‘น้องจอย’ (Joy) ที่จั่วหัวไว้ตามชื่อเรื่อง เป็นคาแรกเตอร์ ‘ความสนุก’ ในแอนิเมชันของค่ายพิกซาร์ ที่มีชื่อว่า Inside Out (2015) ซึ่งเป็นแอนิเมชันที่เล่นกับ ‘จิตสำนึก’ (Conscious Mind) ภายในตัวคนซึ่งมีหลากหลาย ‘อารมณ์’ จนถูกสร้างออกมาเป็นคาแรกเตอร์อย่าง ‘น้องจอย’ - ความสนุก (Joy), ความเศร้า (Sadness), ความรู้สึกขยะแขยง (Disgust), ความโกรธ (Anger) และ ความกลัว (Fear)
สิ่งที่อยู่ในตัวของมนุษย์คืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ถูกขัดเกลาออกมาเป็นแนวจิตวิทยาเบื้องต้น เพื่อสร้างความเข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า จิตทำงานอย่างไร แล้วมันสะท้อนออกมาให้เห็นบุคลิกภาพแบบไหน? ซึ่งนอกจากเรื่องอารมณ์ แล้ว ยังมีคาแรกเตอร์อื่นที่พูดถึง ความฝัน จิตใต้สำนึก ฝ่ายลบความทรงจำ และเพื่อนในจินตนาการ คอยมาสร้างสีสันภายในแอนิเมชันเรื่องนี้
หนังเล่าเรื่องของหนูน้อยไรลีย์ สาวน้อยวัย 11 ขวบ ที่ย้ายมาจากเมืองหนาว ๆ ที่มีฮ็อคกี้น้ำแข็งเป็นกีฬาฮิต อย่าง มินเนโซต้า มาที่เมืองที่แตกต่างกันอย่างซานฟรานซิสโก เธออยู่ในความสับสนในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ ทั้งบ้านใหม่และเพื่อนใหม่
เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังภายนอกจิตใจของหนูน้อย สามารถรีวิวจบได้ด้วยฟอนต์ Angsana New ขนาด 16 แบบย่อหน้าข้างต้นแค่ 2 บรรทัดก็จบแล้ว แต่ที่หนังร่ายยาวไปถึงชั่วโมงครึ่งนั้นมาจากเรื่องราวที่อยู่ใน ‘จิตสำนึก’ ของน้องไรลีย์ต่างหากที่อธิบายอย่างละเอียดลออ ผ่านกลุ่มตัวละคร ‘อารมณ์’ ที่แตกต่างกัน
แรกเริ่มเดิมที ในครอบครัวทั่วไป ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง หากโตมาโดยที่สภาพแวดล้อมไม่ได้พบกับความเลวร้ายมากนัก โตมาแบบใส ๆ ชีวิตในวัยเด็กส่วนมากก็คงจะเต็มไปด้วย ‘น้องจอย’ หรือความสนุกสนาน ซึ่งในหนังแทนด้วยลูกแก้ว ‘สีเหลือง’ เป็นสัญลักษณ์แทนตัว ‘น้องจอย’
ช่วงวัยเด็ก ในแผงปฏิบัติการด้านบุคลิกภาพในตัวของเด็กน้อย จึงเต็มไปด้วยลูกแก้วสีเหลือง จนความเป็น ‘น้องจอย’ จึงทาบทับความเป็น ‘ไรลีย์’ เกือบพอดี อาจจะมีเพียงลูกแก้วสีอื่น(อารมณ์อื่น) เข้ามาแทรกเพียงเล็กน้อย อย่างเช่น ลูกแก้ว ‘สีเขียว’ ตัวแทนความรู้สึกขยะแขยง(Disgust) โผล่ออกมาตอนที่เธอปฏิเสธการทานบรอกโคลี
โลกในวัยเด็กของไรลีย์จึงเต็มไปด้วยความสุข แต่พอหนังเล่ามาสู่ปมของเรื่อง บทหนังของ Inside Out ฉลาดมาก ที่พยายามจับเงื่อนไข 2 อย่างที่กระทบต่อการเปลี่ยนผ่านของบุคลิกภาพของเด็กสาวมาเล่าเรื่อง นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กมาสู่วัยรุ่น และการย้ายบ้านของเธอซึ่งนำมาสู่การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ
ในช่วงเวลานั้นเอง ภายในใจของไรลีย์ ‘น้องจอย’ มองว่าตัวเองคือตัวตนของไรลีย์เกือบทั้งหมด เธอจึงยึดติดกับโลกความสนุกสนาน จนลืมไปว่า พัฒนาการของวัยและโลกภายนอก มันไม่ได้มีแต่ความสนุกสนานเหมือนที่เคยเป็นแล้ว
‘อารมณ์’ อื่น ๆ ที่อยู่ในตัวเธอ จึงขัดแย้งกับสิ่งที่ ‘น้องจอย’ ต้องการจะให้เป็น โดยเฉพาะเพื่อนรักของเธออย่าง ‘น้องเศร้า’ (Sadness – ลูกแก้วสีน้ำเงิน) ที่นับวันยิ่งเข้ามายุ่งกับลูกแก้วทางอารมณ์ในส่วนที่เป็นความทรงจำถาวร จนน้องจอยต้องคอยห้ามปรามเพราะกลัวไรลีย์จะเศร้าจนเกิดเรื่องวุ่น ๆ ขึ้นมาซึ่งมีผลให้ไรลีย์ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่จนคิดจะหนีกลับมินเนโซต้า
เรื่องวุ่น ๆ นี้ ทำให้ตัวจอย ได้เรียนรู้ว่า ควรจะใจกว้างที่จะเข้าใจว่า ในโลกความเป็นจริง เราไม่อาจจะ ยึดรั้งความสนุกสนาน ความสุข ไว้กับตัวเราได้เสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องเผชิญ มีทั้งเรื่องหวานขม ระคนกันไป
เราไม่อาจจะโอบกอด ‘ความสนุก’ ไว้กับชีวิตได้ตลอดกาล ความสนุก ความสุข จึงไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง ตรงกันข้าม ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้ สิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงและทำให้เราเรียนรู้ชีวิต ต้องอาศัย ‘อารมณ์’ อื่น ๆ ในการสร้างความเข้าใจโลกด้วย แม้แต่ “ความเศร้า” ในบางเวลา ก็ช่วยประคองชีวิตให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นมาได้
‘โลกสวย’ จึงไม่เท่ากับความสนุก ความสุขอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการที่อารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาประกอบเป็นตัวเราอย่าง ‘สมดุล’
Inside Out จึงไม่เพียงแต่สำรวจ ‘โลกภายใน’ ของตัวไรลีย์เอง แต่มันยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อน ให้ย้อนกลับมาดูโลกภายในของตัวเราเองอีกด้วย