29 ธ.ค. 2563 | 14:04 น.
“ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชายในเชิงกายภาพ? ไม่ได้ คุณเหมารวมแบบนี้ไม่ได้ เราเจอผู้หญิงที่แข็งแรงมาก และผู้ชายที่อ่อนแอมากได้ทุกที่ เราเห็นความหลากหลายของรูปร่างและความแข็งแรงได้ในทุก ๆ เพศ มันซับซ้อนเกินกว่าจะพูดเหมารวมว่า เป็นผู้หญิงเท่ากับอ่อนแอกว่าผู้ชาย แค่นั้นจบ”ในปี 2019 ที่ผ่านมา UN Women ได้ให้เกียรติประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ได้จัดงาน #HeForSheUniversityTour งานรณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศ หนึ่งใน Speaker ที่ได้รับเชิญขึ้นพูดในงานคือ เอมม่า โทมัส (Emma Thomas) หญิงสาวชาวอังกฤษผู้วิ่งตามความฝันในการเป็นนักมวยมืออาชีพมายังประเทศไทยตั้งเเต่ปี 2011 หลังจากมุ่งมั่นในเส้นทางนักมวยอาชีพจนถึงปี 2018 เอมม่าก็แขวนนวม แล้วร่วมงานกับ Decathlon Thailand เพื่อสร้างแบรนด์มวยไทย ‘ไหว้ครู’ บนเวที HeForShe นักมวยหญิงสุดแกร่งคนนี้ได้เล่าถึงประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในค่ายมวย ความรู้สึกของเธอ และปฏิกิริยาของคนรอบข้างหลังจากรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่เธออาศัยอยู่ในประเทศไทย เอมม่าได้เห็นทั้งมุมมืดและมุมสว่าง บทความ #RapeCultureInThailand ที่เธอเขียนวิเคราะห์วัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อในสังคมไทย ถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง The People นัดพบกับเธอที่ค่ายมวยอรรถชัยย่านอ่อนนุช หลังลัดเลาะผ่านทางเดินเลียบคลองเขียวครึ้ม ทะลุไปสู่ตัวค่ายแบบเปิดโล่งข้างทะเลสาบเล็ก ๆ เราก็พบเอมม่ากำลังรอเราอยู่ ในช่วงแรกที่เอมม่ามาฝึกมวยในไทย เธอแทบจะเป็นผู้หญิงคนเดียวในยิม ผู้หญิงคนอื่นจะมาต่อยมวยเพื่อออกกำลังแค่ระยะสั้น ๆ ไม่มีใครยึดเป็นอาชีพจริงจัง เธอจึงสร้าง Blog #UnderTheRopes.com ขึ้นมาเพื่อพบปะพูดคุยกับนักมวยหญิงคนอื่น ๆ “ชื่อ Under The Ropes มันมาจากเวลาขึ้นเวทีชกมวย ผู้ชายจะสวมมงคลจากนอกเวที ดึงเชือกลงแล้วปีนขึ้นเวทีได้เลย แต่ผู้หญิงต้องก้มลงไปติดพื้นเวที ลอดใต้เชือกเส้นล่างสุดเข้าไป หลังจากนั้นครูมวยถึงจะยื่นมงคลข้ามเชือกเข้าไปให้สวม” ครั้งแรกที่ขึ้นชก ครูมวยของเอมม่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้หญิงต้องลอดใต้เชือก เอมม่าเคารพวัฒนธรรมมวยไทยมาตลอด ทุกการขึ้นชกที่ผ่านมา เธอลอดใต้เชือกตามประเพณีนี้เสมอ แต่เธอคิดว่าถ้าเป็นไปได้ เราควรจะมีสิทธิ์ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา
“ถ้าฉันสามารถเลือกได้ ฉันอยากจะมีสถานะที่เท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ในกรณีนี้ ฉันไม่มีทางเลือก”ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่นักมวยหญิงไม่สามารถคุยกับเพื่อนผู้ชายในยิมได้ อย่างเรื่องผลของการคุมกำเนิดต่อการซ้อม ปัญหาประจำเดือน การถูกล่วงละเมิดในค่ายมวยก็เป็นปัญหาใหญ่ใต้พรมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ส่วนการระมัดระวังที่จะแตะเนื้อต้องตัวกันมากจนเกินไป ก็ทำให้นักมวยหญิงรู้สึกถูกกีดกันออกจากกลุ่มซ้อมบางกลุ่ม “เวลาซ้อมบางอย่าง เช่นมวยปล้ำ ผู้ชายบางคนไม่สะดวกใจจะซ้อมกับเรา เราเลยถูกกันออกมานอกวง ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอก หลายครั้งเวลาผู้ชายมาเป็นคู่ซ้อมฉัน พวกเขาจะซ้อมแบบขาด ๆ เกิน ๆ บางทีก็ออมมือให้เพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง บางทีก็ต่อยหนักเกินไปมาก ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกผู้หญิงน็อกกล้วเสียหน้า” ในช่วง 5 ปีหลังมานี้เอมม่าสังเกตว่ามีผู้หญิงและ LGBTQI+ ก้าวเข้ามาในวงการมวยมากขึ้น เราเริ่มเห็นนักมวยหญิงและหญิงข้ามเพศขึ้นชกในเวทีมวย มีการพยายามผลักดันให้สนามมวยมีความเป็นมิตรกับทุกเพศมากขึ้นก็จริง แต่ปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางผู้หญิงไว้จากการยึดมวยเป็นอาชีพ ไม่ได้มีแค่บรรยากาศในยิม แต่ยังรวมถึงโอกาสในการขึ้นชก และเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย เวทีมวยใหญ่ ๆ อย่างเวทีลุมพินี ราชดำเนิน ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นชก แม้แต่ตามเวทีเล็ก ๆ กว่าผู้หญิงจะขึ้นชกได้ก็ต้องซ้อม เก็บประสบการณ์นานกว่าผู้ชาย พอได้ขึ้นชก ค่าตอบแทนก็น้อยกว่าผู้ชายมาก ในขณะที่ผู้ชาย เข้ามาซ้อมเพียง 2-3 อาทิตย์ ก็มีโอกาสหาเงินหมื่นได้แล้วแทบจะทุกสุดสัปดาห์ เอมม่าเล่าประสบการณ์การชกมวยให้เราฟังว่า มีแค่งานเดียวเท่านั้นที่เคยชกแล้วได้เงินตอบแทน 10,000 บาท คือเวทีสนามหลวง เวทีอื่นที่เธอเคยไปชกมา ไม่ว่าจะที่ราชบุรีหรือรังสิต เธอได้ค่าตอบแทนเพียงแค่ 50% ของผู้ชายในทีมเดียวกัน ครูมวยให้เหตุผลว่า ‘โทษทีเอมม่า เพราะคุณเป็นผู้หญิง’ เอมม่าตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดเป็นชาวต่างชาติยังได้แค่นี้ ผู้หญิงไทยอาจจะได้น้อยกว่าที่เธอได้อีก ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงไทยเป็นหนึ่งในนักมวยที่เก่งที่สุดในโลก ปัจจุบันรายการชกมวยที่ถ่ายทอดในโทรทัศน์เริ่มมีนักมวยหญิงขึ้นชกมากขึ้น แต่นักมวยหญิงเวทีหลักยังได้ค่าชกน้อยกว่านักมวยชายในเวทีเล็ก การยึดมวยเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิงจึงแทบไม่มีทางหาเงินพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ หลังจากเลิกชกแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นเทรนเนอร์มวยสำหรับผู้หญิงก็ไม่ง่าย สาเหตุที่ทำให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนขนาดนี้ เพราะอคติทางเพศ ผู้จัดบางคนบอกว่า ผู้หญิงต่อยมวยไม่สนุก คนดูเขาอยากมาดูผู้ชายกล้ามใหญ่ ๆ ต่อยกันจนน็อก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของเอมม่า มีหลายคนบอกกับเธอว่า ผู้หญิงชกสนุกกว่าผู้ชาย ผู้หญิงสภาพจิตใจแข็งแกร่งกว่าผู้ชายมาก ๆ เพราะจะแสดงความอ่อนแอออกมาไม่ได้ ล้มแล้วต้องลุก โดนชกแล้วต้องทนจนถึงที่สุด ขณะที่ผู้ชายล้มทียอมแพ้ก็มีมาก เราถามความคิดเห็นของเอมม่าต่อนักมวย LGBTQI+ เอมม่าบอกกับเราว่า เธอเห็นนักมวยที่เรียกตัวเองว่าทอมหลายคน แต่ไม่เคยรู้จักนักมวยคนไหนที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ สนามมวยลุมพินีและราชดำเนินอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศขึ้นชกกับผู้ชายได้ก็จริง แต่บังคับให้เขาข้ามเชือก และชกได้แค่กับผู้ชาย ปฏิบัติกับนักมวยหญิงข้ามเพศเหมือนเป็นผู้ชายคนหนึ่ง จากมุมมองของเอมม่า สังคมไทยพัฒนาขึ้นมาก มีการพูดคุยถกเถียงในหัวข้อที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน บางคนอาจจะคิดว่า เราควรพอใจกับความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่เราไม่ควรหยุดอยู่แค่นี้
“ฉันคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศในไทยจะต้องพูดถึงอะไรที่มากกว่าแค่คำว่า Women Empowerment เราต้องทำอะไรที่มันส่งผลในทางปฏิบัติและเป็นประโยชน์กับคนชายขอบกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ในวงการมวยมันอาจจะยากเพราะมีไดโนเสาร์อยู่เต็มไปหมด เจ้าของเวทีลุมพินีก็เป็นทหาร นายกทหารยังบอกว่าผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊อยู่เลย แต่เราต้องสู้ต่อไป แค่ยิมที่เป็นมิตรกับผู้หญิงมันไม่พอ มันต้องเท่าเทียม”เมื่อเอมม่าเริ่มพันมือเตรียมตัวขึ้นซ้อมบนเวที เราจึงถามคำถามสุดท้ายกับเธอด้วยความสงสัยว่า ตั้งแต่วันแรกที่ชกมวยมาจนถึงวันนี้ เกือบ 10 ปีแล้ว เรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเธอทั้งดีและแย่ เธอยังรักมวยเหมือนกับวันแรกที่เริ่มชกหรือเปล่า เอมม่าฟังแล้วก็ยิ้ม “ฉันไม่ได้ชกมวยเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อเป็นผู้ชนะ มวยทำให้ฉันได้เรียนรู้ตัวเอง เติบโต เอาชนะขีดจำกัดของตัวเองตลอดเวลา ฉันได้เพื่อนที่ดีที่สุดจากการชกมวย “ฉันรักมวยมากนะ ชีวิตของฉันขาดมวยไม่ได้ “แต่บางครั้งก็รู้สึกว่ามวยไทยไม่ได้รักฉันกลับ เพราะฉันเป็นผู้หญิง” สัมภาษณ์โดย: จอมเทียน จันสมรัก ถ่ายภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน ติดตามอ่านเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศที่เอมม่าประสบมากับตัวเอง ได้ในบล็อกของเธอที่: https://undertheropes.com/2017/01/18/sexual-assault-in-gyms/ ติดตามเอมม่า ที่ Facebook UndertheRopes และอินสตาแกรมที่ @under_the_ropes