25 ม.ค. 2564 | 15:00 น.
“ถึงทุกท่าน
“หลังจากที่ผมรู้สึกโล่งใจจากการรักษามะเร็งลำคอที่พบตั้งแต่ปี 2014 จนตอนนี้รักษาได้จนหายเป็นปกติ แต่ทว่า ความโชคร้ายก็มาเยือน เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าผมเป็นมะเร็งอีกจุด นั่นก็คือมะเร็งลำไส้ …”
เนื้อความในจดหมายที่ชายคนหนึ่งเขียนถึงแฟนเพลงที่ติดตามผลงานของเขามาอย่างยาวนาน หากเปรียบเป็นบทเพลงก็คงจะเป็นบทเพลงที่ขึ้นต้นด้วยความเศร้าสร้อย หดหู่ สิ้นหวัง เมื่ออัจฉริยะแห่งเสียงดนตรีต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายอีกคราหลังจากที่ต้องสู้กับมันมากว่า 6 ปี
ใด ๆ ในโลกนี้ล้วนสร้างเสียงได้ ไม่ว่าห้วงเวลาที่หยาดฝนกระทบหลังคา หรือว่ายามน้ำแข็งค่อย ๆ ละลาย ไม่ว่าจะเป็นในยามที่ลมพัดโชยเอื่อย หรือคลื่นทะเลที่ซัดสาดอย่างบ้าคลั่ง ธรรมชาติสรรสร้างทุกสิ่งเพื่อผสานเป็นท่วงทำนองที่เรียงร้อย และมนุษย์นั่นเองที่นำจังหวะเหล่านั้นมาเรียบเรียงจนเกิดเป็นเสียงดนตรี
แม้ไม่อาจจะทราบได้ว่าใครคือมนุษย์คนแรกที่สังเคราะห์เสียงเหล่านั้นจนกลายเป็นเสียงดนตรี แต่มีบุคคลท่านหนึ่ง ผู้รังสรรค์ทุกสิ่งบนโลกนี้ให้กลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ และมีความหลงใหลในทุกสรรพสิ่งที่ก่อเกิดเป็นเสียง บ้างก็ว่าเขาคือพ่อมดแห่งเสียงดนตรี บ้างก็สรรเสริญว่าเขาคือพระเจ้าแห่งการผสมเสียงธรรมชาติให้กลายเป็นความไพเราะ เขาเป็นทั้งนักดนตรีหัวก้าวหน้า เป็นศาสดาแห่งคอมโพสเซอร์ยุคใหม่ ไปจนถึงคนที่ใช้บทเพลงเพื่อร่วมต่อต้านและปฏิวัติ
เรามาทำความรู้จักผู้ชายคนนี้ ริวอิจิ ซากาโมโต้ ผู้รังสรรค์สรรพเสียงร้อยเรียงจนกลายเป็นงานศิลปะอันแสนล้ำค่าที่แม้จะสัมผัสด้วยหู แต่สามารถรับรู้ถึงหัวใจ
Intro: YMO จุดกำเนิดของผู้ชายที่ชื่อ ริวอิจิ ซากาโมโต้
แม้ครอบครัวของริวอิจิ จะเป็นครอบครัวนักหนังสือพิมพ์ แต่สิ่งที่เรียวอิชิหลงใหลกลับเป็นบทเพลงและเสียงดนตรี เขาไม่มองว่าเสียงนั้นทำหน้าที่แค่ขับกล่อมในฐานะเพลงหรือดนตรีเพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจมีจุดสิ้นสุดได้
ริวอิจินำความรู้สึกนั้นร่วมกับผองเพื่อนที่ร่วมเรียนกันในมหาวิทยาลัย Tokyo National University of Fine Arts and Music ก่อตั้งวง และรังสรรค์บทเพลง Synth-Pop ล้ำยุคล้ำสมัย ในนาม Yellow Magic Orchestra หรือ YMO ที่บุกเบิกกระแสของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น ที่ผสมผสานดนตรีป็อปเข้ากับเทคโนโลยีอันแปลกแปร่งของเครื่องดนตรี Electro อันได้แก่ Moog / Keyboard / Drum Machine เข้าด้วยกัน ในยุค 80s ที่ดนตรี Garage, Hard Rock กำลังเบ่งบานอย่างสุดขีดในประเทศญี่ปุ่น YMO กลับเลือกเดินสวนทางขวางกระแส ด้วยการนำซาวนด์แห่งอนาคตที่มีเครื่องจักรเป็นส่วนประกอบมาผสมผสานจนเป็นต้นธารแห่งดนตรีสังเคราะห์ในยุคนั้น
ไม่เพียงชาวญี่ปุ่นที่ต่างตื่นตะลึงกับซาวนด์รุดหน้าที่มาพร้อมอนาคตอันสดใสของยุคสมัยอันเรืองรองของดนตรี City Pop เท่านั้น แต่วงการดนตรีโลกต่างพากันขานรับดนตรีแห่งวันพรุ่งนี้ของ YMO อีกด้วย
แม้กระทั่งไมเคิล แจ็คสัน ยังชวนวงมาร่วมแจมดนตรีจนบทเพลงเกือบถูกบรรจุในอัลบั้มประวัติศาสตร์ Thriller น่าเสียดายที่สุดท้ายการเจรจาทางกฎหมายนั้นไม่สำเร็จ แต่มันก็เพียงพอให้โลกได้รู้จักตัวตนของ YMO โดยเฉพาะชายหนุ่มผู้อยู่หลังคีย์บอร์ดที่สร้างซาวนด์อันพิสดาร ที่เขาขานรับเทคโนโลยีที่ทำในสิ่งที่เกินความสามารถกว่าที่มนุษย์จะทำได้ นั่นคือริวอิจิในช่วงเวลาเริ่มต้นในวงการดนตรี ที่เป็นเพียงท่อน Intro ของบทเพลงชีวิตอันยาวไกลที่พร้อมนำพาริวอิจิไปไกลยิ่งกว่าเดิม
Verse: การบินเดี่ยวเพื่อค้นหาตัวตน
แม้ริวอิจิจะยังเป็นสมาชิก YMO แต่ช่วงเวลาเดียวกันเขาก็มีเวลาเหลือเฟือพอที่จะทดลองดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง จึงมีงานเดี่ยวที่ผสมผสานดนตรี Psychedelic อันเมามาย เข้ากันกับดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นในนาม Thousand Knives of Ryuichi Sakamoto ที่นำสภาวะหลอนจากพืชเสพติดทั้งหลาย มาแปรรูปเป็นงานที่มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า
และด้วยดนตรีที่ผสมผสานความร่วมสมัยที่ก้าวไกลไปข้างหน้า กับการค้นหารากเหง้าแห่งอารยธรรมของสายเลือดบูชิโด ก็ทำให้ริวอิจิกลายเป็นศิลปินที่โลกพากันจับตาในความเก่งกาจที่ไม่อาจกั้นขวางด้วยความต่างทางภาษาและวัฒนธรรม
จวบจน YMO ยุติบทบาทของวงดนตรีและแยกย้ายไปในสายดนตรีที่ถนัด งานเดี่ยวยุคต้นของริวอิจิหากเปรียบดั่งเครื่องยนต์กลไกมันก็เต็มไปด้วยสายไฟระโยงระยางอันสับสนอลหม่าน ด้วยเพราะเขาได้รับอิทธิพลทางดนตรีอันหลากหลาย ตั้งแต่ดนตรี Krautrock ของเยอรมัน ไปยันดนตรี Clasical สะท้อนห้วงเวลาของการเป็นวัยรุ่นที่พร้อมทดลองทุกสิ่งประเดประดัง จนในวงการดนตรีญี่ปุ่นได้พากันขนานนามเขาว่า ‘นักวิทยาศาสตร์แห่งวงการดนตรีสมัยใหม่’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยแต่อย่างใด เพราะเขาพร้อมเปิดรับทุกดนตรีของโลกใบนี้เอาไว้ในจักรวาลซากาโมโต้อย่างไม่หยุดยั้ง
Hook: สู่การเป็นคีตกวีแห่งโลกภาพยนตร์
และสิ่งหนึ่งที่ริวอิจิสนใจ นั่นคือการทำสกอร์ประกอบภาพยนตร์ จากความฝังใจที่ได้ดูหนัง Solaris ของ อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี ที่เอกอุในการออกแบบเสียงธรรมชาติให้แวดล้อมราวกับเป็นส่วนหนึ่งของหนัง ทำให้ริวอิจิยึดถือทาร์คอฟสกีเป็นเสมือนครูอีกคนที่เขาอยากจะลองก้าวเท้าสู่วงการภาพยนตร์บ้าง
และแล้วเขาก็ได้ลองทำดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยเริ่มจากหนังตลกไซ-ไฟสุดคัลต์ It’s All Right, My Friend (1983) ที่ล้อเลียน Superman และ ET. จนเละไม่เป็นชิ้นดี แม้งานชิ้นแรกอาจจะเป็นงานที่ไม่น่าจดจำ แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ผลงานการทำสกอร์ภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขา ริวอิจิก็ได้สร้างงานมาสเตอร์พีซขึ้นมาโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ
แรกเริ่มเดิมทีริวอิจิถูกเรียกให้ไปร่วมโปรเจกต์หนัง Merry Christmas, Mr. Lawrence ของ นากิสะ โอชิมะ ที่เล่าเรื่องของมิตรภาพต่างเชื้อชาติในค่ายกักกันเชลยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะนักแสดง จนริวอิจิตื๊อและร้องขอให้เขาได้ลองทำดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้ดูจนผู้กำกับใจอ่อน จนเกิดเป็นที่มาของเพลงธีมที่ทั้งงดงาม ยิ่งใหญ่ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความอ่อนช้อยเพื่อบอกถึงความเปราะบางของความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างเชลยศึกชาวตะวันตกกับนายทหารฝ่ายตรงข้าม
และบทเพลงอันยิ่งใหญ่นี้ ก็ทำให้ชีวิตของริวอิจิพลิกผันไปตลอดกาล จากนักดนตรีนักทดลอง สู่คอมโพสเซอร์ผู้ผสมผสานโลกตะวันออกและตะวันตกให้กลายเป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน หนังมหากาพย์อย่าง The Last Emperor (1987) The Sheltering Sky (1990) Little Buddha (1994) ไปจนถึง The Ravenant (2015) ล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่พึ่งพาทั้งแลนด์สเคปที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา พร้อมทั้งควานหาจิตวิญญาณและตัวตนแห่งปัจเจกบุคคล ผลงานสกอร์ที่ริวอิจิมักบรรเลงด้วยเปียโนนั้น นำพาซึ่งความเวิ้งว้างเพื่อบอกถึงมนุษย์ที่เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบกับท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ มหาสมุทรสุดไกล หรือกระทั่งต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุนับร้อยปี ทว่าลึกลับและสวยงามในการค้นหาความหมายสำคัญของชีวิต
และด้วยมุมมองที่เปลี่ยนผ่านของเขาหลังจากที่ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ นำพาให้เขาได้เดินทางมาทั่วโลกเพื่อทำดนตรีประกอบหนังมากมาย ชื่อของเขาการันตีด้วยซาวนด์อันนุ่มนวลดุจแพรไหม แต่ยิ่งใหญ่และแข็งกร้าวในการสร้างมุมมองใหม่ของดนตรี
ช่วงเวลาที่เขาได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันหลากหลายนั้นเอง มุมมองชีวิตของริวอิจิค่อย ๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อโลก สังคม และธรรมชาติ ผลงานช่วงหลัง ๆ จึงกลายเป็นงานอันหลากหลาย แต่ยิ่งใหญ่ในการผสมผสานดนตรีของเขาเข้ากันกับดนตรีร่วมสมัยในแนวทางที่แตกต่างกัน ศิลปินมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ David Bowie / Iggy Pop / Brian Wilson แห่งวง The Beach Boys ไปจนถึงศิลปินเร็กเก ต่างเชิญชวนเขาไปร่วมรังสรรค์ดนตรีเพื่อแสวงหาแนวทางอันแปลกใหม่ แม้กระทั่งงานยิ่งใหญ่อย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1992 ที่จัดขึ้น ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก็ยังเชิญชวนเขาไปร่วมในการแต่งเพลง Theme ในงานเปิดตัว นับได้ว่าเขาแทบจะเป็นพระเจ้าแห่งโลกดนตรีร่วมมัยในยุคนั้นไปแล้ว
Chorus: ดนตรีแห่งการขับเคลื่อนสังคม
จากมุมมองที่เปลี่ยนไป เมื่อโลกต้อนรับสหัสวรรษใหม่สู่การเปลี่ยนผ่านในโลกยุค 2000s ริวอิจิก็พยายามเข้าถึงธรรมชาติ ด้วยการรังสรรค์ผลงานที่เล่าเรื่องราวของชีวิตที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ผ่านเสียงดนตรีที่ไปด้วยกันกับเสียงแห่งธรรมชาติภายใต้แนวดนตรีที่ไม่หยุดนิ่งเช่นเคย
นอกจากนั้นเขายังขยับขยายการบรรเลงจากฮอลล์คอนเสิร์ตไปในสถานที่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เมื่อเขาตระหนักได้ถึงความล่มสลายของธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ ภายหลังจากที่เมืองฟุกุชิมะ ถูกสึนามิสาดซัดจนเป็นมหาอุทกภัยอันเลวร้ายในปี 2011 ริวอิจิเดินทางไปสำรวจซากเมืองที่นอกจากถูกสึนามิพัดพาจนอับปางแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเสียหายจนสารพิษรั่วไหล และกลายเป็นเมืองร้างอันน่าเศร้าใจ
ที่แห่งนั้น เขาได้ไปปลอบขวัญผู้ประสบภัยด้วยการจัดมินิคอนเสิร์ต พร้อมกันนั้นยังร่วมประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องและต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่น ๆ ริวอิจิต่อต้านและป้องกันโลกด้วยการใช้ดนตรีเป็นแรงปะทะสำคัญอันอ่อนโยน เพื่อให้มนุษย์ได้รับรู้ถึงความงดงามของธรรมชาติที่เสกสรรปั้นแต่ง สำหรับริวอิจิ แม้กระทั่งเปียโนที่ถูกคลื่นสึนามิซัดจนเสียงเปลี่ยนไป แต่เขาก็ไม่อาจเรียกเครื่องดนตรีนี้ว่าเสียงเพี้ยนได้ ริวอิจิกล่าวว่า “มันคือเสียงเรียกร้องและการทวงคืนของธรรมชาติมากกว่า”
แต่ดูเหมือนริวอิจิเองก็ต้องพบภัยพิบัติที่สาดซัดเข้าใส่ตัวเขาเองเช่นกัน เมื่อปี 2014 เขาตรวจพบก้อนมะเร็งที่ลำคอ จนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลายาวนานจนเกือบหายดี แต่โรคร้ายก็กลับมาถาโถมเขาอีกระลอก เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อเขาได้ส่งจดหมายผ่านหน้าเว็บไซต์ส่วนตัวถึงอาการมะเร็งลำไส้ ที่แม้จะได้รับการผ่าตัดไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลาพักฟื้นไปอีกระยะหนึ่ง
เราได้แต่หวังว่าความหวังดีที่ส่งผ่านบทเพลงมายาวนานกว่า 40 ปี ที่เขาได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้ จะส่งมอบปาฏิหาริย์ให้เขาได้รอดพ้นจากภัยอันตรายจากโรคร้าย เพื่อให้เขาได้ขับกล่อมและสร้างสรรค์สรรพเสียงใหม่ ๆ ให้กับโลกใบนี้ไปอีกนานเท่านาน
อัปเดต: วันที่ 2 เมษายน 2023 มีรายงานว่า ริวอิจิ เสียชีวิตลง หลังจากตรวจพบมะเร็งเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2021
หมายเหตุ: กองบรรณาธิการปรับการสะกดคำจากเรียวอิชิ เป็นริวอิจิ ตามการออกเสียงของภาษาญี่ปุ่น
เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง
ภาพ: แฟ้มภาพ จาก Getty Images