อองซานซูจี: การต่อสู้ครั้งใหม่ของ ‘วีรสตรีประชาธิปไตย’ ผู้ตกอับ

อองซานซูจี: การต่อสู้ครั้งใหม่ของ ‘วีรสตรีประชาธิปไตย’ ผู้ตกอับ
เช้าตรู่วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ขณะผู้คนทั่วโลกตื่นมาเตรียมตัวเริ่มต้นเดือนใหม่และวันใหม่ของสัปดาห์ ที่ประเทศเมียนมากลับเหมือนย้อนเวลาหาอดีต เมื่อสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตทั่วกรุงเนปยีดอ และนครย่างกุ้ง ถูกตัดขาด รายการโทรทัศน์ทุกช่องระงับการออกอากาศ ทหารและรถถังออกประจำการตามท้องถนน พร้อมประกาศแถลงการณ์สิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งปกครองประเทศมานาน 5 ปี สำนักข่าวเมียวดีของกองทัพเมียนมา แถลงว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาได้เข้าควบคุมอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และแต่งตั้ง พล.อ.มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ ทำหน้าที่รักษาการณ์ผู้นำประเทศชั่วคราว การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ของเมียนมา จะเปิดการประชุมนัดแรก หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี วีรสตรีประชาธิปไตยแห่งเมียนมา เพิ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 แบบถล่มทลาย โดยคว้าที่นั่งทั้งหมดที่มีการเลือกตั้งไป 83% และจะได้อยู่ในอำนาจต่ออีก 5 ปี   เหตุผลที่ยึดอำนาจ กองทัพอ้างเหตุผลของการรัฐประหารครั้งนี้ว่า เพื่อปกปักรักษารัฐธรรมนูญ หลังก่อนหน้านี้ได้ออกมาประสานเสียงกับพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านและได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ โจมตีการเลือกตั้งปลายปี 2020 ว่าไม่โปร่งใส และไม่ยอมรับชัยชนะดังกล่าวของพรรค NLD พรรค USDP และกองทัพอ้างว่า พรรครัฐบาล NLD ของนางซูจี ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำการทุจริต ด้วยการปลอมแปลงรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนับ 10 ล้านราย จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศกว่า 37 ล้านคน การรัฐประหารเกิดขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังมีข่าวลือแพร่สะพัดว่า กองทัพเมียนมาจะออกมายึดอำนาจอีกครั้ง และ 2 วันก่อนการยึดอำนาจ กองทัพเพิ่งออกแถลงการณ์สยบข่าวลือด้วยการยืนยันว่า ทหารจะปกป้องรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้มีผู้นำทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวคนสำคัญถูกกองทัพควบคุมตัวไว้หลายคน รวมถึงประธานาธิบดีวิน มินต์ และนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นับเป็นการย้อนเวลาหาอดีตของเมียนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะสำหรับนางซูจี ที่เคยถูกควบคุมตัวมานานนับสิบปีในยุคเผด็จการทหารก่อนหน้านี้   กำเนิดวีรสตรี อองซานซูจี หรือที่ชาวเมียนมาเรียกว่า ‘ดอว์ซู’ เกิดวันที่ 19 มิถุนายน 1945 ในนครย่างกุ้ง ของเมียนมา ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าพม่า และเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เธอเป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่ายุคใหม่ และวีรบุรุษของประเทศเมียนมา เนื่องจากนายพลอองซานเป็นผู้เจรจาให้เมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1948 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ขณะอองซานซูจีมีอายุ 2 ขวบ ก่อนเมียนมาจะได้เอกราชอย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งปี พ่อของเธอถูกศัตรูทางการเมืองลอบสังหารเสียชีวิต ทำให้ดอว์ขิ่นจี มารดาของเธอต้องเลี้ยงดูซูจี และพี่ชายของเธออีก 2 คนเพียงลำพัง ชีวิตในวัยเด็กของซูจีคลุกคลีกับการเมืองมาตลอด โดยหลังจากเมียนมาได้เอกราช มารดาของเธอเข้าไปมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และมีผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาหาที่บ้านริมทะเลสาบอินยา ในนครย่างกุ้ง อย่างไม่ขาดสาย   พูด 4 ภาษา ความสามารถพิเศษของซูจี คือ การใช้ภาษา เธอสามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา ทั้งพม่า อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยในวัยเด็ก เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนเมโธดิสต์ อิงลิช ไฮสกูล ในนครย่างกุ้ง ก่อนติดตามมารดาไปเรียนต่อที่กรุงนิวเดลี ของอินเดีย ตอนอายุ 15 ปี หลังดอว์ขิ่นจีถูกแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ในปี 1960 ปี 1964 ซูจีจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ก่อนไปเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้ปริญญาตรีอีกใบด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ในปี 1967 และปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปีต่อมา นอกจากจะได้ปริญญา 2 ใบจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว ที่นั่นยังทำให้เธอได้พบรักกับไมเคิล อริส นักวิชาการหนุ่มชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ภูฏาน ทิเบต และหิมาลัย ก่อนทั้งคู่จะแต่งงานกันในปี 1972 และมีลูกชายด้วยกัน 2 คน (อเล็กซานเดอร์, คิม) หลังเรียนจบจากออกซฟอร์ด ซูจีทำงานด้านวิชาการอยู่พักใหญ่ รวมถึงการไปช่วยงานที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ อู ถั่น นักการทูตชาวพม่าได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น   เริ่มต้นการต่อสู้ อองซานซูจี เริ่มเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองในเมียนมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ระหว่างที่เธอเดินทางกลับไปเยี่ยมมารดาที่ป่วยหนัก และพักรักษาตัวอยู่ในนครย่างกุ้ง เมื่อปี 1988 โดยขณะนั้นสถานการณ์ในเมียนมากำลังร้อนระอุ เพราะนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวิน ซึ่งปกครองประเทศมายาวนาน 26 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาในย่างกุ้ง นำไปสู่การใช้กำลังปราบปรามของเจ้าหน้าที่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่รู้จักกันในชื่อ เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นางซูจี วัย 43 ปี เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองในเมียนมา หลังโศกนาฏกรรม 8888 ซูจีส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลทหาร เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก่อนจะขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มนักศึกษาเป็นครั้งแรก จนนำไปสู่การตั้งพรรค NLD ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมามองความเคลื่อนไหวของนางซูจี ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และพยายามสกัดกั้นเธอไม่ให้เข้าไปมีบทบาททุกวิถีทาง รวมถึงการบังคับกักบริเวณเธอในบ้านพักริมทะเลสาบหลายครั้ง เป็นระยะเวลารวมกันนานถึง 15 ปี ระหว่างปี 1989 - 2010   ถูกบีบให้ลี้ภัย นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังพยายามบีบให้เธอเดินทางออกนอกประเทศ ด้วยการปฏิเสธวีซ่าสามีของเธอ ไม่ให้เดินทางมาพบหน้าซูจีเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ประเทศอังกฤษ ในปี 1999 ก่อนหน้านั้นในปี 1991 นางซูจี ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเองที่ประเทศนอร์เวย์ โดยบุตรชายทั้งสองของเธอไปรับรางวัลแทน ขณะที่มารดายังคงปฏิเสธเดินทางออกจากเมียนมา เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถกลับเข้ามาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเกิดได้อีก อองซานซูจีได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี การต่อสู้ของเธอได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งร่วมกันคว่ำบาตรกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา จนสุดท้ายกองทัพจึงยอมให้มีการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในที่สุด   รัฐธรรมนูญทหาร อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในรอบ 25 ปีของเมียนมา ซึ่งจัดขึ้นในปี 2015 พรรค NLD ของนางซูจี จะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย และได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นเป็นครั้งแรก แต่รัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งยกร่างภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2017 (พ.ศ. 2560) ของไทย ยังคงพยายามรักษาอำนาจของกองทัพไว้ให้ถึงที่สุด รัฐธรรมนูญดังกล่าวของเมียนมา กำหนดให้ที่นั่งทั้งในสภาล่าง และสภาสูง 25% ต้องเป็นของคนในกองทัพ และตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ทั้งกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ก็ต้องใช้คนจากกองทัพเช่นกัน ขณะเดียวกันยังห้ามผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคู่สมรสหรือบุตรเป็นพลเมืองต่างชาติ ซึ่งเท่ากับเป็นการสกัดกั้นนางซูจีไม่ให้เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุด ก่อนเป็นที่มาของการอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ตั้งตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาแห่งรัฐ’ ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นางซูจียังมีอำนาจในรัฐบาล หลังเข้ารับหน้าที่บริหารประเทศสมัยแรกได้ไม่นาน ชื่อเสียงของอองซานซูจีในเวทีโลกก็ต้องมาด่างพร้อย เมื่อเธอถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ กรณีไม่พยายามออกมาต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุรุนแรงต่อต้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2017 กระแสต่อต้านนางซูจีทั่วโลก ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ยึดคืนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เคยมอบให้เธอในอดีต   ไม่ทำตามอุดมการณ์ นักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีของนางซูจีต่อชาวโรฮิงญา คือท่าทีของนักการเมืองที่ยึดหลักความเป็นจริงมากกว่าอุดมการณ์ เพราะเป็นการพยายามปกครองประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง และมีประวัติศาสตร์อันซับซ้อน นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงเป้าหมายหลักของเธอในการรักษาความนิยมและคะแนนเสียงในหมู่ชาวพุทธ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมทั้งพยายามปรองดองกับกองทัพ ซึ่งยังเป็นผู้เล่นหลักบนเวทีแห่งอำนาจ จุดยืนเรื่องโรฮิงญาของนางซูจี พิสูจน์แล้วในการเลือกตั้งสมัยที่สองปลายปี 2020 เมื่อพรรค NLD ของเธอ คว้าชัยมาได้แบบถล่มทลายอีกครั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้รับความไว้ใจจากกองทัพเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งใหม่ เป็นการยึดอำนาจที่ทำให้เมียนมากลับเข้าสู่วงจรเดิมแห่งการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ ระหว่างกองทัพกับพลเรือน ซึ่งยังมีวีรสตรีที่ชื่อ อองซานซูจี เป็นหัวหอก แต่การต่อสู้คราวนี้ในปี 2021 อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะอองซานซูจี อาจไม่มีชาวโลกคอยเป็นกำลังใจให้อย่างล้นหลามแบบในอดีตที่ผ่านมา   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.bbc.com/news/world-asia-55882489 https://edition.cnn.com/2021/01/31/world/myanmar-aung-san-suu-kyi-detained-intl/index.html https://www.cnbc.com/2021/02/01/myanmars-aung-san-suu-kyi-other-leaders-detained-in-raid-spokesman-says.html https://www.bbc.com/thai/55882563