08 ม.ค. 2564 | 15:39 น.
ตอนเราไม่มีบัตรประชาชน ก็กระทบหน้าที่การงานกับการดำรงชีวิตจะติดขัด เช่น การสมัครงานหรือการเข้าหาคนอื่น และรายได้ช่วงไม่ได้สัญชาติ ผมทำงานได้วันละ 150 บาท ตั้งแต่ 08.00 - 24.00 น.เสียงสะท้อนของ 'สิทธิศักดิ์ มห่า' ชายหนุ่มที่มีเชื้อสายไทใหญ่วัย 21 ปีจากอำเภอแม่อาย ที่ยอมรับว่าสิทธิของการเป็นพลเมืองในตลอดชีวิตของเขาที่ได้รับ มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เขาสูญเสียโอกาสอยู่เสมอ ด้วยชาติพันธุ์พื้นเพเดิมที่ถูกกำหนดว่าเป็น ‘บุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ’ ถ้าคุณลองหลับตาแล้วลองจินตนาการว่า เมื่อคุณลืมตามาดูโลกท่ามกลางธรรมชาติและดำรงชีวิตกลางลำเนาไพร แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น ชีวิตคุณต้องดิ้นรนค้นหาโอกาส ด้วยความที่พ่อ-แม่ของตนเองมีชาติพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง ‘ไทใหญ่’ ที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งที่อยู่แผ่นดินเดียวกันในสายตาของชนกลุ่มใหญ่ “พ่อแม่ผมไม่ใช่คนไทย” สิทธิศักดิ์ยอมรับความเป็นจริงกับต้นทุนชีวิตที่เลือกไม่ได้ เขาเลือกที่จะต่อสู้เพื่อแสวงหาความหวังให้กับชีวิตด้วยการพาชีวิตมุ่งเข้ารับการศึกษา โดยเริ่มเข้าเรียนระดับประถมฯ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไลออนส์มหาจักร์ 8 ที่บ้านร่มไท จนจบการศึกษาประถม 6 ‘สิทธิศักดิ์ มห่า’ ยังไม่ลดละความพยายามที่จะเดินหน้าเพื่อหาความรู้ ถึงแม้ว่าต้นทุนชีวิตของตนเองจะเป็นอุปสรรค เขาเลือกที่ดิ้นรนหาหนทางไปเรียนระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนเชตุพนศึกษาในตัวเมืองเชียงใหม่จนได้ “ผมก็ไปบวชเรียนต่อที่เชียงใหม่เลยครับ บวชตั้งแต่ ม.1” และสุดท้ายทางออกของความเลื่อมล้ำของการศึกษา คือการต้องอยู่ในสถานะสามเณร เขาเลยเลือกบวชเพื่อเรียน และเป็นอีกครั้งที่ศาสนาได้กลายเป็นทุนทรัพย์ของผู้ที่ไม่มีต้นทุนชีวิต “เพราะทางบ้านไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะส่งให้เราได้เรียน” ไม่เพียงแต่สนใจการศึกษา เขายังสร้างความหวังและความฝันให้กับชีวิตไปพร้อม ๆ กันในระหว่างนั้นด้วยการยื่นขอสัญชาติในช่วงที่คาบเกี่ยวเดียวกัน “ผมยื่นเรื่องขอไปตั้งแต่อยู่ ม.1 ยื่นเรื่องไปประมาณ 3 รอบ” ตลอดเวลาที่กำลังยื่นเรื่องการขอสัญชาติ เขาก็พบเจออุปสรรคชีวิตมากมาย “ตอนไม่มีบัตรประชาชน ก็กระทบหน้าที่การงานกับการดำรงชีวิตจะติดขัด เช่น การสมัครงานหรือการเข้าหาคนอื่น เข้าหาผู้ใหญ่จะลำบาก เพราะเราไม่มีสัญชาติ เราเป็นพม่า ทำงานก็ไม่ค่อยเต็มที่ เพราะไม่มีบัตรประชาชนที่จะไปยืนยันกับทางลูกค้าหรือผู้จัดการ อาจจะด้อยไป” ด้วยไม่ละลดยอมแพ้ตลอดระยะเวลา 8 ปี สิทธิศักดิ์ก็ได้ทำตามความฝันของตัวเองสำเร็จ วันนี้ ‘สิทธิศักดิ์’ ได้รับมอบบัตรประชาชนของตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิตจากมือของเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ณ หอประชุมอำเภอแม่อาย ในวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา เขาเอ่ยออกมาพร้อมรอยยิ้มว่า “ผมเพิ่งได้สัญชาติตอนอายุ 21 ปี ต้องยื่นเรื่องเอง ต้องคอยตามเอง เป็นเรื่องโอกาสที่ต้องรอ” จนแล้วจนรอด ‘สิทธิศักดิ์ มห่า’ เลยได้เล่าถึงความเหลื่อมล้ำในอดีต จนถึงวันที่เขาได้รับสัญชาติไทยกับทาง The People เราอย่างเต็มที่ “เรื่องรายได้ช่วงไม่ได้สัญชาติ ผมทำงานได้วันละ 150 บาท ทำแถว ๆ แม่อาย ตั้งแต่ 08.00 - 24.00 น. เมื่อได้สัญชาติก็มีหลายช่องทางหารายได้ ตอนนี้มีรายได้รายเดือน เดือนละ 2 หมื่นบาท ทำเกี่ยวกับขายของออนไลน์ด้วย” สวัสดิการชีวิตเปลี่ยน สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนตามไปด้วย “โอเคขึ้นเยอะเลยครับ ในเรื่องสวัสดิการอะไรหลาย ๆ อย่างก็เข้าถึงในชุมชน อย่างเช่น ไฟฟ้า จานดาวเทียมเคเบิล” จนวันนี้เขาได้ทำความหวังและความฝันของตนเองสำเร็จแล้ว และเขายังมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนไทย 100% ที่พร้อมทำหน้าที่ของชายไทย “เมื่อได้สัญชาติไทย ก็ภูมิใจที่ได้เกิดมาในประเทศไทยแล้วได้สัญชาติไทย ผมก็คิดว่าผมจะรับใช้ชาติเช่นเป็นทหารครับ” และสุดท้ายจากใจของ ‘สิทธิศักดิ์ มห่า’ ที่อยากจะส่งสารต่อให้กับคนที่ยังไม่สิ้นหวังในการพยายามยื่นขอสัญชาติว่า “ผมอยากให้คนไทยหรือชนกลุ่มน้อยที่ได้สัญชาติเหมือนกับผม อยากให้ช่วยกันพัฒนาประเทศ และช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับประเทศครับ” ในปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนโดยประมาณ 488,000 คน และได้รับสัญชาติไทยแล้ว 18,773 คน จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ได้กลายเป็นพื้นที่ที่พบคนดังกล่าวมากที่สุดในประเทศไทย โดยเชียงราย 53,000 คน เชียงใหม่ 35,000 คน ซึ่งจากเดิมในกฎหมายรัฐไทย บัญญัติไว้ว่า “ผู้ที่เกิดราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย และเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” แต่ด้วยแผนการขับเคลื่อน “10 โครงการสำคัญสู่การเป็น กรมการปกครอง วิถีใหม่ ใน พ.ศ. 2564” (10 Flagships to DOPA New Normal 2021) เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” และมีหลักใหญ่ใจความของ 1 ใน 10 โครงการซึ่งได้เปิดโอกาสในเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล พร้อมตั้งเป้าหมายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล จำนวน 14,000 ราย มีการจัดตั้งคลินิกและชุด Mobile Team แก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล จัดทำอำเภอต้นแบบการดำเนินการด้านสัญชาติและสถานะทางบุคคล ทั้งหมดนี้ดำเนินการ โดยยึดความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต โดย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้กล่าวภายหลังการมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติสัญชาติไทยในพื้นที่อำเภอแม่อาย ระบุว่า “งานสำคัญก็คืองานเรื่องสัญชาติ ซึ่งเป็นงานที่เราได้รับคำชมมาจากองค์การสหประชาชาติว่า เราได้ดูแลเรื่องการให้สัญชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เรามีงบประมาณในการตรวจดีเอ็นเอในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจะทำให้คนที่ไร้สถานะนั้นมีสถานะ การมีสถานะก็คงทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพอะไรเกิดขึ้น ซึ่งตอบสนองกับปฏิญญาขององค์การสหประชาชาติ แล้วก็เป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง ในเรื่องการให้สถานะบุคคล” นอกจากความสำคัญของการดูแลเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ยังได้ลงพื้นที่ ม่อนดอยลาง บ้านปางต้นฆ้อง ม.1 ต.มะลิกา อ.แม่อาย ให้น้ำหนักกับการสร้างแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง (หมู่บ้านเข้มแข็ง) ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของในสิบโครงการ ถึงแม้ว่าบนพื้นที่นี้จะมีหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่ก็ยังให้ความสำคัญโดยที่ไม่ยิ่งหย่อนต่างไปจากโครงการอื่น ๆ “เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องรู้อย่างหนึ่งว่า แต่ละพื้นที่ แต่ละหมู่บ้าน ย่อมมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าในเรื่องทางกายภาพหรือเรื่องของผู้คน ในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี อันนี้มันก็มีความแตกต่างกัน แต่ทำอย่างไรที่จะหล่อหลอมสิ่งที่แตกต่างอันนี้ให้มันกลมกลืน แล้วก็ร่วมกันทำงานภายในหมู่บ้านให้ได้ “ถ้าเราบอกว่า หมู่บ้านคือจุดแตกหักของความสำเร็จหรือชัยชนะหรือความล้มเหลว อันนี้จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถทำงานให้ในหมู่บ้าน ทุก ๆ หมู่บ้านให้เขาอยู่อย่างมีความสุข ให้เขาอยู่อย่างมีความปลอดภัย ให้เขาอยู่อย่างมีความมั่นคง มีความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจได้ อันนี้ผมมั่นใจครับ ถ้าทุกหมู่บ้านเป็นอย่างนี้ ประเทศเราสามารถที่จะพัฒนาไปได้ แล้วก็เดินสู่เป้าหมายสำคัญในการที่จะทำประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชนครับ”