จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก

จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก

จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก

ถ้าพูดถึงเพลงร็อกแล้ว คุณอาจจะนึกถึงดนตรีที่ดูหนักแน่นแข็งแรง และมาพร้อมกับความดังของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ทั้ง กลอง เบส และโดยเฉพาะเสียงกีตาร์ที่แตก ๆ ดัง ๆ ย้อนกลับไปเมื่อยุค 60s ตอนนั้นนักกีตาร์ร็อกหลายคนกำลังเบื่อหน่ายกับแอมป์กีตาร์แบบเดิม ๆ ที่ทั้งดังไม่สุดและเสียงสะอาดเกินไป จนวันหนึ่งปัญหาดังกล่าวไปเข้าหู จิม มาร์แชลล์ (Jim Marshall) ชายเจ้าของร้านขายเครื่องดนตรีในลอนดอนเข้า ซึ่งใครมันจะไปรู้ล่ะว่านี่จะกลายเป็นจุดกำเนิดของแอมป์กีตาร์ Marshall ตัวแรกที่เปลี่ยนโลกของดนตรีร็อกไปตลอดกาล

ใครคือ จิม มาร์แชลล์ ?

มาร์แชลล์เกิดและโตที่เมืองเซาท์ฮอลล์ ประเทศอังกฤษ เขาเกิดมาพร้อมกับอาการโรคกระดูก ทำให้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กของเขาต้องอยู่ที่โรงพยาบาลมากกว่าโรงเรียนเสียอีก ในวัยสิบสามปี มาร์แชลล์ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานในหลายสายอาชีพ ทั้งเป็นพ่อค้าขายเศษเหล็ก, คนทำขนมในโรงงานบิสกิต, คนขายตึก, คนขายรองเท้า และอาชีพคนหั่นเนื้อที่ทำให้นิ้วเขาเกือบขาด จากความรู้ที่ได้มาจากงานหลายสายอาชีพ กลายเป็นแรงผลักดันให้มาร์แชลล์เริ่มต้นสนใจเรื่องระบบไฟฟ้าต่าง ๆ และที่ แคร์มิก เอ็นจิเนียริ่ง เขาได้มีโอกาสศึกษาการออกแบบระบบไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ก่อนที่ในปี 1946 มาร์แชลล์จะย้ายไปทำงานที่ เฮสตัน แอร์คราฟต์ บริษัทผลิตเครื่องบินที่เมืองมิดเดิลเซ็กซ์ ในตำแหน่งฝ่ายผลิตอะไหล่ ตอนนั้นในหัวของมาร์แชลล์มีแต่ความสับสน และยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรกันแน่ แต่แล้ววันหนึ่ง “ดนตรี” ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล เพราะในวัยสิบสี่ มาร์แชลล์ได้ฝึกเต้นแท็ปแดนซ์และได้มีโอกาสไปแสดงร่วมกับวงออร์เคสตรา “ผมได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในวงแท็ปแดนซ์ จากนั้นผมเริ่มร้องเพลง และเมื่อหัวหน้าวงมาได้ยินเสียงผม เขาก็เลยถามว่านายสนใจมาเล่นในวงด้วยกันไหม นั่นเป็นครั้งแรกที่ดนตรีเข้ามาเป็นความน่าสนใจในชีวิตผม” มาร์แชลล์หลงรักเสียงเพลงเข้าอย่างจัง และเริ่มต้นหัดเล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือกลองชุด ฝีมือของเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และบ่อยครั้งที่วงออร์เคสตราขาดมือกลอง มาร์แชลล์ก็มักจะกระโดดขึ้นไปนั่งตีแทนอยู่บ่อย ๆ “ในปี 1942 ผมมีโอกาสถูกเรียกเข้ามาเป็นมือกลอง ตอนนั้นผมหาเงินได้คืนละ 10 ชิลลิ่ง และเพราะเป็นช่วงสงคราม เราแทบไม่มีน้ำมันสำหรับไว้เติม ดังนั้นผมจึงตัดสินใจขี่จักรยานที่พ่วงด้วยเทรลเลอร์ ซึ่งด้านในมีกลองและลำโพงที่ผมสร้างขึ้นเอง” มาร์แชลล์เริ่มต้นตีกลองจริงจังมากขึ้น และใช้เวลาทุกวันอาทิตย์ไปเรียนกลองเพิ่มเติมกับ แม็กซ์ เอบรามส์ ที่ไนท์บริดจ์ โดยมีความหวังว่าวันหนึ่งเขาจะต้องเก่งเหมือน จีน ครุปา ไอดอลของเขา ฝีมือของมาร์แชลล์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนสุดท้ายเขากลายเป็นบรมครูด้านการตีกลองคนหนึ่งของยุค 60s เขาสอนนักเรียนกว่า 65 คนต่อสัปดาห์ หนึ่งในนั้นก็คือ มิทช์ มิทเชลล์ มือกลองของ จิมิ เฮนดริกซ์ และ นิกกี อันเดอร์วูด มือกลองของริทชี แบล็กมอร์ (Deep Purple) จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก อาชีพครูสร้างรายได้ให้มาร์แชลล์อย่างมาก จนเขาเริ่มมีเงินเก็บ และสามารถนำไปต่อยอดทำธุรกิจของตัวเองได้ นั่นก็คือการเปิดร้านขายเครื่องดนตรีบนถนนอักซ์บริดจ์ ย่านชานเมืองลอนดอน “ผมต้องสอนมือกลองเยอะมาก และต้องซื้อกลองยี่ห้อพรีเมียร์จากร้านเซลเมอร์ ในถนนแชร์ริง ครอส มาขายเป็นจำนวนมาก จนมีคนมาบอกผมว่า นี่มันเป็นเรื่องโง่มาก ๆ ที่คุณหมดเงินไปกับที่นั่น ทำไมไม่เปิดร้านขายกลองของตัวเองขึ้นมาเลยล่ะ นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเปิดร้านขายเครื่องดนตรี” ร้านแห่งนี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก เดอะ อีลลิ่ง คลับ สถานที่ปล่อยของของเหล่านักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรงฝีมือดี ซึ่งนักดนตรีเหล่านั้นก็คือลูกศิษย์ของมาร์แชลล์ด้วย นอกจากมือกลองหลายคนที่แวะเวียนไปที่ร้านแล้ว นักกีตาร์หลายคนที่เล่นในเดอะ อีลลิ่ง อย่าง ริทชี แบล็กมอร์, พีท ทาวน์เซนด์ (The Who) หรือเจฟฟ์ เบ็ค (The Yardbirds) ก็มักจะชอบเข้าไปพูดคุยกับมาร์แชลล์อยู่บ่อย ๆ ซึ่งนักกีตาร์เหล่านั้นก็เรียกร้องให้มาร์แชลล์นำกีตาร์และแอมป์เข้ามาขายที่ร้านด้วย จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก “ร้านของเราอยู่ในดงของสังคมร็อกแอนด์โรลล์ในลอนดอน ผมมีลูกศิษย์หลายคนที่เล่นที่นั่น (อีลลิ่ง) และพวกเขาก็พาเพื่อน ๆ มาที่ร้าน มีทั้ง ริทชี แบล็กมอร์, จิมมี เพจ หรือ พีท ทาวน์เซนด์ พวกเขาถามผมว่า ‘ทำไมไม่เอากีตาร์หรือแอมป์เข้ามาขายด้วยล่ะ ถ้าคุณเอาเข้ามา เราก็พร้อมจะซื้อ ร้านที่แถบเวสต์เอนด์ทำเหมือนพวกเราเป็นพวกงี่เง่า พวกเราเล่นร็อกแอนด์โรลล์ไม่ใช่แจ๊สนะ พวกนั้นไม่คิดจะจริงจังกับที่ที่พวกเราต้องการ’ นั่นทำให้ผมเริ่มสั่งของเข้ามาสต็อกไว้ และพวกเขาก็ทำตามที่สัญญาไว้”

จุดเริ่มต้นแอมป์แห่งดนตรีร็อก

วันหนึ่ง มาร์แชลล์ได้ไปรู้จักกับ เคน แบรน นักดนตรีที่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมไฟฟ้า ระหว่างที่แบรนออกทัวร์กับวง “Peppy and the New York” ทั้งคู่แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน และหวังว่าวันหนึ่งคงได้ทำอะไรสนุก ๆ ร่วมกัน แต่ใครจะไปรู้ หนึ่งปีต่อมาในปี 1962 หลังจากที่แบรนออกจากวงและหันไปทำงานที่แพนแอม มาร์แชลล์ก็ได้โทรชวนแบรนเข้ามาเป็นเซอร์วิสเอ็นจิเนียร์ของร้าน “เป็นเคนนั่นแหละที่มาบอกผมว่า มันเป็นเรื่องโง่มากถ้าเรามัวแต่ซื้อแอมป์เข้ามา ทั้งที่เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ ผมบอกให้เคนสร้างบางสิ่งขึ้นมาและผมจะร่วมฟังมันด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับ พีท ทาวน์เซนด์, ไบรอัน พูลล์, จิม ซัลลิแวน พวกเขาก็ต้องการบางสิ่งที่เสียงมันแตกต่างจากอันอื่น เพราะพวกเขาคิดว่าแอมป์เฟนเดอร์ในตอนนั้นมีเสียงที่สะอาดเกินไป” นั่นคือจุดเริ่มต้นของแอมป์ที่เปลี่ยนวงการเพลงร็อกตลอดกาล และมาร์แชลล์ยังเสริมด้วยว่า ในตอนแรกพวกเขาใช้แอมป์เฟนเดอร์เป็นต้นแบบระดับหนึ่ง “แน่นอนเราดูไปที่แอมป์เฟนเดอร์ และเบสแมน มันเป็นแอมป์ที่ผมชอบและเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่หลายคนพูดถึง ดังนั้นพวกเราจึงนำมันมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง” จากการร่วมมือกันของมาร์แชลล์, แบรน และผู้ช่วย ดัดลีย์ คราเวน แอมป์ Marshall ตัวแรกที่ใช้ชื่อว่า “Marshall JTM 45” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ยอดขายแอมป์รุ่นนี้ถล่มทลาย จนกลายเป็นแอมป์อันดับหนึ่งที่นักดนตรีร็อกทุกคนในโลกต้องการ เอริค แคลปตัน, รอนนี วูด, จิมมี เพจ หรือแม้กระทั่ง เจฟฟ์ เบ็ค ก็หันมาใช้แอมป์ของมาร์แชลล์กันทั้งนั้น จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก “ถ้าคุณต้องการความไม่สุภาพและเสียงดัง ๆ คุณต้องนึกถึง Marshall มันคือพี่ใหญ่ของวงการ เสียงคำรามของมันไม่มีแอมป์ยี่ห้อไหนสามารถทำได้” เจฟฟ์ เบ็ค พูดถึงแอมป์ Marshall ในนิตยสาร Guitar Player จิมิ เฮนดริกซ์ นักกีตาร์ชื่อดังคือชายที่หลงใหลในเสียงแตกแบบ ”ครันช์” ของแอมป์ Marshall จนแทบโงหัวไม่ขึ้น เฮนดริกซ์ไปได้ยินเสียงของมันครั้งแรกตอนที่เขาแจมกับวง Cream ของแคลปตัน (หันมาใช้ Marshall ในปี 1964) ที่ลอนดอนในปี 1966 บวกกับ มิทช์ มิทเชลล์ มือกลองที่คอยพูดขายของให้มาร์แชลล์ตลอดเวลา ยิ่งทำให้ จิมิ เฮนดริกซ์ แทบบ้าอยากได้มาครองสุด ๆ “เขาพูดกับผมว่าเขายอมจ่ายทุกบาททุกสตางค์เพื่อได้มันมา เขาบอกว่าเขาต้องการใช้อุปกรณ์ของมาร์แชลล์ เขาคือคนที่มีคาแรคเตอร์ยอดเยี่ยม เขาคือแบรนด์ แอมบาสเดอร์ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเรา” มาร์แชลล์พูดถึงเฮนดริกซ์ เฮนดริกซ์ขึ้นโชว์บนเวทีงานเทศกาลดนตรีวู๊ดสต็อก เมื่อปี 1969 พร้อมกับแอมป์ของมาร์แชลล์ ที่เรียงตระหง่านกันไม่ต่างกับกำแพง โชว์ดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดตลอดกาลของวงการดนตรี และเป็นการโฆษณาแบรนด์ Marshall มูลค่าระดับพันล้านที่พวกเขาแทบไม่เสียเงินแม้แต่แดงเดียว จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก แม้แอมป์ Marshall จะประสบความสำเร็จไปทั่วโลก และสร้างเงินมหาศาลให้กับตัวมาร์แชลล์ แต่เขาก็มักจะแบ่งเงินจำนวนหนึ่งเพื่อการกุศลในการช่วยเด็กพิการหรือไร้บ้านเสมอ “ผมทำทั้งหมดนี้สำเร็จได้ โดยเริ่มมาจากไม่มีอะไร และผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะให้กลับไปเพื่อการกุศล” “The Father of Loud” หรือแปลเป็นไทยว่า “บิดาแห่งความดัง” คือสมญานามที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับมาร์แชลล์ ในฐานะชายผู้ให้กำเนิดแอมป์กีตาร์ที่เปลี่ยนแปลงวงการเพลงร็อกตลอดกาล “เหตุผลที่เราตัดสินใจทำทั้งหมดนี้ง่ายมาก เราทำในสิ่งที่นักกีตาร์ในทุกวันนี้ต้องการ แอมป์ทุกตัวที่ผมสร้างขึ้นล้วนแต่มาจากการพูดคุยกับนักกีตาร์เหล่านั้น และลองสร้างมันด้วยเสียงที่อยู่ในหัวของผม ซึ่งมันก็เป็นแอมป์ที่ทั้งใหญ่และเสียงดังมาก ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เลยทำให้ผมมีชื่อเล่นว่า 'บิดาของความดัง'” มาร์แชลล์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายนปี 2012 คุณลองจินตนาการดูสิ ถ้า จิมิ เฮนดริกซ์, จิมมี เพจ หรือสแลช ไม่มีเครื่องเสียงที่ดีพออย่าง Marshall พวกเขาเหล่านี้อาจไม่เกิดก็เป็นได้    

จากผู้ผลิตแอมป์ชาวร็อกสู่ลำโพงที่ตีตลาดนักฟังทั่วโลก

หลังประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการแอมป์พลิฟายเออร์ไล่ตั้งแต่ยุค 60s เรื่อยมา Marshall ได้ทำการปลี่ยนสถานะจากผู้ผลิตลำโพงเพื่อนักดนตรี มาเป็นสำหรับนักฟังมากขึ้น โดยการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวด้วยการทำผลิตภัณฑ์ที่รองรับกับตลาดเทคโนโลยีไร้สายอย่างลำโพงบลูทูธ หรือกระทั่งหูฟังเฮดโฟน โดยมีสินค้าที่เข้าตีตลาดตัวแรกอย่าง Stanmore ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน Marshall ได้ทำการเปิดตัวลำโพงรุ่น “Marshall Stanmore” และมันกลายเป็นลำโพงรุ่นแจ้งเกิดในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทสปีกเกอร์ของ Marshall ในทันทีและตอนนี้ลำโพงรุ่นเรือธงของพวกเขาได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด “Marshall Stanmore II” มาพร้อมกับสเปคที่ดูดีทีเดียวทั้งเรื่องภาคขยายแบบ Class D amplifier และด้านในลำโพงประกอบด้วย Subwoofer ขนาด 5 นิ้ว 1 ตัวและลำโพง Tweeter ขนาด 2.5 นิ้ว 2 ตัวซึ่งทำให้ลำโพงรุ่นนี้มีกำลังขับถึง กำลังขับ 80W RMS นอกจากนี้ยังตอบสนองย่านความถี่เสียงตั้งแต่ 50 ถึง 20 000Hz อีกด้วย ด้านหลังของตัวลำโพงมาพร้อมช่อง Input แบบ 3.5 และ RCA ตัวลำโพงมีขนาด 350 x 195 x 185 mm เรื่องของน้ำหนักก็ไม่หนักมากประมาณ 4.95 กิโลกรัมเท่านั้น จิม มาร์แชลล์ ชายผู้สร้างแอมป์ “Marshall” กับลำโพงร็อกเปลี่ยนโลก นอกจากหน้าตาที่ดูคลาสสิกดูดีแล้วเสียงของ Stanmore II ก็ไม่ธรรมดาเลย มันสามารถตอบสนองกับดนตรีหลากหลายชนิดโดยเฉพาะร็อกหรือแม้กระทั่งดนตรีที่มีความอะคลูสติกหน่อยอย่างแจ๊สก็ตาม ข้อดีอีกอย่างของมันคือความแข็งแรงในเรื่องของเสียง แม้จะเปิดดังหรือเบามันก็สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้ดีเลยทีเดียว เสียงยังคงชัดเจนและนิ่ง แม้จะเปิดเสียงดังจนสุดก็ตาม ซึ่งต่างกับลำโพงหลายยี่ห้อที่มักจะเจอปัญหาเมื่อเปิดเสียงดังมาก ๆ ความดังของมันรองรับห้องได้ทุกขนาดไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก (แต่ก็ควรอยู่ในประมาณ 100 ตรว.) Marshall Stanmore II ถือเป็นลำโพงที่ค่อนข้างครบเครื่องทั้งดีไซน์และเรื่องของเสียง ถือเป็นลำโพงที่น่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชิค ๆ ของใครหลายคน แต่ก็อาจจะมาพร้อมกับราคาที่ดูสูงเกินไปสักเล็กน้อย ใครที่สนใจสามารถไปลองฟังเสียงกันได้ที่ studio7   ที่มา : หนังสือ The History of Marshall โดย ไมเคิล ดอยล์ https://www.ealingclub.com/ealing-club-whats-it-about/jim-marshall-father-of-loud/ https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2012/04/how-the-marshall-amp-changed-rock-and-the-meaning-of-loud/255705/ https://www.npr.org/sections/thetwo-way/2012/04/05/150056376/jim-marshall-amp-pioneer-known-as-the-father-of-loud-has-died https://www.washingtonpost.com/entertainment/music/jim-marshall-maker-of-rock-and-roll-guitar-amplifiers-dies-at-88/2012/04/05/gIQA9TCOyS_story.html?noredirect=on&utm_term=.39e34225e18d