“พอคุณลองมองไปที่อีกฝั่ง คุณจะเริ่มตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนพวกนี้มันโง่จัง ดูข้อมูลที่ฉันเห็นพวกนี้สิ พวกเขามองไม่เห็นหรือไง’ คำตอบก็คือ ‘ใช่ พวกเขาไม่ได้เห็นข้อมูลชุดเดียวกับคุณ’”
ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมง กับอีก 34 นาทีของสารคดี The Social Dilemma (ออกอากาศทาง Netflix) สามารถทำให้เข้าใจว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อพฤติกรรมของตัวเรามากแค่ไหน คำตอบคือ แม้เนื้อหาบางแง่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับอำนาจของเทคโนโลยี ที่เล่าออกมาจากปากของเหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ที่เคยทำงานให้กับบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ก็อาจทำให้ใครหลายคนที่คิดมาตลอดว่าเราอยู่ ‘เหนือ’ อินเทอร์เน็ตต้องลองคิดใหม่กันบ้าง
เคยสำรวจตัวเองบ้างไหมว่า เราใช้เวลาไปกับการไถหน้า feed โซเชียลมีเดียกันวันละกี่ชั่วโมง บางคนอาจใช้เวลาไม่นาน แต่บางคนกลับแทบจะใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลเดียวที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีแต่อะไรน่าสนใจ เร้าความรู้สึกให้อยากดู อยากเห็นต่อ ที่มันพยายามทำให้เรา ‘เสพติด’ ขนาดนี้ ก็เพราะช่วงเวลาที่เราใช้ คอนเทนต์ที่เรากดถูกใจ หรือไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์รูปแบบใดก็ล้วน ‘มีค่า’ กับบริษัทเบื้องหลังเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งหมด
“ผมลงทุนกับธุรกิจเทคโนโลยีมา 35 ปีแล้ว ช่วง 50 ปีแรกของซิลลิคอนแวลลีย์ อุตสาหกรรมนี้สร้าง ‘ผลิตภัณฑ์’ ออกมาขาย ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ทำเสร็จก็ส่งให้ลูกค้า ดูเป็นธุรกิจที่เรียบง่ายดี แต่ช่วง 10 ปีให้หลัง บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ กลับเปลี่ยนมาขายอะไรที่ใหม่กว่า พวกเขาขาย ‘ผู้ใช้งาน’” โรเจอร์ แมคนามี (Roger McNamee) นักลงทุนรายแรกของเฟซบุ๊กกล่าว
มีคำกล่าวที่ว่า “If you’re not paying for the product, you are the product.” ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลธุรกิจของบริษัทโซเชียลมีเดียในปัจจุบันเป็นอย่างดี แม้เหล่าผู้ใช้จะรู้สึกว่าตัวเองกำลัง ‘ใช้ฟรี’ แต่ที่จริง เราอาจต้องแลกมันมากับข้อมูลส่วนตัว เวลาชีวิต อาการเสพติด และตัวตนที่ค่อย ๆ บิดเบี้ยวไปตามการชักนำของสื่อในโซเชียลมีเดีย
จะเป็นอย่างไรถ้าสิ่งที่เรารับรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตล้วนเสนอไปในทางเดียวกัน? คำตอบคือมันจะกลายเป็น ‘ความถูกต้อง’ เป็น ‘ความจริง’ หนึ่งเดียวที่เราเชื่อถือ และเมื่อต้องพบเจอกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง เขาจะกลายเป็นคนผิดทันที อ่านดูแล้วผลลัพธ์เช่นนี้อาจจะดูสุดโต่ง แต่มันเกิดขึ้นแล้วในอเมริกา เพราะงานวิจัยจาก Pew Research Center เผยว่า ช่วงเวลานี้ คือสถิติใหม่ในรอบ 20 ปีที่ประชากรอเมริกันมีแนวคิดที่แบ่งแยกแตกต่างกันมากที่สุด ต่างฝ่ายต่างมองว่าตัวเองถูก อีกฝ่ายต่างหากคือตัวปัญหา และเป็นอันตรายต่อความมั่นคง รวมถึงการพัฒนาของประเทศ
สาเหตุของเรื่องนี้มาจากเทคโนโลยีได้อย่างไร? จารอน ลาเนียร์ (Jaron Lanier) ผู้บุกเบิกด้าน Virtual Reality (VR) นักวิทยาศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘10 Arguments for Deleting Your Social Media Accounts Right Now’ อธิบายโดยยกตัวอย่างเว็บไซต์วิกิพีเดีย เขาให้เราลองจินตนาการว่า ถ้าเราเข้าไปในเว็บไซต์วิกิพีเดีย เราจะเจอกับเว็บไซต์หน้าตาเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าคนเข้าจะเป็นใคร เข้าไปแล้วก็จะเจอผลลัพธ์เดียวกัน แต่ถ้าเป็นโซเชียลมีเดีย หน้าจอและเนื้อหาที่ปรากฏขึ้นมาจะขึ้นอยู่กับข้อมูลของผู้เข้าใช้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ล็อกอินในประเทศไหน ข้อมูลที่คอมพิวเตอร์เคยบันทึกไว้จะระบุตัวตนและความชอบของคุณได้ทันที
อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย ที่พัฒนาขึ้นจากข้อมูลของเรา จะทำให้ทุกอย่างในนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่คุณชอบ สนใจ อยากดูต่อ หน้า feed ของคุณจะเต็มไปด้วยคนที่คิดเหมือน ๆ กัน เพื่อที่คุณจะได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ กดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์พูดคุยได้ ทั้งหมดคือ ‘ความตั้งใจ’ ให้คุณใช้เวลาบนเว็บไซต์ยาวนานขึ้น เพื่อให้ระบบได้เก็บข้อมูลของคุณ ได้รู้จักคุณมากขึ้น เพราะทั้งหมดนั่นขายให้กับบริษัทโฆษณาได้
และแล้ว...คุณก็กลายเป็น ‘สินค้า’ ไปโดยไม่รู้ตัว
“เวลาคุณพิมพ์ในกูเกิลว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ผลลัพธ์ที่ได้จะขึ้นอยู่กับว่าคุณพิมพ์มันจากที่ไหน ในบางเมืองคุณจะเห็นระบบเติมข้อความให้ว่า ‘ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องลวงโลก’ บางที่ก็จะเห็นว่า ‘ภาวะโลกร้อนทำลายธรรมชาติ’ กลไกพวกนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจริง ๆ แล้วภาวะโลกร้อนคืออะไร แต่คือคุณกูเกิลมันจากที่ไหนต่างหาก”
คำอธิบายของ จัสติน โรเซนสไตน์ (Justin Rosenstein) อดีตวิศวกรของ Facebook ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างปุ่ม ‘Like’ ช่วยตอกย้ำถึงผลลัพธ์ที่ว่า แม้คุณกับเพื่อนจะสนิทสนมกันมากแค่ไหน แต่หน้าตาของ feed บนโซเชียลมีเดียอาจจะแตกต่างกันไป ราวกับอยู่คนละโลก
เมื่อทุกคนต่างก็มีข้อมูลคนละชุด มีหลักฐานและข้อสรุปของตัวเอง (แถมมีคนสนับสนุนอีกเพียบ) เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะเชื่อว่านั่นคือ ‘ความจริง’ เพราะทุกคนในหน้า feed เห็นไปในทางเดียวกันหมด ถึงตอนนั้นพวกเขาจะโดนชักจูงได้ง่ายมาก และนั่นก็คือจุดที่มันถูกนำมาใช้หาผลประโยชน์ ไม่ว่าจะในทางธุรกิจหรือการเมือง
หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวดังสะเทือนวงการเทคโนโลยีในปี 2016 เมื่อข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคนถูกล้วงไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยบริษัท Cambridge Analytica นำข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กไปวิเคราะห์ เพื่อทำแคมเปญหาเสียงให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี และนั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในความน่ากลัวของเทคโนโลยีที่อาจชักนำเราไปทางไหนหรือแม้แต่โหวตใครก็ได้ ผ่านการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต
ทริสทัน แฮร์ริส (Tristan Harris) อดีตพนักงานฝ่ายออกแบบจริยธรรมใน Google และผู้ก่อตั้ง Center for Humane Technology กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่น่ากลัวของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มีเพียงแค่การชักจูงให้ซื้อสินค้าหรือโหวตใครเป็นประธานาธิบดีเท่านั้น อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ ‘อิทธิพลของโซเชียลมีเดียในเด็ก’ หลายงานวิจัยกำลังสรุปไปในทางเดียวกันว่า พวกมันอาจเป็นสาเหตุที่นำมาสู่โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และการทำร้ายตัวเองของเด็ก ๆ รุ่นหลัง
โดยสถิติที่พุ่งทะยานอย่างน่ากลัวนี้ ชี้ชัดว่าเกิดกับเด็ก Gen Z (เกิดหลังปี 1996) ซึ่งเป็นเด็กรุ่นแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้ใช้โซเชียลมีเดียทางโทรศัพท์มือถือตั้งแต่มัธยมฯ ต้น
เพราะสินค้าทางเทคโนโลยีไม่ได้ออกแบบโดยนักวิจัยด้านพัฒนาการ ที่พยายามทำงานเพื่อปกป้องหรือดูแลเด็ก ๆ งานของพวกเขาคือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ใช้เสพติดการอยู่ในโลกออนไลน์ เมื่อมันถูกใช้กับเด็กวัยที่ยังไม่มีวิจารณญาณมากพอ ระบบของพวกมันจึงไม่เพียงแต่เรียกร้องความสนใจ แต่ยังค่อย ๆ เจาะลึกไปยังก้านสมอง เข้ายึดอัตลักษณ์ และความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองของเด็ก ๆ อย่างไร้ความปรานี
“วิวัฒนาการทำให้เราสนใจว่าคนในเผ่าของเราคิดกับเราดีหรือไม่ เพราะมันจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกัน แต่เราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรับรู้ว่าคนอีก 10,000 คนคิดดีกับเราหรือเปล่า เราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรับรู้ว่าสังคมยอมรับเราไหมในทุก ๆ 5 นาที เราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่ออะไรแบบนั้น” แฮร์ริส กล่าว
สารคดียังเล่าว่า แม้ผลลัพธ์ที่รุนแรงเหล่านี้ จะไม่ใช่ความตั้งใจแรกเริ่มของเหล่านักพัฒนา แต่น่าเศร้าที่ผลงานของพวกเขาต่างกำลังทำลายและสร้างความแตกแยกในสังคมไปทีละเล็กละน้อยจริง พวกเขาได้สร้างเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมหาศาลต่อชีวิตคนทั้งเจเนอเรชัน และหนทางที่จะหยุดมันก็ต้องเป็นพวกเขานี่แหละ ที่ช่วยกันหาทางออก
“เทคโนโลยีมันไม่ใช่ภัยคุกคามมนุษย์ แต่ความสามารถของมัน สามารถทำให้สังคมเสื่อมทราม และสังคมที่เสื่อมทรามจะทำลายมนุษย์เอง”
หากเทคโนโลยีทำให้เกิดความวุ่นวาย ความรุนแรง และความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ทั้งความโดดเดี่ยว แปลกแยก จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่มีแต่จะยิ่งถ่างขยายช่องว่างในสังคมให้ห่างไกลกันขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงตอนนั้น หากยังไม่มีใครมองเห็นและสนใจจะแก้ไขปัญหา แฮร์ริส เกิดคำถามว่า หรือนี่จะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่รู้ว่าโลกเคยเป็นอย่างไร ก่อนที่ภาพมายาจะเข้ามาแทนที่?
เพราะหากทุกอย่างตกอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว “เราจะตื่นขึ้นในโลกเมทริกซ์ได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้เลยว่าเราอยู่ในโลกของเมทริกซ์” แฮร์ริส กล่าว
เรื่อง: พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ