‘ปฏิบัติการครัวซองต์’ เมื่อฝรั่งเศสข้ามทะเลมาแจกขนมจันทร์เสี้ยวที่ลอนดอนเพื่อต้าน Brexit
แม้แต่ใน ‘ครัวซองต์’ ก็มีการเมือง...
ถัดจากโรตีบอย คริสปี้ครีม โดนัท ชานมไข่มุกพ่นไฟ ก็เห็นทีจะเป็นคราวของครัวซองต์ที่กำลังเข้ามายึดพื้นที่ตลาดอาหารและครองใจประชาชนชาวไทย และพลเมืองชาวเน็ตในขณะนี้
ขนมอบครัวซองต์นี้ มีการเดินทางที่แสนยาวนาน ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และห้วงเวลา ขนมนี้ว่ากันว่า เกิดที่ออสเตรีย แล้วมาโตที่ฝรั่งเศส จากภาคพื้นยุโรปสู่ทุกมุมโลก จากสงครามและความขัดแย้งทางการเมือง สู่ขนมอร่อยลิ้น
เรื่องราวและเรื่องเล่าของขนมอบรูปร่างคล้ายจันทร์เสี้ยวที่เมื่อผ่ากลางตัวพระจันทร์เพื่อโชว์ความงามของเรือนร่างขนม ผ่านชั้นที่ซับซ้อนของแป้งและเนยอันบางเฉียบ แถมยังมีเนื้อสัมผัสอันกรอบร่วนที่เมื่อกัดด้านนอกจะต้องมีเกล็ดขนมปังเล็ก ๆ ร่วนติดเสื้อผ้า หรือไม่ก็ติดริมฝีปาก หากแต่ความกรอบร่วนด้านนอกนั้น เนื้อสัมผัสด้านในกลับบางเบาและพองฟูชิ้นนี้มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว
จากสงครามแล้วก็บึ้มเป็นครัวซองต์
อันที่จริงเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของครัวซองต์มีอยู่มากมาย แต่เรื่องที่เป็นที่เล่าขานกันอย่างกว้างขวางคงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1683 นักอบขนมชาวเวียนนาที่ทำงานกลางดึก (บางที่ก็ว่าตอนเช้ามืด) ได้ยินเสียงการขุดอุโมงค์เพื่อลอบโจมตีเมืองเวียนนาของทหารออตโตมัน
เมื่อได้ยินเสียงขุดอุโมงค์นั้น นักอบขนมจึงได้รีบไปแจ้งข่าวการซุ่มโจมตีของทหารออตโตมันแก่ทหารเวียนนา ทำให้กองกำลังทหารของเวียนนาได้รู้ว่าภัยศึกกำลังจะคืบคลานใกล้เมืองเข้ามาเต็มที เหล่าทหารเวียนนาจึงตระเตรียมและป้องกันการบุกโจมตีของทหารออตโตมันได้ทันท่วงที จนทำให้เหล่าทหารจากจักรวรรดิออตโตมันต้องแพ้ราบไปในศึกครั้งนั้น
นักอบขนมชาวเวียนนา (ที่กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการชนะสงครามครั้งนั้น) จึงหาวิธีการประกาศชัยชนะของเวียนนาด้วยการทำขนมที่ชื่อว่า ‘คิปเฟล’ (kipfel) ให้มีรูปร่างคล้ายจันทร์เสี้ยว (ธงของจักรวรรดิออตโตมันมีสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยวอยู่) ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการเอาคืนในแบบฉบับคนอบขนมที่รู้สึกชอบใจเมื่อได้เห็นลูกค้ากัดกินขนมจันทร์เสี้ยวนี้ในทุกเมื่อเชื่อวัน
อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับการเดินทางของครัวซองต์ (ที่ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าขานต่อกันมา) ยังคงเชื่อมโยงกับชาวออสเตรีย และชาวออสเตรียผู้นี้ก็เป็นคนดังทั้งในออสเตรียและในฝรั่งเศส สุภาพสตรีท่านนั้นคือ พระนางมารีอ็องตัวแน็ต
ว่ากันว่าในขณะที่พระนางมารีอ็องตัวแน็ตทรงอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส (ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์และมีพระฉายานามว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเวลาต่อมา) ได้มาประทับอยู่และพระนางเกิดคิดถึงออสเตรียบ้านเกิด จึงได้มีรับสั่งให้เชฟในวังอบขนมออสเตรีย ‘คิปเฟล’ นี้ขึ้นมาเพื่อให้พระนางคลายความคิดถึงบ้าน จุดนี้เองจึงเป็นที่มาของการเดินทางของขนมคิปเฟลจากออสเตรียมาถึงฝรั่งเศส
เกิดที่ออสเตรียโตที่ฝรั่งเศส
เรื่องเล่าถัดไปเกี่ยวกับต้นกำเนิดของครัวซองต์ เกิดจากนักลงทุนชาวออสเตรียที่ชื่อ เอากุสต์ ชาง (August Zang) ที่ลงทุนเปิดร้านเบเกอรีเวียนนาสาขาแรกในกรุงปารีส เมื่อปี 1838 ว่ากันว่าเอากุสต์ ชาง เป็นนักลงทุนที่ทำการตลาดเก่งมาก เขาใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงให้กับเบเกอรีหน้าใหม่ของเขาด้วยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ บวกกับเทคนิคในการจัดแสดงขนมอบเวียนนาชนิดต่าง ๆ ไว้อย่างสวยงามหน้ากระจกร้าน ทำให้เหล่าปารีเซียงที่เดินผ่านไปมาหน้าร้านต่างอดไม่ได้ที่จะแวะเข้ามาชิมขนมอบเวียนนาแห่งนี้สักครั้ง
แน่นอนว่าบรรดาขนมอบที่ถูกเอามาตั้งโชว์เรียงรายต้องมีขนมอบเวียนนาจันทร์เสี้ยวสุดคลาสสิกอย่าง ‘คิปเฟล’ อยู่ด้วย และด้วยเหตุนี้เองชาวฝรั่งเศสจึงได้โอบรับเอาคิปเฟลเอาไว้ และนำไปดัดแปลงเนื้อสัมผัสและรสชาติของครัวซองต์ให้หลากหลายแบบดั่งที่เราได้เห็นและได้ชิมกันอยู่ในปัจจุบัน
อันที่จริงคนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าครัวซองต์ซึ่งมีต้นกำเนิดจากออสเตรีย และได้ถูกพัฒนาจนโด่งดังไปทั่วโลกนี้เป็นขนมฝรั่งเศส เพราะเรามักจะเห็นเจ้าขนมอบแสนอร่อยนี้ในร้านเบเกอรีฝรั่งเศส โดยจิม เฌฟอะเลีย (Jim Chevallier) นักวิชาการ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์อาหารฝรั่งเศส ยังเคยพูดเอาไว้ว่า “ครัวซองต์ถือกำเนิดจากคิปเฟล แต่ ณ วินาทีที่มันได้ถูกดัดแปลงเนื้อสัมผัสจากคนฝรั่งเศสจนกลายเป็นแป้งพัฟแบบที่เรากินกันอยู่...บัดนั้นมันก็ได้กลายสัญชาติมาเป็นขนมฝรั่งเศสแล้ว”
จากเหตุการณ์ที่ทหารออตโตมันแอบซุ่มโจมตีเพื่อบุกยึดเวียนนา ในปี 1683 จนเกิดการปั้นขนมรูปจันทร์เสี้ยวเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะสงครามของคนอบขนม และครัวซองต์ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางการเมืองและการสงคราม
ครัวซองต์ในฐานะเครื่องมือต้านโหวต Brexit
เวลาผ่านไป 333 ปี เมื่อ ค.ศ. 2016 ครัวซองต์ได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 สหราชอาณาจักรได้มีการลงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของพลเมืองในอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ (ไอร์แลนด์เหนือ, สกอตแลนด์ และเวลส์) เรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในฝรั่งเศสที่ไม่ต้องการให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และพวกเขาเหล่านั้นใช้กลยุทธ์ที่เรียกร้องให้ประชาชนจากสหราชอาณาจักรลงมติให้ “ไม่ออกจากสหภาพยุโรป” โดยแผนการดังกล่าวถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการครัวซองต์” (Operation Croissant)
ต้นกำเนิดของปฏิบัติการครัวซองต์นั้นแสนจะเรียบง่าย โรซ่า แรนกิน-จี (Rosa Rankin-Gee) หญิงสาวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสที่มีอายุเพียง 29 ปี (ในขณะนั้น) เธอเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีปฏิบัติการนี้ ได้เคยพูดไว้ว่า เธอต้องการให้ผู้คนรู้สึกถึงบรรยากาศของความอ่อนโยนในการลงประชามติครั้งนี้บ้าง เธอเข้าใจดีว่าการลงประชามติ มันมีแค่สองทางให้เลือก คือ ‘อยู่ต่อ’ หรือ ‘ไม่อยู่ต่อ’ ผู้คนส่วนใหญ่อารมณ์พาไป เพราะอินกับการเมือง พาลไปถึงเลือกใช้คำพูดแรง ๆ เพื่อเสียดสีหรือด่าหยาบคายเพื่อโจมตีความคิดคนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามตนเอง
โรซ่าไม่ได้อยากให้มีการแยกสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เธอต้องการที่จะเดินทางไป-มา และใช้ชีวิตอยู่ระหว่างประเทศทั้งสองอย่างอิสระทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส เธอจึงเริ่มพูดคุยกับเพื่อนที่มีความคิดเหมือนกัน จนเพื่อนทุกคนมีความคิดว่าอยากจะแสดงออกอะไรบางอย่างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวสหราชอาณาจักรยังคงเลือกที่จะอยู่ต่อในสหภาพยุโรป
แต่พวกเธอจะแสดงออกอย่างไรดี?
โรซ่ามีโอกาสได้คุยกับเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกโหวต ‘อยู่ต่อ’ หรือ ‘แยกจาก’ สหภาพยุโรป (เพื่อนคนนี้ของโรซ่าทราบดีว่าเธอต้องการให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป) โรซ่าจึงถามเพื่อนคนนั้นว่า
“ถ้าฉันส่งครัวซองต์ให้คุณ คุณจะเปลี่ยนใจมาโหวต (เพื่ออยู่ต่อ) ไหม?”
“ได้สิ (ฉันจะโหวตให้อยู่ต่อ)” เพื่อนคนนั้นยิ้มแล้วตอบโรซ่า
และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ ‘ปฏิบัติการครัวซองต์’ โรซ่าคิดว่าเธอจะใช้ครัวซองต์เป็นสัญลักษณ์จากใจคนที่อยู่ที่ฝรั่งเศสโน้มน้าวใจชาวสหราชอาณาจักรให้อยู่ต่อกับสหภาพยุโรป
จะเริ่มปฏิการครัวซองต์ได้ ก็ต้องมีครัวซองต์
โรซ่าพร้อมกลุ่มเพื่อนชาวอังกฤษและฝรั่งเศสจึงรวมตัวกัน แล้วไปขอร้องให้ร้าน ปัวลาน (Poilâne) เบเกอรีเจ้าดังในกรุงปารีสที่ก่อตั้งร้านมาตั้งแต่ปี 1932 สนับสนุนปฏิบัติการนี้ด้วยการบริจาคครัวซองต์ของร้านจำนวน 600 ชิ้นให้กับพวกเขา แล้วพวยแลนก็สนับสนุนพวกเขาโดยการอบครัวซองต์แสนอร่อยให้พวกเขาจริง ๆ
แต่ครัวซองต์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ โรซ่าและเพื่อน ๆ ยังตระเตรียมโปสต์การ์ดที่ด้านหน้ามีรูปวาดครัวซองต์พร้อมข้อความ
“Ceci n’est pas qu’un croissant” (นี่ไม่ใช่แค่ครัวซองต์)
ด้านหลังของโปสต์การ์ดเป็นข้อความที่โรซ่าและเพื่อน ๆ ระดมจากเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่ต้องการให้ชาวสหราชอาณาจักรอยู่ต่อกับพวกเขาในสหภาพยุโรป ข้อความดังกล่าวส่วนใหญ่จะแสดงถึงความผูกพัน ความรักที่ชาวฝรั่งเศสมีให้แก่ชาวสหราชอาณาจักร เช่น
“แฟนผมเป็นคนอังกฤษ ผมเป็นคนฝรั่งเศส และมันจะดีกว่าถ้าเราได้อยู่ด้วยกัน ก็เหมือนกับนมที่ต้องคู่กับชา และก็เหมือนกับ UK (สหราชอาณาจักร) ที่ต้องคู่กับ EU (สหภาพยุโรป) ไงล่ะ”
“สวัสดี...ผมแค่อยากจะบอกว่า ผมคงจะคิดถึงคุณมากถ้าคุณออกจาก EU ไป แล้วพวกผมจะทำยังไงกันเล่าถ้าขาดคุณ? ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และไหนจะเรื่องอื่น ๆ อีก พวกเราต้องการคุณนะครับ ทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ จากคุณ เรื่องดนตรี เรื่องเสื้อผ้า เรื่องอาหาร ไหนจะสำเนียงและอารมณ์ขันของคุณอีก...อังกฤษอยู่ในใจผมเสมอนะ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนฝรั่งเศส และเป็นปารีเซียงตั้งแต่หัวจรดเท้าก็เถอะ ผมรักคุณนะ อยู่ต่อกับพวกเราเถอะ”
(อันที่จริง ภายหลังเมื่อข้อความเหล่านี้ถูกแจกจ่ายออกไป ชาวสหราชอาณาจักรหลายคนยอมรับว่าพวกเขาเซอร์ไพรส์มากที่ชาวฝรั่งเศสยังมีความรู้สึกที่เป็นมิตรไมตรีต่อพวกเขาขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ที่แสนจะเข็ดฟันต่อกันและกันมาเป็นเวลานาน)
กลับมาที่โรซ่าและเพื่อน ๆ หลังรวบรวมไอเดียและระดมให้คนมาเขียนโปสต์การ์ดถึงชาวสหราชอาณาจักรได้แล้ว โรซ่าก็เผยแพร่ข่าวนี้ออกไป เธอและเพื่อน ๆ จะไปแจกครัวซองต์ 600 ชิ้นที่สถานี King’s Cross ที่กรุงลอนดอน ในเช้าตรู่ก่อนวันลงประชามติ
และในคืนวันก่อนที่เธอจะเริ่มปฏิบัติการครัวซองต์ เธอก็ได้รับข้อความจากตำรวจนครบาลแห่งกรุงลอนดอน
ข้อความนั้นระบุว่า เธอไม่สามารถก่อปฏิบัติการครัวซองต์ได้ เพราะการแจกจ่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อจุดประสงค์ที่จะชักจูงให้คนโน้มเอียงในการออกเสียงประชามติ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
แต่โรซ่าก็ยังไม่ยอมแพ้ เธอปรึกษากับทนายความและตัดสินใจว่าเธอจะยังคงเดินหน้าปฏิบัติการครัวซองต์ต่อไป
วันที่ 22 มิถุนายน 2016 (วันก่อนลงประชามติ Brexit 1 วัน) ปฏิบัติการครัวซองต์ก็ได้เริ่มขึ้น
โรซ่าและเพื่อนร่วมปฏิบัติการ 15 คนนั่งรถไฟยูโรสตาร์เที่ยวแรกที่ออกจากปารีสเพื่อเดินทางมาที่ลอนดอน พวกเธอไม่ได้แจกครัวซองต์พร้อมโปสต์การ์ดแบบที่ตั้งใจไว้ เพราะนั่นจะขัดกับกฎหมาย แต่สิ่งที่พวกเธอทำคือแจกโปสต์การ์ดให้กับผู้คนบริเวณสถานี King’s Cross (ซึ่งตำรวจก็ไม่อนุญาตให้เธอและเพื่อน ๆ แจกโปสต์การ์ดและเชิญเธอและเพื่อน ๆ ให้ออกไปจากสถานีอยู่ดี)
โรซ่าและทีมจึงออกมายืนแจกโปสต์การ์ดพร้อมตะโกนว่า “โปสต์การ์ดจากปารีสค่ะ” และนำครัวซองต์ทั้ง 600 ชิ้นไปมอบให้แก่สถานพักพิงของคนไร้บ้านในลอนดอน
เรื่องจึงกลายเป็นว่า ทั้งผู้คนที่สถานี King’s Cross ที่ได้อ่านข้อความในโปสต์การ์ดจากมิตรสหายฝรั่งเศสที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก ทั้งเหล่าคนไร้บ้านที่ได้ลิ้มรสครัวซองต์จากร้านดังของปารีสต่างก็มีรอยยิ้มในเช้าวันนั้น
ถึงแม้ชาวสหราชอาณาจักร 51.9% โหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป แต่ปฏิบัติการของโรซ่าและเพื่อนในวันนั้นสร้างเรื่องเล่าใหม่ของครัวซองต์ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองให้ครัวซองต์ไม่เป็นเพียงแต่สัญลักษณ์ของชัยชนะสงคราม แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความรัก
ที่มา:
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2016/feb/23/a-short-history-of-the-croissant-shows-its-viennese-not-french#:~:text=%2C%2020%20February).-,Croissants%20are%20Viennese%20and%20were%20created%20in%20celebration%20of%20the,part%20of%20the%20Ottoman%20flag.
https://www.biography.com/news/king-louis-xvi-and-marie-antoinette-execution-anniversary
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/croissant-really-french-180955130/
https://independent.academia.edu/JimChevallier#:~:text=I%20am%20an%20independent%20food,Outstanding%20Academic%20Title%20for%202019.
https://www.vogue.com/article/apollonia-poilane-spills-the-secret-to-a-perfect-loaf-cookbook
https://www.poilane.com/en/
https://www.newyorker.com/culture/culture-desk/fighting-brexit-with-six-hundred-croissants
https://www.theguardian.com/politics/2016/jun/22/operation-croissant-uk-law-foils-plan-to-hand-out-pastry-with-pro-eu-cards
https://www.bbc.co.uk/news/politics/eu_referendum/results
ภาพ: จากเพจ Operation Croissant