ผมรู้จักชื่อ ‘พายุหินกูรู’ ครั้งแรกสมัยยังเป็นนักศึกษาสำนักท่าพระจันทร์ ช่วงปี 2529-2530 ตอนนั้น Quiet Storm เป็นนิตยสารดนตรีแจกฟรี ที่คนรักเสียงดนตรีต้องอ่านและติดตาม
ยิ่งดนตรีในสายร็อกและเฮฟวีเมทัล ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ด้วยสำนวนยียวนกวนบาทาของ พายุหินกูรู บ่งบอกถึงวิถีดิบห่าม ประกาศความเป็นเอาต์ลอว์อย่างเด่นชัดในอัตลักษณ์
ในด้านหนึ่งนั้น เพราะ พายุหินกูรู รับอิทธิพลสไตล์การเขียนจากพญาอินทรีแห่งวงการวรรณกรรม ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มาแบบเต็ม ๆ โดยน้อมรับว่า ’รงค์ คือครูแห่งโลกของงานเขียนโดยดุษณี
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาสมาทานดีเอ็นเอความเป็นร็อกเกอร์อันบ้าบิ่นและเดือดคลั่งมาจากศิลปินร็อกทั้งหลาย เคี่ยวกรำจนเป็นบุคลิกภาพเฉพาะของตนเอง ทั้งเสียงร้องระเบิดอารมณ์ เสียงดิสทอร์ชันกีตาร์แสบแก้วหูทะลุก้านสมอง หรือจะเป็นการลั่นกลองทอมที่กระชั้นเร่งเร้าประหนึ่งกำลังจะถึงจุดไคลแม็กซ์
ทั้งหมดนี้ พายุหินกูรู ถ่ายทอดภาพของประติมากรรมแห่งเสียงอันสาดซัดเซ็งแซ่เหล่านั้น ออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างแยบยล
จากโลกตัวอักษร ผมมาเจอตัวเป็น ๆ ของ อารี แท่นคำ AKA พายุหินกูรู เมื่อตอนที่กองบรรณาธิการ จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทาบทามเขามารับผิดชอบเป็นบรรณาธิการเซ็กชันจุดประกายวรรณกรรม ช่วงปี 2536 นอกจากดูแลเนื้อหาวรรณกรรมและแวดวงหนังสือแล้ว อารียังช่วยเขียนคอลัมน์ดนตรีร็อกตามแนวถนัด ขณะที่ผมเขียนเรื่องราวของดนตรีแจ๊สเป็นหลัก
แน่นอนทีเดียวว่า ด้วยสำนวนภาษาดิบห่ามของอารี ได้สร้างสีสันแปลกใหม่ให้แก่หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับนี้ในบัดดล เมื่อพลิกจากเซ็กชันการเมืองและธุรกิจ คุ้นเคยกับภาษาหุ้นและการลงทุน คุณจะได้ก้าวออกมาสู่โลกอีกด้าน ด้วยภาษาของร็อกเกอร์ที่อาจจะอารัมภบทแบบสำรอกออกมาทำนองว่า
“วันนั้น อากาศช่างร้อนนัก ร้อนจนเหงื่อผุดทุกรูขุมขน ร้อนระยำอย่างไม่ปรานี จนเหงื่อออกที่หำและ…” !
นั่นคือลีลาภาษาที่ใช้ในการถ่ายทอดมุมมองและอารมณ์ความรู้สึก แต่ตัวตนของ อารี แท่นคำ ที่น้อง ๆ เรียกกันอย่างรักใคร่ชอบพอว่า ‘พี่อารี’ นั้น โดยแท้แล้ว เขาคือฤษีในเสื้อคลุมของซาตาน อารี แท่นคำ คือสุภาพบุรุษที่มีความเป็นกันเอง มีน้ำใจไมตรี มีเมตตา และเก็บอัตตาที่คนยุคนี้ชอบโชว์พราวด์เอาไว้ด้วยวิถีความถ่อมตน
พวกเราชาวจุดประกายยุคนั้นใช้ชีวิตรวมหมู่ บางคืนเที่ยวกันยันสว่าง มีปาร์ตี้กันสม่ำเสมอ พี่อารีมีรถขับ มักอาสาพาน้อง ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ในกองบรรณาธิการไปเที่ยวที่นั่นที่นี่เสมอ ครั้งหนึ่งไปเชียงใหม่ รถเกิดอุบัติเหตุวิ่งตกเขาเพราะอาการเบรกแตก แต่อาศัยความสุขุมทำให้คนขับประคองรถให้หยุดได้อย่างปลอดภัย
ด้วยหน้าที่การงานเปลี่ยนไป การเมืองเปลี่ยนไป และภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป แต่ อารี แท่นคำ เป็นพี่ชายของผมเสมอ ตอนทำสื่อออนไลน์ The People ผมชวนพี่อารีมาช่วยเขียนถึงผู้คนในแวดวงดนตรีทั้งไทยและเทศ โดยมี แหลม มอร์ริสัน เป็นงานมาสเตอร์พีซชิ้นท้าย ๆ ก่อนที่จะมีปัญหาสุขภาพเมื่อช่วงกลางปี 2563 จนต้องยุติงานเขียนลงในที่สุด
ผมได้แต่ภาวนาว่า การเดินทางครั้งต่อไปจากภพนี้ อารี แท่นคำ AKA พายุหินกูรู จะได้พบกับเหล่าร็อกเกอร์ที่เดินทางไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น จิมี เฮนดริกซ์, เจนิส จอพลิน, จิม มอร์ริสัน, ซี้ด แบร์เรทท์, มาร์วิน เกย์, บ๊อบ มาร์ลีย์, สตีวี เรย์ วอห์น, เคิร์ต โคเบน และอื่น ๆ อีกมากมาย
ขอให้สนุกสุขสมกับปาร์ตี้ดนตรีที่นั่น, บ๊ายบาย
เรื่อง อนันต์ ลือประดิษฐ์