สแตนลีย์ มิลแกรม : ทำไมบางคนกล้าทำเรื่องเลวร้ายเพียงเพราะ ‘นายสั่งมา’

สแตนลีย์ มิลแกรม : ทำไมบางคนกล้าทำเรื่องเลวร้ายเพียงเพราะ ‘นายสั่งมา’
“ผมแค่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา” 
  นี่คือข้อกล่าวอ้างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านของ อ็อทโท อาด็อล์ฟ ไอช์มัน (Otto Adolf Eichmann) ทหารนาซีเยอรมันระดับสูง ระหว่างการพิพากษาให้ถูกประหารชีวิต หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน เริ่มตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้แค่ไหนที่ไอช์แมน และผู้สมรู้ร่วมคิดนับล้านของเขาในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ (Holocaust) จะสังหารชาวยิวได้อย่างโหดเหี้ยมเพียงเพราะทำตามคำสั่ง ?”  การค้นหาคำตอบของข้อสงสัยนี้ นำมาสู่ ‘การทดลองของมิลแกรม หรือ Milgram Experiment’ กรณีศึกษาอันเลื่องชื่อในแวดวงจิตวิทยาที่ใช้อธิบายการทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ หรือผู้บังคับบัญชาในเวลาต่อมา   จุดชนวนการค้นหาเบื้องหลังความโหดร้าย สแตนลีย์ มิลแกรม เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวยิว ในมหานครนิวยอร์กช่วงปี ค.ศ. 1933 เขาคือเด็กฉลาดที่จบมัธยมฯ เร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่ความสนใจด้านจิตวิทยาของมิลแกรม เพิ่งเริ่มต้นหลังสำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ระดับปริญญาตรีจากควีนส์คอลเลจ (Queens College) ในปี ค.ศ. 1954  มิลแกรมเคยถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อด้านจิตวิทยา เพราะช่วงที่ยังเรียนปริญญาตรีเขาไม่เคยลงเรียนในหมวดจิตวิทยาเลยสักครั้ง แต่ด้วยความขวนขวายและความพยายาม ในที่สุดเขาก็สามารถเข้าเรียนและได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาจิตวิทยาสังคม ในปี ค.ศ. 1960   ระหว่างนั้น มิลแกรมมีโอกาสเป็นผู้ช่วยของโซโลมอน แอช (Solomon Ash) นักจิตวิทยาผู้ทำการทดลองเรื่องการคล้อยตามกันในสังคม (conformity)  เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจและอยากศึกษาด้านนี้ต่อ จนกระทั่งเข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มิลแกรมได้สานต่อความสนใจของตนเอง หลังจากรับรู้เหตุการณ์พิพากษาคดีของ อ็อทโท อาด็อล์ฟ ไอช์มัน (Otto Adolf Eichmann) เรียกได้ว่าการทดลองนี้เริ่มมาจากชนวนความสนใจด้านจิตวิทยา และถูกจุดประกายขึ้นมาจากประเด็นทางสังคมเลยก็ว่าได้   เริ่มการทดลองช็อตไฟฟ้า ในปี ค.ศ. 1961 มิลแกรมประกาศหาอาสาสมัครชาย 40 คน โดยอ้างว่าเป็นการทดลองของมหาวิทยาลัยเยลเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งอาสาสมัครจะได้ค่าตอบแทนสำหรับการทดลองในครั้งนี้  มิลแกรมเริ่มจากการจับฉลากสุ่มว่าใครจะได้เป็น ‘คุณครู’ และใครจะได้เป็น ‘ผู้เรียน’ ซึ่งเบื้องหลังคือการจัดฉากไว้อย่างตั้งใจให้ผู้เข้าร่วมทั้ง 40 คนเป็นครู ส่วนผู้เรียนคือหน้าม้าที่มาจากทีมงานของมิลแกรมเอง โดยเงื่อนไขของการทดลองนี้คือ ผู้ที่รับบทบาทเป็น ‘ครู’ จะอยู่คนละห้องกับ ‘ผู้เรียน’  หากผู้เรียนตอบคำถามผิด ครูจะต้องกดสวิตช์เพื่อช็อตไฟฟ้าซึ่งมีตั้งแต่ 15 โวลต์ (ช็อตเล็กน้อยไม่เป็นอันตราย) ไปจนถึง 450 โวลต์ (ระดับรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต) และจะต้องกดเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ตอบผิด อย่างไรก็ตาม การช็อตไฟฟ้าดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ผู้เรียน หรือหน้าม้าจะตั้งใจตอบผิดและทำทีเป็นร้องแสดงความเจ็บปวดให้เหล่าอาสาสมัครได้ยิน  แน่นอนว่าอาสาสมัครหลายคนมีท่าทีกังวล เคร่งเครียด หันมาถามทีมงานที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่าควรทำต่อไปไหม ขอยุติการทดลองได้หรือไม่ แต่ทีมงานผู้ควบคุมการทดลองจะคอยอธิบายว่า ทุกอย่างอยู่ในความรับผิดชอบของพวกเขา อาสาสมัครแค่ได้รับมอบหมายให้ทำตาม และยังคงยืนยันหนักแน่นว่า “คุณต้องช็อตต่อไป คุณไม่มีทางเลือก”  งานวิจัยนี้มิลแกรมต้องการศึกษาว่า ผู้คนจะถลำลึกไปได้ไกลแค่ไหน หากคำสั่งนั้นเกี่ยวข้องกับการ ‘ทำร้ายผู้อื่น’ และจะเป็นเช่นเดียวกับชาวนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่  คำตอบที่น่าสลดใจ คือมีอาสาสมัครที่กล้ากดช็อตไปถึงระดับ 450 โวลต์ตามคำสั่งของทีมงานถึง 65%   คำอธิบายเรื่องนายสั่งมา ผลการทดลองที่เกินคาดนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนธรรมดามักจะทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจถึงขนาดฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ หากพวกเขายอมรับว่าอำนาจของตนถูกต้องตามศีลธรรมหรือเป็นไปตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการทดลองของมิลแกรมที่พวกเขาเชื่อว่าตัวเองกำลัง ‘ทำหน้าที่และทำสิ่งที่ถูกต้อง’ เพื่อการทดลองที่มีประโยชน์ในอนาคต อีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาคิดว่าตนเองมีความชอบธรรมในการทำร้ายผู้อื่น อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือความรู้สึกว่า ‘ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง’ เห็นได้จากหลักฐานบางประการของมิลแกรม เช่น เมื่ออาสาสมัครได้รับการเตือนว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง แทบไม่มีใครเชื่อฟังทีมงานผู้ควบคุมการทดลอง ตรงข้ามกับอาสาสมัครที่ยอมทำตามคำสั่ง หากทีมงานบอกว่าจะรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นทั้งหมด นอกจากนี้มิลแกรมยังได้ทำการทดลองโดยใส่ตัวแปรอื่น ๆ เข้าไป ซึ่งพบว่ามีปัจจัยนอกเหนือจากอำนาจในฐานะ ‘ผู้ควบคุมการทดลอง’ เช่น การใส่เสื้อกาวน์ที่ดูภูมิฐาน ส่งผลให้คนทำตามคำสั่งมากกว่าการสวมชุดธรรมดา ห้องทดลองที่ดูทันสมัยทำให้ผู้เข้าร่วมเชื่อฟังคำสั่งมากกว่าเมื่อเทียบกับห้องเก่า ๆ  หรือการอยู่ใกล้กับ ‘ผู้เรียน’ ซึ่งได้ยินและมองเห็นภาพความทรมาน (ที่เป็นการจัดฉาก) อย่างชัดเจน จะทำให้อาสาสมัครเชื่อฟังน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับการแยกไปอยู่คนละห้อง แม้การทดลองของมิลแกรมจะโด่งดังและเป็นที่กล่าวขานในวงการจิตวิทยา อีกทั้งมีผู้ทำการทดลองซ้ำในลักษณะเดียวกัน และได้ผลเหมือนกัน แต่ก็มีช่องว่างและข้อถกเถียงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้ชายทั้งหมด ทำให้ไม่มีความหลากหลาย และจำนวนของอาสาสมัครชวนให้ตั้งคำถามว่าเป็นตัวแทนประชากรทั้งโลกได้หรือไม่ อีกทั้งในชีวิตจริงที่ยังมีเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนมากกว่าการสั่งให้ช็อตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  นอกจากนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่จริยธรรมถึงสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมการทดลองที่ถูกบังคับให้อยู่ภายใต้ความกดดัน ความเครียด และความรู้สึกว่ากำลังทำร้ายคนอื่นอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวว่าทั้งหมดนั้นคือ ‘การจัดฉาก’  สแตนลีย์ มิลแกรม จึงนับเป็นนักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาและค้นหาคำตอบของด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ว่าเกิดจากตัวของบุคคลนั้นเอง หรือระบบที่บีบบังคับให้เกิดการกระทำอันเลวร้าย และสิ่งเหล่านี้ยังเป็นประเด็นคลาสสิกที่ถูกพูดถึงและหาคำตอบเรื่อยมา    การทดลองของสแตนลีย์ มิลแกรม จึงทิ้งไว้ทั้งคำตอบหนึ่งที่ ‘เป็นไปได้’ ของคำถาม ‘ทำไมคนกล้าทำเรื่องเลวร้ายเพียงเพราะนายสั่งมา’ ขณะเดียวกันมิลแกรมเองก็ได้ทิ้งคำถามที่น่าสนใจและน่าค้นหายิ่งไปกว่านั้นว่า ‘อะไรที่ทำให้คนอีก 35% ในการทดลองนี้เลือกที่จะไม่ทำตาม และกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงคำสั่งที่ตัวเองได้รับมา’   ที่มา https://www.verywellmind.com/the-milgram-obedience-experiment-2795243 https://www.verywellmind.com/stanley-milgram-biography-2795532 https://www.simplypsychology.org/milgram.html http://behavioralscientist.org/how-would-people-behave-in-milgrams-experiment-today/