ปริญญ์ นำทีม ศก.ทันสมัย แนะ 6 แนวทางเยียวยาเศรษฐกิจเสริมภาครัฐ ช่วยไทยพ้นวิกฤตโควิดระลอกใหม่
12 มกราคม 2564 ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ขับเคลื่อนนโยบายทุกท่านที่ทำงานหนักอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีวิกฤตทางสาธารณสุขที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร่วมด้วย จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐอย่างสร้างสรรค์ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชน ภายใต้ 6 แนวทาง ดังนี้
- ออกมาตรการเยียวยาทันท่วงที การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านพ้นไปเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา ผลกระทบคือทำให้มีคนตกงานทันที โดยเฉพาะกับกลุ่มอาชีพอิสระที่ประกอบธุรกิจกลางคืน เช่น ศิลปิน นักดนตรี ผู้ประกอบการ ธุรกิจกลางคืนซึ่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดสถานบริการและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี แต่กลับได้รับผลกระทบมากที่สุด และยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจึงขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจทันที โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด) โดยให้เงินเยียวยาขั้นต่ำคนละ 5,000 – 6,000 บาท/เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน
- เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดคอขวด ทำให้ล่าช้า ทั้งโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ ที่ต้องไปเร่งติดตามว่าทำไมถึงยังไม่มีการนำเงินออกไปขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงกลุ่มโครงการของหลายกระทรวงที่กำลังรออนุมัติด้วย เช่น โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเยียวยาหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ
- สนับสนุนการสร้างงานในเชิงรุก สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้คนตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาครัฐต้องทำงานในเชิงรุกและโฟกัสการเยียวยาให้ถูกกลุ่ม เลือกจ่ายในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ หรืออาจเข้ามาช่วยจ่ายเงินเดือนบางส่วนเหมือนกับในหลายประเทศ เพื่อช่วยเยียวยา โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ SMEs นอกจากมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแล้วยังต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทยในระยะกลางถึงยาวด้วย โดยให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ออนไลน์ เสริมทักษะ เพิ่มสมรรถนะองค์ความรู้ดิจิทัล ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะจะเป็นโอกาสให้ภาครัฐสร้างแรงงานฝีมือให้กับประเทศได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนตกงานไม่ใช่เพราะว่าไม่มีตำแหน่งงานให้ทำ แต่เป็นเพราะไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ หรือสมรรถนะที่ตรงกับความต้องการได้รวมถึงการออกนโยบายเพื่อจูงใจคนที่อยู่บ้าน หรือกำลัง Work from home อยู่ให้สามารถเรียนรู้จากบ้านได้ โดยมีเครดิตพิเศษ เช่นให้เงินแถมโบนัส เพื่อจูงใจให้ประชาชนสามารถเรียนจบคอร์สยาก ๆ ได้ เช่น โคดดิ้ง (Coding) การขายของออนไลน์ (E-commerce) การตลาดยุคดิจิทัล (Digital marketing) หรือทักษะอื่น ๆ ด้านดิจิทัล เป็นต้น
- ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจต้องมาช่วยกันมากกว่านี้ อาจต้องไม่ทำกำไรในตอนนี้ ควรพิจารณาดูว่าทำอย่างไรให้ค่าน้ำ-ไฟถูกลงกว่านี้ได้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs มีปัญหามากในเรื่องของสภาพคล่อง จากปัญหาหนี้สินที่พอกพูนมากขึ้น ควรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกและเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่นโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) กว่า 4 แสนล้านบาทยังไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเต็มที่ และมีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เข้าถึงได้ อยากให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการต่อรองกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ในการพักเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อย่างน้อย 6-12 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ และกลับไปใช้จ่ายหนี้คืนได้เช่นเดิม
- ยืดระยะเวลาจ่ายภาษีอากร เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่มีการยืดเวลาในการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจากเดิมช่วงเมษายนไปเป็นช่วงกลางปี รอบนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อช่วยพยุงความลำบากประชาชน ให้สามารถเดินต่อไปได้ในระยะสั้น 3 - 6 เดือนข้างหน้านี้ นอกจากนั้นควรมีการเก็บภาษี VAT 7% จากแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ที่จะมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2564 นี้ และการเก็บภาษีจากยอดขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในอนาคตจะทำให้ประเทศมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น
ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากวิกฤตทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจแล้ว การสื่อสารในภาวะวิกฤตก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาทาง ศบค. ทำหน้าที่ได้ดี แต่ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา คือ การให้ข้อมูลข่าวสารในบางครั้งที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เนื่องจากการระบาดระลอกนี้มีการแพร่กระจายเกือบค่อนประเทศ มีชุดข้อมูลที่มาก เข้าใจถึงความยากลำบากในการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงอยากวิงวอนภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป ช่วยลดความสับสนและสื่อสารให้กับสังคมไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำหน้าที่ อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเหมือนครั้งก่อน เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน
ทั้งนี้ ในตอนท้ายนางดรุณวรรณ ยังได้พูดถึงโครงการ “เรียนจบพบงาน” ของทีมเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาล ที่ช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทันสมัยหรือดิจิทัลเหมาะสมกับงานยุค 4.0 สำหรับโครงการเรียนจบพบงานในช่วงสถานการณ์โควิด จะปรับรูปแบบมาทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นทั้งทางด้านการสัมมนา การให้ความรู้ ผ่านแฟนเพจที่เป็นข่องทางในการหางาน รวมถึงการฝึกงานผ่านออนไลน์เพื่อช่วยอัพสกิลและรีสกิล ช่วยประชาชนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 และในระยะยาว