21 ธ.ค. 2563 | 16:35 น.
1
ชีวิตในสวนสมรม (ชื่อเรียกสวนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ผล ไม้ดอก พืชผักของคนไทยภาคใต้) ยังไม่น่ารื่นรมย์เท่าใดนัก หนุ่มสาวคนใต้เมื่อหลายปีก่อนจึงเลือกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือและหางานทำแทนการสืบทอดอาชีพทำสวน
ก่อนกลับใต้แบบถาวร เมื่อราวสิบปีก่อน อาจินต์ เพ็ชรวงศ์ ประธานกลุ่ม เพ็ชรคีรีโฮมสเตย์ บอกว่า ชีวิต 30 ปี ในเมืองหลวง เธอผ่านงานสารพัด ทั้งรับจ้าง, พนักงานบริษัท, ทำโรงฟอกยีนส์, ทำป้ายโฆษณา ฯลฯ จนกระทั่งเมื่อหมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย เธอจึงมีความคิดว่า อยากจะทำให้บ้านเกิดของเธอเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากกว่าเรื่องของอากาศ
“ใจอยากจะกลับบ้านอยู่แล้ว อยากจะกลับมาทำให้คีรีวงเป็นที่รู้จักมากขึ้น บอกให้เห็นว่าเรามีดีมากกว่าเรื่องของอากาศ จึงเริ่มจากการทำโฮมสเตย์ รวมกันเป็นกลุ่มเพ็ชรคีรีโฮมสเตย์ ซึ่งรวมชาวบ้านราว ๆ 10 ครอบครัว ทำการท่องเที่ยวขนาดเล็กเพื่อรับนักเดินทางต่างถิ่นให้มารู้จักหมู่บ้านคีรีวงศ์ พาไปชื่นชมธรรมชาติ ชมวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการรวมกลุ่มครั้งนั้นได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2556” เมื่อชุมชนเกษตรกรรมเปิดรับการท่องเที่ยว นอกจากภาคบริการที่เติบโตยังแล้วยังนำมาซึ่งกระบวนการคิดค้น รื้อค้น และเฟ้นหาวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อสร้างมูลค่าเป็นของฝาก และในชุมชนคีรีวงมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ อาทิ ผ้ามัดย้อมโบราณ, ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป และหนึ่งในนั้นยังมี “มังคุดเขาคีรีวง” ซึ่งเป็นสินค้าที่เชิดหน้าชูตาให้กับชุมชนมาช้านาน2
มังคุดเขาคีรีวงนั้น ถูกนิยามว่าเป็น ราชินีผลไม้ในภาคใต้ เพราะมีเอกลักษณ์โดดเด่นผลใหญ่ เนื้อสีขาว รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ลูกกลม เปลือกหนา ผิวมันวาว กลีบขั้วสีเขียวสด ก้นรี มีราคาสูงเมื่อเทียบกับมังคุดจากถิ่นอื่น มากกว่าลักษณะกายภาพ หากผลิกตำราการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา มังคุดคีรีวงยังถูกเป็นผลไม้ชี้วัดทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงระหว่างปัจจัยสำคัญ 2 ประการนั่นคือธรรมชาติและมนุษย์ ในทางกายภาพนั้น หมายถึง การเป็นมังคุดจากพื้นที่คีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งใช้ดินภูเขาในการเพาะปลูก ที่ถูกบ่มเพาะอากาศบริสุทธิ์สมบูรณ์แบบภาคใต้ ส่วนดัชนีชี้วัดในด้านมานุษยวิทยา มังคุดคีรีวงยังหมายถึงความเป็นชุมชนของชาวบ้าน ด้วยวิถีชีวิตชาวสวนผลไม้แบบสวนสมรม ซึ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณลักษณะเฉพาะตัว “เรารู้แต่เด็กว่ามังคุดที่นี่ทานอร่อย ใคร ๆ ก็ซื้อเป็นของฝาก แต่ไม่รู้เลยว่ามันสามารถนำไปสร้างมูลค่าอะไรอีกได้ไหม จึงไปลองหางานวิจัยมาศึกษา ก่อนพบว่าในเปลือกมังคุดนั้น มีสารประกอบโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งเรียกว่า แซนโทน (Xanthone) ซึ่งสรรพคุณของสารแซนโทนในเปลือกมันคุดนี้มีอยู่หลายประการ ตั้งแต่ รักษาอาการอักเสบ ซ่อมแซมเซลล์ ช่วยชะลอวัย และในอดีตชาวบ้านจะนำเปลือกมังคุดมาเป็นสมุนไพรรักษาผิวพรรณ พวกเราจึงเกิดแนวคิดที่จะนำเอาเปลือกมังคุดมาทำการวิจัย เพื่อหาทางนำมาเป็นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ เปลือกมังคุดและขมิ้น เพื่อการดูแลผิวหน้า ให้ดูผ่องใส สะอาด” อาจินต์ เล่าที่มาของผลิตภัณฑ์ซึ่งแปรรูปจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ถึงตรงนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคีรีวง ไม่ได้มองมังคุดเป็นแค่ผลไม้ธรรมดาๆ อีกต่อไป แต่มังคุดคีรีวงกำลังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และแน่นอนว่าลำพังแค่การมีวัตถุดิบที่ดีอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะต่อยอดเป็นสินค้าระดับพรีเมียมได้ อาจินต์และสมาชิก จึงเดินสายขอทุนวิจัย ขอคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถานศึกษา มาช่วยคิดค้นวิธีสกัดสารจากเปลืองมังคุดเพื่อเป็นสารหลักในการผลิตเครื่องสำอาง เราอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “กลองดีต้องตีดัง และกลองจะดังก็ต้องมีคนตี” คำกล่าวนี้ก็ใช้ได้ดีกับกรณีนี้ความเป็นแบรนด์ของ Petchkiri เพราะการยอมรับในผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากแค่เรื่องมังคุด แต่ อาจินต์ ใช้วิธีนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้าประกวดตามโครงการต่างๆ อยู่เสมอ ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้รางวัลบ้าง ใช้การประกวดรางวัลของเวที OTOP เพื่อไต่ระดับจากผลิตภัณฑ์จากระดับ 3 ดาว มาเป็น 4 และ 5 ดาวในที่สุด เวทีการประกวดไม่เคยราบเรียบ ทุกครั้งที่นำผลิตภัณฑ์ไปประกวดก็จะได้คำวิจารณ์และมุมคิดเพื่อพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ต้องลงตัวมากขึ้นเพื่อผลลัพธ์ของผิวหน้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย รวมถึงการมี Storytelling ความเป็นแบรนด์ และเมื่อเร็วๆนี้ พวกเขาก็ได้สร้างโรงงานสกัดสารจากเปลืองมังคุดในพื้นที่ชุมชน อันเป็นความก้าวหน้าด้านกระบวนการผลิต “เราไม่เหนื่อย ไม่อายที่จะนำสินค้าชุมชนเราเข้าประกวด การประกวดแต่ละครั้งเราอาจจะไม่ชนะ แต่ทุกครั้งเราได้เจอคนเก่ง ได้เจอนักวิชาการ นักวิจัย ที่จะให้ความเห็นว่าสินค้าของเราบกพร่องเรื่องไหน และเราควรจะแก้ไขอย่างไร”3
ทุกวันนี้นอกจากเซรั่มมังคุดจะเป็นสินค้าพระเอกของ Petchkiri ตลาดเครื่องสำอางยังรู้จักไลน์สินค้าอย่างสครับขัดผิวหน้ามังคุด ครีมกันแดดมังคุด ครีมรอบดวงตามังคุด สลีปปิ้งมาร์คมังคุด แชมพูเปลือกม้งคุด ครีมนวดผมเปลือกมังคุด เกลือขัดผิวเปลือกมังคุด ครีมอาบน้ำเปลือกมังคุด เจลล้างหน้าเปลือกมังคุด จากที่โนเนมไร้รางวัล วันนี้สินค้าของ Petchkiri ได้รับรางวัลโอท็อประดับ 5 ดาว เป็น ผลิตภัณฑ์ OTOP Premium ที่ได้เข้าร่วมจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โอทอป พรีเมียม ประเภทสุขภาพและความงามโดยกรมพัฒนาชุมชน เมื่อ 16-18 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีจุดเด่นที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์จนถึงปัจจุบันคือการนำมังคุดภูเขาคีรีวง ที่ปลูกในพื้นที่ภูเขาสูง ที่เป็นมังคุด GI ของชาวบ้านมาผลิต 100% นำวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา บรรจุในขวดแก้วมาตรฐาน ถึงจะยังไม่มีเน็ตไอดอล หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใดช่วยดึงดูดในด้านการตลาด หาก Petchkiri เติบโตจากปากต่อปากซึ่งแสดงผลลัพธ์เป็นยอดขาย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ซึ่งกระแสของการชอปปิ้งออนไลน์ช่วงกักตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลให้ยอดขายของแบรนด์เพิ่มมากขึ้นตาม เริ่มมีการพูดถึงสรรพคุณของเปลืองมังคุดในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รูขุมขนเล็กลง ริ้วรอยเลือนลางลง ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิว “เราคิดว่ามาตรฐานสินค้าของเราดีมาก เทียบเท่ากับเคาน์เตอร์แบรนด์ ถ้าลองเทียบส่วนผสมใน 1 ขวด ระหว่าง Petchkiri กับเคานเตอร์แบรนด์มันแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอวัย สารไฮยาลูโรนิค เอซิด(Hyaluronic Acid) ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้แก่ผิวตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดการต่อต้านของร่างกาย มีผลทำให้ผิวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ที่เป็นเอกลักษณ์คือเปลือกมังคุด ซึ่งสื่อสารผ่านขวดแก้วเคลือบสีน้ำตามเข้ม ทำให้ดูเป็นสีเหมือนเปลือกมังคุดจริงๆ” “ถ้าถามว่าอะไรเป็นเป้าหมายในการทำผลิตภัณฑ์นี้คือเราต้องการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เกิดอาชีพในชุมชน คนในชุมชนมีความภูมิใจเพราะมีสินค้าเป็นที่รู้จัก และมากกว่านั้นก็อยากให้ผู้ใช้โดยเฉพาะผู้ใช้คนไทยเปิดใจกับสินค้าที่ผลิตในประเทศว่ามีคุณภาพจริงๆ เป็นสินค้าของคนไทย ระดับพรีเมียม” จากมังคุด ผลผลิต GI วันนี้ Petchkiri ได้สร้างมูลค่าของมันให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา เตรียมไว้ให้ทุกคนที่เป็นลูกค้าระดับ VIP ของบ้านคีรีวง