26 ธ.ค. 2563 | 20:16 น.
“ถ้าเราต้องการเขาอยู่ในเมืองไทย เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน ก็ต้องให้เขาอยู่แบบถูกต้อง อย่างน้อยเขาก็ต้องได้รับสวัสดิการที่ดีเพียงพอ”. จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสองซึ่งศูนย์กลางการระบาดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย . The People จึงนัดหมายพูดคุยกับ สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานหรือ Labour Protection Network (LPN) ถึงแรงงานข้ามชาติและปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่จากมุมมองของผู้ที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติมามากกว่า 15 ปี . "พอวันนี้ที่พี่น้องแรงงานข้ามชาติเผชิญกับเรื่องโควิด-19 ก็ถูกตีตรา ถูกกดซ้ำ ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบในทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ก็ถูกตีตราไปก่อน ความรู้สึกนี้พี่น้องแรงงานก็อาจจะลำบากใจ ถ้าคนไหนสัมผัสจริงก็จะรับรู้ว่า เราขาดพี่น้องแรงงานไม่ได้ ในที่สุดแล้วพอมันเกิดขึ้น เราจะมองไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไรบ้าง เราจะเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทรต่อกันอย่างไรบ้าง เพราะว่าคงไม่มีใครอยากจะเป็นหรือไม่มีใครอยากจะติดเชื้อนะครับ" . สมพงค์เกริ่นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนไทยบางส่วนยังขาดความเข้าใจถึงปัญหาหรือวิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย . แรงงานข้ามชาติกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้จะอยู่ในเขตแดนประเทศไทยแต่ต้องยอมรับว่าระบบการผลิตและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญ . “บทบาทสำคัญของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ คือการเป็นผู้ร่วมสร้างและผลักดันเรื่องเศรษฐกิจ หลายพื้นที่มีการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องหรือแม้กระทั่งสนามบิน สถานีรถไฟฟ้า หรือกิจการบางอย่างแรงงานคนไทยก็ไม่ทำแล้ว อย่างเช่นประมงที่แปรรูปสัตว์น้ำ พวกแกะกุ้งหรือคนทำเกี่ยวกับเรื่องของปลาที่บอกว่าเป็น 3D คือ งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย (Dangerous) และงานที่ยาก (Difficult) ซึ่งถ้าเราไปตอกย้ำเขามาก ว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสาม เราไม่ค่อยดูแลเขา เราไม่มีสวัสดิการอะไรให้มาก ก็จะกลายเป็นอีก 1D คือ Dehumanize ที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ไป . คนไทยบางส่วนไม่สัมผัสจริงจังก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ถ้าคนไหนสัมผัสจริงก็จะรับรู้ว่าเราขาดเขาไม่ได้ เราขาดพี่น้องแรงงานไม่ได้ เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ไม่มีที่ทำกินก็ต้องมาเมืองไทย ส่วนนายจ้างบ้านเราขาดแคลนแรงงานก็ต้องเอาพวกเขามาทำงานที่คนไทยไม่ทำ” . ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อมาใช้แรงงานในไทย “เขามาอยู่เมืองไทยเขาไม่ได้มาอยู่แบบฟรี ๆ เขามาด้วยต้นทุนที่แพงเหมือนกัน การเดินทางเข้ามาเขาต้องเสียค่านายหน้า เสียค่าเดินทาง ถ้าจะมีสถานะที่รับอนุญาตให้อยู่เมืองไทย ก็ต้องจดทะเบียนแรงงาน ต้องตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพ บางสถานประกอบการที่มีเงื่อนไขว่า ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม เขาก็ต้องมีส่วนร่วมจ่ายกับนายจ้าง กับภาครัฐ ดังนั้น เมื่อแรงงานที่เข้าสู่ระบบ ประเทศไทยก็มีจะเงินรายที่ได้จากพี่น้องแรงงานเป็นหมื่นล้าน . แต่พอเขามาอยู่ เขาก็เจอปัญหาการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ค่าแรงค่าจ้างไม่เป็นธรรม ถูกยึดเอกสาร อุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งนายจ้างบางคนก็ไม่รับผิดชอบ แล้วบางปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำอนาจาร ปัญหาพวกนี้เขาเผชิญหมด ขณะเดียวกันที่รัฐเองก็จะมองเขาเป็นเหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วบอกว่า เขามีสิทธิแค่ที่รัฐพึงให้ ไม่ได้มีเท่าคนไทย แต่ที่พึงมีพึงได้มันก็ควรอยู่ในระดับที่มาตรฐาน . แล้วนายจ้างหรือรัฐบาลไทยเองอาจจะต้องมองเขาแบบใหม่ เปลี่ยน Mindset ใหม่ว่า วันนี้ถ้าเราต้องการเขาอยู่ในเมืองไทย เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน ก็ต้องให้เขาอยู่แบบถูกต้อง อยู่ในระบบที่สามารถจัดการและตรวจสอบได้ อย่างน้อยเขาก็ต้องได้รับสวัสดิการที่ดีเพียงพอ” เมื่อสมุทรสาคร คือ ลิตเติลเบอร์มา (Little Burma) สมุทรสาครเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก บางคนถึงกับเรียกว่าเป็นเมียนมาทาวน์หรือลิตเติลเบอร์มาร์ (Little Burma) ซึ่งการเช่าพื้นที่อยู่อาศัย การค้าขายและคมนาคมขนส่ง นับว่าเป็น ‘การได้ประโยชน์ร่วมกัน’ ระหว่างคนไทยและชาวพม่า แต่ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหามุมมองของคนไทย โดยเฉพาะช่วงที่มีข่าวการระบาดของเชื้อโควิด-19 . “พอเข้ามาในมหาชัยเป็นชาวเมียนมาเยอะ คนนอกที่มองก็จะบอกว่าเดี๋ยวจะตีเมือง เดี๋ยวจะยึดเมือง เป็นไปไม่ได้นะครับเขามาด้วยความกลัว เขามาด้วยความอดอยาก พอมาอยู่เมืองไทย เรื่องวาทกรรรมในความกลัว เขาก็กลัวตำรวจมากที่สุด กลัวถูกรีดไถบ้าง ถูกยัดหวยบ้าง ถูกจับยัดยาบ้าง . เขารู้สึกว่าวันนี้โควิดที่มาอยู่กับตัวเขา แล้วก็สังคมบอกว่ามาจากเมียนมาเหมือนเขาอยู่ติดกำแพง หลังจะชิดกำแพงแล้วไม่รู้จะไปยังไงต่อ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ อยากให้เห็นใจ เข้าใจ และมองเขาแบบมนุษย์ด้วยกัน ทุกวันนี้แรงงานเมียนมาเขาอยู่เมืองไทย แค่ปัจจัยสี่ที่เพียงพอเขาก็มีความสุขแล้วนะครับ ก็คิดว่าตรงนั้นเขาน่าจะอยากให้คนไทยเข้าใจ” . มองปัญหาผ่านสายตา NGO เมื่อเราถามถึงมุมมองของผู้ที่ทำงานด้านนี้มากว่า 15 ปี เกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสมุทรสาคร คุณสมพงค์พูดถึงประเด็นนี้ว่า . “ถ้ามองอย่างเร็ว ๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นใจกลางอำเภอเมืองสมุทรสาครก็จะมีการวิเคราะห์ต่าง ๆ นานา ส่วนหนึ่งบอกว่าเชื้อคงมาจากทางประเทศเมียนมา แต่ผมคิดว่าการที่คนอยู่ร่วมกัน ทั้งการพำนักอาศัย การติดต่อซื้อขายอยู่ในพื้นที่นั้นไม่ได้มีคนพม่าอย่างเดียว เพราะมีคนไทยรวมอยู่ด้วย อาจจะเป็นคนสัญจรไปมา ซื้อขายกุ้ง ซื้อขายปลาที่ทะเลไทย ที่ตลาดกุ้ง หรือคนขับรถบรรทุก . ที่มีการพูดถึงว่าปัญหามันเกิดจากชาวเมียนมา ก็คงไม่ร้อยเปอร์เซ็น โอเค เชื้อมันไปได้ทุกคนนั่นแหละ แต่ใครเป็นคนแรกก็ไม่สามารถจับมือใครดมได้ เราอาจจะต้องต้องตัดประเด็นตรงนี้ไป แล้วก็หาทางยับยั้ง ป้องกันควบคุมพื้นที่ ควบคุมการแพร่ระบาดให้มากที่สุด เพื่อที่ให้อัตราการติดเชื้อลดลงเป็นศูนย์ ตรงนั้นจะเป็นภาพที่เราอยากเห็นมากกว่า” . แม้ไม่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าต้นตอของการแพร่ระบาดเริ่มจากไหน แต่เชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปยังกลุ่มชาวเมียนมามากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นโดยเฉพาะวัยแรงงาน ซึ่งไม่แสดงอาการมากนัก . “พอมันเกิดขึ้นตรงตลาดมหาชัย ตลาดกลางกุ้งซึ่งเก้าสิบเปอร์เซ็นคนที่ทำงานหรือคนที่อาศัยตรงนั้นเป็นชาวเมียนมา ดังนั้น เมื่อเกิดขึ้นหนึ่งคนมันก็จะกระจายไปที่ชาวเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงนั้นมากที่สุด ก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน เป็นวัยที่แข็งแรงซึ่งทางระบาดวิทยาหรือทางคุณหมอบอกว่ามักจะไม่ค่อยแสดงอาการ คือยังไม่เป็นไข้ ยังแข็งแรงอยู่ ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ผมไม่รู้ว่าผมติดนะ ผมก็ยังใช้ชีวิตปกติอยู่ แต่เขาอยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเขาติดแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร เขาก็กังวลว่ามันจะไปสู่เด็กไหมไปสู่คนในครอบครัวหรือไม่” . ผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานพม่า นอกจากเรื่องสุขภาพ แน่นอนว่าการระบาดย่อมกระทบเรื่องเศรษฐกิจแลคุณภาพชีวิต ทั้งผู้ประกอบการ แรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวพม่าในสมุทรสาคร . “คือตอนนี้เรื่องการทำงานต้องวางไปก่อน เพราะต้องคิดว่าจะดูแลรักษาตัวเองให้ปลอดภัย ให้เชื้อมันหายไปหรือไม่ติดเชื้อเพิ่มยังไงได้บ้าง ต้องลดเรื่องความเสี่ยงมากกว่าที่จะคิดเรื่องงาน แต่ในใจเขาก็คิดว่านายจ้างจะทอดทิ้งเขาไหม ดูแลเรื่องของปัจจัยสี่ยังไงบ้าง ไม่มีงานทำแล้วรายได้จะเหมือนเดิมไหม เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากตัวพี่น้องแรงงานที่กระทำ หรือนายจ้างกระทำ แต่เกิดจากเชื้อโรคซึ่งก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน สิ่งที่เขากังวลเพิ่มขึ้นอีกคือ งานในระยะยาวถ้าต้องอยู่ มันต้องเช่าห้อง มีค่าน้ำค่าไฟ จะมีรายได้ที่ไหนมาสนับสนุน เขาก็กังวลเรื่องพวกนี้เหมือนกัน” . เมื่อเกิดปัญหานี้ คำถามต่อมาคือการรับมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือในพื้นที่ . “ช่วงก่อนหน้านี้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ก็ทำงานด้วยกันเป็นผู้ชี้เป้า ชี้จุดตรงนั้นตรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางระบบในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่ง อสต. ก็คืออาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวที่ได้รับการศึกษา ได้รับการเรียนรู้ และอบรมก็มีความรู้ระดับหนึ่งแล้ว เวลาเกิดอะไรขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือในพื้นที่ชุมชนได้ . ส่วนที่เกิดขึ้นในสมุทรสาครทางโรงพยาบาลสมุทรสาคร หน่วยงานสาธารณสุขก็ระดมล่าม อาสาสมัคร อสต. มาช่วยคัดกรอง และสื่อสารกับชาวเมียนมา บางทีอาจจะต้องพิมพ์เป็นภาษาเมียนมาเพื่อประกาศให้แรงงานได้ทราบ เพราะฉะนั้นบทบาท อสต. หรือบทบาทล่ามภาษาเป็นกลไกลสำคัญเพื่อเชื่อมให้เกิดความเข้าใจกัน ทำให้ระบบมันแข็งแรงมากขึ้น และทำให้เข้าถึงเรื่องการรักษาดูแล ซึ่งดีกว่าไม่มีเลย” . สวัสดิการแรงงานข้ามชาติ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น “เมื่อแรงงานข้ามชาติเข้ามา เราอาจจะต้องมาวางว่าเขาจะได้รับการเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้อย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์มากกว่าด้วยซ้ำไป แต่เหมือนว่าเราเรียกร้องให้พี่น้องแรงงาน อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามที่ต่อต้านไม่เห็นด้วย เช่น นายจ้างบางส่วน ถ้าเข้าสู่ประกันสังคม นายจ้างก็มีส่วนร่วมจ่าย เขาก็มองว่าเป็นภาระ เอาแค่ประกันสุขภาพอย่างเดียวพอ จ่ายครั้งเดียวทั้งปี ก็ไม่ต้องจ่ายอีก คือมันจะมีวิธีคิดที่มันขัดแย้งกันอยู่ แต่เรื่องของโควิดที่เข้ามาเรามองว่าปัญหานี้มันเริ่มสุกงอม” . หลายเรื่องก่อนหน้านี้ผมพยายามเสนอรัฐบาลผ่านหลายช่องทางว่า คนที่ตกหล่นออกนอกระบบจะทำอย่างไรให้เขาอยู่บนดินได้ ถ้าเขาอยู่ใต้ดินก็ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของคนบางกลุ่มที่อาศัยการคอร์รัปชันรีดไถ . เราก็อยากให้เขาอยู่บนดินดีกว่า เพราะเราสามารถตรวจสอบได้ และรายได้เข้าประเทศไม่ใช่รายได้เข้ากระเป๋าใคร รวมถึงเรื่องของระบบ เรื่องของ big data มันน่าจะมีการออนไลน์หากันได้ สามารถตรวจสอบกันได้เหมือนว่าเรามีบัตรหนึ่งบัตรไปที่ใดสามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่ในสถานะอะไร ยุคออนไลน์มันต้องพัฒนาแล้ว มันไม่ควรต้องใช้เอกสารเยอะแยะมากมาย” . การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาการจัดการและระบบสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติชัดเจนขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอนาคตของประเทศไทยโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม . ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยต้องกันหน้ามาคุยกันถึงปัญหาและสวัสดิการแรงงานข้ามชาติกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบอย่างจริงจัง . เรื่อง ณัฐกร เวียงอินทร์, กันต์ธวัฒน์ ตรีสัตย์, ธัญญารัตน์ โคตรวันทา . #ThePeople #Social #Covid19