นีล อาร์มสตรอง: ชายผู้แบกความฝันโครงการ 175,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อพาอเมริกาไปเหยียบดวงจันทร์

นีล อาร์มสตรอง: ชายผู้แบกความฝันโครงการ 175,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อพาอเมริกาไปเหยียบดวงจันทร์
หากถามว่างบจำนวนมหาศาลที่องค์การนาซาใช้ส่งมนุษย์ชุดแรกขึ้นไปยืนบนดวงจันทร์คุ้มค่าแค่ไหน เรื่องนี้อาจถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่ที่ไม่ต้องเถียงกันนั่นคือ เงินมหาศาลก้อนนั้นทำให้ชายชื่อ นีล อาร์มสตรอง ได้รับการบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนของอเมริกันและมนุษยชาติผู้ฝากรอยเท้าแรกบนดวงจันทร์   หากถามต่อว่า แล้วทำไมต้องเป็น นีล อาร์มสตรอง? คำตอบง่าย ๆ อยู่ที่ประวัติของชายผู้นี้   นีล อาร์มสตรอง หรือชื่อเต็ม นีล อัลเดน อาร์มสตรอง เกิดวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อ วาปาโคเนตา ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา   เขาเป็นพี่ชายคนโตของพี่น้องทั้งหมด 3 คน บิดาทำงานเป็นผู้สอบบัญชีของรัฐบาล ทำให้ครอบครัวต้องเดินทางบ่อย และประสบการณ์ได้นั่งเครื่องบินครั้งแรกในวัย 6 ขวบ ทำให้หนูน้อยนีล หลงใหลคลั่งไคล้การบินและอวกาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   ขับเครื่องบินได้ก่อนขับรถ เจมส์ แฮนเซน อาจารย์ประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือบอกเล่าชีวิตของ นีล อาร์มสตรอง ชื่อ First Man: The Life of Neil A. Armstrong ซึ่งต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด เล่าว่า นีลในวัยเด็กชอบเครื่องบินมากถึงขั้นเคยขอให้แม่ซื้อโมเดลเครื่องบินไม้จำลองมาต่อเองที่บ้าน ก่อนพัฒนาไปเป็นเครื่องบินแบบใช้น้ำมัน   เขามักชวนน้อง ๆ มาช่วยทดลองร่อนเครื่องบินจากหน้าต่างบ้านชั้นบนลงมาข้างล่างเพื่อดูว่าเครื่องรุ่นไหนบินไกล และลงจอดได้ตรงเป้าหมายกว่ากัน โดยทำวิจัยอย่างจริงจังตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ ก่อนครอบครัวส่งเข้าคอร์สฝึกบินจริง และเรียนจบได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินในวันเกิดอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์พอดี   “เขาจัดอยู่ในกลุ่มวิศวกรต้นแบบ (Proto-engineer) ตั้งแต่เด็ก และแน่นอน เขาได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินในวันเกิดอายุ 16 ปี ตั้งแต่ยังขับรถยนต์ไม่เป็น หรือยังไม่เคยลองขับรถเลยด้วยซ้ำ เขาขับเครื่องบินแล้ว” แฮนเซน กล่าว   หลังจบไฮสกูล นีลเดินตามความฝันด้วยการเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู แต่ยังไม่ทันเรียนจบก็ถูกเรียกเข้าค่าย ไปเป็นทหารในตำแหน่งนักบินกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำให้ได้ติดปีกนักบินรบตั้งแต่อายุ 20 ปี นับเป็นนักบินอายุน้อยที่สุดของรุ่น   ร่วมรบสงครามเกาหลี ปี 1950 นีล อาร์มสตรอง ถูกส่งไปรบในสงครามเกาหลี เขาออกบินในภารกิจโจมตีข้าศึกรวมทั้งหมด 78 ครั้ง และเคยถูกยิงตก 1 ครั้ง แต่สามารถเอาชีวิตรอดกลับมาได้ ทำให้ได้รับเหรียญกล้าหาญถึง 3 รางวัล หนึ่งในนั้นรวมถึงเหรียญ Korean Service Medal สำหรับภารกิจเสี่ยงตายในคาบสมุทรเกาหลี   นีล อาร์มสตรอง ถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ ก่อนสงครามเกาหลีจะยุติ ทำให้เขาได้กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีในปี 1955 จากนั้นจึงเข้าทำงานกับองค์การนาซา หรือชื่อเดิมในเวลานั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบินอวกาศแห่งชาติ (NACA) โดยรับหน้าที่เป็นนักบินทดลองเครื่อง ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายและเสี่ยงตายมาก   อย่างไรก็ตาม หน้าที่ดังกล่าวทำให้เขามีโอกาสทดสอบอากาศยานต้นแบบรุ่นใหม่กว่า 50 แบบ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องร่อน แถมยังสะสมชั่วโมงบินได้มากถึง 2,450 ชั่วโมง โดยหนึ่งในผลงานชิ้นเอก คือ การทดลองขับเครื่องบินจรวดเอ็กซ์-15 ทำความเร็วเหนือเสียงได้มากกว่า 5 เท่า (5.74 มัค) ที่ความสูง 63,198 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล    เรียกได้ว่า High risk, high return ยิ่งเสี่ยงมากก็ยิ่งได้ประสบการณ์สูงจนกลายเป็นนักบินระดับแถวหน้าของอเมริกา และนาซาต้องดึงตัวเข้าร่วมภารกิจตะลุยอวกาศ หลังประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐฯ ประกาศแผนส่งมนุษย์อวกาศคนแรกขึ้นไปบนดวงจันทร์ เพื่อแข่งขันกับสหภาพโซเวียต ในยุคสงครามเย็น ปี 1962   ฝากรอยเท้าบนดวงจันทร์ นาซาก่อตั้งโครงการอะพอลโลขึ้นเพื่อทดลองส่งจรวดสู่ดวงจันทร์แบบเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งถึงภารกิจที่ 11 จึงได้ฤกษ์ส่งมนุษย์ชุดแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ โดยมี นีล อาร์มสตรอง ทำหน้าที่เป็นนักบินผู้ควบคุม หรือกัปตันยานอะพอลโล 11 พร้อมลูกเรืออีก 2 คน คือ เอ็ดวิน (บัซ) อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์   “นั่นคือก้าวเล็ก ๆ เพียงหนึ่งก้าวของชายคนหนึ่ง ที่เป็นก้าวกระโดดก้าวใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” นีล อาร์มสตรอง ในวัยย่าง 39 ปี พูดประโยคแรกขณะก้าวเท้าซ้ายเท้าแรกลงจากยานโมดูล ‘อีเกิล’ ประทับบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยฝุ่นหนา และประโยคนั้นก็กลายเป็นคำพูดในตำนานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน   นีล อาร์มสตรอง ก้าวเท้าแรกสัมผัสผิวดวงจันทร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 หรือ 7 ปีหลังจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเริ่มต้นภารกิจนี้ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน   นีล และบัซ อัลดริน ใช้เวลาอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ ทั้งปักธงชาติสหรัฐฯ ถ่ายรูป และเก็บตัวอย่างหินที่นั่นกลับมา นาน 21 ชั่วโมง 36 นาที ก่อนทั้งคู่จะบินกลับยานแม่ซึ่งมี ไมเคิล คอลลินส์ คอยเฝ้าอยู่ที่วงโคจรของดวงจันทร์ และทั้งสามจึงเดินทางกลับโลกพร้อมกันโดยสวัสดิภาพ   นิกสันเตรียมไว้อาลัย ว่ากันว่า แม้นาซาจะทดลองจนแน่ใจแล้วเพียงใด แต่ภารกิจเหยียบดวงจันทร์ก็ยังอันตรายและไม่แน่นอน ถึงขั้นที่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจในวันนั้น ต้องเตรียมสุนทรพจน์ไว้ 2 ชุด เผื่อไว้กล่าวสำหรับภารกิจทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว   “โชคชะตาลิขิตแล้วว่า บุรุษผู้เดินทางไปดวงจันทร์เพื่อสำรวจอวกาศ จะยังคงอยู่บนดวงจันทร์ดวงนั้นจนไปสู่สุขคติ” สุนทรพจน์ของผู้นำสหรัฐฯ ที่เตรียมไว้แต่ไม่ได้ใช้ระบุ    “บุรุษผู้กล้าเหล่านี้ นีล อาร์มสตรอง และเอ็ดวิน อัลดริน รู้ดีว่าภารกิจช่วยชีวิตพวกเขากลับมานั้นไม่มีความหวัง แต่พวกเขาก็รู้ว่า มวลมนุษยชาติยังมีความหวังจากการสละชีพของเขาครั้งนี้”   หลังภารกิจจบลงโดยประธานาธิบดีนิกสันไม่ได้กล่าวประโยคข้างบน นีล อาร์มสตรอง เข้าเรียนต่อจนจบปริญญาโท สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย และทำงานเป็นผู้บริหารองค์การนาซา จนถึงปี 1971 จึงลาออกและผันตัวไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในบ้านเกิด   หลังออกจากนาซา นีล อาร์มสตรอง เก็บตัวเงียบ และไม่ค่อยออกสื่อ แต่ยังคงรับงานสอนหนังสือ และเป็นที่ปรึกษาให้หลายบริษัท โดยชีวิตส่วนตัว เขาแต่งงาน 2 ครั้ง (เจเน็ต, แคโรล) และมีลูกทั้งหมด 3 คน (แคเรน, อีริค, มาร์ค)   นีล อาร์มสตรอง เสียชีวิตในวัย 82 ปี จากภาวะแทรกซ้อนหลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2012   ปิดฉากโครงการ 25,000 ล้านเหรียญฯ แม้ภารกิจส่งมนุษย์คนแรกไปยืนบนดวงจันทร์จะจบลงอย่างสวยงาม แต่นาซาก็ไม่ได้หยุดโครงการไว้แค่อะพอลโล 11 เท่านั้น นาซาเดินหน้าโครงการอะพอลโล และส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ต่อจนถึงอะพอลโล 17 ก่อนปิดฉากโครงการด้วยการหันไปจับมือกับสหภาพโซเวียตสำรวจอวกาศร่วมกัน   สำหรับงบทั้งหมดที่นาซาใช้ไปกับโครงการอะพอลโล อยู่ที่ราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (750,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็นมูลค่ายุคปัจจุบันประมาณ 175,000 ล้านดอลลาร์ (5,250,000 ล้านบาท) โดยส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้ทั้งหมด 12 คน   ย้อนกลับมาที่คำถามว่า โครงการอะพอลโลคุ้มค่าหรือไม่?   จากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันในยุคนั้นพบว่า เสียงส่วนใหญ่คัดค้านการทุ่มงบมหาศาลไปกับภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โดยเฉพาะหลังเกิดโศกนาฏกรรมกับยานอะพอลโล 1 และความผิดพลาดของภารกิจอะพอลโล 13   มีเพียงครั้งเดียวที่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการนี้ คือ หลังอะพอลโล 11 พานีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์คนแรกขึ้นไปยืนบนดวงจันทร์ แม้ก่อนหน้านั้นโครงการจะใช้งบแต่ละปีสูงสุดเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (90,000 ล้านบาท) ต่อปี (ยานโมดูลลงจอดบนดวงจันทร์ 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ชุดนักบินอวกาศชุดละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ)   ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า ความคุ้มค่าของคนส่วนใหญ่อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งในแง่เหตุผลและอารมณ์    แต่ที่แน่ ๆ ก้าวเล็ก ๆ ของ นีล อาร์มสตรอง คือก้าวสำคัญบนเส้นทางประวัติศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ เป็นก้าวของเด็กที่หลงรักท้องฟ้า และไม่ยอมหยุดพัฒนาเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ เป็นก้าวที่จุดประกายแรงบันดาลใจให้มนุษยชาติ รับรู้ถึงพลังอำนาจอันมหาศาลของก้าวเล็ก ๆ เพียงก้าวเดียว   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nasa.gov/centers/glenn/about/bios/neilabio.html https://www.britannica.com/biography/Neil-Armstrong https://www.britannica.com/science/Apollo-space-program https://www.space.com/15519-neil-armstrong-man-moon.html https://www.nbcnews.com/mach/science/first-man-writer-tells-what-neil-armstrong https://history.nasa.gov/SP-4029/Apollo_18-16_Apollo_Program_Budget_Appropriations.htm https://money.com/apollo-11-moon-mission-cost/ https://www.bbc.com/future/article/20190712-apollo-in-50-numbers-the-cost https://www.thoughtco.com/neil-armstrong-p2-3072206