เพราะเกลียดวันจันทร์ที่ต้องทำงาน โลกเลยมีสิ่งนี้ ใครไม่ขี้เกียจ…ไข่ขี้เกียจ (Gudetama)
เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาในวันจันทร์ หลายคนคงเฝ้าฝันอยากจะนอนกลิ้งอยู่บนเตียงและผลักทุกอย่างออกไปให้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ แบบ ‘เจ้ากุเดทามะ (Gudetama)’ หรือ ‘ไข่ขี้เกียจ’ การ์ตูนสุดฮิตจากบริษัทซานริโอ ต้นกำเนิดเฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty) ปอมปอมปุริน (Pompompurin) และซินนามอนโรล (Cinnamoroll)
Gudetama มาจากคำว่า Gudegude ที่หมายถึงหมดเรี่ยวแรง รวมกับคำว่า Tama ที่มาจาก Tamago ซึ่งแปลว่าไข่ คาแรกเตอร์ของการ์ตูนตัวนี้จึงออกมาเป็นรูปไข่นอนเผละอย่างสิ้นหวังแบบที่เห็น
‘กุเดทามะ’ ปรากฏตัวในวงการการ์ตูนซานริโอครั้งแรกจากการประกวดออกแบบตัวละครหมวดอาหารภายในบริษัท เมื่อปี 2013 แต่ผลปรากฏว่ากุเดทามะแพ้เจ้าแซลมอนน้อย ‘คิริมิจัง (KIRIMIChan)’ ที่คว้าอันดับหนึ่งไป หลังจากนั้นซานริโอได้ปล่อยวิดีโอการ์ตูนกุเดทามะความยาวประมาณ 1 นาทีลงยูทูบ ทำให้ผลโหวตภาพรวมใน Sanrio Character Ranking ของเจ้ากุเดทามะแซงหน้าคิริมิจังขึ้นมา ล่าสุดปี 2020 กุเดทามะอยู่ในลำดับที่ 12 แซงหน้าคิริมิจังอยู่ในลำดับที่ 17 แถมเจ้าไข่ขี้เกียจตัวนี้ยังมีสินค้าของตัวเองนับพันชิ้น มีคาเฟ่กุเดทามะและฉายออร่าความขี้เกียจโด่งดังไปไกลถึงต่างแดน
คาวาอิฉบับกุเดทามะ
ถ้าพูดในภาพกว้าง กุเดทามะมีองค์ประกอบของความ ‘คาวาอิ (kawaii)’ แบบญี่ปุ่น ทั้งความน่ารัก น่าสงสาร และสื่อถึงความเป็นเด็ก ซึ่งอลิสซา ฟรีดแมน (Alissa Freedman) ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีและภาพยนตร์ญี่ปุ่นมหาวิทยาลัยโอเรกอน กล่าวว่า “คาวาอิเป็นไอเดียที่น่าหลงใหล มันเป็นความน่ารักแบบเปราะบางมาก ๆ มันน่ารักมากชนิดที่ทำให้ผู้คนอยากจะเข้าไปดูแล” เช่นเดียวกับกุเดทามะที่คล้ายกับเด็กน้อยแสนขี้เกียจและสิ้นหวัง เจ้าไข่สีเหลืองจึงเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นตัวอื่น ๆ ที่มีความ ‘คาวาอิ’ ชวนให้ผู้คนรู้สึกเอ็นดู แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ กุเดทามะไม่ได้เป็นการ์ตูนที่มีความ ‘คาวาอิแบบสดใส’ แต่กลับสื่อถึงความรู้สึกทางลบ ชวนให้ตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้ไข่ขี้เกียจอยู่ในใจผู้คนทั้งในญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลก ?
คาแรกเตอร์ของรุ่นมิลเลนเนียล
นากาชิมา เอมิ (Nagashima Emi) ผู้ออกแบบกุเดทามะเล่าถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบไข่ขี้เกียจว่า "เช้าวันหนึ่ง ฉันกำลังกินไข่ที่อยู่บนข้าว ฉันคิดกับตัวเองว่าไข่มันก็น่ารักดี แต่อีกมุมหนึ่งก็ดูไร้แรงจูงใจและถูกเมินเฉยในเวลาเดียวกัน ไข่เป็นวัตถุดิบมหัศจรรย์ ทั้งรสชาติ ความมันวาว คุณค่าทางโภชนาการ และการนำไปปรุงอาหารได้นับไม่ถ้วน แต่สำหรับฉัน เจ้าไข่เหมือนถูกผลักไสให้มีชะตากรรมที่ต้องถูกกินอยูตลอด มันดูสิ้นหวัง หมดพลังและความพยายาม จนเหมือนว่าพวกเขาเหนื่อยกับการแข่งขันรอบตัวบนโลกใบนี้”
ความรู้สึกที่มีต่อเมนูตรงหน้าจุดประกายให้นากาชิมา เอมิ เลือกออกแบบกุเดทามะโดยใช้ไข่ผูกโยงกับภาพลักษณ์ของคนรุ่นมิลเลนเนียลในญี่ปุ่น (Japanese Millennials)
“ฉันพยายามจะสะท้อนภาพของผู้คนในสังคมยุคใหม่ที่พบเห็นตามข่าวต่าง ๆ ฉันวาดภาพถึงสิ่งที่เรียกว่า ยูโทริ (Yutori) คือผู้คนในรุ่นที่จบจากมหาวิทยาลัยดี ๆ แต่อยู่ในช่วงท้าทายของสภาพเศรษฐกิจ ฉะนั้นจึงรู้สึกสิ้นหวังและไม่อยากจะพยายามอีกต่อไป”
‘ยูโทริ (Yutori)’ ที่นากาชิมา เอมิพูดถึง ใช้เรียกกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลในญี่ปุ่น (Japanese Millennials) ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987-1997 เนื่องจากสมัยก่อนหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มข้นและอัดแน่นจนเกินไป ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1980 ญี่ปุ่นได้ปรับหลักสูตรการศึกษาใหม่ซึ่งปรับลดลงจากเดิมมากจนคนญี่ปุ่นรุ่นนี้เริ่มรู้สึกเอื่อย เรื่อยเปื่อยและเฉื่อยชากว่ายุคก่อนหน้า
นอกจากนี้คนรุ่นมิลเลนเนียลทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง และมีอิทธิพลต่อการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ไข่ขี้เกียจจะโด่งดังไปไกลทั้งในเอเชียและฝั่งตะวันตก เพราะผู้คนไม่ได้มองกุเดทามะเป็นตัวการ์ตูนแสน ‘คาวาอิ’ อย่างเดียว แต่ยังมองว่าเจ้าไข่ขี้เกียจเป็นตัวแทนความรู้สึกของพวกเขา-คนรุ่นมิลเลนเนียล (และอีกหลายคนที่กำลังรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ และขี้เกียจในเช้าวันจันทร์แบบนี้)
แทนใจในวันจันทร์
นอกจากการนำคาแรกเตอร์ของชาวมิลเลนเนียลมาผูกโยงกับสีหน้าท้อถอยของกุเดทามะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เจ้าไข่ขี้เกียจซื้อใจคนญี่ปุ่นไปเต็ม ๆ คือการเป็น ‘ตัวแทนความรู้สึก’
แมทธิว อัลต์ (Matthew Alt) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง AltJapan บริษัทแปลสื่อภาษาญี่ปุ่นกล่าวว่า มาสคอตในตะวันตกใช้เพื่อให้กำลังใจ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น มาสคอตใช้สำหรับเป็นสื่อกลางเพื่อแสดงความรู้สึกที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา
“เป็นเรื่องจริงที่สังคมญี่ปุ่นให้คุณค่ากับความต้องการและความคิดของคนอื่น โดยเฉพาะในที่สาธารณะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นจะไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้ ผมแค่จะบอกว่าการใช้มาสคอต อย่างกุเดทามะเป็นวิธีการแสดงออกที่ดูเหมาะสมกว่าการพูดหรือพิมพ์ นี่คือเหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นคิดค้นอิโมจิและไอคอนเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เพื่อให้บทสนทนาดูมีชีวิตชีวาขึ้น
ผมคิดว่าคุณไม่สามารถที่จะมองกุเดทามะ มาสคอตหรืออิโมจิใด ๆ แล้วบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากอารยธรรมที่ไม่มีการแสดงออกทางอารมณ์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากสังคมที่ค้นพบทางเลือกใหม่ ๆ และวิธีการที่น่าสนใจเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างหาก”
มีตอนหนึ่งของการ์ตูนเรื่องนี้ที่กุเดทามะคุยกับเจ้าไข่ตัวเล็กไม่รู้เรื่อง แต่กลับตอบรับและทำเหมือนเข้าใจที่อีกฝ่ายพูดทั้งที่ไม่ได้ยิน โดยให้เหตุผลว่า “แต่การเล่นไปตามน้ำแบบนี้ก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นไม่ใช่เหรอ ?”
หรืออีกตอนหนึ่งที่กุเดทามะกำลังแข่งเบสบอลอยู่ จู่ ๆ เขาก็วางไม้เบสบอลลง แล้วบอกว่า “ฉันไม่เหลือแรงจูงใจอะไรแล้ว บาย” พร้อมทิ้งตัวนอนราบไปกับพื้นดื้อ ๆ
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในใจใครหลายคน แต่แสดงออกมาตรง ๆ ไม่ได้ในโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะเช้าวันจันทร์ที่ไม่สามารถปิดนาฬิกาปลุกแล้วกด skip ข้ามไปวันหยุดได้ หรือตอนที่ต้องทำงานสักชิ้น (หรือหลาย ๆ ชิ้น)แล้วไม่สามารถตะโกนออกมาดัง ๆ ให้คนอื่นฟังว่า “ขี้เกียจทำโว้ย !”
ดังนั้นการทำหน้าที่เป็น ‘มาสคอตแทนใจ’ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้กุเดทามะเป็นไข่ที่ไม่หมดอายุง่าย ๆ ตั้งแต่ 2013 จนถึงทุกวันนี้ เพราะแค่ได้มองเจ้ากุเดทามะก็เหมือนมีเพื่อนที่คอยตบไหล่เบา ๆ แล้วพูดกับเราว่า
“ขี้เกียจบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก ฉันก็เกลียดวันจันทร์เหมือนกัน เฮ้อ ...”
ที่มา
https://www.youtube.com/watch?v=CTAnJTB9roI
https://eyeondesign.aiga.org/marketing-melancholy-sanrios-newest-character-is-a-sad-egg/
https://www.pri.org/stories/2016-07-31/one-japan-s-most-popular-mascots-egg-crippling-depression
https://firstwefeast.com/eat/2016/02/gudetama-lazy-egg-internet-star
https://www.sanrio.co.jp/special/characterranking/2020/en/
https://www.youtube.com/channel/UCpZqbJnB1yr3pzNgYGjWvfw
https://aratori.net/yutori-generation/#:~:text=สรุปความเปื่อย-,อะไรคือยุคคนเปื่อยของญี่ปุ่น,“เอ้อระเหย”%20หรือ%20“เรื่อยเปื่อย
https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/560234/560234.pdf&title=560234&cate=880&d=0