“หวัดดีเบลล์” อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ชายที่ทำให้ฝันในการส่งเสียงทางไกลผ่าน ‘โทรศัพท์’ เป็นจริง
คำว่าหวัดดีเบลล์อาจจะเป็นไวรัลในวันนี้ แต่คำแรกที่มนุษย์ได้ยินจากโทรศัพท์คือ “วัตสัน มานี่หน่อย” ของอเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ชายผู้เกือบไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์โทรศัพท์ ถ้าเขาช้ากว่านี้เพียงแค่ 2 ชั่วโมง
เป็นกระแสอีกครั้งสำหรับวง Three Man Down และผลงานเพลง ‘ถ้าเธอรักฉันจริง’ ที่กลายเป็นไวรัลจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ หลังจากนักร้องนำของวงแนะนำแฟน ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะทักคนที่ชอบไปอย่างไร ว่าให้ทักไปด้วยเสียงพูดต้นเพลงเพลงนี้อย่าง “หวัดดีเบล” แล้วค่อยบอกชอบ จนหลาย ๆ คนเอาไปทำตามแล้วออกมาแชร์ประสบการณ์สารภาพรักที่ขำบ้าง เขินบ้าง ส่วนบางคนก็เป็นประสบการณ์เศร้า เคล้าน้ำตา แล้วแต่ว่า ‘เบล’ ที่ทักไปจะตอบกลับมาแบบไหน
แต่ก่อนที่จะมีโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนที่มีแอปพลิเคชันแชตให้เราทักไป “หวัดดีเบล” กับคนที่ชอบได้ เจ้าอุปกรณ์ที่เรียกกันว่า ‘โทรศัพท์’ นี้ สมัยหนึ่งเคยมีรูปแบบฝาพับ ก่อนหน้านั้นอีกมันก็เคยมีขนาดเทอะทะและเสาสัญญาณอันใหญ่ เคยเป็นอุปกรณ์เชื่อมสายที่มีช่องขนาดพอดีนิ้วจิ้มให้หมุนเพื่อติดต่อเลขหมายปลายทาง
และหากย้อนไปไกลกว่านั้น เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของ ‘โทรศัพท์’ คือความพยายามที่จะส่งสัญญาณเสียงมนุษย์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่ของนักประดิษฐ์หนุ่ม ที่ถ้าเขาเกิดมาในสมัยนี้ก็คงมีคนโทรฯ หรือแชตไป ‘หวัดดี’ อยู่ไม่น้อย เพราะนักประดิษฐ์คนนี้มีชื่อว่า ‘อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์’ หรือ ‘เบลล์’ นั่นเอง
หวัดดีเบลล์
อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ (Alexander Graham Bell) เป็นลูกชายคนกลางของ Alexander Melville Bell พ่อของเขาเป็นครูสอนการออกเสียงที่มีชื่อเสียง ส่วน Eliza Grace Symonds ผู้เป็นแม่นั้นมีพรสวรรค์ด้านดนตรี แต่เมื่อเวลาผ่านไป หูทั้งสองข้างของเธอก็หนวกแทบจะสนิท ครอบครัวเบลล์มีรกรากอยู่ในกรุงเอดินเบอระ สกอตแลนด์
เบลล์ฉายแววฉลาดตั้งแต่วัยเด็ก แม้จะทำคะแนนในชั้นเรียนได้ไม่ดีนัก แต่เขาก็มีหัวในการประดิษฐ์ อีกทั้งยังได้พรสวรรค์ในการเล่นดนตรีมาจากแม่อีกด้วย
เมื่ออายุได้ 11 ปี เบลล์เข้าเรียนที่ Royal High School ในเอดินเบิร์ก แต่เขาไม่ชอบหลักสูตรภาคบังคับของที่นั่น จึงตัดสินใจลาออกทั้งที่ยังเรียนไม่จบ
ครอบครัวเบลล์ย้ายบ้านหลายครั้ง โดยปี 1865 พวกเขาย้ายไปยังลอนดอน ที่นั่น เบลล์สอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้ในปี 1868 แต่ก็มีอุปสรรคคืออาการป่วยออด ๆ แอด ๆ ของคนทั้งบ้านรวมทั้งตัวเบลล์เองด้วย จนกระทั่งการเสียชีวิตที่เนื่องมาจากวัณโรคของเอ็ดเวิร์ด (Edward) น้องชายของเบลล์ ในปี 1867 และเมลวิลล์ (Melville) พี่ชายของเบลล์ในปี 1870 ทำให้ครอบครัวนี้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนที่อยู่อีกครั้ง โดยคราวนี้พวกเขาย้ายไปที่แคนาดา เป็นอันว่าเบลล์ต้องออกจากมหาวิทยาลัยทั้งที่ยังเรียนไม่จบอีกเช่นเคย
จากครูสู่นักประดิษฐ์
แม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ความเก่งกาจในการสอนการออกเสียงที่เบลล์ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อ ทำให้เขาได้ทำงานเป็นครูสอนคนหูหนวกในหลายต่อหลายโรงเรียน ระหว่างนั้นเองเบลล์ได้พบกับ มาเบล ฮับบาร์ด (Mabel Hubbard) หนึ่งในลูกศิษย์ของเขา ดีกรีเป็นถึงลูกสาวเศรษฐีเจ้าของโรงเรียนที่เบลล์สอนอยู่ แม้มาเบลจะอายุห่างกับเขาถึงสิบปี แต่หนุ่มสาวทั้งคู่ก็ตกหลุมรักและตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันด้วยความเห็นดีเห็นงามของผู้ใหญ่
ขณะที่ทำอาชีพครู ความสามารถและความสนใจในการประดิษฐ์ของเบลล์ก็ไม่ได้หายไป ทุกค่ำหลังจากการสอนหนังสือ เขาจะขลุกตัวอยู่ในห้องทดลองเพื่อค้นคว้าวิธีส่งโทรเลขหลาย ๆ ข้อความพร้อมกันผ่านสายสัญญาณเพียงเส้นเดียว ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่นักประดิษฐ์หลายต่อหลายคนกำลังพยายามทำให้สำเร็จ
คนที่นำโด่งในเกมแห่งวิทยาศาสตร์ ณ ตอนนั้นก็คือ ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) เจ้าของฉายาพ่อมดนักประดิษฐ์ที่คิดวิธีส่งโทรเลขพร้อมกันได้ถึง 4 ข้อความ และแน่นอนว่านักประดิษฐ์คนอื่น ๆ รวมทั้งเบลล์ และ เอลิชา เกรย์ (Elisha Gray) คู่แข่งของเบลล์ ต้องการที่จะทำให้ได้มากกว่า
คนที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกเงินสนับสนุนการค้นคว้าของเบลล์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเศรษฐีตระกูลฮับบาร์ด พ่อตาของเบลล์นั่นเอง
กรุณาฝาก (สิทธิบัตร) ข้อความเสียง
จาก ‘โทรเลข’ สู่ ‘เสียง’ เบลล์พบว่าเขาสนใจแนวคิดของการสื่อสารทางไกลกันด้วย ‘เสียงของมนุษย์’ มากกว่าจะเป็นเพียงข้อความสั้น ๆ อย่างที่โทรเลขทำ ไม่รอช้า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1876 เบลล์ตัดสินใจยื่นจดสิทธิบัตรแนวคิดนี้ทันที เร็วกว่า เอลิชา เกรย์ ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรแนวคิดเดียวกันแบบแทบจะเหมือนกันเป๊ะ ๆ ในวันเดียวกัน แต่ช้ากว่าเบลล์ไปเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1876 สำนักงานสิทธิบัตรก็ได้มอบสิทธิบัตรที่เรียกได้ว่ามีค่ามหาศาลที่สุดอีกชิ้นในประวัติศาสตร์ให้กับเบลล์
หวัดดีวัตสัน
สามวันหลังจากได้รับสิทธิบัตร วันที่ 10 มีนาคม 1876 ในอาคารที่เบลล์ใช้เป็นห้องทดลอง เขาได้พูดผ่านสายโทรศัพท์ถึง ‘วัตสัน’ ผู้ช่วยของเขาที่อยู่อีกห้องว่า
“วัตสัน – มานี่หน่อย – ผมอยากพบคุณ”
/ Mr. Watson – come here – I want to see you /
และนั่นนับเป็นการสนทนาด้วยอุปกรณ์โทรศัพท์ครั้งแรกที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าถ้าวันนั้นเบลล์ ‘หวัดดีวัตสัน’ ไม่สำเร็จ ก็อาจไม่ได้มีไวรัล “หวัดดีเบลล์” อย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้
ทุกเสียงที่ได้ยิน คือ (เดซิ) เบล
หลังจากคิดค้นและพัฒนาโทรศัพท์แบบมีสายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากผลงานเอกชิ้นนี้ เบลล์ยังได้สร้างสิ่งประดิษฐ์อีกหลายต่อหลายชิ้น ทั้งโทรศัพท์แบบไร้สาย หากแต่ใช้การส่งสัญญาณผ่านลำแสงแทน ที่เรียกว่า Photophone ประดิษฐ์เรือไฮโดรฟอยล์ และสนับสนุนงานวิจัยทางด้านอากาศยานและการบิน เรียกได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ทุกชิ้นของเบลล์ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังนำมาต่อยอดจนกลายเป็นวิทยาการสมัยใหม่และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนรุ่นหลังอย่างเราไปในที่สุด
แม้กระทั่งคำว่า “หวัดดีเบล” ที่เราได้ยินจากมิวสิกวิดีโอ นั่นก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ครู และนักประดิษฐ์คนนี้ได้ศึกษาเอาไว้แล้ว เพราะเสียงทุกเสียงในขอบข่ายที่มนุษย์จะได้ยินนั้น ถูกวัดได้ด้วยระดับ ‘เดซิเบล’ ซึ่ง ‘เดซิเบล’ ที่ว่านี้ก็ตั้งให้ลงท้ายด้วยเบลตามชื่อ อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ผู้ที่คิดค้นและศึกษามันขึ้นมานั่นเอง
สำหรับใครที่ “หวัดดีเบล” แล้วไม่สมหวังจนอยากฟังเพลงเศร้า ๆ หรืออาจจะกำลังฟังเพลง ‘ถ้าเธอรักฉันจริง’ อยู่ ก็ระวังอย่าฟังดังเกิน 85 เดซิเบลติดต่อกันนานเกินหนึ่งชั่วโมง เพื่อสุขภาพการได้ยินที่ดี จะได้มีหูไว้ฟังเพลงที่ชอบไปนาน ๆ
ด้วยความปรารถนาดีจากคนเขียน ถึง ‘เบล’ และคนที่หลงรัก ‘เบล’ ทุก ๆ คน
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ
ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Alexander-Graham-Bell