25 ธ.ค. 2563 | 17:27 น.
หย่อนถุงเท้าไว้ใต้ปล่องไฟ ซานต้าจะนำของขวัญมาให้สำหรับเด็กดีเท่านั้น…เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินตำนานซานตาคลอสชวนฝันในวัยเด็ก บ้างก็เป็นเรื่องราวแสนมหัศจรรย์ บ้างก็เป็นเรื่องเล่าถึงนักบุญนิโคลัสแสนใจดี แต่สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ‘Klaus’ ที่ฉายใน Netflix เมื่อปี 2019 ได้นำองค์ประกอบของคุณลุงซานต้ามาตีความใหม่ พร้อมเฉลยปริศนาเรื่องของขวัญในปล่องไฟ ชุดสีแดงของซานต้า แม้แต่เงาของซานต้าและกวางเรนเดียร์บนท้องฟ้ายามราตรี โดยไม่ได้มีเรื่องเวทมนตร์หรือพลังวิเศษเข้ามาเกี่ยว แต่กลับเป็นความบังเอิญและมุขตลกแสนละมุนที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องอย่างแนบเนียน ‘Kluas’ เป็นแอนิเมชันที่เขียนบทและกำกับโดย เซอร์จิโอ พาโบลส์ (Sergio Pablos) แอนิเมเตอร์ ผู้กำกับและคนเขียนบทชาวสเปน และเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกจาก Netflix ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ความน่าสนใจของแอนิเมชันเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวของซานต้า เพราะ เซอร์จิโอ พาโบลส์ นำองค์ประกอบและกลิ่นอายของซานต้าคลอสเข้ามาเสริมให้เรื่องกลมกล่อมขึ้นเท่านั้น ส่วนใจความสำคัญอยู่ที่เนื้อหาและความเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวละคร สำหรับจุดเริ่มต้นของเรื่อง เกิดจาก ‘เจสเปอร์’ ชายหนุ่มลูกคุณหนูที่ทำตัวไม่เอาไหน จนพ่อผู้เป็นเจ้าของธุรกิจไปรษณีย์ ต้องส่งตัวไปดัดนิสัยที่เมืองสเมียเรนส์เบิร์ก (Smeerensburg) อันเหน็บหนาวและไกลโพ้น พร้อมภารกิจส่งจดหมายให้ครบ 6,000 ฉบับภายในหนึ่งปี ไม่อย่างนั้นเจสเปอร์จะถูกตัดออกจากกองมรดก เขาจึงต้องจำใจเดินทางไปยังเมืองสเมียเรนส์เบิร์ก แต่การส่งไปรษณีย์ให้ครบ 6,000 ฉบับในเมืองนี้ แทบจะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะเมืองที่ขีดเส้นแบ่งฝ่ายและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เขาไม่ส่งจดหมายกันหรอก ! เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เราเกลียดกัน “ขอต้อนรับสู่เมืองสเมียเรนส์เบิร์ก เมืองแห่งการทะเลาะวิวาทที่ดีที่สุดในโลก” เมืองสเมียเรนส์เบิร์กมี 2 ตระกูลใหญ่ คือครัมและเอลิงโบที่ส่งต่อมรดกความเกลียดชังกันมาหลายร้อยปี ‘การผูกมิตร’ ระหว่างสองตระกูลนี้ จึงกลายเป็นเรื่องผิดมหันต์ แม้แต่เด็ก ๆ เองก็เล่นด้วยกันไม่ได้ “ครัมกับเอลิงโบไม่เผาผีกัน” “ทำไมล่ะฮะ” เด็กน้อยถาม “ทำไม ? ดูถามเข้า” “นี่คือประเพณี หลายศตวรรษแห่งความเกลียดชังอันรุ่งโรจน์ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น” ความคิดและความเชื่อของผู้คน ส่งผลให้อุณหภูมิในเมืองสเมียเรนส์เบิร์กหนาวเหน็บมากขึ้นทุกวัน ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีการเฉลิมฉลอง ตู้ไปรษณีย์ว่างเปล่าจนเหมือนท่อนไม้ที่ปักอยู่หน้าบ้านอย่างเหงา ๆ ไม่มีแม้กระทั่งโรงเรียนเพราะกลัวว่าเด็ก ๆ จะผูกมิตรกัน แม้แต่ตอนเจสเปอร์และเคลาส์เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนในเมืองเริ่มเป็นมิตรต่อกัน สองตระกูลนี้ถึงกับร่วมมือกันอย่างสันติ (เพื่อยุติความสันติที่เกิดขึ้น) เลยทีเดียว เมื่อความเกลียดชังไม่ได้เป็นเรื่องของสองฝ่าย ความน่าสนใจประเด็นหนึ่งของเรื่องนี้ คือ เรื่องการให้พื้นที่กลุ่มคนชายขอบหรือชนเผ่าที่อยู่นอกกลุ่มของตัวเอง “ตอนอยู่บ้านฉันมีแทบทุกอย่างเลย แต่ที่นี่ฉันก็เป็นแค่อีกคนที่ไร้ประโยชน์ ไร้ความหมาย...” - เจสเปอร์กล่าว หากแบ่งเมืองนี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คงแบ่งได้เป็นชาวเมืองตระกูลครัม ชาวเมืองตระกูลเอลิงโบ และกลุ่มคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งคล้ายว่าถูกกีดกันออกจากเมืองทางอ้อมด้วยสภาพบ้านเมืองที่ไม่น่าอยู่และผู้คนที่ไม่ได้ยอมรับหรือใยดีต่อพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ‘เจสเปอร์’ บุรุษไปรษณีย์ที่ไม่มีจดหมายให้ส่งแถมยังถูกกลั่นแกล้งในช่วงแรก ‘เคลาส์’ ช่างทำของเล่นที่ปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียวในป่า ‘อัลวา’ ที่ต้องละทิ้งความฝันการเป็นครูมาขายปลาเพื่อเก็บเงินไปเริ่มต้นชีวิตใหม่นอกเมืองนี้ รวมทั้ง ‘เด็กน้อยชนเผ่าซาวี’ ที่ส่งจดหมายให้เคลาส์ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเข้าใจภาษาที่เธอพูด ความรู้สึกที่ถูกกีดกันทางอ้อม ทำให้พวกเขาอยากจะปลีกวิเวกหรือหนีไปจากเมืองให้เร็วที่สุด แต่ตอนสุดท้าย เมื่อทุกคนมีพื้นที่ให้เป็นตัวของตัวเอง อัลวาได้สอนหนังสือ เจสเปอร์ได้ส่งจดหมาย เคลาส์ได้ทำของเล่นส่งต่อให้เด็ก ๆ และหนูน้อยซามีที่เริ่มสื่อสารกับคนอื่นได้ ความรู้สึกมีคุณค่า มีความสำคัญ ทำให้พวกเขาเริ่มรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแห่งนี้ จน ‘การหนีไปให้ไกล’ กลายเป็นความคิดที่ถูกทิ้งไว้เพียงในอดีต ความมหัศจรรย์ไร้เวทมนตร์ จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เกิดจากของเล่นชิ้นแรกที่เคลาส์ส่งไปให้เด็กน้อยคนหนึ่งผ่านเจสเปอร์ในฐานะบุรุษไปรษณีย์ ก่อนจะเริ่มส่งของเล่นชิ้นต่อ ๆ ไปให้เด็กคนอื่น ๆ การให้ด้วยหัวใจของเคลาส์ ทำให้เจสเปอร์เริ่มหันมาทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำและเป้าหมายแท้จริงของการส่งของขวัญทั้งหมด จนเจสเปอร์เริ่มเปลี่ยนจากคนไม่รู้จักโตและเห็นแก่ตัว กลายเป็นผู้ใหญ่และผู้ให้โดยไม่หวังผล ส่วนเคลาส์เองที่เคยเย็นชาโดดเดี่ยว ได้กลายเป็นคุณลุงใจดีแสนอบอุ่น อัลวา หญิงสาวห้วนห้าวไม่สนโลก ได้กลายเป็นคุณครูที่อ่อนหวานใจดี และชาวเมืองที่เคยสู้รบปรบมือกัน กลายเป็นผู้ให้และผู้รับที่ดีต่อกันไปซะอย่างนั้น ซึ่งหากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง จะเริ่มสัมผัสได้ว่า แต่ละตัวละครไม่ได้เปลี่ยนจากคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่ง แต่เป็นการดึงแง่งามที่มีอยู่แล้วออกมาให้ผู้ชมได้สัมผัสและรู้สึกอิ่มใจไปตาม ๆ กัน ท้ายที่สุด จากเมืองที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง กลับกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง ความอบอุ่นและรอยยิ้มที่แต้มบนใบหน้าของผู้คน จนเหมือนโลกคู่ขนานของเมืองที่เจสเปอร์มาถึงในตอนแรกเลยทีเดียว ดังนั้น ความมหัศจรรย์ของซานต้าในเรื่อง ‘Klaus’ อาจไม่ใช่เวทมนตร์หรือสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ แต่เป็นประโยคที่เคลาส์ มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพูดไว้ในเรื่องนี้เสมอว่า
“การกระทำที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง จุดประกายให้เกิดการทำความดีเสมอ (A true act of goodwill, always sparks another)”