27 ธ.ค. 2563 | 19:56 น.
คงไม่มีใครลืมเจ้าเด็กเกเรร่างยักษ์ นักร้องเพลง อย่างไจแอนท์ ในเรื่องโดราเอมอน เป็นแน่ ไจแอนท์เป็นตัวละครที่มีภาพลักษณ์ของ “ความรุนแรง” ในเรื่องโดราเอมอนอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ชื่อตัวละคร ตอนแรกนั้นอาจารย์ฟุจิโกะ ฟุจิโอะทั้ง 2 ท่าน (อะบิโกะ โมะโตะโอะ: 安孫子素雄) และ ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิ: 藤本弘 เป็นนักเขียน 2 คน แต่เขียนโดยใช้นามปากการาวกับเป็นนักเขียนเพียงคนเดียวคือ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ) ตั้งใจจะเขียนตัวละครที่เป็นเด็กขี้แกล้งชอบรังแกคนอื่นในห้อง จึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมตั้งชื่อจริงให้ตัวละครตัวนี้ เนื่องจากรู้ล่วงหน้าว่าตัวละครตัวนี้จะมีแฟน ๆ ผู้อ่านไม่ชอบกันเยอะ ถ้าตั้งชื่อจริงไปเสียแล้ว เด็ก ๆ ที่บังเอิญชื่อเหมือนตัวละครตัวนี้อาจถูกเพื่อนแกล้งในโรงเรียนได้ (เพราะสังคมญี่ปุ่นมีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนกันรุนแรงมากมาแต่เก่าก่อน) จึงได้แต่ใช้ฉายาว่า “ไจแอนท์” แทน ที่ให้ภาพลักษณ์ของยักษ์ หรือ พลัง หรือ ความรุนแรง แล้วให้แต่นามสกุล โกดะ (剛田) ไว้เท่านั้น โดยนามสกุลโกดะนั้น อักษรตัว “โก (剛)” ก็ยังแปลว่า พลัง หรือ ความรุนแรง อีกด้วย โดยในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ในญี่ปุ่นแทบไม่มีคนนามสกุลนี้ที่เขียนด้วยอักษรตัวนี้กันเท่าไรนัก ในเว็บสำรวจนามสกุลคนญี่ปุ่นคือ myoji-yurai.net มีคนนามสกุลนี้ที่ใช้อักษรตัวเดียวกันเพียง 10 คนถ้วนจากทั้งประเทศญี่ปุ่น แต่ระหว่างที่ดำเนินเรื่องและโดราเอมอนได้รับความนิยมมากขึ้น มีจดหมายจากแฟน ๆ ผู้อ่านสอบถามกันเข้ามามากมาย ว่าชื่อจริงของไจแอนท์คืออะไรกันแน่ ทางฟุจิโกะ ฟุจิโอะจึงได้หารือกับทีมงานของตัวเอง และตัดสินใจจะใช้ชื่อจริงของผู้ช่วยที่เป็นลูกมือเอกของตัวเองคือ เอะบิฮะระ ทะเกะชิ (えびはら武司) มาตั้งเป็นชื่อของไจแอนท์เสียเลย โดยไม่ปิดบังว่าชื่อไจแอนท์จริง ๆ คือ ทะเกะชิ นั้น ไม่ได้เอามาจากใครทั้งนั้น แต่เอามาจากลูกมือตัวเองนั่นแหละ กลายเป็นเรื่องขำขำ น่ารัก ๆ ไป เพราะเอะบิฮะระ ทะเกะชิ คือนักอ่านที่เคยเป็นแฟนพันธุ์แท้ของฟุจิโกะ ฟุจิโอะและมาสมัครเป็นลูกมือในที่สุด จึงได้รับสิทธินี้ไป นี่ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ตัวละคร ไจแอนท์ มีชื่อและนามสกุลเต็มอย่างเป็นทางการว่า โกดะ ทะเกะชิ (剛田武) โดยตัดอักษร 司 ในชื่อของเอะบิฮะระทิ้งไป ให้เหลือแค่ 武 ตัวเดียวแล้วให้อ่านออกเสียงว่า ทะเกะชิ เลย ไจแอนท์จึงกลายเป็นตัวละครแห่งความรุนแรง เพราะอักษร “โก (剛)” ในนามสกุล โกดะ ก็หมายถึง พละกำลัง / อักษร “ทะเกะชิ (武)” หมายถึง บู๊ หรือ ต่อสู้ / แล้วยังมีฉายาว่า “ไจแอนท์” ที่หมายถึง ยักษ์ หรือ พลัง เอาไว้อีก เป็นตัวละครที่รวมความรุนแรงในทุก naming เลยก็ว่าได้ ครอบครัวของไจแอนท์เองก็มีส่วนสนับสนุนความรุนแรงในบุคลิกของไจแอนท์เช่นกัน พ่อแม่ของไจแอนท์รักลูกอย่างแน่นอน เพียงแต่ “แสดงออกไม่เหมาะสม” คือน้อยครั้งที่จะแสดงออกว่ารักหรือห่วงใย เพราะแสดงความรักออกไปในทางของการควบคุมและลงโทษเสียมากกว่า รวมทั้งการลงโทษของครอบครัวไจแอนท์นั้นหนักหนากว่าการลงโทษของครอบครัวของตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องมากนัก อย่างเช่น ตอนที่ไจแอนท์แอบฉก “ดินสอคอมพิวเตอร์” ไปจากโนบิตะ และทำคะแนนได้ 100 เต็ม ไจแอนท์ถูกพ่อจับได้ว่าทุจริตสอบ โผล่มาฉากสุดท้ายคือโดนพ่อซ้อมจนหน้าตาฟกช้ำไปหมดทั้งหน้า หรืออย่างแม่ของไจแอนท์ก็ลงโทษแบบโหด ๆ บ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไจแอนท์ยังเป็นเพียงเด็กประถมฯ เท่านั้น การลงโทษก็เช่น การให้อดข้าว, การดึงหูแรง ๆ แล้วลากตัวไจแอนท์ไป, การเขกหัวแรง ๆ จนหัวโน, หรือการตบหน้าหรือตบบ้องหู เป็นต้น ในขณะที่ตัวละครตัวอื่นในเรื่อง พ่อและแม่ของเขาเหล่านั้นไม่ค่อยลงโทษในลักษณะของการใช้กำลังแนวนี้ให้เห็นเท่าไรนัก จึงสามารถอนุมานได้ว่า ครอบครัวของไจแอนท์มีลักษณะคล้ายครอบครัวเอเชียแบบเก่า คือแสดงความรักความห่วงใยไม่ค่อยเป็น อาจจะเขิน หรือ อาจจะทำตัวไม่ถูก จึงกลายเป็นว่า ไม่ค่อยแสดงออกให้รู้ว่าห่วงใยหรือรัก ไม่ให้การเสริมแรงทางบวกคือ ทำดีไม่ค่อยได้รับคำชมเชยเท่าไร แต่กลับไปเน้นการลงโทษแทน คือพอทำไม่ดีจะโดนลงโทษอย่างหนัก จนกลายเป็นการวางเงื่อนไขในสภาพจิตใจของไจแอนท์ ว่าถ้ารู้สึกสนิทใจกับใครก็สามารถใช้กำลังได้ ไจแอนท์จึงกลายเป็นเด็กที่ไม่ถนัดการแสดงออกถึงมิตรภาพหรือความห่วงใยเท่าไรนัก เพราะเน้นใช้กำลัง แย่งของ รังแก ซึ่งการใช้กำลังในลักษณะนี้อาจเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพของไจแอนท์ก็ได้ ไจแอนท์จึงกลายเป็นคนเกเรขี้แกล้ง เพราะเป็นการแสดงออกถึงความสนิทใจ ความสบายใจในรูปแบบของไจแอนท์ นั่นเอง อย่างในตอนที่โนบิตะใช้ตู้โทรศัพท์สั่งโลกให้ครอบครัวตัวเองต้องย้ายไปอเมริกา ซูเนโอะที่ครอบครัวแสดงความรักด้วยวัตถุนิยมคือประเคนแต่เงินและของเล่นแพง ๆ ให้ จึงแสดงออกถึงมิตรภาพโดยการเอาของเล่นจำนวนมากมาให้โนบิตะเป็นที่ระลึกการจากลา ส่วนไจแอนท์ที่ครอบครัวแสดงความรักด้วยการใช้ความรุนแรง ก็แสดงออกถึงมิตรภาพโดยการอนุญาตให้โนบิตะต่อยหน้าไจแอนท์ได้ตามใจชอบจนกว่าจะพอใจเป็นที่ระลึกการจากลานั่นเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องโดราเอมอนเป็นเรื่องที่เขียนตั้งแต่ทศวรรษที่ 70s หรือในยุคโชวะ (昭和) ของญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีการรณรงค์สิทธิเด็กอย่างเข้มข้นเท่ากับในปัจจุบัน พล็อตเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวนั้นจึงมักถูกมองเป็นเรื่องแก๊กตลก หรือ ขำขัน หรือ กลายเป็นพล็อตของการ์ตูนแอคชันไปเสียมากกว่า อีกทั้งในยุคนั้นก็มีการ์ตูนจำนวนมากที่เล่นกับปมอิดิปุส ที่ลูกชายกับพ่อต้องใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน จึงไม่ได้เป็นปัญหาสังคมอะไรมากนัก แต่หากพิจารณาเรื่องโดราเอมอนให้ดีแล้ว พ่อแม่และครูบาอาจารย์สามารถเรียนรู้วิธีแสดงความรักความห่วงใยให้ถูกต้องมากขึ้นได้ จากการเปรียบเทียบวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัวของตัวละครหลักในเรื่อง ไม่อย่างนั้นเด็กอย่างไจแอนท์ถ้าโตขึ้นแล้วไม่ได้รับการขัดเกลานิสัย ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ “ของ ๆ แกก็คือของ ๆ ฉัน ของ ๆ ฉันก็คือของ ๆ ฉัน” ไป