เทย์เลอร์ สวิฟต์: จากเจ้าหญิงเพลงคันทรีสู่การสร้างปรากฏการณ์ The Taylor Swift Effect
คงจะพูดได้ว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) คือศิลปินที่สร้าง impact ให้กับวงการมากมาย ด้วยพรสวรรค์และพรแสวง ทำให้หญิงสาวจากเพนซิลเวเนีย มีความสามารถทางด้านดนตรีที่ยอดเยี่ยม ทั้งร้องเพลง เล่นกีตาร์ และเขียนเพลงจนมีแฟนเพลงหลงรักผลงานของเธอทั่วโลก
Forbes เคยสรุปความสำเร็จของเทย์เลอร์ ไว้ว่า เธอเป็นศิลปินเพียงคนเดียวต่อจาก The Beatles ที่มี 5 อัลบั้มเพลงขึ้นอันดับ 1 Billboard นานติดต่อกัน 6 สัปดาห์
อิทธิพลของความเป็นเทย์เลอร์ สวิฟต์ เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Taylor Swift Effect หรือปรากฏการณ์เทย์เลอร์ สวิฟต์ รวมถึง Netflix ได้สร้างภาพยนตร์สารคดีชีวิตของเธอที่มีชื่อว่า มิส อเมริกานา (Miss Americana) อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของความเป็นเธอ คงจะต้องเริ่มต้นที่เพนซิลเวเนีย...
จากเพนซิลเวเนียถึงแนชวิลล์ การเดินทางสู่เมืองหลวงแห่งดนตรีคันทรี
เทย์เลอร์เกิดมาในครอบครัวฐานะดี คุณพ่อทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ Merrill Lynch (บริษัทที่ทำงานทางด้านการลงทุนและการบริหารจัดการความมั่งคั่ง) คุณแม่เป็นแม่บ้าน และมีคุณยายเป็นนักร้องโอเปรา หลายคนเลยคิดว่าเธอน่าจะมีความสนใจทางด้านดนตรีเพราะมีสายเลือดนักดนตรีจากคุณยาย
เธอมีความสนใจทางด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก ประสบการณ์การขึ้นเวทีครั้งแรกของเทย์เลอร์เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เธออายุเพียง 9 ปีที่โรงละครเวทีของ Berks Youth Theatre Academy ถือเป็นความโชคดีของเธอที่เกิดมาในครอบครัวที่สนับสนุนในสิ่งที่เธอสนใจมาโดยตลอด คุณพ่อคุณแม่มักจะพาเทย์เลอร์ไปเรียนการแสดงและร้องเพลงที่นิวยอร์กอยู่บ่อย ๆ
ในเวลาต่อมา เธอให้หัวใจไปกับเพลงคันทรี โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก แชเนีย ทเวน (Shania Twain) นักร้องนักแต่งเพลงชาวแคนาเดียน ตอนอายุ 11 ปีเทย์เลอร์กับคุณแม่เดินทางไปที่แนชวิลล์ (Nashville) เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเพลงคันทรีของอเมริกา เพื่อไปส่งเดโมที่เธอร้องเพลงคัฟเวอร์เพลงของ ดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) และ เดอะ ชิคส์ (The Chicks) ให้กับค่ายเพลงค่ายหนึ่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ
แต่นั่นไม่ใช่จุดจบของโลกเสียหน่อย คนมี “ของ” ถึงเวลาเดี๋ยวจังหวะก็มาเอง แต่ตอนนี้เธอได้แต่ฝึกฝนไปก่อน แล้วรอเวลาเท่านั้น
ที่มาในความเก่งกาจกับจุดเริ่มต้นกีตาร์ที่มุมห้อง
ใน The Queen’s Gambit ซีรีส์ที่มาแรงเรื่องหนึ่งของปี 2020 ของ Netflix พูดถึงมิสเตอร์ไชเบิล (Mr.Shaibel) ภารโรงประจำโรงเรียน อาจารย์สอนหมากรุกคนแรกของนางเอก เบ็ธ ฮาร์มอน (Beth Harmon) ในมุมมองที่ว่า เขาอาจจะไม่ใช่คนที่เล่นหมากรุกเก่งที่สุดในเมืองแต่เป็นคนเปิดโลกทัศน์ให้นางเอกได้รู้จักโลกพื้นฐานการเล่นหมากรุก ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกได้มีแกรนด์มาสเตอร์หญิงหมากรุกของโลก
เฉกเช่นเดียวกับเจ้าหญิงเพลงคันทรีอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ คนที่สอนกีต้าร์ให้เทย์เลอร์คนแรกคือ รอนนี เครเมอร์ (Ronnie Kremer) ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ที่มาซ่อมคอมฯให้กับเทย์เลอร์ที่บ้าน รอนนีเห็นกีต้าร์วางอยู่ที่มุมห้องเขาจึงถามเทย์เลอร์ว่า
“อยากลองเล่นดูไหม?”
รอนนีจึงเป็นคนแรกที่สอนให้เทย์เลอร์รู้จักคอร์ด และพื้นฐานง่าย ๆ ของการเล่นกีตาร์ จนเทย์เลอร์สนใจที่จะเล่นกีต้าร์และแต่งเพลงในเวลาต่อมา
NY Daily News เคยตามไปสัมภาษณ์รอนนีที่ร้านคอมพิวเตอร์ที่เขาทำงานอยู่
สิ่งที่นักข่าวเห็นคือแผ่นเสียงอัลบั้มของเทย์เลอร์แขวนอยู่บนผนังห้องเหมือนกับที่มิสเตอร์ไชเบิลตัดข่าวหนังสือพิมพ์ที่เขียนถึงเบ็ธไว้ข้างผนัง...
นอกจากการร้องเพลง เล่นกีตาร์แล้ว ใบหน้าที่สดใสน่ารัก ผมสีบลอนด์ ตาสีฟ้า ทำให้เทย์เลอร์ได้มีโอกาสในการเข้าสู่วงการแฟชัน
ตอนอายุ 14 ปี เทย์เลอร์ได้โอกาสแรกด้วยการเป็นนางแบบให้กับ Abercrombie & Fitch แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วอเมริกา และในปีเดียวกันนั่นเองเธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง Big Machine ค่ายเพลงอิสระในแนชวิลล์ ที่มี Universal Music Group เป็นผู้จัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับเทย์เลอร์ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ของเธอตัดสินใจย้ายบ้านจากเพนซิลเวเนียมาอยู่ที่แนชวิลล์เพื่อสนับสนุนและเพื่ออำนวยความสะดวกในเส้นทางการเป็นศิลปินของลูกสาว
ตอนอายุ 15 ปี เทย์เลอร์ได้มีโอกาสปล่อยซิงเกิลแรกต่อสาธารณชน เพลง The Outside เป็นเพลงที่เธอเขียนและร้องเอง เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มรวมศิลปินหน้าใหม่ของ Maybelline New York: Chicks with Attitude เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่เธอเขียน ตอนอายุ 12 ปี ในช่วงเวลานั้น เธอมักจะรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น ที่โรงเรียน เธอตัวสูงกว่าเพื่อน ๆ เธอร้องเพลงคันทรีที่งานเทศกาลต่าง ๆ ในขณะที่เพื่อนผู้หญิงคนอื่นไปนอนค้างบ้านเพื่อน
เธอเล่าว่าเขียนเพลงนี้จากประสบการณ์ตรง จากความรู้สึกแปลกแยกจากคนวัยเดียวกันในช่วงเวลานั้น การเขียนเพลงจากความรู้สึกที่อยู่ตรงหน้าจริง ๆ ทำให้งานเพลงของเธอดูจริงใจและซื่อตรงกับประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
เทย์เลอร์ สวิฟต์ ถือเป็นศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จทางด้านดนตรีสูงที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ เธอมีเพลงฮิตมากมาย เช่น Love story (2008), Shake it off (2014), Blank space (2014), Look what you made me do (2017), Delicate (2017), Cardigan (2020) ทั้งยังมีวินัยและ passion ในการทำงานสูงมาก เห็นได้จากในปี 2020 เพียงปีเดียว เทย์เลอร์ สวิฟต์ออกงานเพลงพร้อมกันถึงสองอัลบั้มนั่นคือ Folklore และ Evermore
เทย์เลอร์กวาดรางวัลจากเวทีใหญ่ ๆ เช่น American Music Awards จำนวน 32 รางวัล (เป็นศิลปินที่ได้รางวัลนี้มากที่สุดตั้งแต่มีการจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา), Grammy Awards อีก 10 รางวัล งานเพลงและตัวตนของเธอจึงถือเป็นแลนด์มาร์กของโลกดนตรียุคนี้ในระดับ “ปรากฏการณ์”
The Taylor Swift Effect - ปรากฏการณ์เทย์เลอร์ สวิฟต์
ที่จริงแล้วยังไม่มีใครนิยามความหมายของคำว่า The Taylor Swift effect ไว้อย่างแน่ชัด แต่มันน่าจะจำกัดความได้ว่า สิ่งที่เทย์เลอร์พูดหรือทำได้มีผลวงกว้างต่อสังคม บทบาทของเทย์เลอร์เป็นทั้ง influencer ผู้ผลักดันแคมเปญ ไปจนถึง “เจ๊ดัน” ที่นำพาศิลปินที่เธอสนับสนุนไปถึงฝั่งฝัน
เหตุการณ์เด่น ๆ สำหรับ The Taylor Swift Effect มีดังนี้
1. วันที่ 8 ตุลาคม 2018 เทย์เลอร์โพสต์อินสตาแกรมเพื่อเชิญชวนให้คนออกไปการเลือกตั้งกลางสมัย (midterm elections) ในเวลาเพียงแค่ 48 ชั่วโมงหลังจากที่เธอโพสต์ข้อความดังกล่าว มีคนจำนวน 160,000 คนลงทะเบียนใน vote.org เพื่อเข้าไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ความเป็นจริง เราไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนคนทั้งหมดที่มาลงทะเบียนนี้เป็นผลมาจากโพสต์ของเทย์เลอร์โดยตรงหรือไม่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติที่ทาง vote.org พยายามโปรโมตให้คนมาลงทะเบียนตลอดเดือนสิงหาคม ทาง vote.org ได้จำนวนคนลงทะเบียนเพียง 5 หมื่นกว่าคน แต่เทย์เลอร์โพสต์อินสตาแกรมเพียงแค่ 48 ชั่วโมง จำนวนคนที่สนใจจะมาใช้สิทธิ์กลับสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว
2. “เทย์เลอร์ สวิฟต์ทำให้ผู้หญิงหันมาเล่นกีตาร์มากขึ้นทั่วโลก” เป็นคำพูดของ แอนดี มูนี (Andy Mooney) CEO ของ Fender บริษัทผลิตกีต้าร์ชั้นนำ แอนดีอธิบายว่า จากสถิติการขายกีตาร์ทั้งทางฝั่งอังกฤษและอเมริกา ลูกค้ามากกว่า 50 เปอร์เซนต์เป็นผู้หญิง และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงหันมาเล่นกีตาร์มากขึ้น ก็มาจากการที่มีศิลปินหญิงเล่นกีตาร์มากขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงเทย์เลอร์ สวิฟต์ ด้วย
3. ศิลปินที่เทย์เลอร์เลือกมาเล่นเปิดโชว์ของเธอ ดังเปรี้ยงในเวลาต่อมาหลายต่อหลายคน เช่น เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran), ชอว์น เมนเดส (Shawn Mendes) แน่นอนว่าศิลปินเหล่านี้ก็มีฝีไม้ลายมือที่เด็ดขาดและพรสวรรค์ในการแสดงบนเวทีอย่างร้ายกาจด้วย แต่เทย์เลอร์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ให้โอกาสพวกเขาได้แสดงออกบนเวทีใหญ่
4. เทย์เลอร์ทำให้บริษัทสตรีมมิงเพลงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Apple Music เปลี่ยนนโยบายการจ่ายเงินให้กับศิลปินทั่วโลก ในปี 2015 เดิมที Apple Music มีนโยบายว่าให้ผู้สมัครบริการใช้บริการฟรีในช่วง 3 เดือนแรกของการทดลองใช้งาน และในระยะเวลา 3 เดือนนี้ Apple Music ก็จะไม่จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ใด ๆ ให้กับศิลปินด้วย นโยบายนี้กับศิลปินดังอาจจะไม่กระทบมากเท่าเท่ากับศิลปินอินดี้ ซึ่งศิลปินอินดี้หลายคนพยายามเรียกร้องให้ Apple Music จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงในระหว่างให้ผู้ฟังทดลองใช้งาน 3 เดือนนี้ แต่ก็ไม่เคยเป็นผล แต่เพียงแค่สาวน้อยผมบลอนด์จากแนชวิลล์บอกคำเดียวว่า “ไม่แฟร์ “ กับประโยคฮุคจนจุกที่ว่า ”เราไม่ได้ขอไอโฟนฟรีจากคุณ เพราะฉะนั้นได้โปรดอย่ามาขอเพลงฟรีจากเรา” เธอพร้อมจะถอนอัลบั้ม 1989 ที่เพิ่งออกในช่วงนั้นออกจาก Apple Music
จะยักษ์ใหญ่ในวงการเพลงขนาดไหนก็ต้องสะเทือน เมื่อเจอคำพูดนี้ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เอ็ดดี คูย์ (Eddy Cue) รองประธานอาวุโสของ Apple ต้องออกมาประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินให้กับศิลปินทุกคนบน Apple Music โดยจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ครอบคลุมถึง 3 เดือนแรกของการทดลองใช้งานด้วย ตรงนี้น่าจะถือได้ว่าเธอสร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับเพื่อนศิลปินร่วมอาชีพทุกคน
เมื่อเดือนมกราคม 2020 Netflix ได้ปล่อยภาพยนตร์สารคดีชีวิตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ และตั้งชื่อเรื่องว่า มิสอเมริกานา (Miss Americana) ปกติแล้วคำว่ามิสอเมริกาจะหมายถึง สาวที่ชนะรางวัลการประกวดเวทีนางงามในสหรัฐอเมริกา แต่ในภาพยนตร์สารคดีนี้ คุณจะได้เห็นชีวิต ความคิด และสภาพจิตใจของเทย์เลอร์ สวิฟต์ สาวน้อยจากแนชวิลล์ผู้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่างบนโลกดนตรี และการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แนวความคิดอย่างหลังเริ่มต้นมาจากการที่เธอชนะคดีการถูกคุกคามทางเพศ
เรื่องราวในศาลวันนั้นเธอเป็นผู้ชนะคดี แต่เทย์เลอร์กลับไม่รู้สึกถึงชัยชนะเลย เพราะกระบวนการการสอบสวนมันได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเธอลง ใน Miss Americana ได้มีภาพฟุตเทจคอนเสิร์ตของเธอตอนที่พูดว่า
“ในวันนี้ 1 ปีที่แล้ว ฉันอยู่ในศาลและชนะคดี เพราะทุกคนในศาลเชื่อในสิ่งที่ฉันพูด (พร้อมหลักฐานและพยาน) ฉันนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตฉันจะเป็นอย่างไร ผู้หญิงเหล่านั้นที่เป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศที่พูดแล้วไม่มีใครเชื่อจะมีชีวิตอย่างไร”
นับจากนั้นมาเทย์เลอร์ตัดสินใจว่าทุกครั้งที่เธอมีโอกาส เธอจะมีความกล้ามากพอที่จะยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เธอจะไม่กลัวว่าบัตรคอนเสิร์ตของเธอจะขายได้น้อยลง ถ้านั่นคือสิ่งที่เธอต้องทำ เธอจะยืนอยู่ข้างความถูกต้องเสมอ
แน่นอนว่าชื่อของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ยืมมาจาก ชื่อเพลง ๆ หนึ่งของเทย์เลอร์ ที่ชื่อ Miss Americana & The Heartbreak Prince (2019) แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาวน้อยผมบลอนด์จากแนชวิลล์คนนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ The Taylor Swift Effect ผู้ซึ่ง, เสียง ความเคลื่อนไหว การกระทำทุกย่างก้าวของเธอส่งผลกระทบโดยกว้างต่อสังคมอเมริกาได้สมกับฉายา มิสอเมริกานา สมดังชื่อเพลงในที่สุด
ที่มา
https://www.musicinminnesota.com/13-facts-taylor-swift-2019/
http://www.cmt.com/.../taylor-swift-cites-shania-twain.../
https://www.nydailynews.com/.../computer-tech-taught...
https://www.teenvogue.com/.../abercrombie-and-fitch...
https://www.theguardian.com/.../taylor-swift-democrats...
https://www.independent.co.uk/.../new-guitar-players...
https://www.eonline.com/.../the-taylor-swift-effect-how...
https://www.nytimes.com/.../taylor-swift-miss-americana...
https://www.forbes.com/.../taylor-swift-beatles.../...
เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์