จากเยาวชนถึงประชาชน เราทุกคนคือแกนนำ: หนึ่งความฝันใฝ่ถึงประชาธิปไตยของ ‘ม็อบราษฎร’
“ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน”
คือประโยคที่คุ้นหูคุ้นตาหลาย ๆ คน แม้ไม่อาจย้อนต้นทาง - ที่มาได้ว่าใครเป็นคนคิด แต่เจตนาของประโยคนี้มีนัยทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2563 ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตีคู่มากับวลี ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ และสัญลักษณ์ ‘สามนิ้ว’ ที่กลายมาเป็นภาพจำของการชุมนุมในปีดังกล่าวที่เป็นการเรียกร้องระยะยาวจากต้นถึงท้ายปี
เริ่มจาก ‘เยาวชน’ และงอกงามในหมู่ ‘ประชาชน’ เมื่อคนเรือนหมื่นหรือแสนในไทยโหยหาประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงเกิดเป็นการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมล้วน พูด ทำ และฝันถึงภาพอนาคตแบบเดียวกัน
บทความต่อไปนี้คือเรื่องราวการเติบโตและยังไม่โรยราของดอกไม้ในดินแล้งน้ำ รอคอยความชุ่มฉ่ำจากฝนที่ชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’
อนาคตหายจึงได้มาทวงคืน
ท่ามกลางเหตุผลที่หลากหลายและแตกต่างกันไปว่า ‘ทำไมถึงมาชุมนุม’ ชนวนสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นเริ่มต้นจากการที่มติศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
การยุบพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยและเยาวชนรู้สึกถูกลิดรอน ‘อนาคต’ ที่พวกเขากาและเลือกให้มีที่นั่งในสภา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อจัดแฟลชม็อบเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้ชื่อ ‘ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม’ ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป’ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ‘มอกะเสดไม่ใช่ขนมหวาน’ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ‘ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ’ อีกทั้งเยาวชนวัยมัธยมฯ ก็ออกมาจัดแฟลชม็อบแบบเดียวกันที่โรงเรียนของตนด้วย
ป้าย ‘เป็นอนาคตของชาติแต่ไม่มีสิทธิเลือกอนาคต’ ถูกชูขึ้นพร้อมกับป้ายข้อความอื่น ๆ ที่ล้วนสะท้อนเสียงแห่งความคับแค้นใจของนักศึกษาและเยาวชนที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาล - รัฐบาลชุดนี้ ภายใต้การจับตามองของนักวิชาการเชิงประวัติศาสตร์การเมืองหลายคน ว่าการรวมตัวกันในรูปแบบ นัดออนไลน์ ฉับไว ไม่ค้างคืน เหล่านี้จะเป็น ‘ไฟ’ ที่ลุกโชนมากพอจะผลักให้นักศึกษาและประชาชนลงถนนร่วมกันได้หรือไม่
ถูกอุ้มหายจึงได้ลงถนน
เดือนมิถุนายน นักเรียน นิสิต นักศึกษา พร้อมด้วยหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ภายใต้การนำของสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รวมตัวกันที่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม - อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อผูกโบขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งการทวงถามว่า ‘วันเฉลิมอยู่ไหน’ และส่งเสียงว่า ‘วันเฉลิมต้องปลอดภัย’ สืบเนื่องมาจาก #savewanchalearm นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยที่เชื่อว่าถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา ซึ่งอั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการออกมาชุมนุมในครั้งนั้นว่า
“เรื่องวันเฉลิมไม่ใช่การเลือกข้างทางการเมือง แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน”
การส่งเสียงของเยาวชนยังคงดำเนินต่อไปในหลายรูปแบบ โดยข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนระหว่างนั้นมีสามข้อ คือ 1. ยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2563 การ ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ของ ‘ทนายอานนท์ นำภา’ ก็ทำให้โฉมหน้าการเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนเปลี่ยนไปและสร้างความฮือฮาในสังคมได้ในชั่วข้ามคืน
“เราตั้งใจจะพูดเรื่องนี้อยู่แล้ว เลยติดต่อพี่อานนท์ไป แล้วเขาก็ตกลง เราไม่ได้ล้มล้าง แต่เราต้องการปฏิรูป” มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เปิดเผยในสารคดีสั้น Mind of the Mob กว่าจะเป็นราษฎร - มายด์-ภัสราวลี
หนึ่งความฝัน
วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ‘เยาวชนปลดแอก’ แถลงการณ์ขยายแนวร่วมเป็น ‘ประชาชนปลดแอก’ เพื่อบอกกล่าวกับประชาชนที่ไม่ใช่นักเรียน นิสิต นักศึกษาว่า ขอเพียงแต่ศรัทธาและฝันใฝ่ถึงประชาธิปไตยก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนครั้งนี้ได้ ขณะที่ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ นัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย ‘รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ ขึ้นปราศรัยต่อยอดประเด็น ‘สถาบันกษัตริย์กับการเมือง’ ที่ทนายอานนท์พูดไว้ ด้วยสิบข้อเรียกร้องว่าด้วยการ ‘ปฏิรูปสถาบัน’
“มันไม่มีใครพร้อมที่จะพูดเรื่องนี้ แต่เราต่างให้ความเห็นกันว่าต้องพูด เราเป็นคนตั้ง (แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) ขึ้นมา เราเรียกคนเข้ามา เราต้องรับความเสี่ยงนั้นไว้เอง เราถามเพื่อนว่าสิ่งที่กูทำเป็นสิ่งที่ถูกจริง ๆ ใช่ไหม ซึ่งคำตอบมันคือใช่ เราก็โอเค ได้ งั้นกูทำ” รุ้ง-ปนัสยา กล่าวใน Exclusive: ฟังพี่สาว รุ้ง-ปนัสยา เล่าเรื่องน้องคนเล็กผู้กลายเป็นแกนนำ ‘ราษฎร’ - BBC News ไทย
จากสิบข้อเรียกร้องสู่หนึ่งความฝัน 16 สิงหาคม 2563 การชุมนุมที่จัดโดย ‘ประชาชนปลดแอก’ เนืองแน่นไปด้วยผู้คน โดยกลุ่มผู้ขึ้นปราศรัยย้ำชัดว่าสนับสนุนข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมทั้งสิบข้อ ภายใต้หนึ่งความฝันอันมีใจความว่า
“เราต้องการมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ธงpride sex workers ผู้พิการ และเสียงจากเสื้อแดงที่เพิ่งถูกรับฟัง
ท่ามกลางความเป็นจริงเป็นจังของการเรียกร้องประเด็นใหญ่ การปะทะกับผู้ชุมนุมอีกฝ่าย การปราบปรามของกองกำลังตำรวจ ทหาร การส่งเสียงถึงสถาบัน และการกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ภายในการชุมนุมเดียวกันนั้นยังเต็มไปด้วยความหลากหลายในด้านประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาพูด
ธงสีรุ้งหรือธง pride ธงแห่งความภาคภูมิใจในการเป็น LGBT ถูกกางจนเต็มผืน พร้อมด้วยการเรียกร้องประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ รับไม้ต่อด้วย ‘ผู้หญิงปลดแอก’ ที่ชูประเด็น ‘ล้างระบอบปิตาธิปไตย’ และ ‘ชายหญิงเท่ากัน’ อีกฟากฝั่งของการชุมนุม มีเวทีสำหรับผู้พิการได้บอกเล่าถึงชีวิตของตน ทั้งในแง่สวัสดิการและความเป็นอยู่ในเมืองที่ไร้ที่ทางสำหรับพวกเขา
ชาวนาเล่าเรื่องข้าว ชาวไร่เล่าเรื่องสวน หญิงขายบริการเล่าเรื่องอาชีพ ‘กะหรี่’ ของตนที่ถูกลดทอนให้เป็นคำด่า และถูกมองว่าต้อยต่ำ พร้อมตั้งคำถาม “งานให้บริการทางเพศไม่ใช่งานหรือ ?”
ขณะที่หลายคนในการชุมนุมคุ้นเคยกับท่อน Do You Hear the People Sing? จาก Les Misérables เป็นอย่างดี อีกด้านหนึ่ง อดีตกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เสื้อแดง’ กำลังเปิดเพลงของศิลปินขวัญใจวัยเพื่อชีวิตอย่างคาราบาวและอื่น ๆ พร้อมทั้งร้อง - เต้น กันอย่างสนุกสนาน เป็นบรรยากาศที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนรุ่นเก๋าและเยาวชนรุ่นใหม่นั้น ‘ฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ อย่างเดียวกัน และเรียกร้องฝันร่วมกันได้แม้จะยืนอยู่คนละฟากฝั่งของความหลากหลายในหลาย ๆ แง่มุม
ด้วยรักและห่วงใย เบื้องหลังการเรียกร้องประชาธิปไตยคือแรงใจจากคนที่บ้าน
“สู้ ๆ นะ ขอให้ปลอดภัยและกลับมาหาแม่ด้วย” คือคำพูดจากปากแม่ของ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ‘ไมค์ ระยอง’ ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย โดยไมค์เล่าว่าแม่ของเขาไม่เคยบ่น ไม่เคยด่าเวลามีหมายเรียกหรือโดนคดี มีแต่ความเป็นห่วงเท่านั้นที่ผู้เป็นแม่มอบให้
ด้าน มายด์-ภัสราวลี บอกว่า “แม่ถามว่ามันจะจบเมื่อไหร่ เขาเป็นห่วง เขาถามเราว่าจบได้มั้ย พอแล้วได้มั้ย เราบอกว่าไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องพอด้วย ความจริงแล้วแม่ควรจะออกมาร่วมกับเรา ป๊าก็ด้วย”
ส่วน ‘รุ้ง-ปนัสยา’ กลับเจอปัญหาแรงต้านจากคนในครอบครัวมากกว่า เมย์ พี่สาวของรุ้งบอกว่า “แม่เขาเป็นห่วง เขาไม่เข้าใจ ไม่อยากให้น้องเอาตัวไปเสี่ยง มีปัญหากันหนักจนรุ้งร้องไห้แล้วบอกว่าทำไมแม่พูดกับหนูอย่างนี้ ทีแรกเมย์ก็ไม่เห็นด้วยกับน้อง แต่เพราะเขาเป็นครอบครัว เรารักเขา เราก็ต้องรับฟังเขา”
รุ้งยังเสริมอีกว่า “แรก ๆ เขาต่อต้านเลย แต่ตอนที่เราเข้าคุกแล้วออกมา เจอหน้าเขาเราร้องไห้ แต่เขาไม่ร้องเลย เขาบอกให้เราเข้มแข็งนะ เขารู้แล้วว่ามันหยุดไม่ได้ มีแต่ต้องไปต่อ”
ฝันที่ยังต้องเอื้อมมือคว้า
แม้ว่าการลงถนนตลอดระยะเวลาครึ่งปีของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ภายใต้ชื่อ ‘ม็อบราษฎร’ จะยังไม่ได้ทำให้ 3 ข้อเรียกร้องเป็นจริงได้แม้เพียงข้อเดียว แต่แกนนำก็เห็นตรงกันว่า การต่อสู้ของพวกเขาครั้งนี้คือการวิ่งระยะไกล ไม่ใช่การต่อสู้เพียงชั่วข้ามคืนแล้วรู้ผลแพ้ชนะทันที
ด้วยความหลากหลายทางความคิดที่อาจทำให้คนบางกลุ่มถูกผลักออกไป ด้วยพิษเศรษฐกิจ และเงินในกระเป๋าที่ร่อยหรอลงของกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้การชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 ไม่ได้มีผู้เข้าร่วมแน่นหนาเท่ากับม็อบในช่วงเดือนที่ผ่าน ๆ มา จนหลายคนบอกว่าม็อบกระแสซา แต่อีกหลายคนก็ยังเชื่อมั่นว่าแรงใจแห่งการแสดงออกทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ยังไม่หมดลงง่าย ๆ
เป็นที่น่าจับตามองว่า ในปี 2564 ทิศทางการเรียกร้องของกลุ่ม ‘ราษฎร’ จะดำเนินต่อไปในรูปแบบไหน โดยที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของพวกเขามีส่วนสำคัญในหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และอาจจะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ไปได้หลายทิศทาง
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=mOJqyMI2fvA
https://www.sanook.com/news/8218706/
https://www.bbc.com/thai/thailand-54232265
https://www.bbc.com/thai/thailand-53817270
https://www.youtube.com/watch?v=38pLsU9ZIFk
https://www.thaipost.net/main/detail/59111