‘นูนุก นูไรนิ’ หญิงสาวผู้เปลี่ยนบะหมี่พื้นบ้านอินโดฯ  ให้กลายเป็นหมี่โกเรงสำเร็จรูป ที่คนรักเส้นทั่วโลกหลงรัก

‘นูนุก นูไรนิ’ หญิงสาวผู้เปลี่ยนบะหมี่พื้นบ้านอินโดฯ   ให้กลายเป็นหมี่โกเรงสำเร็จรูป ที่คนรักเส้นทั่วโลกหลงรัก
ในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องเร่งปรับตัวให้ทันรับมือกับสถานการณ์ ‘double disruption’ นั่นคือถูกท้าทายทั้งจากการรุดหน้าของเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ สะเทือนผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่จำนวนมาก บางธุรกิจต้องพับแผนหลายอย่างออกไป บางธุรกิจอาจเจอกับเรื่องเศร้าถึงขนาดที่ต้องมีการปลดคน ปรับโครงสร้าง หรือเลวร้ายที่สุดคือ ธุรกิจนั้นอาจไม่ได้ไปต่อจนต้องมีอันยุติไป   แต่ไม่ใช่กับธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป   สมาคมบะหมี่สำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) เปิดเผยข้อมูลอัตราการเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2020 ผู้คนทั่วโลกบริโภคเจ้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2020 นั้น มียอดการบริโภคสูงถึง 106,420 ล้านซอง ช่วงที่เริ่มเติบโตก้าวกระโดดแบบมีนัยสำคัญก็คือ ช่วงรอยต่อระหว่างปลายปี 2019 ถึงปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มมีการแพร่ขยายไปทั่วโลกแล้ว   เหตุผลที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังคงเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจนั้นคงเดากันไม่ยากเท่าไร เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าหมวดของกินที่มีราคาถูก และหาซื้อได้ง่ายแล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังสอดคล้องต้องกันกับธรรมชาติของสินค้าด้วย กล่าวคือ ถ้าต้องอยู่บ้านนาน ๆ ไม่อยากออกไปสัมผัสกับผู้คน การตุนอาหารที่พร้อมกินอย่างบะหมี่แกะซอง เติมน้ำร้อน และรอเพียง 3-5 นาที ก็ตอบโจทย์ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัยเลย   บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินในหลายประเทศแถบเอเชีย หนึ่งในนั้นคืออินโดนีเซียที่มีตัวชูโรงอย่าง ‘หมี่โกเรง’ (mi goreng) ที่แปลว่า หมี่ผัด ส่งออกความอร่อยไปทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราเองด้วย ความโดดเด่นของหมี่โกเรงอยู่ที่ความเหนียวนุ่มของเส้น ผงและซอสปรุงรสหลากชนิดที่เมื่อนำมาผสมคลุกเคล้ากับบะหมี่ กินคู่กับไข่ดาวกึ่งสุกกึ่งดิบสักหน่อยก็พบกับความอร่อยได้ง่าย ๆ ไม่แปลกเลยที่หมี่โกเรง บะหมี่ต้นตำรับจากอินโดนีเซียจะครองใจคนรักเส้นมานานหลายทศวรรษ   ‘นูนุก นูไรนิ’ (Nunuk Nuraini) คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหมี่โกเรงในรูปแบบซองภายใต้แบรนด์ ‘อินโดมี’ (Indomie) เธอเป็นผู้จัดการด้านการพัฒนารสชาติแบรนด์อินโดมี ใต้ร่มบริษัท อินโด ฟู้ด มานานถึง 30 ปี ชื่อของนูนุกถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2021 หลังจากมีการเปิดเผยจากบริษัท อินโด ฟู้ด ว่า เธอได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 59 ปี    นูนุกจบการศึกษาจากสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยพัดจาดจารัน (Padjadjaran University) เมืองบันดุง ชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเรียนจบ เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนารสชาติ แผนกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บริษัท อินโด ฟู้ด เธอได้พัฒนาสูตรบะหมี่ที่เป็นรสชาติดั้งเดิมของชาวอินโดฯ มาไว้ในรูปแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายรสชาติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรสดั้งเดิม, รสโซโต, รสเรนดัง, รสแกงกะหรี่ไก่ หรือรสซัมบัล มาตาห์  . สูตรบะหมี่ฝีมือนูนุกที่สร้างชื่อให้กับอินโดมีมากที่สุดก็คงจะเป็น ‘mi goreng’ หรือรส ‘หมี่โกเรง’ อันโด่งดัง ที่หลังจากพัฒนาสูตรแล้ว ก็เริ่มมีการวางจำหน่ายในช่วงทศวรรษ 1980 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาดทั้งจากคนอินโดฯ เองและชาวฟิลิปปินส์ เว็บไซต์มะนิลา บุลเลติน ระบุว่า ตัวซอสซีอิ๊วหวาน ซอสพริก และน้ำมันปรุงรสพร้อมหัวหอมป่นที่มาในซอง เมื่อนำมาคลุกเคล้ากันแล้ว มันกลับลงตัวและอร่อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือ ‘truly Asian flavors’ อย่างแท้จริง   แต่ไม่ใช่รสชาติแห่งเอเชียเท่านั้น หมี่โกเรงยังออกไปตีตลาดเสิร์ฟความอร่อยให้ผู้คนทั่วโลกมากถึง 80 ประเทศ อาทิเช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง กระทั่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2019 ลอสแอนเจลิส ไทมส์ (Los Angeles Times) จัดอันดับให้บะหมี่แบรนด์อินโดมีเป็นหนึ่งในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รสชาติดีที่สุดใน 25 อันดับ    นอกจากนี้ ความเฟื่องฟูของหมี่โกเรงยังดังไกลถึงอังกฤษในช่วงปี 1986 จนนำไปสู่การสร้างโรงงานผลิตหมี่โกเรงขึ้นในซาอุดีอาระเบียถึง 3 แห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น โรงงานของอินโดมีในเมืองเจดดาห์มีความสามารถผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 2 ล้านแพ็คต่อวัน ซึ่งชาวซาอุดีอาระเบียเองก็นิยมกินหมี่โกเรงมาก ถึงขนาดที่มีนักโภชนาการให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวอาหรับ นิวส์ ว่า จุดอ่อนเดียวของเธอคือไม่สามารถต้านทานรสชาติของหมี่โกเรงได้ แม้จะรู้ดีว่า คุณค่าทางโภชนาการของมันไม่ดีต่อสุขภาพมากแค่ไหนก็ตาม   “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยทั่วไปไม่ใช่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมีโซเดียมผงชูรสและส่วนประกอบที่ผ่านกระบวนการในปริมาณมาก แต่ช่วยไม่ได้จริง ๆ ฉันโตมากับการกินอาหารอินโดมีที่บ้าน ฉันคิดว่า เราทุกคนทำได้ง่ายด้วยราคาไม่แพง แต่ฉันก็พยายามทำให้การกินหมี่โกเรงมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น โดยเพิ่มไก่หรือผักอะไรก็ได้ที่สดใหม่ อันที่จริง ฉันเคยพยายามทำหมี่โกเรงปรุงรสด้วยตัวเองด้วยซ้ำ แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าฉันจะพยายามแค่ไหน ฉันก็ไม่สามารถสร้างรสชาติแบบอินโดมีของแท้ขึ้นมาใหม่ได้เลย” เธอกล่าว   ไม่เพียงเท่านั้น แบรนด์อินโดมียังกลายเป็นป็อปคัลเจอร์ในซาอุดีอาระเบียด้วยสินค้าอื่น ๆ อย่างเสื้อยืด กระเป๋า เครื่องครัว ที่มีสติ๊กเกอร์โลโก้แบรนด์อินโดมีแปะอยู่ และยังนำไปสู่การสร้างเกมมือถืออย่าง ‘Indomie Dash’ ในปี 2013 ด้วย   ภายหลังการจากไปของนูนุกก็มีแฟนตัวยงของอินโดมีและหมี่โกเรง ออกมาโพสต์ข้อความไว้อาลัยให้กับเธอมากมาย คุณูปการของนูนุกทำให้เราได้ลิ้มรสบะหมี่อินโดมีแสนอร่อย โดยไม่ต้องบินไกลไปถึงประเทศต้นกำเนิด แม้มาในรูปแบบซองกึ่งสำเร็จรูปก็ตาม หมี่โกเรงก็ยังคงไว้ซึ่งรสชาติที่หอมอร่อยยาวนาน ไกลถึง 80 ประเทศทั่วโลก   “ขอบคุณสำหรับรสชาติที่อร่อยของอินโดมี ฉันหวังว่าการกระทำที่ดีและคำอธิษฐานของคุณจะได้รับการยอมรับและวางไว้ในสถานที่ที่สวยงามเคียงข้างพระองค์” ข้อความหนึ่งจากทวิตเตอร์ชาวอินโดนีเซีย   เรื่อง: พิราภรณ์ วิทูรัตน์   อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.arabnews.com/node/1801621/saudi-arabia https://www.bbc.com/news/world-asia-55851053 https://mb.com.ph/2021/01/30/nunuk-nuraini-the-woman-behind-mi-goreng-instant-noodles-passes-away-at-59/?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=nunuk-nuraini-the-woman-behind-mi-goreng-instant-noodles-passes-away-at-59 https://coconuts.co/jakarta/food-drink/nunuk-nuraini-the-woman-behind-indomies-iconic-flavors-dies-at-59/ https://headlinesmania.com/indonesiaeng/this-is-the-biography-of-nunuk-nuraini-a-hybrid-of-indomie-who-died-at-the-age-of-59/