23 ธ.ค. 2563 | 15:28 น.
1
ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องบังเอิญ วุฒิพงศ์ คนหนุ่มจาก ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ตั้งใจและวางเป้าหมายมาแต่ต้นแล้วว่า อยากประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าของกิจการแปรรูปอาหาร เขาจึงเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ และต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นไปทั้งด้านการบริหาร และสาขาวิชาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ “ผมเป็นคนหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เห็นการทำนา การทำสวน ปลูกหม่อนมาแต่เด็ก และเมื่อผลผลิตในชุมชนออกมาเยอะๆ ราคาก็จะต่ำลง จึงตั้งใจที่จะสร้างมูลค่าผลผลิตเหล่านั้น และการแปรรูปอาหารคือวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้” หลังเรียนจบ วุฒิพงศ์ ได้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาของร้านอาหารแฟรนไชส์แห่งหนึ่งได้ประมาณ 3 ปี ซึ่งในที่แห่งนั้นเขาได้เรียนรู้ระบบการจัดส่งอาหาร การแปรรูป การสั่งวัตถุดิบ และการสร้างความพอใจให้กับลูกค้า “เราได้แบ็คกราวน์ทางวิทยาศาสตร์การอาหาร เข้าใจการแปรรูป แต่ในเชิงบริหารจัดการที่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก ในช่วงแรกของการทำงานก็ต้องหาหนังสืออ่าน สร้างประสบการณ์เติมเต็มกับเรื่องเหล่านี้ อย่างตอนนี้ก็ถือว่ามีประสบการณ์มากขึ้น แต่ก็ยังต้องเพิ่มเติมอยู่ เช่นการสร้างแบรนด์ การทำตลาด การทำ Storytelling ของแบรนด์ ผมว่าหัวใจหลักของการทำโอท็อปคือเราต้องพัฒนาอยู่เสมอ เพราะสินค้าที่เป็นตัวเลือกนั่นมีมาก ดังนั้นต้องทำผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น”2
“มัลเบอร์รี่” หรือ “หม่อน” คือหนึ่งในผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่สามารถปลูกได้กับทุกสภาพพื้นที่ ปลูกง่าย โตเร็ว เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง นอกจากเป็นเมืองผ้าไหมดี จ.ชัยภูมิคือแหล่งปลูกมัลเบอรี่ที่มีชื่อเสียง เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดกันมา และแต่เดิมมีเพียงเฉพาะคนในชุมชนที่นิยมบริโภคเพราะรู้ถึงสรรพคุณการเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์และวิตามินสูงของมัลเบอรี่ หากแต่เมื่อเรื่องการใส่ใจสุขภาพและการดูแลตัวเองเป็นเทรนด์ใหญ่ที่คนเมืองให้ความสำคัญ มัลเบอรี่จึงถูกต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งขายผลสด แปรรูปเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ ทำแยม อบแห้ง กวน และภายหลังผลไม้ชนิดนี้ยังถูกค้นพบวิจับว่ามีสรรพคุณช่วยในการผ่อนคลาย, แก้ร้อนใน กระหายน้ำ, ต้านอนุมูลอิสระ และลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ถึงเช่นนั้น มัลเบอรี่ก็คือมัลเบอรี่อยู่ดี และไม่ใช่ที่ จ.ชัยภูมิที่ปลูกได้เพียงอย่างเดียว เมื่ออุปสงค์ของมัลเบอรี่มีมาก ราคาสินค้าจึงไม่สูงนัก และนั่นเป็นที่มาของการสร้างผลิตภัณฑ์ภูเชียงทา ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของมัลเบอรี่ “พอสินค้าเยอะ ก็เข้าวงจรสงครามราคาอยู่ดี เราจึงคิดและทำกระบวนการเพาะปลูกในฟาร์มเป็นออร์แกนิคทั้งหมดเพื่อสร้างมูลค่า สร้างจุดขาย โดยพื้นที่ของเราจะปลอดสารเคมีทุกชนิดที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีการดูแลอย่างพิถีพิถัน ก่อนที่จะเริ่มการปลูกก็จะต้องเตรียมหน้าดินด้วยวิธีธรรมชาติ เมล็ดพันธุ์ที่เลือกมาปลูกต้องสะอาดปลอดภัยด้วย” คำว่า “ภู” หมายถึงภูเขาเล็ก ๆ และ “เชียงทา” มาจากแม่น้ำห้วยเชียงทา ชื่อแบรนด์นี้เชื่อมโยงกับความเป็นชุมชนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อคิดจะเล่นกับมาตรฐานสากล ความเป็นชุมชนอย่างเดียวไม่เพียงพอจะแข่งกัน ทำให้นิยามความเป็นออร์แกนิคนั้นสำคัญมาก และการได้มาตรฐานต้องไม่ใช่แค่มุมมองของผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว วุฒิพงศ์ บอกว่า เขาต้องศึกษากระบวนการผลิตทีได้รับการรองรับจริงๆ จึงมีการส่งแบบ ส่งผลผลิต และการดำเนินงานในฟาร์มเข้าไปประเมิน ประกวดมาตลอด จนได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ อาทิ การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, USDA Organic, Certified Organic by CERES GmbH TH-BIO-140 เป็นต้น ทำให้สินค้าในแบรนด์ภูเชียงทาไม่ใช่แค่ไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น แต่ยังควบคุมทั้งสินค้าที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี พืชที่ปลูกด้วยดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ทำให้สินค้าที่จำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิค 100%3
วุฒิพงศ์ ลาออกจากพนักงานบริษัทตำแหน่งผู้จัดการสาขาเพื่อกลับมาริเริ่มภูเชียงทา ตอนอายุ 27 จนถึงเวลานี้ 15 ปีผ่านมา ธุรกิจเติบโตขึ้นไปตามลำดับ จากวิสหากิจชุมชนสู่การจดทะเบียนเป็นบริษัท ภูเชียงทา เฮิร์บแลนด์ จำกัด ถ้าคุณเคยเข้าเว็ปไซต์ www.phuchiangta.com และสำรวจแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ก็จะรู้ดีว่า สินค้าขึ้นชื่อของที่นี่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มน้ำมัลเบอร์รี่ ออร์แกนิค 100%, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เจียวกู้หลานออร์แกนิค, น้ำส้มสายชูหมัก จากกล้วยออร์แกนิค, น้ำมันดาวอินคาออร์แกนิค รวมถึงผลไม้อบแห้ง อาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการแบบไร้สารพิษ เมื่อลงทุนกับกระบวนการผลิต ภูเชียงทาเฮิร์บแลนด์ ยังสร้างรายได้ด้วยการรับผลิตชาสมุนไพรเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอาหารเสริม แบบ OEM ซึ่งมีการรวมทีมนักวิจัย เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์คอยช่วยวิจัยและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาและทดสอบจนลูกค้าพอใจ “เราเล่นกับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ซื้อสินค้าโดยตรง และกลุ่มผู้จ้างผลิต เพื่อให้บริษัทมันไปได้ ไม่หยุดอยู่แค่ยอดขายเพียงอย่างเดียว” เมื่อถามว่าอะไรคือ Keys ที่ยกระดับภูเชียงทาให้เติบโตมากยิ่งขึ้นเช่นนี้ วุฒิพงศ์ สรุปหลักๆว่า มาจากความกล้าที่คิดทำสิ่งใหม่ๆ หาพาร์ทเนอร์และที่ปรึกษาในแต่ละกระบวนการ เช่น เข้าร่วมกับสถานศึกษาเพื่อองค์ความรู้งานวิจัย เข้าร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเพื่อได้ทักษะในด้านการเงิน รวมถึงเข้าร่วมการได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้จัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โอทอป พรีเมียม ประเภทสุขภาพและความงาม ซึ่งส่งเสริมการเป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาด โดยตั้งโจทย์จากกลุ่มลูกค้าในแต่ละประเภท และบริบทการแข่งขันทางการตลาดในปัจจุบัน อีกข้อที่สำคัญและต้องจำในวิธีคิดตลอดคือ สินค้า OTOP ที่ไปได้ ต้องคิดอย่างมืออาชีพ โดยการพิจารณาว่าสินค้าของตัวเองมีดีพอหรือไม่ เพราะสินค้าที่ดีและมีผู้ต้องการจะ “อยู่ได้” ด้วยตัวเอง “จะทำสินค้า ต้องรู้ว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย-ใครจะซื้อ และเรามีดีพออย่างไรถึงจะเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ ต้องคิดจากโจทย์ทางการตลาด ไม่ใช่แค่คิดว่าเราอยากทำอะไร” “ขอโทษนะ ผมอาจพูดไม่ถูกใจ แต่ถ้าคนทำโอท็อปแล้วอยากทอผ้าทั้งหมด พอใจที่จะทำแค่นั้น แต่ไม่มีใครซื้อจะอยู่ได้อย่างไร พอองค์กรภาครัฐไม่สนับสนุนก็ไปต่อไม่ได้ และนั่นเป็นสาเหตุให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่ไม่ได้ในระยะยาว เมื่อไม่มีภาครัฐจ้างผลิต ไม่มีงานที่ต้องไปแสดงโชว์ที่ไหน” การมีวัตถุดิบและเอกลักษณ์ในชุมชนมาผสมผสานกับสินค้าคือจุดเริ่มต้นที่ดี หากสินค้า OTOP ที่เติบโตได้ เป็น OTOP Premium ได้ต้องคิด ทำ และบริหารแบบมืออาชีพ