Pink Floyd - Wish You Were Here: วงดนตรี ผี และซาตานในคราบค่ายเพลง
Play
/ So, so you think you can tell heaven from hell? Blue skies from pain? // คุณถ่ายทอดสวรรค์ผ่านนรกได้หรือ วาดภาพท้องฟ้าสดใสจากความความเจ็บช้ำได้หรือไร /แอบบีย์ โรด ลอนดอน ปี 1975 ภายในสตูดิโอชื่อดังที่เหล่านักดนตรีระดับตำนานล้วนเคยผ่านและใช้มันเป็นสถานที่สร้างผลงานลือชื่อของพวกเขา Pink Floyd วงดนตรีจากเกาะอังกฤษที่เดิมยึดขนบไซคีเดลิกร็อกเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยขยับไปสู่ขนบอื่น ๆ ในความเป็น ‘ร็อก’ ในภายหลัง ขณะนั้น ในห้องอัดเสียงแห่งสตูดิโอแอบบีย์ พวกเขากำลังขะมักเขม้นกับการเรียงร้อยดนตรีให้เป็นอัลบั้ม โดยแบกความกดดันจากชื่อเสียงและความคาดหวังมากมายที่พวกเขาได้รับเพราะ ‘The Dark Side of the Moon’ (1973) อัลบั้มก่อนหน้าไว้เต็มอก/ Remember when you were young, you shone like the sun - Shine On You Crazy Diamond /เสียงกีตาร์วังเวงหูที่ประกอบไปด้วยคอร์ดสี่คอร์ด ประสานกับเอฟเฟกต์และเครื่องสังเคราะห์เสียงอื่น ๆ ในเพลง Shine On You Crazy Diamond ดังก้องไปทั่วสตูดิโอ วังเวงเสียจนโรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) มือเบสของวงบอกว่าคอร์ดกีตาร์ที่เรียงกันอยู่นั้นฟังดูเหมือน ‘เสียงครวญของภูตผีที่ถูกทิ้ง’ไม่ผิดจากความจริงนัก เมื่อหลังจากนั้นไม่นาน ‘ผีที่ถูกทิ้ง’ ก็ปรากฏต่อสายตาของ Pink Floyd ท่ามกลางเสียงดนตรีที่ยังคงโหยไห้ ในรูปแบบของชายร่างท้วมใบหน้าบอกบุญไม่รับผีที่ (ไม่ได้) หลอกหลอน Pink Floyd ตนนั้นคือ ซิด บาร์เร็ต (Syd Barrett) อดีตมือกีตาร์และนักแต่งเพลง อดีตสมาชิกของวง อดีตดวงดาวบนเวทีที่พวกเขาเชื่อมั่นในฝีมือ อดีต ‘เพื่อน’ ที่บัดนี้กลายเป็น ‘ผี’ เพราะไม่มี Pink Floyd แม้สักคนที่จำเขาได้/ Now there’s a look in your eyes, like black holes in the sky - Shine On You Crazy Diamond /จงเปล่งประกาย Crazy Diamondย้อนกลับไปเมื่อต้นยุค 60s หรือเมื่อสิบปีก่อนหน้าที่เขาจะ ‘ปรากฏ’ ในสตูดิโอราวกับภูตผี ซิดเป็นหนุ่มผมยาวและตัวผอมเท่า ๆ กับนักดนตรีคนอื่น ๆ ท่ามกลางการงอกงามของวัฒนธรรมร็อกและการเข้ามาของดนตรีไซเคเดลิก ซิดและเพื่อนอีกสามคนก่อตั้ง Pink Floyd ขึ้นมา พวกเขากลายเป็นวงที่มีฐานแฟนคลับพอตัวในเวลาไม่นานนัก ส่วนหนึ่งก็ด้วยมันสมองในการแต่งเพลงของซิด บวกกับลีลาการเล่นกีตาร์ที่แหวกแนวและออกจะหลุดโลกของเขาทุกค่ำในคลับไซเคเดลิก ซิดร้องเพลง เล่นกีตาร์ และ ‘shine’ เหมือน ‘diamond’ ด้วยท่าทางบ้า ๆ หากน่าหลงใหล Pink Floyd ภายใต้การนำของซิดและแรงส่งของสมาชิกที่เหลือก้าวออกจากการเป็นวงดนตรีอันเดอร์กราวนด์ด้วยการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอย่าง EMI Records เมื่อปี 1967 พวกเขากำลังไปได้ดี แต่ก็เป็นตอนนั้นเองที่ซิดเจอปัญหาซิดติดยาขนาดหนัก และไม่เคยเข้ารับการบำบัดแม้สักหน/ So, so you think you can tell heaven from hell? Blue skies from pain? /ซิดเปลี่ยนไปจากที่เขาเคยเป็น เขาเล่นดนตรีแต่คอร์ดเดิมซ้ำ ๆ พฤติกรรมประหลาดของเขาหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ จน Pink Floyd ตัดสินใจให้เดวิด กิลมัวร์ (David Gilmour) มาช่วยเล่นกีตาร์แทนซิดที่อาการหนักเกินกว่าจะเล่นบนเวที แต่ในไม่ช้า ซิดก็สูญเสียความสามารถที่เขาเคยมีไปแทบทั้งหมด จนเดวิดต้องรับหน้าที่กุมบังเหียนวงแทนมีนาคม ปี 1968 ซิดแยกทางกับ Pink Floyd โดยสมบูรณ์Pink Floyd โด่งดังขึ้นในทุกอัลบั้ม ส่วนซิดถูกอาการติดยารุมเร้า (ในภายหลัง หลายคนวิเคราะห์ว่าเขาอาจมีอาการจิตเภทร่วมด้วย) และไม่นานก็หายหน้าหายตาไป/ Can you tell a green field from a cold steel rail? A smile from a veil? Do you think you can tell? /อยากให้นายอยู่ตรงนี้เหลือเกิน“ผมจำเขาไม่ได้ แต่เดวิดกับโรเจอร์ร้องไห้ การปรากฏตัวของซิดมีความหมายกับพวกเขามาก ๆ” นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลองของวงยังจำได้ดีถึงเรื่องราววันนั้น หลังจากใช้เวลาสักพักกว่าจะนึกได้ว่าเป็นเพื่อนเก่า พวกเขาทักทาย ซิดนั่งลงและเริ่มพูดคุยหลังจากซิดจากไป ความว่างเปล่าขนาดใหญ่ก็จู่โจมเดวิด กิลมัวร์ และโรเจอร์ วอเทอร์ส นิ่งและนานที่พวกเขาต้องยอมรับว่านั่นคือรสชาติของการสูญเสีย“ซิดนั่งอยู่ตรงนี้ แต่มันเหมือนว่าเขาไม่อยู่ พอได้คุยกับเขา ผมถึงเข้าใจ ซิดหลงทางและจากเราไปแล้วตลอดกาล”ซิดกลายเป็นผีตั้งแต่เขายังไม่ตาย และโรเจอร์ก็เขียนเพลง ‘Wish You Were Here’ ให้ซิด ไม่ว่าเขาจะเป็นผีหรือคน/ How I wish, how I wish you were here // อยากให้นายอยู่ตรงนี้เหลือเกิน /วงดนตรี ผี และซาตานในคราบค่ายเพลง‘Wish You Were Here’ ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มของพวกเขา เป็นบทเพลงอะคูสติกร็อกที่ถักทอไว้ด้วยเนื้อเพลงแสนเศร้าจากปลายปากกาของโรเจอร์ วอเทอร์ส เขาเขียนมันขึ้นมาโดยมีกลิ่นอายของการระลึกถึงเพื่อนเก่าอยู่ในทุกบรรทัดท่อนแรกเล่าถึงการหลงทางของซิด และวังวนของการเสพยาที่หาทางออกไม่ได้ พร้อมด้วยคำถาม ‘Do you think you can tell?’ ราวกับกำลังเขย่าไหล่เรียกสติเพื่อนเก่าว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้วจริง ๆ หรือ ส่วนท่อนถัดมาก็ถ้อยถามว่าซิดต้องแลกอะไรไปบ้างถึงกลายมาเป็นตัวเขาในวันนี้/ Did they get you to trade your heroes for ghosts? /แลกวิญญาณของนายกับภูตผี เปลี่ยนเถ้าถ่านให้เป็นแมกไม้ แลกไอร้อนกับสายลม ตามคำชักชวนแสนเยือกเย็นนั่น‘เขา’ ได้บอกให้นายแลกไหม แล้วนายได้ทำหรือเปล่า นายทิ้งตำแหน่งทหารราบและจากมาเพื่อจะเป็นหัวหน้าในกล่องกรงหรืออย่างไรแต่ท่อนท้ายของเพลงกลับมีทีท่าเข้าอกเข้าใจกว่า เมื่อโรเจอร์เล่าผ่านเนื้อความว่าแท้จริงแล้ว เขาและซิดคือภูตผีที่กำลังเวียนว่ายในวงจรเดียวกัน และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะหลังเวลาผ่าน ‘The Dark Side of the Moon’ ประสบความสำเร็จ Pink Floyd เคยเป็นวงอันเดอร์กราวนด์ที่ความกระหายในบทเพลงแรงกล้า แต่ในสายตาของค่ายเพลงแล้ว พวกเขาเป็นเพียงตัวทำเงินที่ถูกตีกรอบและมอบบทบาทตามแต่ค่ายจะเห็นว่าสมควร/ We’re just two lost souls swimming in a fishbowl year after year // เราทั้งคู่เป็นเพียงภูตผีที่วิ่งว่ายในโหลแก้ว ปีแล้วปีเล่า /ถ้า ‘เขา’ ที่บอกให้ซิดแลกวิญญาณกับภูตผีคือยาเสพติด ‘เขา’ ที่บอกให้โรเจอร์ ‘ขายวิญญาณ’ ก็คือซาตานในคราบค่ายเพลง ความคับแค้นที่เกิดจากภาระบนบ่าที่โรเจอร์ต้องแบก ความสิ้นอาลัยในดนตรี ความกดดันที่บีบคั้นจนไร้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ถูกถ่ายทอดลงในเพลงร่วมอัลบั้มเพลงอื่น ๆ ‘Welcome to the Machine’ เปรียบอุตสาหกรรมดนตรีเป็นเครื่องจักร และศิลปินเป็นเพียงฟันเฟือง ส่วน ‘Have a Cigar’ ก็เอาเรื่องจริงมาแต่งเป็นเพลง จากเหตุการณ์ที่คนในค่ายเพลงที่ ‘ปั้น’ พวกเขามากับมือได้เอ่ยปากถาม Pink Floyd ว่า ‘คนไหนในวงที่ชื่อ Pink’ เพราะคิดว่า Pink Floyd มาจากชื่อใครสักคนในวงแด่อุตสาหกรรมดนตรี จากผี Pink Floydนอกจากเพื่อมอบแด่ซิด บาร์เร็ตแล้ว อัลบั้ม ‘Wish You Were Here’ ที่ประกอบไปด้วยห้าบทเพลงอัลบั้มนี้ ยังเปรียบเสมือนเสียงร้องของผีที่ชื่อ Pink Floyd เพื่อบอกเล่า สะท้อน และทวงถามถึงความอยุติธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี ณ ห้วงเวลานั้นด้วย เช่นที่โรเจอร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า“เพลง Wish You Were Here คือการย้ำเตือนกับตัวเองของผม ผมบอกกับตัวเองว่า ผมจะไม่เป็นหัวหน้าในกล่องกรง แต่ผมจะเข้าร่วมสงคราม (หากอุตสาหกรรมดนตรีเป็นสงคราม) ผมจะยืนอยู่ท่ามกลางสนามเพลาะ”/ Did you exchange a walk-on part in the war for a leading role in a cage? /เสียงกีตาร์อะคูสติกครวญเนิบช้า เสียงร้องทุ้มนุ่มของเดวิด กิลมัวร์ยังคงซ้ำวนท่อน ‘อยากให้นายอยู่ตรงนี้ด้วยกัน’ และท่อนที่เปรียบดังคำถามโดยตรงถึงซิด ตั้งแต่วันนั้นเมื่อปี 1975 โดยไม่เคยมีเสียงตอบกลับมาจากเพื่อนที่สูญหายของพวกเขาแอบบีย์ โรด ลอนดอน ปี 1975 เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของ Pink Floyd และอดีตชายผู้เปล่งแสงแวววาวที่สุดในวงซิดจากโลกนี้ไปอย่างแท้จริงเมื่อปี 2006 หากแต่เขาในฐานะการระลึกถึงจะยังคงวนเวียนอยู่ในเพลงของวงนี้ไปอีกแสนนาน เช่นเดียวกับการกลายเป็นอมตะของวงดนตรีที่เขาเป็นผู้สร้างชื่อ (ซิดเป็นคนตั้งชื่อวง Pink Floyd) และปัญหาในอุตสาหกรรมดนตรีที่ยังคงฉายหนังม้วนเก่ามาตั้งแต่วันวาน (แม้จะมีการปรับและเปลี่ยนจน ‘ดี’ หรือ ‘แย่’ ขึ้นในบางแง่บ้างแล้วก็ตาม)เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพที่มา: https://americansongwriter.com/wish-you-were-here-pink-floyd-behind-the-song/https://www.planckmachine.com/wish-you-were-here-pink-floyd-lyrics-meaning/https://www.radiox.co.uk/artists/pink-floyd/why-pink-floyds-wish-you-were-here-saddest-song/https://americansongwriter.com/wish-you-were-here-pink-floyd-behind-the-song/https://www.youtube.com/watch?v=kJC-cFKP770https://www.youtube.com/watch?v=MLDi8TDSNwkhttps://www.hardwiredmagazine.com/pink-floyd-the-story-of-wish-you-were-here/?lang=en