ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ยอมเปิดหน้าสู้ เพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และอนาคตของคนส่วนใหญ่

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ยอมเปิดหน้าสู้ เพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และอนาคตของคนส่วนใหญ่
“ครอบครัวหนูไม่ได้เป็นร่ำรวย แม่มีอาชีพค้าขาย ป๊าทำงานรับเหมาก่อสร้าง พอหลังรัฐประหารครอบครัวก็เริ่มประสบปัญหา แม่ขายของไม่ค่อยได้ เงินก็ไม่ค่อยมีเข้ามา แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม แถมบางทีเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก เรารู้สึกว่าการที่เศรษฐกิจไม่ดีเกิดจากปัญหาโครงสร้างทางการเมือง เพราะทุกครั้งมีการรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่าต้องออกมาต่อสู้หรือพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเมือง” จากคนธรรมดาที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง แต่จากการทำรัฐประหารในปี 2557 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งผลกระทบกับครอบครัวเธอทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้หันมาสนใจในเรื่องการเมืองมากขึ้น บวกกับมีมีเพื่อนและคนรอบข้างจำนวนหนึ่งที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ยิ่งช่วยให้เธอได้เปิดโลกแล้วทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า จริง ๆ แล้วการเมืองอยู่ในทุกที่และเกี่ยวข้องกับทุกคน เป็นที่มาให้เธอได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก โดยในตอนแรกที่เธอเริ่มตื่นตัวทางการเมือง พ่อแม่ ครอบครัว และเพื่อน ๆ รอบข้างจำนวนหนึ่ง อาจยังไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลที่ทำให้เธอหันมาสนใจการเมือง จนช่วงนั้นเธอพูดคุยกับที่บ้านไม่ค่อยรู้เรื่องในบางครั้ง
“หนูเชื่อว่าการเมืองมีส่วนสำคัญกับอนาคตของเรา เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่สิ่งที่เรามั่นใจได้แน่นอนคือ ถ้าการเมืองดีเศรษฐกิจก็จะดี การศึกษาก็จะดี สภาพสังคม ปากท้องและความเป็นอยู่ของสังคมก็จะดีขึ้นด้วย การที่หนูออกมาต่อสู้ในครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาสู้แค่เพื่อตัวเอง หรือแค่คนในรุ่นเราเท่านั้น แต่อยากออกมาเรียกร้องเพื่อวางรากฐานให้ประชาชนรุ่นต่อไปที่อายุน้อยกว่าเรา ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต”
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้นักศึกษาคนหนึ่งที่ควรทำหน้าที่ตั้งใจเรียนให้จบแล้วมีงานที่มั่นคงทำ กล้าตัดสินใจออกมามีปากมีเสียงเกี่ยวกับการเมือง ก็เพราะการคุกคาม และการใช้ความรุนแรงจากรัฐที่เธอได้เห็นด้วยตัวเองที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อปี 2558 ซึ่งวันนั้นเธอและเพื่อน ๆ ได้ออกมาชุมนุมต่อต้านการทำรัฐประหารอย่างสงบ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงอุ้มออกจากการชุมนุมไปทีละคน ๆ และหลายคนต้องถูกจับกุมในวันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นเองทำให้เธอได้ตระหนักถึงการคุกคามจากรัฐที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเธอเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าการออกมาชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริงควรจะได้รับ จากวันนั้นถึงวันนี้ เธอได้ออกมาเป็นปากเสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา อย่างเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เธอได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนประชาชนที่ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐคือ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน โดย '3 ข้อเรียกร้อง' คือ การที่รัฐต้องหยุดคุกคามประชาชนในทุกๆ รูปแบบ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และให้มีการยุบสภาหลังได้รับรัฐธรรมนูญ '2 จุดยืน' ที่พวกเธอยืนยันว่าไม่เอา คือ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่เอารัฐประหาร ส่วน '1 ความฝัน' ที่พวกเธอฝันอยากจะมี คือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
“พวกเราต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้เห็นต่าง เราต้องการลดความรุนแรง และลดความขัดแย้ง เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
ต่อมาข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกผนวกกับข้อเรียกร้องของแนวร่วมกลุ่มนักศึกษาและประชาชนกว่าอีก 30 องค์กร ที่มาร่วมตัวภายใต้ชื่อว่า “ราษฎร” รวมถึงประชาชนนับแสนในวันชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม จนเหลือเพียงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หนึ่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก สองรัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ สามมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย แต่จนถึงวันนี้ข้อเรียกร้องต่าง ๆ กลับยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล มิหนำซ้ำทางกลุ่มผู้ชุมนมกลับได้รับความรุนแรงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหลายครั้ง รวมไปถึงตัวเธอและพรรคพวกหลายคน ต้องถูกคุมคามจากรัฐโดยการตั้งข้อหาและเข้าจับกุมในยามวิกาล “ตลอดเส้นทางที่เราต่อสู้ เราเจออุปสรรคหลายอย่างมาก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มตามถ่ายรูป และตามติดชีวิตเรา เพื่อนบางคนมีเจ้าหน้าที่ไปถึงบ้านเพื่อคุยกับพ่อแม่ ทั้งที่ความจริงคนที่ออกมาเพื่อพูดความจริงไม่ควรต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ ไม่ควรจะถูกรัฐทำเหมือนว่าพวกเขากำลังกระทำผิด หนูเชื่อว่าไม่ผิดที่จะออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐ เพราะพวกเราเป็นเจ้าของภาษี เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง” แม้จะเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ มีหมายจับในหลายคดีไปจนถึงการจับกุมในยามวิกาล แต่เมื่อเราถามว่ากลัวไหมว่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงจะหวนกลับมาซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง เธอกลับเชื่อว่า ในตอนนี้กาลเวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว จากการเข้าถึงข่าวสารของคนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เธอยังมีความหวังเล็ก ๆ กับรัฐอีกด้วยว่าจะมองเห็นพลังบริสุทธิ์ของประชาชนแล้วไม่ใจร้ายใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ที่สำคัญเธออยากให้ข้อเรียกร้องต่าง ๆ จากประชาชนได้รับการตอบสนองจากรัฐ เพื่อนำไปพิจารณาความเป็นไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอและการชุมนมในหลาย ๆ ครั้ง อาจทำให้ครอบครัวของเธอเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา เพราะกังวลถึงอันตรายและความรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นมาในเวลาที่ไม่มีใครคาดคิด แต่เธอก็ได้พยายามอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า ความเป็นจริงการชุมนุมโดยสันติเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งการที่พวกเธอออกมาเรียกร้องไม่ใข่ความผิด และถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้นน่าจะเกิดจากความผิดปกติของรัฐมากกว่า การต่อสู้อย่างยาวนานแล้วเห็นพัฒนาการของประชาชนที่มาเข้ามารวมพลังกันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ทำให้มายด์บอกกับเราว่า วันนี้เธอมีความสุขมาก เพราะสิ่งที่เธอและประชาชนได้ต่อสู้มาเป็นเวลานานเริ่มเห็นผลว่า ประชาชนอีกหลายคนเริ่มตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง คิดถึงสิ่งที่ตัวเองควรได้รับ แล้วรู้แล้วว่ารัฐได้ทำอะไรกับประชาชนมาเป็นเวลา 6 ปี
“อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนคือเจ้าของภาษีผู้เสียภาษี เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง เลยอยากฝากถึงประชาชนที่ยังไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องออกมาว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะออกมาพูด และแสดงความไม่พอใจ มีสิทธิในการวิจารณ์การทำงานของรัฐว่าได้ทำอะไรผิดบ้าง เรามีสิทธิที่จะเรียกร้องถึงจุดยืนของตัวเอง อยากให้ทุกคนระลึกถึงสิทธิตรงนี้แล้วออกมาใช้สิทธิของตัวเองกันมากๆ”
เพราะเธอเชื่อว่าการที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ จะเข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากแค่ไหน อยู่ที่พลังบริสุทธิ์ของประชาชนที่มาเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับมากเท่าไหร่ จากจุดเริ่มต้นของผู้เรียกร้องที่มีใจรักในประชาธิปไตยเพียงไม่กี่คนในวันแรก ๆ หลังเกิดการรัฐประหาร กลายมาเป็นคลื่นประชาชนเรือนแสนในตอนนี้ แล้วอาจจะมีอีกเป็นล้านที่อยากจะออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองใน
“หนูคิดว่าการที่หนูเปิดหน้าสู้มันคุ้มค่ะ เพราะหนูเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่อยากจะออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของคนส่วนใหญ่อีกหลายล้านคน มันอาจจะเสี่ยงแต่หนูเชื่อว่าคุ้มที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นว่าการต่อสู้ทางประชาธิปไตย การพูดถึงสิทธิเสรีภาพ และหลักที่เป็นจริงในสังคม ไม่ใช่เรื่องที่ผิดและเป็นสิ่งที่เราต้องออกมาพูดได้”
  เรื่อง: กิตยางกูร ผดุงกาญจน์