ณ คฤหาสน์หรู ประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสี อาหารชั้นเลิศเคล้าเสียงดนตรีสร้างสุนทรีย์กับหนุ่มสาวชั้นสูงที่กำลังหมุนตัวเต้นรำตามจังหวะเพลง ใครจะรู้ว่าบรรยากาศรื่นเริงและรอยยิ้มพิมพ์ใจของผู้คนในงานนั้นมาจากความอิ่มเอมที่เอ่อล้น หรือเป็นเพียงการแสดงเพื่อซ่อนบาดแผลและความกังวลใจที่ไม่สามารถพรั่งพรูออกมาได้ในตอนนั้น
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Bridgerton
‘Bridgerton’ เป็นซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายโรแมนซ์อิงประวัติศาสตร์ของจูเลีย ควินน์ (Julia Quinn) ฉายภาพเรื่องราวความรักของ ‘ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน’ (Daphne Bridgerton) เพชรน้ำหนึ่งแห่งฤดูกาลในยุครีเจนซีของอังกฤษ หรือประมาณ 200 ปีที่แล้ว แม้จะเริ่มฉายใน Netflix ได้เพียง 4 สัปดาห์ แต่กลับมียอดผู้ชมถึง 82 ล้านครัวเรือน ขึ้นแท่นซีรีส์ Netflix ที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง อาจเพราะโปรดิวเซอร์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง คริส แวน ดูเซน (Chris Van Dusen) และทีมงาน ‘ตั้งใจ’ แต่งเติมองค์ประกอบบางอย่างในเรื่องให้เหมาะกับผู้ชมยุคใหม่ โดยอยู่บนพื้นฐานของไอเดีย “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า...”
Bridgerton จึงเป็นซีรีส์สะท้อนภาพอดีตที่ผสมกลิ่นอายของปัจจุบันเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ได้ตรงตามยุครีเจนซีทุกกระเบียดนิ้ว เพราะสาว ๆ สมัยนั้นจะสวมชุดยาวเอวสูงแบบรัดใต้อก พร้อมหมวกผ้าบอนเน็ต (Bonnet) ที่ขาดไม่ได้ แต่ดาฟนี่และตัวละครหญิงหลายคนกลับไม่ได้สวมหมวกนี้ ส่วนเสียงดนตรีที่บรรเลงในงานเต้นรำเป็นทำนองเพลง Thank U, Next ของ Ariana Grande หรือเพลง Bad Guy ของ Billie Eilish รวมทั้งชนชั้นสูงและราชินีที่มีสายเลือดแอฟริกันและไม่มีการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว ปรากฏให้เห็นในเรื่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดและสร้างปมความขัดแย้งให้เรื่องราวทั้งหมด คือชีวิตภายใต้กรอบสังคมแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ (Patriarchy) โดยมีกฎเกณฑ์กำหนดว่าการสืบทอดและการครอบครองทรัพย์สิน อำนาจ และยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เป็นของบุรุษ ส่วนสตรีนั้นมีหน้าที่ดูแลตัวเองให้มีรูปลักษณ์และกิริยามารยาทงามเพื่อแต่งงานมีบุตรเพียงเท่านั้น
เมื่อคุณค่าและความมั่นคงของผู้หญิงถูกผูกติดไว้กับการแต่งงาน หญิงสาวที่ขบถต่อกรอบของสังคมย่อมต้องมีชีวิตขาดไร้ความมั่นคงไปพร้อมกับการถูกกีดกันจากคนรอบข้าง แต่ถึงอย่างนั้น หญิงสาวสมบูรณ์แบบตามขนบอย่างดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน ก็ยังต้องมีรอยแผลและหยาดน้ำตาจากกรอบสังคมแบบปิตาธิปไตย หรือชายเป็นใหญ่ในเรื่องนี้
เสียงตะโกนอันเงียบงันของสตรี
“พี่รู้ไหมว่าหนูได้ยินประโยคนี้มากี่หนแล้ว ปล่อยให้ผู้ชายจัดการกันเองบ้างละ อย่าเอาตัวเองไปเกี่ยวกับเรื่องใหญ่แบบนี้บ้างละ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้มันเกี่ยวกับอนาคตของหนู ชีวิตครอบครัวของหนู”
ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน ผู้ใฝ่ฝันอยากจะแต่งงานมีครอบครัวกับคนที่ตัวเองรัก พูดกับพี่ชายของเธอผู้พยายามสรรหาชายหนุ่มที่สมบูรณ์แบบให้แต่งงานกับน้องสาว โดยไม่แม้แต่จะเอ่ยถามความเต็มใจของดาฟนี่ ซึ่งชายคนนั้นคือ ลอร์ดเบอร์บรูค ที่ใช้วาจาคุกคามดาฟนี่ตั้งแต่แรกพบ และทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเธอหลายอย่าง หากแต่ดาฟนี่เองก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากพี่ชายด้วยความที่แม่พูดไว้เสมอว่า บุรุษจะสนใจฟังเสียงของบุรุษเท่านั้น เสียงของสตรีไม่มีผลต่อการตัดสินใจของพวกเขา
ดาฟนี่จึงไม่คิดว่าพี่ชายจะเชื่อคำพูดของตัวเอง จนกระทั่ง ไซม่อน บาสเซ็ต (Simon Basset) หรือดยุกแห่งเฮสติงส์ (Duke of Hastings) พระเอกของเรื่องเอ่ยถึงเรื่องลอร์ดเบอร์บรูคเพียงประโยคเดียว พี่ชายของเธอก็เชื่อทั้งที่ไม่ทันได้ถามความจริงจากดาฟนี่
นี่คือภาพสะท้อนเสียงของสตรีที่ถูกกลบด้วยอำนาจของบุรุษในสังคมนี้ และความสิ้นหวังจากการไม่ถูก ‘รับฟัง’ แถมยังถูกมองว่าด้อยค่าและไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างตอนหนึ่งที่ลอร์ดเบอร์บรูคพยายามต่อรองให้ไซม่อน บาสเซ็ต ไม่ข้องเกี่ยวกับดาฟนี่แล้วยกเธอให้เป็นเจ้าสาวของตัวเอง แต่ไซม่อนบอกให้ไปถามความต้องการของดาฟนี่ ลอร์ดเบอร์บรูคจึงตอบกลับไปว่า
“เวลาผมซื้อม้า ผมไม่ต่อรองราคากับม้าหรอกครับ”
การที่สตรีไม่มีสิทธิ์มีเสียงนั้นไม่ได้กระทบแค่เรื่องของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แม้กระทั่งพี่ชายผู้พยายามสรรหาคู่อันสมบูรณ์ให้กับน้องสาว กลับไปตกหลุมรักสาวที่ไม่คู่ควร จนกลายเป็น ‘ความรักในความลับ’ และท้ายที่สุดเขาก็ต้องสูญเสียคนที่รักสุดหัวใจไปเพียงเพราะกรอบของสังคม
เมื่อเพศศึกษากลายเป็นเรื่องน่าอาย
ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ มารดาของดาฟนี่ไม่เคยเตรียมพร้อมเรื่องเพศศึกษาให้กับเธอเลย ด้วยความเชื่อที่ว่า สตรีไม่ควรพูดถึงเรื่องเพศอย่างเปิดเผย มารดาของเธอจึงเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และคิดว่าถึงเวลาลูกก็คงรู้เอง ฉะนั้นดาฟนี่จึงไม่รู้แม้กระทั่งว่า ‘ลูกเกิดมาได้ยังไง’
ด้วยความไม่เข้าใจดังกล่าวกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อชีวิตแต่งงานของดาฟนี่ จนเธอต้องไปถามหญิงรับใช้ให้อธิบายทุกรายละเอียด และทำให้ดาฟนี่พบว่า ไซม่อนมีลูกได้ แต่เขาแค่ไม่ยอมมีลูกกับเธอ ความโกรธเกรี้ยวที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกหลอกลวง นำไปสู่ความไม่ลงรอยของชีวิตแต่งงาน ไปจนถึงฉากที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า ดาฟนี่ขืนใจฝ่ายชายให้พยายามมีลูกกับเธอหรือไม่
กว่าจะรู้ว่ารัก...เมื่อความรักเป็นเรื่องซับซ้อน
หากดาฟนี่และไซม่อนเปิดใจเผยความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมาคงได้เดินเข้าประตูวิวาห์กันอย่างสวยหรูตั้งแต่ต้นเรื่อง หากแต่เรื่องราวทั้งหมดกลับไม่เป็นเช่นนั้น
การตีกรอบของสังคมให้บุรุษผู้สืบทอดตระกูลเป็นชายผู้เข้มแข็ง ฉลาดและสมบูรณ์แบบได้สร้างปมให้กับไซม่อน เพราะวัยเด็กของเขาถูกกีดกันและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้เป็นบิดา เขาเข้าใจว่าความรักของดาฟนี่คู่ควรกับชายที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น ซึ่งเขามองตัวเองว่าไม่คู่ควรและไม่อยากมีบุตรสืบทอดสกุล จนปฏิเสธการแต่งงานกับดาฟนี่หลายครั้ง และต้องลงเอยเข้าประตูวิวาห์ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ทั้งคู่ทำเรื่องไม่เหมาะสม’ แทนที่จะเป็นเพราะความรัก แม้แต่ตอนที่แต่งงานแล้ว ไซม่อนก็ไม่ยอมมีลูกกับดาฟนี่ จนทำให้เธอเข้าใจไปว่าไซม่อนไม่ได้รักทั้งยังรังเกียจที่จะแต่งงานกับเธอ
การไม่เปิดใจพูดคุยกัน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก กว่าจะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่าต่างฝ่ายต่างรักกันนั้น เรื่องราวก็เดินทางมาจนเกือบตอนสุดท้าย ซึ่งดาฟนี่ได้พูดกับไซม่อนว่า
“แค่เพราะว่าบางสิ่งไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้แปลว่าไม่คู่ควรกับความรัก พ่อของคุณทำให้คุณไม่เชื่อเช่นนั้น คิดว่าคุณต้องไร้ที่ติจึงจะคู่ควรกับความรัก แต่เขาคิดผิด...คุณอาจจะคิดว่าคุณเสียหายหรือแตกสลาย เกินกว่าจะยอมให้ตัวเองมีความสุขได้ แต่คุณเลือกได้ ไซม่อน คุณเลือกที่จะรักฉันได้เท่าที่ฉันรักคุณ เรื่องนั้นไม่ควรขึ้นอยู่กับคนอื่น”
แม้เรื่องจะปิดท้ายอย่างสวยงามในงานเต้นรำที่ทั้งคู่เพิ่งจะรู้ว่าการแต่งงานครั้งนี้ ‘ไม่ใช่รักข้างเดียว’ หรือ ‘ฝืนใจแต่ง’ และก้าวข้ามปมความเจ็บปวดในอดีตของตัวเองได้ แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนั้น ต่างฝ่ายต่างก็เจ็บปวดและเต็มไปด้วยบาดแผล
นับว่าดาฟนี่โชคดีที่ชีวิตอนุญาตให้เป็นอย่างฝัน เพราะนอกจากเธอจะเต็มใจใช้ชีวิตตามขนบ คืออยากแต่งงานมีลูกและทำหน้าที่แม่บ้านแม่เรือนแล้ว เธอยังมีโอกาสได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรัก แถมยังเป็นชนชั้นสูง ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตตามขนบของสังคม แต่หากเป็นคนอื่นที่ไม่ได้โชคดีแบบเธอ บาดแผลอาจไม่ได้สิ้นสุดลงและมีตอนจบที่สวยงามเช่นนี้
หากการสร้างกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานและค่านิยม เป็นไปเพื่อจัดระเบียบของสังคมและทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ 'Bridgerton' คงเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ถูกครอบด้วยค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ที่ ‘งดงามและเป็นระเบียบเพียงภายนอก’ แต่กลับทิ้งความซับซ้อนและสร้างรอยแผลที่บาดลึกลงไปในสังคมเล็ก ๆ อย่างครอบครัว คนรัก หรือแม้กระทั่งภายในจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบุรุษ สตรี หรือใครก็ตามที่อยู่ในกรอบเกณฑ์เดียวกันนี้