จูเลียน อัสซานจ์: คนกล้าหาญที่เปิดโปงความจริง หรือวายร้ายที่อเมริกาเกลียด?

จูเลียน อัสซานจ์: คนกล้าหาญที่เปิดโปงความจริง หรือวายร้ายที่อเมริกาเกลียด?
"บุคคลคนนี้เป็นคนทรยศ เป็นคนขายชาติ เขาได้ฝ่าฝืนกฎหมายทุกมาตราของสหรัฐอเมริกา และด้วยความที่ผมไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต นั่นทำให้ผมคิดว่ามันมีวิธีเดียวที่จะทำได้ นั่นคือ 'การยิงไอ้สารเลวนั่นอย่างนอกกฎหมาย' เพราะ มีแต่ 'คนตายเท่านั้นที่จะไม่ทำความลับรั่วไหล'"   คำพูดดังกล่าวออกมาจากปากของ บ็อบ เบคเคล นักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ในรายการ “Follow The Money” ซึ่งออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอียงขวาของอเมริกาอย่างช่อง Fox News โดย 'ไอ้สารเลว' ที่เบคเคลเห็นว่าเป็นคนทรยศและขายชาติ จนถึงขนาดที่จะต้องถูกยิงโดยไม่ต้องมีกฎหมายมาให้คำอนุญาตนั้น ได้แก่ชายผู้ที่ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกัน และไม่เคยแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินอเมริกาเลยสักครั้ง จนเป็นที่น่าตลกว่าทำไมเบคเคลถึงกล่าวราวกับว่าเขาเป็นคนอเมริกัน โดยไอ้สารเลวที่เบคเคลพูดถึงนั้นได้แก่ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง WikiLeaks องค์กรไม่แสวงหากำไรที่คอยเปิดเผยความลับอันโสมมของเหล่าผู้มีอำนาจจำนวนมากให้แก่ชาวโลกได้รับรู้ จูเลียน อัสซานจ์ เกิดในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 ณ เมืองทาวส์วิลล์ รัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีแม่ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า คริสติน แอนน์ ฮอว์กินส์ เป็นศิลปินทัศนศิลป์ และจอห์น ชิปตัน พ่อผู้เป็นนักกิจกรรมต่อต้านสงคราม พ่อแม่ของจูเลียนได้แยกทางกันตั้งแต่ก่อนที่จูเลียนจะเกิดแล้ว เมื่อจูเลียนอายุได้หนึ่งปี แม่ของจูเลียนได้แต่งงานกับริชาร์ด อัสซานจ์ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักแสดง ก่อนที่ทั้งคู่จะหย่าร้างกันในปี 1979 ตลอดชีวิตวัยเด็กของจูเลียนนั้น ต้องร่อนเร่ไปมากกว่า 30 เมืองทั่วออสเตรเลีย ก่อนที่จะลงหลักปักฐานและศึกษาร่ำเรียนอย่างจริงจังที่เมืองเมลเบิร์น การอยู่เป็นหลักแหล่งของจูเลียนนั้นก็ทำได้ไม่นาน ราวกับว่ามุขล็อคที่เมื่อถามว่า "เป็นคนที่ไหน?" แล้วต้องตอบว่า "เป็นคนทุกที่" นั้นถูกสร้างมาจากชีวิตเขา เพียงแต่ว่าชีวิตของจูเลียนกลับเป็นชีวิตต่างจากการเล่นมุขตลก ตรงที่เป็นชีวิตที่ดูจะหัวเราะไม่ค่อยออก เพราะการต้องเร่ร่อนพเนจรของเขากลับไม่ใช่การบินไปบินมาหรือเที่ยวรอบโลกแบบที่บรรดาคนมีเงินมักกระทำกันแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การเดินทางของเขากลับเป็นการเดินทางเพื่อ “หนีภัยความตาย” ซึ่งเป็นภัยที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจอย่าง 'สหรัฐอเมริกา'   จูเลียนกลายมาเป็นศัตรูคนสำคัญของอเมริกา นับตั้งแต่เมื่อ WikiLeaks ได้ปล่อยคลิปวีดีโอที่ชื่อว่า Collateral Murder ในวันที่ 5 เมษายน ปี 2010 คลิปวีดีโอนี้เป็นการบันทึกฟุตเทจในปฏิบัติการจู่โจมทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี 2007 ณ เมืองแบกแดด เผยให้เห็นภาพการสาดกระสุนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่พลเมืองธรรมดาอย่างป่าเถื่อน อันส่งผลให้ 18 ชีวิตที่อยู่ในพื้นที่การโจมตี ต้องจบลงในทันที โดยยังมีนักข่าวที่ต้องเสียชีวิตถึง 2 ราย ซ้ำร้ายยังมีเด็กได้รับบาดเจ็บถึง 2 คน “ทั้งหมดเป็นความผิดของพวกมันเองที่เอาเด็กเข้ามาในสมรภูมิ” คือคำพูดผ่านทางวิทยุของทหารอเมริกันผู้ลงมือปฏิบัติการ โดยตลอดความยาวกว่า 39 นาทีของวิดีโอนั้น ยังได้บันทึก “เสียงหัวเราะ” และความสนุกสนานราวกับกำลังเล่นวิดีโอเกมของทหารอเมริกันขณะกำลังยิงมนุษย์ผู้อยู่เบื้องล่างอีกด้วย “ฮ่า ฮ่า กูยิงพวกมันเรียบเลย” “สุดยอดไปเลย ดูไปที่ศพของพวกเวรนั่นสิ”   หลังจากการโจมตีทางอากาศเหนือกรุงแบกแดดแล้ว WikiLeaks ยังได้เผยแพร่บันทึกปฏิบัติการสงครามอัฟกันและอิรัก (Afghan War logs, Iraq War logs) ซึ่งปรากฏตัวเลขพลเมืองผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่านับแสนคน โดยยังมีการเผยแพร่เอกสารลับอื่น ๆ อีก เช่น Guantanamo Bay files, Diplomatic cables และ Granai airstrike โดยเอกสารลับทั้งหมดที่ WikiLeaks ได้นำออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนนั้น ได้เปิดเผยให้เห็นความโหดร้าย ป่าเถื่อนของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่กระทำไปในนามของ “สันติภาพ” เมื่อภาพสงครามแห่งสันติของสหรัฐอเมริกาถูกทำลายลง ผู้พิทักษ์ความสันติจึงอยู่นิ่งเฉยมิได้ สหรัฐฯ รู้ดีว่าระบบการรักษาความปลอดภัยในกองทัพของตนนั้น ไม่มีทางที่จะถูกเจาะจากภายนอกได้ ดังนั้นข้อมูลที่ WikiLeaks ได้ไปย่อมเป็นการไหลออกไปจากคนภายในของกองทัพเอง และในที่สุดการไล่ล่าก็ประสบความสำเร็จ หนอนที่แอบส่งข้อมูลให้กับทางจูเลียนหรือ WikiLeaks นั้น ได้แก่ พลทหารแบรดลีย์ แมนนิง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อให้ตรงตามเพศสภาพเป็น เชลซี แมนนิง แมนนิงเป็นพลทหารประจำหน่วยสืบราชการลับของกองทัพอเมริกา และเป็นหนึ่งในทหารผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว จากการที่เป็น LGBTQ+ จึงตกอยู่ภายใต้นโยบาย “ห้ามถาม ห้ามพูด” ("Don't ask, don't tell" หรือ DADT) ที่ห้ามทหารซึ่งไม่ได้มีรสนิยมทางเพศแบบชอบเพศตรงข้ามเปิดเผยตัวตนและยังห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนอีกด้วย ซึ่งหากดูอย่างผิวเผินแล้วนโยบายนี้อาจทำให้คิดได้ว่า เป็นนโยบายที่เปิดกว้างทางอัตลักษณ์ แต่เมื่อพิจารณาทั้งในทางนโยบายและในทางปฏิบัติแล้ว นโยบายนี้ก็เป็นการกีดกันทางเพศอย่างชัดเจน “ฉันไม่เคยชอบที่จะถูกทำร้ายหรือถูกเรียกว่าเกย์ (ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกย์หมายความว่าอะไร แต่ฉันรู้ว่ามันหมายถึงอะไรที่เลวร้าย)” นี่คือสิ่งที่แมนนิงพูดไว้ในแชทลับระหว่างเขากับเอเดรียน ลาโม บุคคลซึ่งในภายหลังจะกลายมาเป็นผู้รายงานการกระทำผิดของแมนนิงต่อกองทัพสหรัฐฯ โดยแมนนิงถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกว่า 22 ข้อกล่าวหาด้วยกัน ซึ่งข้อหาที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษได้แก่ ข้อหาการโจรกรรมข้อมูล (The Espionage Act of 1917) ที่หากแมนนิงถูกพิพากษาว่ามีความผิดก็จะส่งผลให้บทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1 (First Amendment) ซึ่งครอบคลุมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อนั้น ถูกจำกัดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาให้เขามีความผิดทั้งหมด 17 ข้อกล่าวหาจากข้อกล่าวหาทั้งหมด เป็นโทษจำคุกทั้งหมด 35 ปี (ต่อมาในปี 2017 ภายใต้การนำของรัฐบาลโอบามาและการกดดันจากมวลชน แมนนิงได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวในที่สุด)   ในช่วงที่แมนนิงถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีฐานโจรกรรมข้อมูลในอเมริกานี้เอง ตัวจูเลียนเองก็ถูกตั้งข้อหาในฐานความผิดเดียวกันนี้ไปด้วย โดยการตั้งข้อหาดังกล่าว อาจเป็นฐานความผิดที่ทำให้อเมริกาสามารถอ้างการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อนำตัวจูเลียนเข้าไปยังดินแดนของอเมริกาได้ ตามหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามดินแดน โดยทั่วไปจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดที่ก่อขึ้นนั้น เป็นการกระทำที่ผิดทั้งในรัฐผู้รับและรัฐผู้ส่ง ในแง่นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องถูกส่งตัวไปยังอเมริกา จูเลียนจึงเลือกเดินทางไปอยู่ในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้ความสำคัญกับ “เสรีภาพสื่อ” มากที่สุด อย่างประเทศสวีเดน แต่การก็หาได้เป็นไปอย่างที่หวังไม่ หลังจากอยู่ในสวีเดนได้ไม่นาน จูเลียนถูกกล่าวหาโดยหญิงสองคนว่า เขาได้ล่วงละเมิดทางเพศพวกผู้หญิงทั้งสอง จากการที่เขาได้มีการร่วมเพศกับหญิงเหล่านี้โดยปราศจากการป้องกัน (ถือเป็นการล่วงละเมิดที่ไร้ความยินยอมจากอีกฝั่ง) แม้ในตอนแรกจูเลียนจะให้ความร่วมมือในการสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นอย่างดี โดยยังคงอยู่ในสวีเดนต่อถึง 5 สัปดาห์หลังจากเกิดข้อกล่าวหาขึ้น แต่ท้ายที่สุดจูเลียนก็พบว่าได้มีการเตะถ่วงมิให้กระบวนการดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเมื่อจูเลียนร้องขอการรับรองจากทางสวีเดนว่าจะไม่มีการส่งตัวเขาไปยังสหรัฐอเมริกา กลับได้รับการปฏิเสธ สิ่งนี้ย่อมส่งผลให้ จูเลียนรู้ดีว่ากระบวนการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจมืดจากทางมหาอำนาจอย่างอเมริกาผู้ต้องการตัวเขาไปลงโทษอย่างแน่นอน โดยโดนัล บอสตรอม นักข่าวชาวสวีเดนกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่าหลังจากที่ข่าวนี้แพร่กระจายออกไปโดยสื่อกระแสหลักก็ส่งผลให้ “จากก่อนหน้านี้ที่จูเลียน อัสซานจ์มีสถานะเป็นดั่งร็อคสตาร์ มันก็ทำให้เขากลายเป็นสัตว์นรกภายในชั่วข้ามคืน” โดยทุกฝ่ายในสวีเดนไม่ว่าจะขั้วการเมืองไหนต่างก็เห็นพ้องกัน และนีลส์ เมลเซอร์ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการทรมานและความรุนแรงอื่น ๆ (the United Nations Special Rapporteur on Torture and other Cruel) ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า "การทำลายภาพลักษณ์ของอัซซานจ์ ด้วยการให้ร้ายและบ่อนทำลายชื่อเสียงของเขาด้วยข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศนี้" มันจะ “เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู อีกทั้งยังทำให้เป็นการง่ายขึ้นที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่ง โดยการทำให้คน ๆ นั้นกลายเป็นบุคคลที่ถูกคนทั้งโลกเกลียดชัง”   หลังจากที่กลิ่นภัยความตายเข้ามาเตะจมูกเข้าอย่างจังแล้ว จูเลียนเลือกที่จะหลบหนีไปไปที่สหราชอาณาจักร โดยยื่นขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองและอาศัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ ณ กรุงลอนดอน นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า การที่เอกวาดอร์ยอมให้จูเลียนลี้ภัยเข้ามาอยู่ภายใต้เขตอำนาจของตนนี้ ยังเป็นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ในด้านสิทธิเสรีภาพที่เอกวาดอร์ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างต่ำอีกด้วย ปฏิบัติการไล่ล่าตัวจูเลียนของอเมริกานั้น ได้ลดระดับความเข้มข้นลงในสมัยของรัฐบาลโอบามา โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเลือกที่จะไม่ดำเนินการฟ้องคดีต่อจูเลียนเพิ่ม โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจูเลียนนั้นไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่นักข่าวคนอื่น ๆ กระทำกัน ในช่วงที่จูเลียนอาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ ภายในสถานทูตเอกวาดอร์นั้น ผลงานชิ้นสำคัญของเขาและ WikiLeaks คือการเปิดเผยอีเมลของฮิลลารี คลินตัน ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการกำจัดคู่แข่งที่จะมาท้าชิงเป็นตัวแทนผู้สมัครลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิปดีของพรรคเดโมแครต อย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส นักการเมืองหัวเอียงซ้าย ผู้ซึ่งมีนโยบายที่จะเป็นมหันตภัยต่อเหล่ามหาเศรษฐีในสหรัฐฯ จำนวนมาก อีกทั้ง WikiLeaks ยังได้เปิดเผยข้อมูลอีกว่าฮิลลารีได้ว่าจ้างบริษัทสตาร์ตอัพที่มีชื่อว่า The Groundwork ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Google ซึ่งมีฮิลลารีเป็นผู้ให้ทุนแก่บริษัทเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพื่อช่วยในการแข่งขันการลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ (โดยเอริก ชมิดต์ ผู้บริหาร Google ในขณะนั้นได้ออกมาให้การปฏิเสธในภายหลัง) ด้วยความที่ฮิลลารี คลินตัน เป็นนักการเมืองที่จ้องจะเล่นงานจูเลียนมาโดยตลอด ส่งผลให้ WikiLeaks ถูกโจมตีว่ามีจุดยืนเอนเอียงไปทางโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะ WikiLeaks ไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายทรัมป์เลยแม้แต่น้อย อีกทั้งจูเลียนและ WikiLeaks ยังถูกตั้งข้อครหาอย่างรุนแรงว่าเป็นสายลับให้กับทางรัสเซีย ทั้งนี้ ทาง WikiLeaks มีการออกตัวมาตลอดว่า ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบว่าแหล่งข้อมูลที่ได้มานั้น เป็นใคร มาจากไหน จะมีก็เพียงหน้าที่ที่จะเผยแพร่มันออกไปเพียงเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากตัว Daniel Domscheit-Berg หนึ่งในอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง WikiLeaks ว่านโยบายการรักษาแหล่งข้อมูลอย่างหนึ่งของที่นี่คือการที่พวกเขาไม่รู้ว่าใครเป็นแหล่งข้อมูล อย่างไรก็ตามจูเลียนได้แสดงทรรศนะของตนในการแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างทรัมป์และฮิลลารีว่า “เป็นเหมือนการให้เลือกระหว่างโรคห่ากับโรคหนองใน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่อยากจะได้มันสักโรค” และเมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งและได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิปดี ในไม่กี่อึดใจ ปฏิบัติการไล่ล่าคว้าตัวจูเลียน ก็กลับมาเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยได้รับการผ่อนปรนไปในสมัยของรัฐบาลโอบามา โดยทางเอกวาดอร์ที่กำลังต้องการจะกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (International Monetary Fund) ตลอดประวัติศาสตร์ขององค์กรนี้มักจะยืนอยู่ในข้างของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา การที่เอกวาดอร์มีตัวจูเลียนอยู่ในมือ ก็อาจเหมือนกับการมีตัวประกันที่พร้อมจะปล่อยไปเมื่อไหร่ก็ได้ หากเพียงแค่ได้รับการจ่ายค่าไถ่ ก่อนหน้านี้ก็พบว่าทางเอกวาดอร์ก็ได้มีการร่วมมือกับบริษัทรักษาความปลอดภัยสัญญาติสเปนอย่างบริษัท UC global บริษัทรักษาความปลอดภัยคู่สัญญาของสถานทูตเอกวาดอร์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับ CIA ในการสอดแนมจูเลียนมาโดยตลอด   และในที่สุด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2019 จูเลียนได้ถูกจับกุมตัวโดยตำรวจสหราชอาณาจักร ด้วยการหิ้วปีกออกมาจากสถานทูตเอวกาดอร์ โดยในมือของจูเลียนได้ถือหนังสือของกอร์ ไวดาล นักเขียนและปัญญาชนชาวอเมริกันผู้มากอารมณ์ขัน และเป็นบุคคลซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่ออเมริกันกระแสหลักมาโดยตลอดออกมาด้วย ในทุกวันนี้จูเลียนได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เบลมาร์ส (HMP Belmarsh) เรือนจำระดับ HSU (ย่อมาจาก High Security Unit) หนึ่งในเรือนจำที่อันตรายที่สุดในสหราชอาณาจักร เขามีสภาพร่างกายที่ย่ำแย่และสภาวะจิตใจที่ทรุดโทรมอย่างหนัก โดยนีลส์ เมลเซอร์ กล่าวว่าพฤติกรรมของจูเลียนนั้นแสดงให้เห็นถึงสภาวะการถูกทรมานทางจิตใจ จากการที่ต้องใช้ชีวิตโดยตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ที่เขาได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์มาจนถึงปัจจุบันในเรือนจำ เบลมาร์ส ส่งผลให้แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคออทิสติกและมีอาการแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อทักษะการเข้าสังคมของเขา หากไม่ได้เข้ารับการรักษาในทันทีจะส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้นไปอีก ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา มีกลุ่มแพทย์กว่า 216 รายชื่อ จาก 33 ประเทศทั่วโลก ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้จูเลียนได้เข้ารับการรักษาและให้ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรหยุดการกระทำเพิกเฉยต่ออาการของจูเลียน ซึ่งเป็นการทรมานเขาในทางอ้อม หลังจากที่เคยมีการร่วมลงชื่อของกลุ่มแพทย์ไปแล้วหลายครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าแต่ประการใด Michael Kopelman หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญประสาทจิตเวชคนหนึ่งของโลกพูดถึงอาการของเขาว่า “เขาต้องตกอยู่ในวังวนของความคิดที่จะฆ่าตัวตัว จากการที่เขาอาจจะถูกส่งตัวไปยังอเมริกาได้ทุกเมื่อ” “ผมคิดว่าผมกำลังจะเป็นบ้า” คือประโยคแรกที่จูเลียนพูดกับจอห์น พิลเกอร์ เพื่อนผู้เป็นคนทำภาพยนตร์และนักข่าวที่ได้ไปเยี่ยมเขา หลังจากพิลเกอร์ต้องผ่านด่านการตรวจตราอันเข้มงวดของเรือนจำ ที่ต้องใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงจะเข้าพบตัวจูเลียนได้ ชีวิตของจูเลียนยังคงอยู่ในอันตราย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจูเลียน คือชะตากรรมและบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นต่อเสรีภาพของสื่อทั้งหมดบนโลก และยังแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้การเปิดเผยความลับอันสกปรกโสโครกของรัฐจะเป็นสิ่งที่นักข่าวในทุก ๆ ประเทศทำกัน แต่การเปิดเผยความลับของบางประเทศอาจจะเป็นข้อยกเว้นของหลักการได้เสมอ ๆ เช่นในที่นี้คือ สหรัฐอเมริกา เจ้าของฉายา American exceptionalism ดินแดนแห่งเสรีภาพที่พร้อมจะพรากความเสรีและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการได้เสมอ ดินแดนที่จูเลียนฝ่าฝืนกฎหมายทุกมาตรา แต่ไม่มีมาตราใดเลยที่ประกันสิทธิของเขา ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญควรจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ไม่ว่าอำนาจใดก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ เพราะอเมริกาเป็นข้อยกเว้นได้เสมอ สลาวอย ชิเช็ค นักปรัชญาชาวสโลวีเนียนและเพื่อนอีกคนหนึ่งของจูเลียน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้โดยล้อไปกับชื่อเพลงจำนวนหนึ่งของวงที่ต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์อย่าง พิงค์ ฟลอยด์ ว่า “หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ก็ได้มีการเกิดกำแพงขึ้นใหม่ในทุกหนทุกแห่ง โดยการดำเนินคดีกับอัสซานจ์ทั้งหมดทั้งมวลแล้วนั้น เป็นเพียงแค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพงอันใหม่นี้ (just another brick in a new wall) ทั้งนี้ บางส่วนของกำแพงนี้นั้นมีความเปราะบางมาก มันถูกสร้างขึ้นเหมือนกับปราสาทไพ่ ที่เมื่อไพ่ใบสำคัญถูกดึงออกมา มันก็จะพังพินาศลงมาในทันที และนี่คือเหตุผลที่เหล่าผู้มีอำนาจถึงไล่ล่าตามตัวจูเลียนอย่างบ้าระห่ำ ... จูเลียนเป็นผู้ที่แสดงให้เราเห็นถึงด้านมืดของดวงจันทร์ (the dark side of the moon) สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการปราศจากเสรีภาพ ก็คือการที่เราปราศจากเสรีภาพนั้นในฐานะของการมีเสรีภาพ”   สุดท้ายนี้ คงไม่มีคำพูดใดที่จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดีไปกว่าคำพูดของสเตลลา มอริส คู่รักของจูเลียน "การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตของจูเลียน เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อและเป็นการต่อสู้เพื่อความจริง ภายในระยะเวลาสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การดำเนินคดีนี้ได้เผยให้เห็นธาตุแท้ของมันแล้ว จูเลียนถูกลงโทษจากการรับใช้สาธารณชนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน เขาต้องถูกจองจำเพียงเพราะได้เผยให้เห็นถึงอาชญากรรมและการกระทำอันป่าเถื่อนที่แท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นจากอำนาจในแดนไกล ที่ได้ริบไปซึ่งเสรีภาพและฉีกกระชากครอบครัวไปจากเขา พลังอำนาจนั้นยังได้ทำการตัดขาดเขาออกจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยการส่งเขาไปอยู่ในหุบเหวที่ลึกหรือมืดมิดที่สุดภายใต้ระบบราชภัณฑ์ไปตลอดชีวิต "จูเลียนต้องเผชิญกับโทษจำคุก 175 ปี โดยข้อกล่าวหาส่วนใหญ่นั้นล้วนเกี่ยวพันกับการได้รับและครอบครองไว้ซึ่งเอกสารราชการ โดยภายใต้คำสาบานในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่เอกสารเหล่านี้ "จูเลียนไม่ใช่พลเมืองของสหรัฐอเมริกา และเขาไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เขาไม่เคยลงนามข้อตกลงใดกับรัฐบาลสหรัฐฯ "เขาไม่ควรถูกส่งไปที่นั่น "ข้อผูกพันเดียวของจูเลียนคือข้อผูกพันต่อมหาชน ด้วยการเผยแพร่หลักฐานในการกระทำความผิด และนั่นก็คือทั้งหมดที่เขาได้ทำลงไป "อาชญากรรมอันโหดร้ายจำนวนมากได้ถูกก่อขึ้นในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนถึงที่อ่าวกวนตานาโม ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกจองจำกลับไม่ใช่เหล่าผู้กระทำความผิดเหล่านั้น แต่กลับเป็นจูเลียนเสียเอง "จูเลียนเป็นเพียงแค่ผู้เผยแพร่ เป็นลูกชาย เป็นเพื่อน เป็นคู่หมั้นของฉัน และเป็นเพียงพ่อคนหนึ่ง ลูกของเราต้องการพ่อ ส่วนจูเลียนต้องการเสรีภาพของเขา และประชาธิปไตยของพวกเราก็ยังต้องการเสรีภาพของสื่ออีกด้วยเช่นกัน"   เรื่อง: อภิสิทธิ์ เรือนมูล   แหล่งอ้างอิง https://www.huffpost.com/.../fox-news-bob-beckel-calls_n... https://www.lrb.co.uk/.../patrick.../julian-assange-in-limbo https://www.bbc.com/news/world-us-canada-27132347 https://www.wired.com/2011/07/manning-lamo-logs/ https://www.theguardian.com/.../bradley-manning-wikileaks... https://defend.wikileaks.org/.../06/11/top-disclosures-2010/ https://www.vox.com/.../wikileaks-hillary-clinton-julian... https://www.democracynow.org/.../julian_assange_choosing... https://www.nytimes.com/.../trump-administration-assange... https://therealnews.com/ecuadorian-presidents-motives-for... https://www.huffpost.com/.../julian-assange-google... https://redflag.org.au/node/7400 https://www.youtube.com/watch?v=chXX9RI_hVM... https://www.youtube.com/watch?v=pgw6FoFPhjo... https://www.youtube.com/watch?v=3Zh5Nakva5Y... https://www.youtube.com/watch?v=69UbXNWCzV0... https://www.thelancet.com/.../PIIS0140-6736.../fulltext... https://reason.com/.../the-julian-assange-case-threatens.../