ไมยา อีโซลา: แหกกฎเจ้านาย เกิดเป็นลายดอกไม้สุดฮิตของ Marimekko

ไมยา อีโซลา: แหกกฎเจ้านาย เกิดเป็นลายดอกไม้สุดฮิตของ Marimekko
อ่อนหวาน-น่ารัก-สดใส
สามคำแรกที่นึกขึ้นได้เมื่อเห็นลายดอกป๊อปปี้บนสินค้าของมารีเมกโกะ (Marimekko) แบรนด์ไลฟ์สไตล์สัญชาติฟินแลนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่เชื่อไหมว่าที่มาของดอกป๊อปปี้แสนน่ารักเหล่านี้มีเรื่องราวความขบถซ่อนอยู่ เพราะนอกจากดีไซเนอร์อย่าง ‘ไมยา อีโซลา (Maija Isola)’ จะออกแบบลายดอกอูนิกโกะ (Unikko) หรือดอกป๊อปปี้โดยที่เจ้านาย (ไม่ได้) สั่งแล้ว เธอยังทำตรงข้ามกับกฎที่เจ้าของแบรนด์ตั้งไว้อีกต่างหาก
.
เรื่องราวก่อนดอกไม้บาน
ก่อนจะเล่าถึงที่มาของลายดอกป๊อปปี้สีแดง เราอยากพาย้อนกลับไปในฟินแลนด์ปี 1949 เมื่อบรรยากาศหม่นเทาเข้าปกคลุมประเทศ ทั้งสงคราม ความแร้นแค้น และสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ แต่คู่สามีภรรยา ‘อาร์มี ราเตีย (Armi Ratia) และ วิลิโย ราเตีย (Viljo Ratia)’ กลับไม่ยอมจำนนต่อความหดหู่ในยุคนั้น ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าขนาดเล็กที่ชื่อว่า Printex ขึ้นในเมืองเฮลซิงกิ ด้วยหวังจะสร้างสรรค์สินค้าประโลมหัวใจผู้คนและคงทนเหมาะกับสภาพอากาศ
.
สองสามีภรรยาจึงชวนศิลปินรุ่นใหม่มาออกแบบลายผ้า หนึ่งในนั้นคือ ‘ไมยา อีโซลา’ (Maija Isola) ลูกสาวคนเล็กของเมาโน อีโซลา (Mauno Isola) ชาวไร่ในเฮลซิงกิ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการเขียนเพลงและบทกวี
.
ไมยาเข้าเรียนจิตรกรรมที่ The Helsinki Central School of Industrial Arts หลังจากนั้น เธอสร้างสรรค์ผลงานและคว้ารางวัลด้านการออกแบบมากมาย ครั้งหนึ่งเธอได้ออกแบบลวดลายไห (Amphora) ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากตอนเดินทางไปชมงานในพิพิธภัณฑ์ Oslo Museum of Craft and Design ประเทศนอร์เวย์ โดยลวดลายที่ว่านี้เป็นหนึ่งในผลงานที่เตะตาอาร์มี ราเตีย (Armi Ratia) เจ้าของแบรนด์มารีเมกโกะพอดี เธอจึงชักชวนไมยาเข้ามาทำงานในฐานะนักออกแบบลายผ้าคนแรกของ Printex ซึ่งกลายเป็นแบรนด์มารีเมกโกะในเวลาต่อมา
.
ดอกอูนิกโกะ (Unikko) เบ่งบานจากความขบถ
มารีเมกโกะเริ่มเฉิดฉายสู่สายตาชาวโลก เมื่อแจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เลือกสวมเสื้อผ้าแบรนด์มารีเมกโกะ แต่ช่วงนั้นดอกป๊อปปี้ยังไม่ปรากฏบนลายผ้า เพราะอาร์มี ราเตีย ตั้งกฎไว้ว่าไม่อนุญาตให้มีลายดอกไม้บนสินค้าของมารีเมกโกะ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้นักออกแบบไปลดทอนความงดงามของดอกไม้ในธรรมชาติ และไม่อยากให้ซ้ำกับลายที่มีอยู่แล้วมากมายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
.
แต่เมื่อทำงานไปพักใหญ่ ไมยาเริ่มต้องการอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1964 เธอฉีกกฎเจ้านาย แล้วออกแบบลวดลายดอกไม้ลงบนผืนผ้า หนึ่งในนั้นคือ ลายดอกอูนิกโกะ(Unikko) หรือดอกป๊อปปี้สีชมพู แดง บนพื้นหลังสีขาวแสนมินิมอล
.
เมื่อเธอนำผลงานชุดนี้ไปให้อาร์มี ราเตียดู แทนที่จะปัดตก ปรากฏว่าเจ้านายกลับถูกตาต้องใจกับลายที่ไมยาออกแบบ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ดอกอูนิกโกะหรือดอกป๊อปปี้เบ่งบานบนลวดลายของสินค้ามารีเมกโกะหลากหลายชนิด
.
Harry Kivilinna ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์การออกแบบในเฮลซิงกิ อธิบายว่า ลวดลายดอกไม้ที่อาร์มี ราเตียไม่อนุญาตให้ใช้นั้น อาจหมายถึงดอกไม้เล็ก ๆ แสนอ่อนหวานที่ฮิตกันในช่วงปี 1940-1950 ซึ่งต่างไปจากอูนิกโกะดอกโตแสนสดใสที่ไมยาออกแบบ นี่อาจเป็นเหตุผลที่อาร์มี ราเตียตัดสินใจไม่ปัดตกลวดลายชุดนี้ก็เป็นได้ แต่การลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เสี่ยงต่อการขัดแย้งกับเจ้านาย ก็นับเป็นความกล้าหาญและนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพลักษณ์มารีเมกโกะเลยก็ว่าได้
.
ดอกไม้ที่ไม่มีวันโรยรา
ลวดลายดอกอูนิกโกะถูกพัฒนาและต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเหมือนลายเซ็นของแบรนด์ที่ผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่ตกยุค จน Harry Kivilinna บอกว่าลายนี้เหมือนกับลาย LV ของ Louis Vuitton เลยทีเดียว เพราะยิ่งนานคนยิ่งจำได้ แถมยังฮิตอีกต่างหาก
.
“ดีไซน์เรียบง่ายแฝงไปด้วยความไร้เดียงสา ทำให้ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็สร้างสรรค์ลายดอกไม้แบบนี้ได้ ผู้คนเลยเข้าถึงและเชื่อมโยงกับลวดลายเหล่านี้ด้วยความรู้สึกคุ้นเคย และทันทีที่เห็น พวกเขาจะจดจำได้ตลอดไป” Harry Kivilinna อธิบายเพิ่มเติม
.
นอกจากลายอูนิกโกะแล้ว ตลอดเวลาที่ร่วมงานกับแบรนด์มารีเมกโกะ ไมยา อีโซลายังสร้างสรรค์ลายผ้าไว้กว่า 500 ชิ้น และในปี 1980-1987 เธอได้ออกแบบร่วมกับคริสตินา ลูกสาวของเธอซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะต่อมาคริสตินาได้กลายเป็นหนึ่งในหัวหน้านักออกแบบของมารีเมกโกะเช่นกัน
.
หลังจากการทำงานในแบรนด์ไลฟ์สไตล์สีสันสนุกนี้มาเป็นเวลา 30 กว่าปี ไมยา อีโซลาได้หันมาวาดรูปแทนการออกแบบลายผ้า ก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่หวนกลับในปี 2001 ทิ้งไว้เพียงลวดลายดอกป๊อปปี้สุดคลาสสิกบนเสื้อผ้า กระเป๋า ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปจนถึงของแต่งบ้านแบรนด์มารีเมกโกะ รวมทั้งแบรนด์อื่น ๆ ที่ได้ออกแบบร่วมกับแบรนด์นี้ และความขบถแสนสร้างสรรค์ของไมยา อีโซลา ก็ทำให้ผู้เขียนอยากจะเปลี่ยนนิยามจาก ‘อ่อนหวาน-น่ารัก-สดใส’ มาเป็น ‘สดใส-กล้าหาญ-เหนือกาลเวลา’ เพื่ออธิบายเบื้องหลังลายดอกป๊อปปี้ที่เบ่งบานมานานเกือบ 6 ทศวรรษเหล่านี้แทน
.
เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
.
ที่มา