Sweet Home: วิกฤติสูญสิ้นมวลมนุษยชาติกับความหมายของการใช้ชีวิตเป็น ‘คน’
[บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์]
“จะยอมตายตอนเป็นคน หรือจะทนอยู่อย่างสัตว์”
สองทางเลือกที่กลายเป็นปมขัดแย้งในชีวิตของเขา…ชาฮยอนซู เด็กหนุ่มที่ป่วยเป็นฮิคิโคโมริและสูญเสียครอบครัวจากอุบัติเหตุรถยนต์ เขาย้ายมาอยู่กรีนอพาร์ตเมนต์และตั้งใจจะฆ่าตัวตายที่นี่ ทว่ากลับต้องเจอวิกฤติร้ายแรงที่ผู้คนกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดออกอาละวาดไปทั่วเมืองโดยไม่รู้สาเหตุแน่ชัด และดูเหมือนว่าตัวเขาเองก็กำลังจะกลายสภาพเป็นสัตว์ประหลาดเช่นกัน ถึงอย่างนั้น ฮยอนซูเลือกที่จะต่อสู้กับสัตว์ร้ายที่วนเวียนหลอกหลอนอยู่ข้างในความคิด และร่วมมือกับอึนฮยอกเพื่อช่วยเหลือคนในกรีนอพาร์ตเมนต์ให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้
ภาวะ “หนีตาย” สู่การตามหาความหมายของการมีชีวิต
Sweet Home ซีรีส์เกาหลีแนว apocalyptic horror สร้างจากเว็บตูนยอดนิยม ว่าด้วยเรื่องราวของวิกฤติมนุษย์ป่วยเป็นโรคร้ายและกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด เน้นถ่ายทอดผ่านมุมมองของฮยอนซูเป็นหลัก รวมทั้งสะท้อนความเป็นไปของเรื่องราวผ่านปมขัดแย้งและปูมหลังของตัวละครอื่น ๆ ในกรีนอะพาร์ตเมนต์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ร่วมสมัยของเกาหลีที่ใช้เส้นเรื่องเกี่ยวกับมหันตภัย โรคระบาด หรือภาวะสูญสิ้นแห่งมวลมนุษยชาติบอกเล่าสภาวะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยุคปัจจุบัน โดยนำมาเสนอในรูปแบบโลกเสมือนสุดเหนือจริง
หากมองเนื้อเรื่องตามสูตรสำเร็จของหนังสยองขวัญหรือเรื่องราวที่ว่าด้วยประเด็นวันสิ้นโลกทำนองนี้ แน่นอนว่าองค์ประกอบของหนังต้องนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการค้นหา “ต้นตอ” หรือสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าว…ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร จะแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร ซึ่งต่างเป็นปมขัดแย้งตามแบบฉบับของหนังหรือซีรีส์แนว survival
แต่ Sweet Home กำลังจุดประกายคำถามอีกอย่างหนึ่งที่นอกเหนือไปจากการเผชิญเหตุการณ์หนีตาย นั่นก็คือ “ทำไมเรายังอยากมีชีวิตอยู่” ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความตาย ซากศพ และการสูญเสีย…ทำไมทุกคนต่างวางแผนเอาตัวรอดจากสัตว์ประหลาดที่อยู่รอบตัวและเชื่อว่าจะมีชีวิตรอดทั้ง ๆ ที่ผู้นำประเทศที่เปรียบเหมือนที่พึ่งสุดท้ายกำลังกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดและประกาศผ่านการถ่ายทอดสดว่า ทุกคนต้องตายกันหมด…ทำไมทุกคนต่างโหยหาและพยายามใช้ชีวิตให้รอดในสภาพที่ยังเป็น “คน” ไม่อยากกลายร่างเป็นสัตว์ไปเสียก่อน
นั่นก็เพราะการเป็น “คน” หมายถึงการมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ มีเมตตา เอื้ออาทร มีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด รู้จักเจ็บปวด เสียใจ เห็นใจให้กันและกัน ไม่เหมือนกับสัตว์ที่ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ไร้มโนสำนึกผิดชอบชั่วดี แยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิด รู้เพียงว่าจะทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของตน นี่เองที่นำมาสู่บททดสอบสำรวจจิตใจของตัวละคร (หรือแม้แต่ผู้ชมซีรีส์เองด้วย) ว่าทุกวันนี้เรายังหลงเหลือความเป็น “คน” อยู่หรือเปล่า
จริง ๆ แล้ว สัตว์ประหลาดล้วนซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน
สัตว์ประหลาดคือภาพแทนมนุษย์กระทำความชั่วร้าย โหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม การนำภาวะนามธรรมมาถ่ายทอดให้มีรูปลักษณ์ชัดเจนเช่นนี้เรียกว่า motif (ทำให้สิ่งนั้นมีชีวิตหรือเคลื่อนไหวได้อย่างคน) ผู้เขียนนำเสนอความโหดร้ายในจิตใจมนุษย์ผ่านสภาวะสัตว์ประหลาด สื่อให้เห็นว่าการสูญเสียความเป็นคนเป็นอย่างไร โดยเสริมรายละเอียดของอาการป่วยตั้งแต่มีเลือดกำเดาไหล หูแว่ว ได้ยินเสียงแปลก ๆ คุณสมบัติฟื้นฟูบาดแผลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งข้อสันนิษฐานที่ว่าการกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดอาจเกิดจาก “ความโลภ” เพื่อสร้างจักรวาลสัตว์ประหลาดในโลก Sweet Home ขึ้นมา และทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนเสี่ยงกลายพันธุ์กันได้
ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนไม่ได้ละทิ้งการนำเสนอ “สัตว์ประหลาด” แบบมีนัยแฝง โดยนำมาใส่ในปูมหลังของชาฮยอนซูและพยอนซังอุค สองตัวละครหลักของเรื่อง ก่อนฮยอนซูจะกลายมาเป็นเด็กหนุ่มเก็บตัวคิดฆ่าตัวตาย เขาคือเด็กมีน้ำใจที่ชอบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้คนรอบข้าง หากแต่ความเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมีน้ำใจกลับพาให้เขายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผิดคน วันที่เขาออกปากยื่นเงินให้กับเพื่อนใหม่ที่ยืนหน้าตู้น้ำ เพราะคิดว่าเพื่อนคนนั้นมีเงินไม่พอนั้นได้นำความเลวร้ายมาสู่ในชีวิต เพื่อนร่วมชั้นที่ออกปากช่วยกลับคิดว่าฮยอนซูกำลังดูถูก และนั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้คนที่ฮยอนซูหยิบยื่นมิตรภาพให้โกรธ เกลียด และทำร้ายทำลายชีวิตเขาได้อย่างไม่รู้สึกละอาย ซ้ำกลับเห็นเป็นเรื่องสนุก
พยอนซังอุค หนุ่มลุคนักเลงหัวไม้ที่มีแผลไฟลวกบนใบหน้า เปิดตัวมาด้วยการจับตัวจองอูมยองชายหนุ่มที่พักในกรีนอพาร์ตเมนต์มาทรมานในห้องพัก ก่อนจะตัดสินใจฆ่าเขาในที่สุด เรื่องราวหลังจากนั้นได้อธิบายที่มาที่ไปและความแค้นระหว่างซังอุคกับอูมยอง เมื่อครั้งซังอุคยังเด็ก เขาต้องสูญเสียครอบครัวและเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่มีต้นเหตุมาจากการแค่เล่นสนุกของอูมยอง และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวที่เขากล่าวกับซังอุคผู้เจ็บปวดจากบาดแผลไฟไหม้และสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง โดยปราศจากคำขอโทษและความรู้สึกผิดใด ๆ แม้อูมยองจะได้รับโทษจำคุก 11 เดือน ตามความผิดที่กระทำไป แต่บทลงโทษทางกฎหมายไม่ได้ช่วยเยียวยาหรือทำให้เขาสำนึกกับการกระทำตัวเอง ซ้ำร้ายยังกลับมาก่อเหตุ จับเด็กมาทรมานสนองตอบความโหดร้ายผิดมนุษย์มนา ความเจ็บปวดจากวันวานและคำขอร้องของพ่อเด็กที่ถูกจับตัวไปนั้น ทำให้ซังอุคออกตามล่าอูมยองและพิพากษาลงโทษคนอย่างอูมยองในแบบของเขาเอง เพื่อหยุดยั้ง “สัตว์” ในร่างคนตนนี้ไม่ให้ไปทำสิ่งชั่วร้ายกับใครได้อีก
แน่นอนว่าเราต่างสัมผัสได้ถึงความเลือดเย็นที่สะท้อนผ่านเพื่อนร่วมชั้นของชาฮยอนซูและฆาตกรจองอูมยอง ตัวละครทั้งสองมีลักษณะร่วมเหมือนกันคือ “ไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี” กระทำสิ่งผิดกฎหมายหรือขัดต่อหลักบรรทัดฐานสังคมของมนุษย์ ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณดิบหรือความต้องการที่มีมาแต่เกิด ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ แยกแยะถูกผิดไม่ได้ หรือแม้แต่ไม่ได้รู้สึกละอายต่อการกระทำของตัวเอง ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพแทน “สัตว์ประหลาด” ที่ถูกนำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่ง ตอกย้ำให้เห็นว่าทุกคนต่างมีพาหะสัตว์ประหลาดติดตัวกันอยู่แล้ว
นอกจากนี้ พัฒนาการของตัวละครฮยอนซูก็ทำให้เห็นว่าพาหะ “สัตว์ประหลาด” ในตัวมนุษย์ถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนเป็นโรคร้ายออกอาละวาดได้ทุกเมื่อ เพราะสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นในการทำความดี โดยเฉพาะคนในครอบครัว ผู้เขียนนำเสนอออกมาในรูปของความคิดด้านมืดของฮยอนซูที่มักปรากฏตัวออกมายามจิตใจอ่อนแอ พูดจาล่อหลอกให้เขาตกหลุมพราง เป็นทาสของอารมณ์ ถึงอย่างนั้น จักรวาลใน Sweet Home ก็สร้างสัญญะที่ทำให้เราสังเกตเห็นสัญญาณการกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดของตัวละครได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ความเป็นจริง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า “สัตว์ประหลาด” จะกลายร่างและโผล่มาตอนไหน คนที่เราเดินผ่านหรือใช้ชีวิตด้วยกันทุกวันหรือแม้แต่ตัวเราเองจะเปลี่ยนเป็นสัตว์ร้ายเมื่อไหร่ “สัตว์ประหลาด” ใน Sweet Home จึงอธิบายภาวะความป่วยไข้ในใจคนในสังคมทุกวันนี้ได้ดีที่สุด
วิกฤติอันเป็นผลข้างเคียงจาก “ความเปราะบาง” และหัวใจที่แตกสลายของมนุษย์
“ก็เพราะโลกเป็นแบบนี้ เพราะเรายังรอดมาได้ เราต้องอยู่ให้สมกับความเป็นคนมากขึ้น”
บททดสอบสำรวจความเป็นมนุษย์อีกอย่างหนึ่งที่ซีรีส์ไม่ได้บอกกล่าวออกมาตรง ๆ ก็คือ เรารู้จักคุณค่าของการมีชีวิตอยู่หรือไม่ นอกเหนือจากมโนสำนึกที่ชี้วัดความเป็นคนในใจเราแล้ว ความรู้สึกรักตัวกลัวตายและถนอมรักษาร่างกายและจิตใจให้คงอยู่ต่อไปก็เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับเงื่อนไขกลายร่างของสัตว์ประหลาดก็คือ ตัวละครที่อยู่ในภาวะโศกเศร้า ทุกข์ใจ หรือสูญเสียอย่างหนักหน่วงมักเสี่ยงกลายพันธุ์ได้สูง เห็นได้ชัดจากฮยอนซู ซึ่งเดิมทีป่วยเป็นฮิคิโคโมริ เก็บกดจากการปฏิบัติตัวของเพื่อนในโรงเรียนและครอบครัว กระทั่งสูญเสียครอบครัวไปต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ทุกอย่างล้วนผลักตัวละครให้ดำดิ่งจมลึกไปสุดก้นบึ้งของจิตใจจนคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รักหรือความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตและกำลังจะเปลี่ยนสภาพเป็นสัตว์ประหลาด ไม่ว่าจะเป็นคุณน้าแม่ลูกอ่อนที่สูญเสียลูกน้อยจากอุบัติเหตุ ภรรยาของเจ้าของมินิมาร์ทที่ถูกสามีทำร้ายร่างกายและจิตใจมาทั้งชีวิต และ “จีซู” นักดนตรีสาวที่ต้องเผชิญเหตุการณ์สูญเสียคนสำคัญในชีวิตไปถึงสองครั้งด้วยกัน
สิ่งเหล่านี้ต่างบอกเราว่าการมีชีวิตอยู่อย่างไร้พลังใจก็เหมือนได้ตายไปจาก “ชีวิต” ที่มีอยู่แล้วครึ่งหนึ่ง เพราะความสูญเสียได้พลัดพรากพลังในการใช้ชีวิตนั้นให้หายไป ย่ำยีหัวใจมนุษย์ให้แหลกสลาย หากปล่อยไว้นานก็พาลกัดกร่อนความรู้สึกรักตัวกลัวตายให้หายไปเรื่อย ๆ ถึงอย่างนั้น ก่อนถึงช่วงเวลาที่ความเปราะบางนั้นจะกลืนกินความเป็นคนจนต้องกลายร่างเป็นสัตว์ ฮยอนซูเฝ้าต่อสู้กับความคิดด้านมืดที่ปรากฏขึ้นมาเสมอ นับตั้งแต่วินาทีที่เขาตั้งใจช่วยชีวิตสองพี่น้องซูยองและยองซู ตลอดจนยอมเสี่ยงตายตามแผนอึนฮยอก เพื่อช่วยให้ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ในกรีนอะพาร์ตเมนต์รอดปลอดภัย นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฮยอนซูยังประคองสติตัวเอง อดทนไม่กลายร่างไปเสียก่อน
หากกลับมามองในโลกความเป็นจริง หลายคนก็คงเคยจมดิ่งอยู่ในห้วงความรู้สึกว่างเปล่า เศร้าใจ และหมดแรงใช้ชีวิตเพราะเจอเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกเราอย่างรวดเร็ว ทั้งภัยธรรมชาติ ความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์ ระบบโครงสร้างสังคมที่กดทับผู้คน หรือภาวะโรคระบาดที่ยากจะควบคุม ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนไม่น้อย ไม่แปลกเลยที่เรามักเห็นประเด็น burn out หรือได้ยินข่าวและสถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเสมอ การดูแลประคับประคองจิตใจคนรอบข้างให้ผ่านช่วงวิกฤติที่ประสบร่วมกัน (ดังเช่นภาวะคนกลายเป็นสัตว์ใน Sweet Home) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาจิตใจเบื้องต้น เพราะการทำความเข้าใจหรือรู้จักมี empathy แก่กันจะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตคนให้เป็นคนมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็แค่ได้แสดงออกมาว่าเราเจ็บปวดบ้างเหมือนอย่างที่อึนยูบอกให้ฮยอนซูระบายออกมา เพื่อให้คนอื่นเห็นคุณค่าและมองฮยอนซูเป็น “มนุษย์” คนหนึ่งเหมือนกัน
Sweet Home ความโหยหาที่พักพิงใจในยามเหนื่อยล้า
“แม้แต่ความมืดมิดที่มืดมนที่สุดก็ยังสลายไปด้วยแสงที่เลือนลางที่สุด”
หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการสื่อสารออกมาก็คือ “ความหวัง” เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตคนเรา ไม่ว่าปัญหาหรือวิกฤติที่เจอจะดูอับจนหนทาง ไม่อาจหาวิธีแก้ไขได้ในทันที แต่ถ้า “โอกาส” ปรากฏขึ้นมาสักครั้งแม้มันจะดูริบหรี่ ก็อาจช่วยต่อ “ลมหายใจ” ของชีวิตให้ฟื้นคืนกลับมาได้
ท่ามกลางสถานการณ์โหดร้ายและบรรยากาศซึมเซาตึงเครียดภายในกรีนอะพาร์ตเมนต์ เสียงเกลาทำนองกีตาร์ของจีซูกลับทำให้ฮยอนซูรู้สึกคิดถึง “บ้าน” จนเอ่ยขึ้นมาว่าเขาจำเพลงนี้ได้ เพลงนี้ชื่อ Sweet Home ทั้งที่จริงแล้วจีซูอิมโพรไวส์ท่วงทำนองไปตามอารมณ์ของเธอเท่านั้น และเพลงที่ว่าก็ไม่มีอยู่จริง ช่วงเวลาสั้น ๆ ของฉากนี้สะท้อนให้เห็นว่า ลึก ๆ แล้ว คนเราต่างโหยหาที่พักพิงใจยามเหนื่อยล้าอยู่เสมอ ไม่ว่าสิ่งที่เฝ้าหานั้นจะเป็นเพียงความทรงจำในวันวาน เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในความจริง หรือแม้แต่เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าอมนุษย์อย่างฮยอนซูจะเข้าถึงความรู้สึกในแบบมนุษย์ปกติได้ก็ตาม
การสร้าง irony กับชื่อเรื่องก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ใช้สื่อถึงความโหยหาที่พักพิงใจของผู้คนให้ชัดเจนขึ้น คงไม่มีใครคาดคิดว่าชื่อ Sweet Home จะจัดเป็นซีรีส์สยองขวัญที่เล่นประเด็นวิกฤติมวลมนุษยชาติได้ กรีนอะพาร์ตเมนต์ที่เป็นฉากหลักของเรื่อง ก็ให้ภาพตึกสูงทรุดโทรมบรรยากาศอึมครึม ดูห่างไกลจากภาพบ้านในฝันอันแสนหวานที่เราคิดไว้เมื่อได้ยินชื่อเรื่อง หากเจาะประเด็นชื่อสถานที่ดำเนินเรื่องอย่าง “กรีนอะพาร์ตเมนต์” ก็ยิ่งเห็นความย้อนแย้งของชื่อสถานที่กับบรรยากาศ ทั้งในแง่ของความอุดมสมบูรณ์แบบพื้นที่สีเขียวหรือการเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สินตามแบบกรีนโซน (เพราะกรีนอะพาร์ตเมนต์เต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดที่ออกอาละวาดตามชั้นต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากการกลายพันธุ์ของโรคระบาด)
ที่สำคัญ คนที่อาศัยอยู่ที่นี่มักมีปูมหลังหรือสัมพันธภาพกับครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งฮยอนซูที่เกิดอคติและสูญเสียครอบครัว จีซูที่เห็นแฟนเก่าผูกคอตาย อึนฮยอกและอึนยูที่เสียพ่อแม่จากเหตุการณ์ไฟไหม้และบาดหมางใจกันอยู่ลึก ๆ และอีกหลากหลายตัวละครที่รอให้ผู้ชมได้ไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจที่มาที่ไปกันตลอดเรื่อง กรีนอะพาร์ตเมนต์จึงเป็นเหมือนแหล่งรวมผู้คนบ้านแตกที่มาอยู่อาศัยในแต่ละห้อง พร้อมแบกรับเรื่องราวความเจ็บปวดเก็บไว้ข้างในจนกว่าจะถึงจุดที่ทนไม่ไหวสักวัน ถึงอย่างนั้น ทุกคนก็ยังแอบหวังว่า “ความโชคดี” จะเกิดขึ้นสักครั้งท่ามกลางการเผชิญความร้าวรานฝังใจในชีวิตและสถานการณ์หนีตายตรงหน้า
ทั้งหมดนี้ พอจะหาเหตุผลมาตอบคำถามข้างต้นได้ว่าทำไมทุกคนพยายามใช้ชีวิตให้รอดในแบบที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ นี่คงเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ apocalyptic horror ที่ถ่ายทอดวิกฤติมวลมนุษยชาติแตกต่างไปจากเดิม Sweet Home ไม่ได้มุ่งเน้นว่าเราจะหาวิธีเอาตัวรอดอย่างไรเมื่อประสบวิกฤติดังกล่าว แต่พุ่งประเด็นว่าทำไมเราต้องมีชีวิตอยู่ต่อต่างหาก เพราะการตามหาเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ยากยิ่งกว่าการเอาชีวิตรอด
เรื่อง: ปิยวรรณ เฉลิมฉัตรวณิช