I Am a Hero(Japan, Shinsuke Sato, 2015) วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ล่มสลายในเมืองซอมบี้
I Am a Hero(2015) ภาพยนตร์ที่สร้างจากมังงะเรื่องดังผลงานเขียนของอาจารย์ Kengo Hanazawa ที่พูดถึงประเทศญี่ปุ่นในวันที่ถูกเชื้อโรค ZQN คุกคามจนผู้คนในประเทศกลายเป็นซอมบี้
แม้ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ดัดแปลงมาจากมังงะอาจจะทำให้คอการ์ตูนผิดหวังไปบ้าง แต่ภาพยนตร์ I Am a Hero เวอร์ชัน Live Action กลับดูสนุกและโอเคอยู่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวผู้กำกับภาพยนตร์เองอย่าง Shinsuke Sato ที่เคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากมังงะอีกเรื่องอย่าง Gantz(2010) ทำออกมาแล้วสนุกใช้ได้ รสมือในการกำกับพอจะรับประกันได้อยู่
มาถึงคิวของ I Am a Hero(2015) ความน่าสนใจแรกคือคาแรกเตอร์ของพระเอกในเรื่องอย่าง ฮิเดโอะ ซูสุกิ นั้นมีบุคลิกแบบ “อันเดอร์ด็อก” จากที่เคยเป็นดาวรุ่งในวงการนักเขียนการ์ตูน แต่เขากลับกลายเป็นเพียงผู้ช่วยในทีมเขียนการ์ตูนเพียงเท่านั้น เลยทำให้ตัวฮิเดโอะ กลายเป็น “ผู้แพ้” ในระบบที่มีการแข่งขันกันสูงมากของประเทศญี่ปุ่น
แต่วันหนึ่ง จากคนขี้แพ้ กลับกลายเป็นผู้นำ เป็นฮีโรของคนอื่น ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิมเพราะคนส่วนใหญ่บนโลกได้รับเชื้อซอมบี้ แต่ฮิเดโอะกลายเป็นบุคคลพิเศษนั่นเพราะว่าเขามีปืนและมีใบอนุญาตในการใช้ปืน
ตัวหนัง I Am a Hero โครงสร้างของการเล่าไม่ต่างจากเวอร์ชั่นมังงะมากนัก เพราะยังพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสามคนในญี่ปุ่น (โลก) ที่ล่มสลาย เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ฮิเดโอะ ซูสุกิ, ฮายาคาริ ฮิโรมิ นักเรียนมัธยมปลายผู้ “กลายพันธ์” จากการได้รับเชื้อ ZQN และยาบุ โอดะ อดีตพยาบาลที่เคยเป็น “Sex Slave” ของกลุ่มคนที่เคยอยู่ด้วยกันหลังเกิดเหตุการณ์เชื้อ ZQN ระบาด ซึ่งโดยรายละเอียดของหนังก็ไม่ต่างจากหนังซอมบี้เรื่องอื่น ๆ ที่เคยมีมาจากทางฝั่งฮอลลีวูด นั่นคือการสร้างโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คนดูได้ลุ้นไปกับการเอาตัวรอดจากภัยซอมบี้ของตัวละครหลัก
หากจะแตกต่างสักเล็กน้อยก็ตรงกิมมิคของซอมบี้ อย่างเช่น การมีจิตผูกพันกับเรื่องราวเมื่อครั้งในอดีต ทำให้พวกเขา(ซอมบี้)ต้องทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างเช่น ใครที่รักการชอปปิ้ง พอเป็นซอมบี้ก็จะวนเวียนเดินห้างชอปปิ้งอยู่ร่ำไป
แต่สิ่งที่น่าสนใจของ I Am a Hero ทั้งในเวอร์ชันมังงะและภาพยนตร์ที่มีร่วมกันอย่างน่าสนใจนั่นก็คือ การวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นที่ชูคุณค่าการทำงานหนัก การยกย่องผู้ชนะ หรือการเคารพต่อเพื่อนบ้านและกฎหมาย มันถูกทำลายเสียย่อยยับผ่านสังคมที่ล่มสลายและไร้ระเบียบ
ฮิเดโอะ พระเอกของเรื่องเองเป็นเพียงผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูนต๊อกต๋อย ซึ่งดูจะเป็นด้านกลับกันกับมังงะสายหวานอย่าง Bakuman (แต่งเรื่องโดย สึงูมิ โอบะ และวาดภาพโดย ทาเกชิ โอบาตะ) ที่พยายามขายความโรแมนติก ความฝัน ความพยายาม ในการเป็นนักเขียนการ์ตูนมังงะ – ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น (และอีกหลายประเทศ) แต่ I Am a Hero ทำให้ภาพฝันนั้นพังครืนลงมา ตั้งแต่ตอนที่โลกยังไม่มีซอมบี้ ที่ฉากต้น ๆ ของหนังพยายามนำเสนอว่า เอาเข้าจริงแล้ว โลกของการเขียนการ์ตูน มันไม่ได้มีที่สำหรับทุกคนที่จะกลายเป็นผู้ชนะ
มุมมองตรงนี้ พอเปลี่ยนไปพูดถึงอาชีพอื่นในทำนองนี้ก็คงจะดูไม่ต่างกัน สิ่งที่หมุนในระบบ “ทุนนิยม” ย่อมมีทั้งผู้แพ้ ผู้ชนะ คนหัวเราะ และคนเสียน้ำตา สถานการณ์ภัยร้ายซอมบี้ที่เกิดขึ้นใน I Am a Hero จึงอุปมาเหมือนการ “ทุบ” ระบบระเบียบเดิมนั้นทิ้งไปเสีย ด้วยการล่มสลาย, กล่าวไปให้ไกลที่สุด มันคือการล่มสลายของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ไม่จำกัดแต่เพียงอุตสาหกรรมมังงะเพียงอย่างเดียว
มันพังกันทั้งสังคม เพื่อสร้างระบบใหม่ให้เกิดขึ้น...
ระบบใหม่ที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้มีการประเมินคุณค่าใหม่ของคนที่เคยถูกมองว่า “ขี้แพ้” กลายมาเป็นฮีโรสำหรับผู้คนได้ อย่างเช่นการปั้นบทบาทให้ฮิเดโอะลุกขึ้นมาจับปืนเพื่อปกป้องทุกคน
นอกจากความสนุกในการดูซอมบี้ไล่กัดคน และคนซัดกับซอมบี้แล้ว ประเด็นระหว่างบรรทัดที่ถูกนำเสนอผ่าน I Am a Hero ก็ร้ายกาจไม่เบา
หากมีโอกาส ทุกคนสามารถเป็นฮีโรได้ครับ
เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์