The People of the Day: หมอทวีศิลป์ย้ำไม่มีแอปฯ #หมอชนะ ผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่อนุทินชี้ #ไม่โหลดไม่ผิด ให้ใช้เอกสารแทนได้
สรุปไทม์ไลน์ประเด็นร้อนแอปฯ หมอชนะ เมื่อรัฐบาลสื่อสารไม่ตรงกันจนกลายเป็นมีมที่หลายคนเปรียบเทียบว่า ‘เหมือนรัฐบาลทำงานแบบไม่ได้อ่านไลน์กรุ๊ป’
- เช้าวันที่ 7 มกราคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ออกมาแถลงว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ จะมีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งต้องโหลดควบคู่กับแอปฯ ‘ไทยชนะ’ ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีแอปฯ นี้ จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- แฮชแท็ก #หมอชนะ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เกิดข้อโต้แย้งประเด็นผู้ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตสำหรับโหลดแอปพลิเคชัน และมีผู้ใช้งานที่โหลดแอปพลิเคชันมาแล้วพบว่าไม่สามารถเปิดแอปฯ นี้ได้
- ช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ออกมาชี้แจงว่า ตนได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว หากประชาชนบางส่วนไม่มีโทรศัพท์ หรือไม่สามารถโหลดแอปฯ หมอชนะได้ สามารถใช้เอกสารแทน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ผมได้สอบถามไปยังกระทรวง DE แล้วไม่มีความผิดอะไร ถ้าท่านโหลดแอปฯ ไม่ได้ ท่านก็ต้องลงทะเบียน เพื่อที่จะสามารถควบคุมได้ ไปที่ไหนให้เขียนแผนไว้ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ ใครโหลดได้ให้โหลดไป อย่าไปฟังข่าวที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” (ข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/politics/news-589677)
- The People เคยนำเสนอเบื้องหลังของแอปพลิเคชัน หมอชนะ ในช่วงที่เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยมีประเด็นน่าสนใจดังนี้
- แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โดยวิธีใช้งานคือโหลดแอปฯ นี้แล้วเช็กอินก่อนเข้าสู่สถานที่ต่าง ๆ
- แอป ‘หมอชนะ’ เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง ‘ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชน และภาครัฐ’ นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ ‘Code for Public’ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มช่วยกัน’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก
- ที่มาของแอปฯ นี้เกิดจากปัญหาการปกปิดข้อมูลของประชาชนในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งหลายครั้งทำให้แพทย์และพยาบาลต้องหยุดการทำงานทีละเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อกักตัวเองหรือแม้กระทั่งล้มป่วย โดยแอปฯ ‘หมอชนะ’ สามารถแก้ปัญหานี้ โดยอาศัยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้แอปฯ และแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แอปฯ ได้ผ่านพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่
- แอปพลิเคชันนี้ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอปฯ จึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยเมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปฯ ยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพนซอร์ซ’ (Open Source) เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย
- การทำงานของแอปฯ อยู่ที่การรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ แบ่งเป็น สีเขียว เหลือง ส้ม และแดง ตามระดับความเสี่ยง และหากมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสียังมีการเปลี่ยนแปลงอัปเดตแบบเรียลไทม์ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงที่ผ่านมา แอปฯ จะเตือนผู้ใช้งานให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทุกคน และภาคธุรกิจ
- นายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปกติเราจะเน้นการต้องดูแลตัวเอง เช่น การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หรือหลีกเลี่ยงการไปจุดที่แออัด เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงโรคหวัดอื่น ๆ แต่ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะมีความจำเป็นต้องไปทำงาน หรือไปธุระนอกบ้าน ซึ่งอาจสัมผัสผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว การมีเครื่องมือบางอย่างที่จะทำให้เรารับรู้สถานะความเสี่ยงของตนเองได้ รวมถึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดต่อได้รวดเร็ว เพื่อนำผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยโรคโควิด-19 ไปสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว จะช่วยให้การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยมากขึ้น”
- ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้สมาร์ตโฟน สร้างสุขนิสัยใหม่ที่จะเอาชนะโควิด-19 ได้ด้วยการช่วยกันดาวน์โหลดและใช้งานแอปฯ ‘หมอชนะ’ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563
- แอปพลิเคชันนี้ยังไม่ได้ถูกพูดถึงหรือใช้งานมากเท่าแอปฯ ‘ไทยชนะ’ ก่อนจะกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อนายแพทย์ทวีศิลป์ออกมาแถลงมาตรการดังกล่าวเมื่อเช้าวันที่ 7 มกราคม 2564
- ล่าสุดประมาณ 17.00 น. นายแพทย์ทวีศิลป์ออกมาชี้แจงในเพจเฟซบุ๊ก ‘More ทวีศิลป์’ ว่า “ขออภัยครับ หากทำให้เข้าใจผิดว่าไม่มีแอปฯ ถึงติดคุก..ในข้อความเต็มคือหากท่านติดเชื้อ และปิดบังข้อมูล..รวมถึงไม่พบแอปฯ ‘หมอชนะ’ มีความผิดตามข้อกำหนดครับ”
- สำหรับประเด็นการใช้งานแอปฯ และการสื่อสารมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ยังคงเป็นข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์จนถึงตอนนี้
- ติดตามเบื้องหลัง แอปฯ ‘หมอชนะ’ ที่ The People เคยนำเสนอไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ได้ที่ https://thepeople.co/code-for-public-covid-19/
เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา