‘ทาดาชิ ยาไน’ กับคอนเซปต์ LifeWear ของ UNIQLO ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบ work from home
การระบาดของโควิด-19 คือฝันร้ายของธุรกิจและผู้ประกอบการจำนวนมากทั่วโลก แม้กระทั่งทาดาชิ ยาไน (Tadashi Yanai) หนึ่งในเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดแห่งแดนอาทิตย์อุทัยวัย 71 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัท Fast Retailing บริษัทแม่ของ UNIQLO แบรนด์เสื้อผ้าที่ปัจจุบันแซงหน้า Gap มาเป็นอันดับสามของโลก รองจาก Zara และ H&M
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้ UNIQLO หลายสาขาต้องปิดตัวลงพร้อม ๆ กับกำไรและรายได้ที่ถดถอย แต่ก็นับว่าทาดาชิ ยาไน รับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างดีและบอบช้ำในระดับที่ยังไปต่อได้ ขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าบางแห่งต้องปิดตัวลงอย่างถาวร แต่กว่าจะประคองธุรกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ยาไน นับเป็น CEO ที่สนิทสนมกับความล้มเหลวและเรียนรู้ก่อนจะลุกขึ้นมาใหม่อย่างแข็งแกร่งหลายต่อหลายครั้ง
จากลูกเจ้าของร้านสูทสุดเนี้ยบ สู่แบรนด์ชุดลำลองแสนเรียบง่าย
ย้อนกลับไปที่ก้าวแรกบนเส้นทางอาชีพ ทาดาชิ ยาไน เป็นบัณฑิตจบใหม่จากคณะเศรษฐศาสตร์และการเมือง ผู้คิดว่า ‘งาน’ คือสิ่งสุดท้ายที่อยากทำ และถ้าเลือกได้ ยาไนไม่ได้อยากทำงานไปตลอดชีวิตด้วยซ้ำ ฟังดูแล้วก็ขัดกับภาพ CEO วัย 71 ปีที่ตอนนี้ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจของตัวเองให้กับธุรกิจ
งานแรกของเขาคือการขายสินค้าในแผนกเครื่องครัวและเสื้อผ้าผู้ชายของจัสโก จากนั้นเกือบ 1 ปีต่อมา ยาไนลาออกมาช่วยพ่อทำธุรกิจขายสูทและเนกไท ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบเท่าไร
หลังจากนั้นยาไนได้ลองผิดลองถูกหลายอย่าง จนเริ่มเปิดร้าน Unique Clothing Warehouse ในฮิโรชิมา ปี 1984 จำหน่ายชุดลำลอง (Casual Wear) ซึ่งเป็นชุดที่ทุกคนใส่ได้ ทุกที่ ทุกเวลา ยาไนบอกว่ามันหมดยุคของการใส่เสื้อผ้าเพื่อสร้างความประทับใจให้คนอื่นแล้ว ทุกวันนี้ผู้คนต้องการเสื้อผ้าที่อนุญาตให้เขาได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพต่างหาก
ล้มเหลวไม่ได้แปลว่าล้มเลิก
ช่วงแรก ๆ ยาไนยังต้องพยายามปรับปรุงคุณภาพสินค้า จนกลายเป็นสินค้าคุณภาพดีราคาถูก ธุรกิจของเขาเริ่มไปได้สวยในญี่ปุ่น แต่ก็มีเรื่องชวนกุมขมับตลอดการขยับขยายแบรนด์ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการจดทะเบียนบริษัทที่ฮ่องกง จากชื่อ UNICLO (Unique Clothing) สะกดผิดเป็น UNIQLO แต่เขากลับชอบและนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ UNIQLO ที่สะกดด้วยตัว q อย่างที่เห็นในปัจจุบัน หรือความใจร้อนรีบเปิด 21 สาขาใหม่ในอังกฤษ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงไปถึง 16 สาขา
“ผู้คนมักกลัวความล้มเหลว และนั่นทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ เราเคยขยายสาขาไปต่างประเทศ เราล้มเหลวในอังกฤษ จีนและอีกครั้งในอเมริกา เราล้มเหลว ล้มเหลว และล้มเหลว หลังจากความล้มเหลวเหล่านั้น มันได้จุดไฟให้กับผม” เขากล่าวกับ CNA Insider
การล้มและลุกขึ้นมาเมื่อเวลาผ่านไปฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ระหว่างนั้นเราเชื่อว่าบางคนอาจจะล้มเลิกไปแล้วก็ได้ ซึ่งไม่ใช่กับ ‘ทาดาชิ ยาไน’ ที่ขยันมองหาช่องว่างท่ามกลางวิกฤต ทำให้เขาสามารถเรียนรู้และพลิกให้เป็นโอกาสได้จนกลายเป็นมหาเศรษฐีที่พาแบรนด์เอเชียอย่าง UNIQLO ก้าวขึ้นไปเป็นแบรนด์ดังระดับโลกได้
LifeWear in Pandemic
หลังจากผ่านปัญหาการขยายสาขามาได้ ด่านต่อไปที่ทาดาชิ ยาไนและคนทั่วโลกต้องเผชิญคือวิกฤตโควิด-19 ซึ่งยาไนได้ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ในเดือนตุลาคม 2020 ว่า “โควิด-19 เป็นวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ก็เป็นโอกาสครั้งใหญ่เช่นกัน เพราะบริษัทที่ประสบความสำเร็จจะก้าวผ่านวิกฤตไปได้เสมอ”
ทาดาชิ ยาไน ยังพูดถึงวิกฤตครั้งนี้ในเว็บไซต์ของ Fast Retailing ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ว่า “การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและกระตุ้นให้เรากลั่นกรองวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น ความหมายของเสื้อผ้าก็เปลี่ยนไปเช่นกันจากเสื้อผ้าที่สวมใส่เพื่อเพิ่มความสวยงามหรือเน้นสถานะทางสังคม ได้เปลี่ยนไปสู่เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อความคงทนและเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน”
ยาไนจึงพัฒนาเสื้อผ้าออกมาภายใต้ปรัชญา ‘LifeWear’ ต่อไป ซึ่ง LifeWear คงคอนเซปต์ความเรียบง่าย มีคุณภาพ และเน้นตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้คนในทุก ๆ วัน และทุก ๆ ที่
อาจเป็นทั้งความโชคดีและความตั้งใจ เพราะการมองการณ์ไกลของทาดาชิ ยาไน ที่ผลิตเสื้อผ้าโดยไม่ได้ตั้งต้นจากการเป็นแบรนด์แฟชั่นตามเทรนด์ และคอนเซปต์ ‘LifeWear’ ทำให้สินค้าของ UNIQLO กลายเป็นเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์การ ‘work from home’ พอดิบพอดี ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย เหมาะกับคนที่ต้องการชุดอยู่บ้านที่ยังดูดี สามารถใส่ทำงานและติดต่อสื่อสารกับผู้คนได้ ส่วนเนื้อผ้ามีเทคโนโลยีแบบฮีทเทค (HEATTECH) ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และเทคโนโลยีแอริซึม (AIRism) ที่ช่วยระบายความชื้นและอากาศ บวกกับน้ำหนักผ้าที่เบาสบาย ช่วยให้ผู้ใส่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว ไม่รู้สึกอึดอัดเวลาอยู่บ้าน
สำหรับสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากที่สุดคงจะเป็นหน้ากากที่ใช้นวัตกรรมแบบ AIRism ผ้าระบายอากาศที่ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากแห่กันออกไปต่อคิวซื้อหลังประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
แม้จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม 2020 รายได้ของ Fast Retailing ลดลงถึง 40% และหลายสาขาทั่วโลกต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับ Indetex บริษัทแม่ของ Zara ที่ยอดขายลดลงถึง 44% ประกาศลดสาขาถึง 700 แห่ง ส่วน H&M ลดลงถึง 50% และช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว H&M มีแพลนว่าจะลดจำนวนสาขาประมาณ 250 แห่งในปี 2021
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์กล่าวว่า บริษัท Fast Retailing อยู่ในสถานะที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทในเครือทั่วโลก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดในเอเชียบางแห่งค่อนข้างควบคุมได้ดีกว่าในยุโรป และการเน้นไปที่เสื้อผ้าธรรมดาที่คนสามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันซึ่งราคาไม่แพงนั้นเหมาะกับวิถี new normal ต้องทำงานจากที่บ้านเป็นส่วนใหญ่
ท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดที่ซัดเศรษฐกิจให้พังตามไปด้วย แม้แต่นักธุรกิจผู้ผ่านการล้มเหลวและสำเร็จมานักต่อนัก ยังมีโจทย์ใหญ่ไม่ต่างไปจากธุรกิจเล็ก ๆ คือ การปรับตัวให้อยู่รอด บาดเจ็บให้น้อยที่สุด และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับทาดาชิ ยาไน เขายังคงมีความเชื่อและความหวังว่าจะผ่านพ้นทุกปัญหาไปได้เสมอ
“ผมคิดว่าทุกคนมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ผมรู้แค่เรื่องเสื้อผ้า ถ้าคุณใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อทำสิ่งที่คุณถนัด ท้ายที่สุดแล้วคุณจะจัดการมันได้ คนญี่ปุ่นมีจุดเด่นคือความอดทนและการทำงานหนักเพื่อก้าวไปสู่ระดับที่เรียกได้ว่ามีคุณภาพ ฉะนั้นจงใช้ประโยชน์จากจุดแข็งตรงนี้และกำจัดจุดอ่อนของตัวเอง ผมเองก็เสียเวลามากมายเช่นกัน แต่ถ้าคุณยังก้าวไปข้างหน้าตามจุดมุ่งหมายของคุณเอง คุณก็จะพบความสำเร็จได้ในที่สุด” ยาไนกล่าว
ที่มา
https://news.abs-cbn.com/ancx/style/style-profile/10/07/18/uniqlos-tadashi-yanai-on-success
https://www.youtube.com/watch?v=o-XEv9Qj9YQ
https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/The-man-who-clothes-Asia-Uniqlo-chief-Tadashi-Yanai
https://www.ft.com/content/b92800af-9d7f-4aca-ac0a-19942574adcc
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/10/16/business/corporate-business/uniqlo-fast-retailing-profits/
https://www.fastretailing.com/eng/about/message/