27 มกราคม 2021: ทันทีที่เสียงนกหวีดสิ้นสุดการแข่งขันดังขึ้นที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด หรือที่แฟนปีศาจแดงขนานนามให้เป็น “โรงละครแห่งความฝัน” เหล่าสาวก “Red Devil” กลับต้องฝันสลาย เพราะไม่อาจเก็บชัยนัดสำคัญเพื่อกลับขึ้นไปนำเป็นจ่าฝูง เนื่องจากพ่ายทีมอันดับสุดท้ายของตารางอย่างเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คาบ้านของตัวเองแบบน่าเจ็บใจด้วยสกอร์ 1-2
ที่น่าเจ็บใจยิ่งขึ้น คือ ความพ่ายแพ้นัดนี้เปิดโอกาสให้คู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังยืนอยู่บนหัวตารางพรีเมียร์ลีกอังกฤษต่อไป โดยมีคะแนนทิ้งห่างพวกเขาแค่แต้มเดียว แต่ทีม “เรือใบสีฟ้า” ยังมีเกมแข่งน้อยกว่า 1 นัด
ก่อนแข่ง ทั้งนักเตะ ทีมงาน และแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด แทบไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะแพ้ เพราะทีมกำลังฟอร์มร้อนแรง เพิ่งเปิดบ้านเขี่ยแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างลิเวอร์พูล ตกรอบเอฟเอคัพมาแบบสะใจ และไม่แพ้ใครในลีกมา 13 นัดติดต่อกัน นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2020
เหยียดผิวแพะรับบาป
การมาแพ้บ๊วยอย่างทีม “ดาบคู่” เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในค่ำคืนกลางสัปดาห์วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2021 จึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้สำหรับใครหลายคน
เมื่อทีมแพ้ก็ต้องมีแพะรับบาป แน่นอนว่าอักเซล ตุนเซเบ ปราการหลังชาวคองโก ผู้สกัดบอลพลาดจนเปลี่ยนทางเข้าไปให้ “ดาบคู่” ได้ประตูชัยคือแพะรายแรก ส่วนแพะคนที่สอง คือ อองโตนี มาร์กซิยาล ศูนย์หน้าผิวสีชาวฝรั่งเศส
ทั้งคู่ตกเป็นเป้าโจมตีบนโลกโซเชียลทันทีที่เกมจบลง โดยบรรดาแฟนบอลผู้ผิดหวังต่างเข้าไปโพสต์ใน Instagram, Twitter และ Facebook ของนักเตะทั้งสองจนกระทั่งเลยเถิด มีการใช้ถ้อยคำและอิโมติคอนรูปลิงเหยียดผิวและเชื้อชาติ จนเพื่อนนักเตะ และสโมสรต้นสังกัดรับไม่ได้ ต้องออกมาประณามพฤติกรรมดังกล่าวจนเป็นข่าวครึกโครม
ปีศาจแดงแถลงดุเดือด
แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มเป็นตราสโมสรสีขาวดำ พร้อมโพสต์ข้อความ “United Against Racism (สามัคคีกันต่อต้านการเหยียดผิว)” พร้อมออกแถลงการณ์มีใจความดุดันว่า
“ทุกคนในทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รู้สึกขยะแขยงกับการล่วงละเมิดทางเชื้อชาติที่ผู้เล่นได้รับทางโซเชียลมีเดียหลังเกมเมื่อคืนนี้ เราขอประณามอย่างเต็มที่ และหวังว่าจะได้เห็นแฟนบอลคนอื่น ๆ ร่วมประณามสิ่งนี้บนโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เคยอดทนต่อการเหยียดเชื้อชาติ หรือการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และมีจุดยืนมายาวนานในการรณรงค์ต่อต้านมันผ่านโครงการริเริ่ม All Red All Equal ของเรา
“การระบุตัวตนพวกงี่เง่าไร้จิตสำนึกนิรนามเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหา เราขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และเจ้าหน้าที่ผู้คุมกฎ ออกมาตรการป้องกันพฤติกรรมลักษณะนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น”
สำหรับปฏิกิริยาของเหยื่ออธรรมทั้งสองนั้น มีเพียงตวนเซเบ ที่ออกมาโพสต์วิดีโอลง Instagram พร้อมข้อความตอบโต้ผู้ล่วงละเมิดเขาทันทีว่า “My Race/ My Religion/ My Colour=Football (เชื้อชาติ/ ศาสนา/ สีผิวของผม=ฟุตบอล)”
ส่วนมาร์กซิยาล นักเตะวัย 25 ปี ที่ถูกวิจารณ์ฟอร์มการเล่นอย่างหนักมาตลอด โดยเฉพาะในนัดนี้ ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ใด ๆ
วิจารณ์มาร์กซิยาล
อองโตนี มาร์กซิยาล กองหน้าหมายเลข 9 มีโอกาสส่งลูกเข้าไปตุงตาข่ายฝ่ายตรงข้าม 1 ครั้งในเกมนี้ แต่ไม่ได้ประตูเพราะมีจังหวะฟาวล์ผู้รักษาประตูเกิดขึ้นก่อน นอกนั้นเขาแทบไม่มีบทบาท จนกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของเหล่าแฟนบอลปีศาจแดง
“เขาค่อย ๆ เดินกลับมา ผมอยากเห็นปฏิกิริยาเขาวิ่งสปรินต์กลับมามากกว่า ไม่ใช่วิ่งเหยาะ ๆ เมื่อปีที่แล้วไม่ใช่แบบนี้ พวกเขากลับมาอยู่จุดนี้อีกครั้ง ดูมาร์กซิยาลนั่น มีการผ่านบอลไปแล้ว 2 หรือ 3 ครั้ง แต่เขาก็ยังวิ่งเหยาะ ๆ ก้าวช้า ๆ กลับมา ผมอยากเห็นความจริงจังทุ่มเท” ริโอ เฟอร์ดินานด์ อดีตปราการหลังแมนฯ ยูไนเต็ด วิจารณ์รุ่นน้องแบบจัดหนัก
นักวิจารณ์หลายคนพูดถึงมาร์กซิยาลในทำนองเดียวกันว่า เขาดูเหมือนเล่นแบบไม่มีกะจิตกะใจ ไม่สมกับราคาค่าตัวแบบเบ็ดเสร็จรวม 58 ล้านปอนด์ ที่ปีศาจแดงยอมควักกระเป๋าจ่ายให้โมนาโก ในลีกเอิงของฝรั่งเศส เพื่อคว้ามาร่วมทีม
มาร์กซิยาลย้ายมาเล่นในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 ในยุคของหลุยส์ ฟาน กัล ผู้จัดการทีมชาวดัตช์ พร้อมทำสถิติเป็นนักเตะวัยทีน (อายุไม่ถึง 20 ปี) ที่มีค่าตัวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขณะนั้นเขามีอายุเพียง 19 ย่าง 20 ปี
ตามรอยอองรี เอฟรา
อองโตนี มาร์กซิยาล เกิดวันที่ 5 ธันวาคม 1995 ในเมืองมัสซี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เขาเริ่มเส้นทางลูกหนังตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ด้วยการเป็นนักเตะเยาวชนของทีม CO Les Ullis ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นทีมที่เคยปั้นนักเตะชื่อดังอย่างเธียร์รี อองรี และปาทริซ เอฟรา
จากนั้นในวัย 14 ปี มาร์กซิยาลได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพครั้งแรกกับทีมโอลิมปิก ลียง ในลีกเอิง ก่อนย้ายมาเล่นให้กับโมนาโก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2013 และข้ามช่องแคบอังกฤษ มาอยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด ในอีก 2 ปีต่อมา
ชีวิตของมาร์กซิยาลในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด เรียกได้ว่าลุ่ม ๆ ดอน ๆ
เขาเปิดตัวกับแมนฯ ยูไนเต็ด ได้น่าประทับใจ ลงเล่นนัดแรกเป็นตัวสำรองยิงประตูย้ำชัยให้ปีศาจแดงเปิดบ้านเอาชนะ “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล 3-1 ในเกม “แดงเดือด” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2015 จนเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมในตำนานของ Red Devil ถึงกับชมว่า “เจ้าหนูอองโตนี มาร์ซิยาล เขาสามารถเป็นได้ทุกสิ่ง”
หลุยส์ ฟาน กัล กล่าวถึงเหตุผลที่ดึงมาร์กซิยาลมาร่วมทีมว่า “อองโตนีเป็นศูนย์หน้าสารพัดประโยชน์ อายุน้อย มีพรสวรรค์โดยธรรมชาติ พร้อมศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีกมาก ผมเชื่อว่านี่คือสโมสรที่จะทำให้เขาพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง”
โรงละครไม่เป็นดังฝัน
อย่างไรก็ตาม หลังฟาน กัล โดนปลดจากเก้าอี้ มาร์กซิยาลก็ถึงคราวตกต่ำจนเกือบย้ายออกจากรังโอลด์ แทรฟฟอร์ด
โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือคนใหม่ที่เข้ามาแทนฟาน กัล ในปี 2016 ไม่ค่อยปลื้มมาร์กซิยาลนัก และจุดที่ทำให้เกือบแตกหักจนต้องย้ายทีม คือ การซื้อสลาตัน อิบราฮิโมวิช ศูนย์หน้าชาวสวีเดนเข้ามา พร้อมบังคับให้มาร์กซิยาล มอบเสื้อหมายเลข 9 ให้ “อิบรา” และให้เขาเปลี่ยนไปใส่หมายเลข 11 แทน
เคราะห์ดีที่มูรินโญ่ ก็อยู่ในโอลด์ แทรฟฟอร์ดได้ไม่นาน จนกระทั่งเปลี่ยนกุนซือมาเป็นโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ จึงทำให้มาร์กซิยาล ได้เสื้อหมายเลข 9 กลับคืนมา และมีโอกาสกลับมายึดตัวจริงในตำแหน่งหน้าเป้าอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง
มาร์กซิยาลตอบแทนความไว้ใจของโซลชาร์ ด้วยการทำไป 23 ประตูในทุกรายการ (17 ประตูในพรีเมียร์ลีก) ตลอดฤดูกาล 2019-20 และเป็นดาวซัลโวสูงสุดของทีม นอกจากนี้ยังเป็นผู้เล่นคนแรกของปีศาจแดงที่ทำแฮตทริกในพรีเมียร์ลีก นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยเขาทำไปคนเดียว 3 ประตู ให้แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดบ้านชนะเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 3-0 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2020
แต่ฤดูกาล 2020-21 กลับเป็นหนังคนละม้วน นอกจากปีศาจแดงจะพ่ายทีมดาบคู่คารังแล้ว ศูนย์หน้าหมายเลข 9 อย่างมาร์กซิยาลยังปืนฝืด ทำได้แค่ 2 ประตู จากทั้งหมด 16 นัดที่ลงเล่นในลีก และเป็นที่มาของเสียงก่นด่าจากแฟนบอล จนนำไปสู่การเหยียดผิว-เหยียดเชื้อชาติในที่สุด
ปัญหาเรื้อรัง
แม้พฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติในวงการกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังมีทั้งคดีแฟนบอลปากล้วยใส่ ดานี อัลเวส กองหลังชาวบราซิลของสโมสรบาร์เซโลนา ในลาลีกา สเปน เมื่อปี 2014
รวมถึงคดีแฟนบอลเชลซี ของอังกฤษ ออกไปก่อเรื่องขับไล่คนผิวดำออกจากตู้โดยสารรถไฟ และร้องเพลงเหยียดผิวในสถานีรถไฟกรุงปารีส ระหว่างเดินทางไปเชียร์ทีมรักทำศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง เมื่อปี 2015
ทว่า พฤติกรรมเหยียดผิวในปี 2021 ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ และไม่ธรรมดา เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติอย่างเข้มข้น แถมยังเกิดในยุค new normal ที่แฟนบอลไม่สามารถรวมตัวเข้าสนาม และทำได้เพียงติดตามทีมรักผ่านหน้าจอเท่านั้น
การรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติเกิดขึ้นในฟุตบอลทุกนัด นับตั้งแต่ลีกยุโรปกลับมาแข่งขันกันอีกครั้งหลังหยุดชะงักไปนานนับเดือน เมื่อช่วงต้นปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
คุกเข่าก่อนแข่ง
ในการแข่งขันยุคโควิด-19 ทันทีที่เสียงนกหวีดเริ่มต้นเกมดังขึ้นในแต่ละนัด แทนที่นักเตะจะวิ่งกรูเข้าหากันเหมือนก่อน ทั้งผู้เล่นและผู้ตัดสินกลับใช้เวลาชั่วขณะ คุกเข่าข้างหนึ่งลงบนพื้นสนามเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติและเหยียดผิว ก่อนจะกลับมาลุกขึ้นและเริ่มต้นการแข่งขันกันตามปกติ
พิธีกรรมนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ หรือ new normal ในวงการฟุตบอลยุโรป รวมถึงพรีเมียร์ลีกอังกฤษ การคุกเข่าลงบนพื้นสนาม คือ การแสดงพลังร่วมสนับสนุนขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว Black Lives Matter ซึ่งเริ่มต้นมาจากกีฬาอเมริกันฟุตบอลในสหรัฐอเมริกา และแพร่หลายไปทั่วโลก
ไม่ใช่แค่มาร์กซิยาล หรือตวนเซเบ ที่คุกเข่า แต่ผู้เล่นทุกคนไม่ว่าจะสีผิวอะไรก็ล้วนให้ความร่วมมือ และเป็นการคุกเข่าเพื่อปลุกจิตสำนึกทั้งนักเตะและแฟนบอลในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน
แนวรบโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การคุกเข่าก่อนเกม และอัฒจันทร์อันว่างเปล่าไร้เงาแฟนบอลท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 ยังไม่อาจสกัดกั้นพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งกำลังลามสู่โลกใหม่ในสังคมออนไลน์
ภายหลังแมนฯ ยูไนเต็ด ออกแถลงการณ์ปกป้องนักเตะทั้งสองของตน และเรียกร้องให้คนอื่น ๆ ร่วมมือกันหยุดยั้งพฤติกรรมน่ารังเกียจนี้ บรรดาเจ้าของแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างพากันออกมาขานรับ
Facebook ซึ่งเป็นเจ้าของ Instagram แถลงว่า บริษัทจะช่วยประสานกับทุกฝ่ายเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงและหาตัวผู้กระทำผิด ขณะที่ Twitter ระบุว่า พฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติถือเป็นการละเมิดกฎของแพลทฟอร์ม และบริษัทจะดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้กับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด
การร่วมมือกันครั้งนี้ของทุกฝ่ายเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังทั่วโลกมาช้านาน อาจยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
แต่อย่างน้อยก็แสดงออกถึงการตื่นตัวของแนวรบใหม่บนโลกออนไลน์ ที่ต้องการร่วมกันขจัดปัญหาหมักหมมนี้ให้หมดไป เพื่อให้นักบอลสามารถกลับไปโฟกัสกับการพัฒนาฝีเท้า และไม่ต้องคอยมานั่ง “คุกเข่า” เรียกร้องความเป็นธรรมอยู่อย่างนี้ตลอดไป
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ข้อมูลอ้างอิง: