำงานผิดกฎหมายหากไม่มีมาตรการที่เหมาะสม . แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมีอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ และอุปกรณ์ป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ นโยบายที่ไม่ชัดเจนในการคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การสื่อสารข้อมูลสุขภาพในภาษาแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีความครอบคลุม และด้วยสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยที่แน่นขนัดทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบจะเป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าระบบสุขภาพที่เข้มแข็งของประเทศไทยที่ถือว่าได้มาตรฐานจนองค์กรอนามัยโลกชื่นชมมีประสิทธิภาพครอบคลุมกลุ่มประชากรทุกกลุ่มหรือไม่อย่างไร . นโยบายปิดชายแดน และการใช้มาตรการความมั่นคงที่เข้มงวดภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินที่ขยายมานานกว่า 9 เดือนมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยเฉพาะนโยบายปิดชายแดนที่ในทางกลับกันกลับเปิดพื้นที่การเข้าออกประเทศอย่างผิดกฎหมายให้กับทั้งคนไทยและต่างชาติ แน่นอนว่ากลุ่มคนลอดรัฐเหล่านี้ถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นนำพาโรคโควิด-19 เข้าประเทศ แต่อย่างไรก็ตามหากมีการเปิดชายแดนอย่างเหมาะสมนำผู้ลอดรัฐเข้าสู่ระบบการคัดกรองโรคที่รัฐจัดหาให้จะช่วยป้องกันการนำพาเชื้อโรคข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ . จากเหตุการณ์พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาครดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยเพื่อจัดการความท้าทายร่วมกัน นอกจากการตีตราแล้ว เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนในสังคมหันมาใส่ใจว่าสภาพการทำงาน การอยู่อาศัย การเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและบริการทางสังคมอื่น ๆ ของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยเป็นอย่างไร ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทยควรมีส่วนร่วมอย่างไรในการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในระบบการจ้างงานและระบบสาธารณสุขเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เราควรรับรู้ความเป็นอยู่ของผู้ที่มีส่วนช่วยสร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างมนุษย์คนหนึ่ง เพราะไม่ว่าอย่างไรผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพวกเขาย่อมส่งผลต่อคนในสังคมภาพรวม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม . เรื่องและภาพ: Our Fields' Story: เรื่องเล่าจากในฟิลด์ .