เลดี้ กาก้า: “...ฉันมาจากนิวยอร์ก ฉันจะฆ่าให้เรียบเพื่อให้ได้สิ่งที่ฉันต้องการ”
ก่อนที่เราจะได้เห็น...เธอร้องเพลงชาติในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2021 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คใหญ่ของชีวิตคนคนหนึ่งในฐานะพลเมืองอเมริกัน
ก่อนที่เราจะได้เห็น...เธอร้องเพลงชาติในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของชาวอเมริกัน หรือการแข่ง ‘ซูเปอร์โบวล์’ ในปี 2016 และอีกครั้ง เธอได้กลับมาเวทีนี้ ในการแสดงพักครึ่งเวลาของการแข่งขันเมื่อปี 2017
ก่อนที่เราจะได้เห็น...เธอกับอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก กับการร้องเพลง Til It Happens to You ในงานประกาศผลรางวัล ‘อคาเดมี อวอร์ดส์’ ครั้งที่ 88 ในปี 2016 ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดี The Hunting Ground สารคดีที่พูดถึงเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาในอเมริกาซึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยตกเป็น ‘เหยื่อ’ ในเหตุการณ์นี้)
ก่อนที่เราจะได้เห็น...ภาพลักษณ์การแต่งตัวเหนือจินตนาการของเธอ โดยเฉพาะกับรองเท้าบูต Alxander McQueen สุดล้ำในเอ็มวีเพลง Bad Romance หนึ่งในเพลงที่ทำให้หลายคนรู้จักและโอบรับเธอ เมื่อปี 2009
เมื่อปี 2005 สเตฟานี โจแอนน์ แอนเจลินา เจอร์มาน็อตต้า เด็กสาวคนนี้เคยเดิมพันครั้งใหญ่ในชีวิตกับพ่อของตัวเอง ด้วยการลาออกจากโรงเรียนศิลปะทิสช์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
ในตอนนั้นเธอไม่อยากจะเรียนต่อ เธออยากเพียงใช้เวลากับดนตรี อยากเรียนรู้ชีวิต และอยากตามความฝันของตัวเองในเส้นทางดนตรี
แน่นอนว่าพ่อของเธอไม่เห็นด้วยกับการลาออกจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่พ่อยังไงก็เป็นพ่อ แม้ลูกจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ขัดใจตัวเองแต่ก็ไม่ขัดขวาง ซ้ำยังมีกุศโลบายในการช่วยเหลือ (แกมสั่งสอน) ตามเส้นทางฝันของลูกสาว คุณพ่อยอมให้เธอลาออกจากมหาวิทยาลัย และจ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ (ที่อยู่บนตึกชั้น 5 และไม่มีลิฟต์) ให้กับเธอเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเธอจะต้องดูแลชีวิตของตัวเอง (อาจจะกลับมาเรียนต่อหรืออะไรก็แล้วแต่...)
ท้ายที่สุด การเดิมพันครั้งนั้นของเธอ เธออยู่ฝั่งผู้ชนะ
และคนทั้งโลกก็ได้รู้จักกับ...เลดี้ กาก้า
วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 ก่อนที่โจ ไบเดน จะวางมือซ้ายลงบนคัมภีร์ไบเบิล กล่าวคำสาบานตนต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกัน (และทั่วโลก) และต่อหน้ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา
เสียงเพลง The Star-Spangled Banner (เพลงชาติสหรัฐอเมริกา) ถูกบรรเลงขึ้นจากวงออร์เคสตรา The Marine Band และนักร้องที่ได้รับเกียรติให้มาร้องเพลงชาติในวันที่มีความสำคัญที่สุดวันหนึ่งของประชาชนชาวอเมริกันวันนี้ ก็คือ เลดี้ กาก้า หรือแม่มอนสเตอร์ (mother monster คือฉายาของเลดี้ กาก้าสำหรับแฟนคลับ) ที่มาในชุดที่แสนเฉิดฉาย
ในทุกครั้งที่มีพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ทั่วทั้งประเทศ (และคงไม่เกินเลยหากจะบอกว่า และทั่วโลก) ต่างจับจ้องทุกรายละเอียด ทุกความประณีตที่จะเกิดขึ้นในงานอันทรงเกียรติและยิ่งใหญ่นี้ ทั้งสถานที่ กำหนดการ วงดนตรี รวมถึงนักร้องที่จะได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชาติ โดยในปี 2021 นี้ คณะกรรมการจัดงานได้เลือก เลดี้ กาก้า ให้มาร้องเพลงชาติสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากน้ำเสียงอันทรงพลังของซูเปอร์สตาร์สาวที่ส่งอารมณ์ถึงผู้ชมและผู้ฟังทั่วทั้งสหรัฐฯ (และทั่วโลก) ก็น่าจะเป็นเครื่องแต่งกายของเธอที่ทรงพลังและแย่งซีนการร้องเพลงชาติของเธอไม่แพ้กัน
เธอสวมใส่แจ็คเก็ตสีกรมท่าและกระโปรงสีแดงที่ถูกสั่งตัดพิเศษจากแบรนด์ Schiaparelli Haute Couture เหล่ากูรูแฟชั่นตีความว่าสีแดงและกรมท่าบนชุดของเลดี้ กาก้านั้น คือสัญญะที่ใช้แทนพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองของสหรัฐฯ คือ พรรคเดโมแครต (สีน้ำเงิน) และพรรครีพับลิกัน (สีแดง) ทั้งสองสีต่างถูกจัดแต่งให้อยู่บนชุดที่เธอสวมใส่อย่างลงตัว ซึ่งน่าจะหมายถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสองพรรค
ที่โดดเด่นมากไปกว่าสีที่ตัดกันทั้งแดงและน้ำเงินบนชุดของแม่มอนสเตอร์ก็น่าจะเป็นเข็มกลัดนกพิราบสีทองที่กำลังคาบกิ่งมะกอกบนอกด้านซ้ายของเลดี้ กาก้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ โดยตัวเธอเองได้โพสต์ภาพเข็มกลัดนกพิราบทองลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวพร้อมแคปชัน ‘นกพิราบผู้นำพากิ่งมะกอก ขอให้พวกเราจงมอบความสงบสุขให้แก่กัน’ ทั้งนี้ชาวเน็ตอเมริกันต่างพากันตีความต่อว่าการแต่งตัวด้วยสีอันฉูดฉาด ทรงเสื้อผ้าอันเวอร์วัง และเข็มกลัดนกพิราบบนอกซ้ายของเลดี้ กาก้า ดูมีความละม้ายคล้ายกับการแต่งกายในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งนางเอกของเรื่อง แคตนิส เอฟเวอร์ดีน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ได้ติดเข็มกลัดนกม็อคกิ้งเจย์สีทองที่อกด้านซ้ายของเธอเช่นกัน
หากเมื่อเวลาผ่านไป แน่นอนว่า โชว์นี้ของเธอน่าจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คครั้งใหญ่ในชีวิตในฐานะพลเมืองอเมริกาที่ได้รับเกียรติสูงสุดในการมายืนอยู่ตรงจุดนี้
A star is born กำเนิดดวงดาวแม่มอนสเตอร์
“คุณแม่เคยบอกฉันไว้เมื่อตอนเด็กว่า คนเราทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นซูเปอร์สตาร์” (My mama told me when I was young. We are on born superstars)
จากเนื้อเพลง Born This Way ของเลดี้ กาก้า สาวนิวยอร์เกอร์ วัย 34 ปี ผู้มีเชื้อสายอิตาเลียน เธอเติบโตมาจากย่าน Upper West Side ในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะดีพอสมควร ทั้งการที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สามารถซื้ออพาร์ตเมนต์หลังใหญ่ในแมนฮัตตันได้
ที่สำคัญคือ สิ่งที่ทั้งโจเซฟ เจอร์มาน็อตต้า จูเนียร์ และซินเทีย หลุยส์ พ่อและแม่ของเลดี้ กาก้า วางพื้นฐานให้กับลูกสาว มีประโยชน์สำหรับเธอเป็นอย่างมากในอนาคตต่อมา พื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ ความรักในเสียงดนตรี ในสารคดี ‘Lady Gaga: Inside the Outside’ ว่าด้วยชีวประวัติของเลดี้ กาก้า ได้เล่าว่า
ในยามค่ำคืน สเตฟานีน้อย (เลดี้ กาก้า) จะนั่งข้าง ๆ คุณพ่อ แล้วฟังเพลงร้องเพลงไปด้วยกัน โดยเพลงที่เธอมีโอกาสได้ฟังก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงของศิลปินระดับคุณภาพ อย่างเช่นเพลงของ สตีวี วันเดอร์, บรูซ สปริงส์ทีน, บิลลี โจเอล, เดอะ บีเทิลส์ และ เดอะ โรลลิ่ง สโตน โดยของขวัญชิ้นแรก ๆ ที่เป็นของหนูน้อยสเตฟานีก็คือ ซีดีเพลงของสตีวี วันเดอร์ และเดอะ บีเทิลส์
ฝั่งซินเทีย คุณแม่ของเธอได้ช่วยพัฒนาทักษะของหนูน้อยเลดี้ กาก้า ให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการหาครูมาสอนเปียโนให้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ในตอนแรกหนูน้อยนั่งนิ่ง ไม่ยอมเล่นเปียโน แต่คุณแม่ก็ฉลาดพอ ไม่บังคับลูกให้เล่น แต่ขอเพียงว่า นั่งอยู่ใกล้กับเปียโนจนกว่าจะหมดเวลา
ที่สุดแล้ว หนูน้อยเกิดความอยากรู้ จึงค่อย ๆ ลองจับเปียโน จนเมื่อคุ้นชินแล้ว เด็กน้อยก็เริ่มฝึกเล่นเปียโนในที่สุด จนอายุ 13 ปี เลดี้ กาก้าเริ่มแต่งเพลงบัลลาดที่มีโครงสร้างง่าย ๆ ได้เป็นครั้งแรก
นอกจากเรื่องการเล่นดนตรีแล้ว เลดี้ กาก้าก็สนใจในเรื่องการแสดงละครมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ตอนอายุ 14 ปี สเตฟานีมีโอกาสแสดงละครเรื่อง Guy & Dolls และ A Funny Thing Happened on the Way to the Forum ส่วนความสนใจในเรื่องแฟชั่น แม่ของเธอเป็นแบบอย่างในเรื่องการแต่งตัว แม่ของสเตฟานีจะแต่งตัวเนี้ยบและอินเทรนด์เสมอ โดยเธอได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวแบบเป็นทางการที่จะต้องดูดีทุกกระเบียดนิ้วมาจากคุณแม่
ด้วยพื้นฐานที่ดีในเรื่องของดนตรี การแสดง และแฟชั่น ทำให้เมื่อเลดี้ กาก้า รู้ว่าตนเองต้องการอะไรแล้วอยากเดินตามความฝันนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเธอไปได้ไกลกว่าที่คาดไว้อย่างมาก นั่นเพราะการมีพื้นฐานที่ดี เป็นเหมือนแต้มต่อที่จะสร้างทางลัดให้ใครสักคนประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
ตอนอายุได้ 17 ปี เลดี้ กาก้า เป็น 1 ใน 20 คนทั่วโลกที่ได้รับสิทธิ์ Early admission ให้เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะทิสช์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งต่อมาเธอลาออกกลางคันก่อนที่จะเรียนจบ
ชีวิตเธอหลังจากนั้นเรียกได้ว่าโลดโผนโจนทะยานในมหานครนิวยอร์กแบบที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน จากที่เคยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรูหราในย่านคนมั่งมี ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนคาทอลิกที่มีเพื่อนร่วมชั้นเป็นสาวสังคมชื่อดังอย่างปารีส และนิกกี้ ฮิลตัน มาถึงตอนนี้เธอต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลับทักษะในการแสดงบนเวที เธอต้องเป็นเด็กเสิร์ฟในตอนกลางวัน และเป็นนักเต้นระบำในคลับตอนกลางคืน ไม่กี่ปีจากนั้นเธอได้เซ็นสัญญากับค่าย Def Jam Records (ต่อมาทางค่ายก็ยุติสัญญากับเธอ) แต่ดาวยังไงก็เป็นดาว อยู่ที่ไหนก็ส่องแสงเสมอ จากนั้นไม่นานเธอก็ได้เซ็นสัญญาอีกครั้งกับค่าย Interscope Records และเส้นทางการเป็นซูเปอร์สตาร์ของเธอก็เริ่มขึ้นที่นั่น
ที่มาของชื่อ ‘เลดี้ กาก้า’ มาจากอดีตโปรดิวเซอร์/อดีตคนรักของเธอ - ร็อบ ฟูซารี เคยพูดไว้ว่า เสียงของเธอชวนให้คิดถึงเสียงของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี นักร้องนำวงควีนที่ร้องเพลง Radio Ga Ga เพื่อน ๆ นิวยอร์เกอร์ของเธอจึงเริ่มเรียกเธอว่า กาก้า ต่อมาเธอจึงตัดสินใจเพิ่มคำนำหน้าว่าเลดี้เข้าไปเพื่อเพิ่มความหมายโดยนัยถึงความเป็นสตรี ในตอนนี้เราจึงได้รู้จักสาวซูเปอร์สตาร์คนนี้ในนาม เลดี้ กาก้า
ปัจจุบันเลดี้ กาก้า มีงานเพลงจำนวน 6 อัลบั้ม ได้แก่ The Fame (2008), Born This Way (2011), Artpop (2013), Cheek to Cheek (2014), Joanne ( 2016) และ Chromatica (2020) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในโลกดนตรีมากมาย การทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกของเลดี้ กาก้า ในอัลบั้ม Joanne (2017-2018) ทำเงินมากกว่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,800 กว่าล้านบาท ด้วยยอดขายตั๋วกว่า 8 แสนใบทั่วโลก
และนั่นคือต้นกำเนิดของดวงดาวแม่มอนสเตอร์ บุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลใหญ่จาก 4 สถาบันรางวัล ในปี 2019 ได้แก่ รางวัล Best original song จากเพลง Shallow จากเวที Academy Awards 2019 (รางวัลออสการ์), รางวัล Best film music จากเรื่อง A Star Is Born จากเวที BAFTA 2019, รางวัล Song written for visual media, Pop/duo group performance, Pop solo performance จากเวที Grammy Awards 2019, รางวัล Original song จากเวที Golden Globe Awards 2019
แม่มอนสเตอร์และเหล่ามอนสเตอร์น้อย
ความเป็นเลดี้ กาก้า คือสิ่งที่แฟนเพลงรักเป็นอย่างมาก แฟนคลับของเธอจะแทนตัวเองด้วยชื่อ มอนสเตอร์น้อย (Little Monster) และเรียกเลดี้ กาก้าว่าแม่มอนสเตอร์ (Mother Monster) อันแสดงให้เห็นถึงความภักดี (Loyalty) ของเหล่าบรรดาแฟนคลับ สาเหตุหนึ่งที่เลดี้ กาก้าได้รับการยอมรับมากมาย นั่นเพราะว่าเธอใส่ใจแฟนคลับเป็นอย่างมาก
เธอรู้จักใช้สื่อออนไลน์อย่างฉลาดเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของเธอกับแฟนเพลงอย่างเหนียวแน่น ในขณะนี้ (22 มกราคม 2021) ทวิตเตอร์ของเลดี้ กาก้า มีคนติดตามถึง 83.4 ล้านฟอลโลเวอร์ ในอินสตาแกรมมีคนติดตามมากถึง 45.9 ล้านคน และในเฟซบุ๊กทางการของเลดี้ กาก้าเอง มีคนกดไลก์สูงถึง 57 ล้านคน สื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญมากในการนำเสนอผลงานใหม่ ๆ ของเธอเอง
แม้ว่าภาพลักษณ์ของเลดี้ กาก้า ในบางครั้งจะดูหลุดโลก แต่กับแฟนเพลงแล้ว จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากเลดี้ กาก้าอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เธอขึ้นแสดงคอนเสิร์ต กลุ่มคนที่เธอไม่เคยลืมที่จะขอบคุณก็คือเหล่าบรรดา ‘มอนสเตอร์น้อย’ แฟนคลับของเธอที่เลดี้ กาก้าพูดถึงอยู่เสมอว่าพวกเขามอบพลังในการทำงานให้กับเธอ
อย่างในตอนที่เลดี้ กาก้ามาเปิดการแสดงที่เมืองไทย เมื่อปี 2012 ในช่วงเวลานั้นมีการต่อต้านการแสดงคอนเสิร์ตของเธออย่างหนักในประเทศเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย เพราะภาพลักษณ์การแต่งตัววาบหวิวและเนื้อหาของเพลงที่พาดพิงเกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียมีการประท้วงอย่างรุนแรงจนต้องยกเลิกการจัดแสดงคอนเสิร์ต แต่ในประเทศไทยกลับต้อนรับเธออย่างอบอุ่น จนช่วงหนึ่งของการแสดง เลดี้ กาก้าหยุดเล่นดนตรีชั่วคราว เธอร้องไห้ แล้วพูดกับผู้ชมชาวไทยจำนวน 5 หมื่นกว่าคนว่า
“ในขณะที่หลายประเทศประท้วงคอนเสิร์ตของฉัน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่โอบกอดฉันไว้ ฉันขอบคุณแฟนเพลงชาวไทยจำนวน 5-6 หมื่นคนที่มาชมคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยค่ะ”
พูดถึงเรื่องการเมือง แม่ขอฟาด
นอกจากการได้รับการยอมรับจากคนทั้งโลกทั้งในเรื่องการแสดงบนเวทีและคุณภาพของงานเพลงแล้ว ในเรื่องสังคม เลดี้ กาก้าได้ตอบแทนคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ Born This Way Foundation ร่วมกับคุณแม่ของเธอ ในปี 2011 มูลนิธินี้จัดตั้งขึ้นเพื่ออยากจะสร้างความปลอดภัย ทักษะ และโอกาส ให้กับคนในสังคม โดยเธอหวังใจไว้ว่าอยากจะให้มูลนิธินี้เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่ปลอดภัย ปราศจากการรังแกกัน (bully) ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่ไหนก็ตาม นอกจากนี้เธอยังเชื่อว่าถ้าทุกคนมีทักษะและโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดี เราจะสร้างสังคมในอุดมคติให้เกิดขึ้นได้
อันที่จริง การที่เลดี้ กาก้าได้รับเลือกเป็นตัวแทนในการร้องเพลงชาติในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดน ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2020 ก่อนที่ทั้งโลกจะทราบว่า ใครเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เลดี้ กาก้า ได้ออกโรงสนับสนุนโจ ไบเดน พร้อมกับเปิดหน้าต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่หลายครั้งในแคมเปญหาเสียงของโจ ไบเดน ครั้งที่มีคนพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่ง คือตอนที่เลดี้ กาก้า ขึ้นปราศรัยที่พิตต์สเบิร์ก
“โหวตให้เหมือนกับว่าชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับการเลือกครั้งนี้ หรือให้เหมือนกับว่าชีวิตของลูก ๆ คุณขึ้นอยู่กับการเลือกครั้งนี้...เพราะชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับการเลือกครั้งนี้จริง ๆ...ถึงคุณผู้หญิง คุณผู้ชายทั้งหลายที่มีลูกสาว มีพี่สาว น้องสาว และมีคุณแม่...นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้โหวตเพื่อต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ - บุรุษผู้มีความเชื่อว่าชื่อเสียงของเขาทำให้เขามีสิทธิ์ที่จะสัมผัสเนื้อตัวของลูกสาว พี่สาว น้องสาว แม่ หรือภรรยาของคุณที่ใดก็ได้”
การปราศรัยของเลดี้ กาก้าในวันนั้นพูดถึงโดนัลด์ ทรัมป์ในประเด็นเรื่องทัศนคติและการปฏิบัติต่อผู้หญิงที่บ่อยครั้งทรัมป์มักจะแสดงออกถึงท่าทีที่ดูเหมือนลดทอนคุณค่าในตัวผู้หญิงลง โดยคำพูดที่เป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ คือการให้สัมภาษณ์ของทรัมป์ในราย Access Hollywood ในปี 2005 (แน่นอนว่ามันถูกนำกลับมารีรันไม่รู้จบ จนถึงกระทั่งตอนนี้) ทรัมป์พูดไว้ว่า
“ผมหลงใหลคนสวยนะ มันเป็นธรรมชาติของผม ผมจะจูบ (พวกเธอ) อย่างกับว่าพวกเธอเป็นแม่เหล็กที่คอยดึงดูดผมให้เข้าหาเลย...และคุณรู้อะไรไหม ถ้าคุณเป็นคนดัง พวกเธอจะยอมให้คุณ (จูบ หรือ) ทำอะไรก็ได้...หรือแม้แต่จับของลับของพวกเธอ คุณจะทำอะไรก็ได้”
คำพูดนี้คงทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า นี่คือคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศหรือ ยิ่งกับเลดี้ กาก้า ซูเปอร์สตาร์สาวที่เคยเป็นเหยื่อโดนล่วงละเมิดทางเพศเมื่อตอนอายุ 19 ซึ่งเธอเคยเขียนและร้องเพลง Til It Happens to You เพลงประกอบภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศทั้งในวัยรุ่นหญิงและวัยรุ่นชายในมหาวิทยาลัย The Hunting Ground ไม่น่าแปลกที่เธอออกตัวแรงอย่างสุดตัวเพื่อต่อต้านการมีอำนาจของบุคคลที่มีท่าทีไม่เคารพสิทธิทางเพศในตัวผู้อื่นเช่น โดนัลด์ ทรัมป์
ในวันนี้ไม่เพียงแค่เลดี้ กาก้า ชนะเดิมพันที่เคยให้ไว้กับคุณพ่อเมื่อปี 2005 ผ่านไป 16 ปี เธอยังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากมาย สำหรับการเป็นศิลปินคนหนึ่ง มันไม่ได้จำกัดเพียงแค่การแสดงออกในด้านศิลปะการร้องเพลง และแฟชั่นการแต่งตัว แต่ในทางการเมือง เธอยังเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในฐานะ influencer ที่อยากเห็นประเทศตัวก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย
“...ฉันมาจากนิวยอร์ก ฉันจะฆ่าให้เรียบเพื่อให้ได้สิ่งที่ฉันต้องการ” - เลดี้ กาก้า
เรายังนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรที่เธอยังต้องการ แล้วเธอยังทำไม่ได้อีกหรือไม่...แม่มอนสเตอร์
.
ที่มา:
https://www.albumoftheyear.org/artist/686-lady-gaga/
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-52939957
https://www.billboard.com/articles/columns/chart-beat/8099986/lady-gaga-joanne-world-tour-final-numbers
https://www.womenshealthmag.com/life/a28660280/lady-gaga-parents/
http://www.celebritydetective.com/Celebrity_Homes_Lady-GaGa-house-profile.html
https://www.nytimes.com/2021/01/20/us/politics/bible-inauguration-biden.html
https://www.washingtonpost.com/history/2021/01/19/marine-band-inauguration-capitol/
https://www.dailymail.co.uk/tvshowbiz/article-2064561/Lady-Gagas-old-NYC-apartment-available-rent-1-850-month.html?fbclid=IwAR0AXO1OQaeP2HBmPomEZ4aPCWOCVK7110dAiYu1XZ-ztTXILhukJRNRcc8
https://www.elle.com.au/culture/lady-gaga-dress-meaning-inauguration-2021-24503
https://economictimes.indiatimes.com/news/international/world-news/why-are-democrats-blue-and-republicans-red/articleshow/77962325.cms?from=mdr
https://metro.co.uk/2019/02/25/lady-gaga-owns-2019-becomes-first-person-history-win-oscar-grammy-bafta-golden-globe-one-year-8741259/
https://nymag.com/arts/popmusic/features/65127/
https://www.insider.com/how-lady-gaga-got-her-name-2019-1
https://www.insider.com/celebrities-who-were-strippers-2018-5#lady-gaga-now-sells-out-arenas-across-the-globe-but-before-fame-she-was-a-stripper-13
https://www.biography.com/musician/lady-gaga
https://www.rollingstone.com/music/music-news/lady-gaga-donald-trump-1085225/
https://www.theguardian.com/music/2020/nov/03/lady-gaga-attacks-donald-trump-at-joe-biden-rally
https://www.nytimes.com/2016/10/08/us/donald-trump-tape-transcript.html