ปิกาจูซ่อนอะไรไว้ในการไม่พูด

ปิกาจูซ่อนอะไรไว้ในการไม่พูด
จากโฆษณา Pokemon Detective Pikachu เราได้เห็นความหงุดหงิดใจจากแฟนๆ อยู่สองเรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือทำไมปิกาจูมีขน ส่วนเรื่องที่สอง ทำไมมันพูดได้ และพูดเฉยๆ ไม่พอ ยังไม่ได้พูดอย่างน่ารักเรียบร้อย มันถูกให้เสียงพากย์ภาษาอังกฤษและสวมใส่สีหน้าโดย Ryan Reynold คนเดียวกับที่เป็น Deadpool (ฮีโร่กวนตีนๆ ตัวหนึ่งใน Marvel) เรื่องที่ผมสนใจไม่ใช่เรื่องขน ผมสนใจความหงุดหงิดของเราที่มีต่อการพูดของปิกาจู เมื่อในโอกาสนี้ปิกาจูจะต้องเป็นตัวละครที่ทำหน้าที่สืบสวนสิ่งต่างๆ ควบคู่ไปกับมนุษย์ มันจึงต้องถูกเขียนให้พูดได้ แต่สิ่งนี้ก็เชื้อเชิญให้เราคิดได้ด้วยว่า แล้วทำไมที่ผ่านมานี้มันจึงถูกทำให้พูดไม่ได้มาโดยตลอด การไม่พูดของปิกาจูและโปเกมอนตัวอื่นๆ กำลังทำหน้าที่อะไร? และสิ่งนั้นเกี่ยวกันบ้างไหมกับความหงุดหงิดของพวกเราเอง? ก่อนหน้านี้ในโปเกมอนเดอะมูฟวี I Choose You จู่ๆ ปิกาจูที่ใกล้จะตายก็ถูกทำให้สื่อสารเป็นภาษามนุษย์กับซาโตชิได้ขึ้นมา ประมาณว่า ‘ที่ไม่อยากอยู่ในบอลก็เพราะอยากจะอยู่ข้างๆ กันตลอดเวลา’ การพูดครั้งนี้ต่างจากการพูดของ Detective Pikachu คือมันไม่ได้ทำให้ใครหงุดหงิดมากนัก ในทางกลับกัน มันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเทรนเนอร์กับโปเกมอนทั้งจักรวาลกลายเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ ซาโตชิไม่ต้องมโนอีกต่อไปว่าโปเกมอนของตัวเองรักเขา มันพูดออกมาแล้วว่ามันรัก เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถเก็บข้าวของกลับบ้านได้อย่างปราศจากความเคลือบแคลงใจ โปเกมอนกับเทรนเนอร์อยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์มิตรภาพที่ซื่อสัตย์ต่อกัน สิ่งนี้ถูกยืนยันโดยปากคำของโปเกมอนเอง ปิกาจูที่พูดว่า ‘โปเกมอนรักเทรนเนอร์’ ออกมาซื่อๆ ดูเหมือนจะไม่เป็นปัญหา แต่ปิกาจูที่พูดมากเกินไปจนทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันไม่ซื่อ...   ผมอยากจะสนทนาถึงเรื่องอื่นสักเรื่องหนึ่งก่อนจะพูดถึงเรื่องการพูดหรือไม่พูดของโปเกมอนต่อไป เป็นความค้างคาใจในวัยเด็กของผมเอง คือมนุษย์และโปเกมอนในโลกของโปเกมอน กินอะไร? สรุปว่าพวกเขากินโปเกมอนแหละครับ อยากให้นึกถึงโปเกมอนตัวหนึ่งชื่อ Farfetch’d มันเป็นเป็ดที่ถือต้นหอมอยู่ในมือ ตลกดี เพื่อนผมคนหนึ่งที่ไม่ได้โตมากับโปเกมอนเห็นภาพมันแล้วบอกว่านึกถึงเป็ดปักกิ่ง สิ่งที่อยากจะเอามาให้พิจารณากันก็คือคำอธิบายถึงโปเกมอนตัวนี้จากโปเกเด็กซ์ (สารานุกรมโปเกมอน) ที่เขียนโดยผู้เขียนโปเกมอนแต่ละรุ่นที่ต่างกันออกไปสี่รุ่น   ปิกาจูซ่อนอะไรไว้ในการไม่พูด Farfetch’d ในภาคดั้งเดิม เป็ดปักกิ่งตัวนี้ถูกอธิบายว่าสามารถนำมาประกอบอาหารได้เอร็ดอร่อย โดยเฉพาะเมื่อปรุงด้วยต้นหอม (คงเป็นต้นที่ถืออยู่นั่นแหละ โยนลงไปทีเดียวเลย) และด้วยเหตุนี้เองมันจึงใกล้สูญพันธุ์ แต่ในภาคถัดๆ มาอีกสามภาค เราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายเกิดขึ้น ต้นหอมนั้นกลายเป็นสิ่งที่มันเอาไว้ทำรัง และมันก็แค่หายากเฉยๆ ไม่ได้หายากเพราะถูกมนุษย์กิน ต่อมาต้นหอมกลายเป็นสิ่งที่มันถือเอาไว้คล้ายดาบ ใช้ตัดสิ่งอื่นๆ ออกจากกันได้ และในคำอธิบายสุดท้าย มันถูกอธิบายว่าต้นหอมนั้นคืออาวุธ Farfetch’d จากที่เคยเป็นโปเกมอนตัวหนึ่งที่น่าจะใกล้เคียงกับอาหารในโลกของเรา ถูกทำให้ค่อยๆ กลายเป็นโปเกมอนที่พร้อมต่อสู้และเป็นเพื่อนกับเทรนเนอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในภาคหลัง ความสงสัยที่เราจะมีต่อคนในโลกโปเกมอนว่าคนเหล่านั้นทั้งกินโปเกมอนไปด้วย และเรียกมันว่าเพื่อนไปด้วยหรือเปล่า ก็ค่อยๆ หายตามไปด้วย บทบาทอื่นๆ ของโปเกมอนในแบบที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่มีอยู่ในโลกของเรานั้น ได้ถูกเขียนให้หายไปเพื่อตัดการตั้งคำถามต่อธรรมชาติของตัวเราเองออกไป เราเลิกสงสัยธรรมชาติของการต้องบริโภคชีวิตอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเราเอง ไม่ควรจะมีโปเกมอนตัวไหนที่เป็นป้ายบอกทางออกจากโลกของการ์ตูน และชี้นำให้เราสามารถตีความให้กลับมาสงสัยธรรมชาติของตัวเองบนโลกของเราแบบที่มันเป็นอยู่ได้ การแก้ไขคำอธิบาย Farfetch’d อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการตัดสินใจร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมายระหว่างผู้เขียนหลายๆ คนที่เขียนต่อกันมาเป็นทศวรรษ พวกเขาพยายามช่วยกันทำให้สิ่งใดๆ ที่อาจจะกระตุ้นให้เราเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโปเกมอน หายไป ปิกาจูซ่อนอะไรไว้ในการไม่พูด ครั้งที่ชัดเจนที่สุดที่พวกเขาทำแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นใน Pokemon the Movie ครั้งแรก ชื่อตอน ‘ความแค้นของมิวทู’ ผู้เขียนยอมให้เราสงสัยได้ว่าโปเกมอนเป็นทาสของมนุษย์หรือเปล่า และถือโอกาสตอบคำถามนั้น พวกเขาได้เขียนให้เราเห็นถึงภาพของโปเกมอนชื่อมิวทูจับโปเกมอนอื่นๆ มาทำเป็นทาส และต่อสู้กันเอง ฉายภาพให้เราเห็นถึงอำนาจเหนือโปเกมอนในแบบที่โหดร้ายกว่าปกติ ในโอกาสนี้ เหล่าผู้เขียนถือโอกาสแสดงให้เราเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโปเกมอน ต่างจากนั้น มนุษย์จับโปเกมอนมาก็จริง แต่จับโปเกมอนที่ไม่มีเจ้าของ และจับมาให้ความรักดูแลอย่างดี ในขณะที่มิวทูไปจับโปเกมอนของคนอื่นที่รักมนุษย์คนอื่นไปแล้ว (ซึ่งผิดอย่างมากในโลกใบนั้น) และไม่ได้ให้ความรักหรือดูแลโปเกมอนเหล่านั้นเลย มนุษย์เอาโปเกมอนมาต่อสู้ก็จริง แต่ก็ต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวเองร่วมกัน ไม่เอาถึงตาย ในขณะที่มิวทูไม่ได้สนใจความตายของโปเกมอนที่ตัวเองส่งไปต่อสู้ เช่นนี้ความสงสัยของผู้ชมก็หายไป โปเกมอนไม่ใช่ทาสของเทรนเนอร์ แต่เขารักกัน ทาสจริงๆ ต้องถูกกดขี่อย่างโหดร้ายกว่านั้นเยอะ อย่างเช่นแบบที่มิวทูทำ ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้เขียนยังได้ถือโอกาสบอกพวกเรากับโปเกมอนด้วยว่า มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถครอบครองโปเกมอน โปเกมอนไม่สามารถครอบครองโปเกมอนได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้เขียนจะช่วยกันทำทุกอย่างเพื่อมอบสิทธิขาดที่จะเป็นผู้ครอบครองและรักโปเกมอนอย่างไม่ต้องสงสัยให้กับเรา เราคงซาบซึ้งไปกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโปเกมอนไม่ได้เต็มอก เมื่อรู้ว่าในอาหารที่เทรนเนอร์มอบให้โปเกมอนนั้นอาจเป็นโปเกมอนเสียเอง พื้นที่สีเทา ไม่ว่าความจริงของการบริโภค หรือสิ่งที่จะบ่งชี้ความมีอยู่ของชนชั้น อะไรก็ตามที่อาจทำให้เราตั้งคำถามไปถึงความสัมพันธ์ชนิดต่างๆ ในโลกของเราเองได้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของกลุ่มผู้เขียน ผู้ชมไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อชีวิตประจำวันของตัวเองควบคู่ไปกับการเฝ้ามองตัวละครเหล่านี้ แต่ให้มุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นเพียงแต่ในโลกของโปเกมอนเท่านั้น ในขณะที่สิ่งอื่นๆ ถูกซ่อนเร้นและจัดระบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกิน ความตาย อำนาจ ฯลฯ สิ่งเดียวที่ยังคงหลงเหลือเหมือนกันทุกประการทั้งในโลกของเราและโลกโปเกมอน ก็คือตรรกะของการต้องแข่งขันและพยายามเอาชนะกันเอง เราน่าจะไม่มีวันได้เห็นมนุษย์ในโลกโปเกมอนนั่งตั้งคำถามอะไรประมาณว่า ทรัพยากรที่เรามีอยู่สมควรเอาไปทำเป็นรางวัลให้ผู้ชนะจริงหรือ การแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนาตัวเองจริงหรือ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนมั่นใจที่จะไม่ชวนคุณถามตัวเองออกมาเมื่อกำลังเติบโตไปกับตัวละคร   การพูดภาษามนุษย์ กับความพยายามเลื่อนสถานะทางชนชั้นของโปเกมอน เราอาจจะเริ่มพอใช้จินตนาการเดียวกันได้แล้วว่าผู้เขียนโลกโปเกมอน สร้าง รักษา และทำลาย สิ่งต่างๆ ไปเพื่ออะไร และเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้จินตนาการเดียวกันนั้นในการมอง ‘การพูด’ ของโปเกมอนด้วย เท่าที่ผมกลับไปดูมา ‘การพูด’ ของโปเกมอน มีอยู่กว้างๆ สองแบบ แบบแรกคือการพูดของโปเกมอนทั่วๆ ไปที่จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในโอกาสพิเศษ เพื่อสื่อสารข้อความที่เฉพาะเจาะจงกับมนุษย์ เช่นปิกาจูที่ใกล้จะตายแล้วพูดขึ้นมาได้ว่าอยากอยู่กับซาโตชิตลอดเวลา การพูดในโอกาสพิเศษแบบนี้มีขึ้นมาเพื่อให้โปเกมอนกลายเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพามนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกรัก การขอความช่วยเหลือให้มนุษย์ได้เข้าไปเติมเต็ม ฯลฯ และเรื่องก็จะตอกย้ำคุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโปเกมอน การพูดแบบที่ผมเห็นต่อมาคือการพูดของโปเกมอนเทพหรือโปเกมอนในตำนาน โปเกมอนเหล่านี้เป็นโปเกมอนที่เป็นตัวแทนของพลังธรรมชาติ ดิน แม่น้ำ ภูเขา ความฝัน ฯลฯ พวกมันมักจะถูกให้คุณค่าว่ามีสถานะเหนือมนุษย์ ไม่สามารถถูกจับและฝึกไว้ในครอบครองได้ ไม่แม้กระทั่งสามารถถูกทำให้โกรธได้ การพูด รวมถึงลักษณะในการพูดที่ถูกใช้ในเรื่อง มีผลต่อการกำหนดสถานะทางชนชั้นของโปเกมอนทุกตัวมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในลำดับชั้นเหล่านี้ มีโปเกมอนบางตัวที่ไม่ใช่ทั้งโปเกมอนทั่วๆ ไปที่ผู้เขียนมอบโอกาสพิเศษให้มัน และไม่ใช่ทั้งเทพ มันพูดได้เท่าๆ กับเราจากการพยายามเรียนภาษาของพวกเราด้วยตัวมันเอง โปเกมอนหน้าตาอย่างแมวกวักตัวหนึ่งชื่อ เนียส (Meowth) พูดได้เป็นต่อยหอย เนียสไม่ใช่โปเกมอนที่อยู่ในโปเกบอลและมีเจ้าของเป็นมนุษย์ หลายครั้งมันกลับเป็นผู้ปาโปเกบอลไปจับโปเกมอนตัวอื่น และเป็นคนออกคำสั่งมุซาชิและโคจิโร่ และแน่นอนว่าเนียสก็ไม่ใช่โปเกมอนป่า มันถูกนำเสนอในฐานะเพื่อนร่วมงานของมุซาชิและโคจิโร่ รวมทั้งยังถูกเขียนให้เป็นมันสมองของทีมอีกด้วย ปิกาจูซ่อนอะไรไว้ในการไม่พูด เนียส (Meowth) เนียสเป็นโปเกมอนตัวเดียวที่พูดภาษามนุษย์ได้เพราะ ‘เรียน’ ภาษามนุษย์ด้วยตัวเอง เขาไม่สามารถใช้ทักษะแบบโปเกมอนได้เหมือนกับโปเกมอนทั่วๆ ไป และอยากจะเป็นมนุษย์มากกว่าโปเกมอน เนียสปลอมตัวเป็นมนุษย์หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้เป็น หรือถูกมองเห็นเป็นมนุษย์ ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้เป็น หรือถูกมองเห็นเป็นโปเกมอนปกติ ดูเหมือนว่าเนียสจะเป็นโปเกมอนตัวหนึ่งที่ใช้ภาษามนุษย์เป็นเครื่องมือในการขยับสถานะทางชนชั้นของตัวเองจากโปเกมอนมาเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จ อะไรก็ไม่รู้ทำให้ผมนึกถึงคำว่า 'ชุบตัว' ที่คนไทยใช้เรียกการไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือคนใดๆ ก็ตามบนโลกที่พยายามจะเลื่อนหรือเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นของตัวเองด้วยเครื่องมือประเภทต่างๆ แต่ก็ไม่เคยทำแบบนั้นได้สำเร็จ เราจะเห็นว่าเมื่อตัวละครตัวนี้ถูกสร้างมาให้มีข้อยกเว้นและพูดได้ มันก็มีเรื่องราวความหลังเป็นของตัวเองที่จะเล่ามากเกินไป และไม่ควรค่าที่จะอยู่ในโปเกบอลอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ควรค่าพอที่จะเป็นเทพหรือมนุษย์ ความสามารถในการสื่อสารถึงเรื่องราวและความต้องการด้วยภาษาของมนุษย์ สามารถทำให้เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนสถานะทางชนชั้นของโปเกมอน จากที่ถูกครอบครองให้กลายเป็นไม่ถูกครอบครองได้ จากที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีที่มา กลายเป็นมีทั้งหมดนั้นขึ้นมาได้ ดูเหมือนว่าเราจะเกิดอาการมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ หรือเอะใจกับมันขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถทำให้เราเข้าใจ หรือพูดในภาษาของเราได้ก็เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่ามันเป็นไปได้หากจะคิดว่าตัวเราเองอาจกำลังอยู่ในความสัมพันธ์บางชนิดที่ไม่น่าปรารถนานัก ต่อสิ่งที่เราก็ไม่เข้าใจนัก เป็นต้นว่าเราเป็นคนผิวขาวที่ไปเจอทวีปอเมริกา เรียกมันว่าอินเดียเพราะเข้าใจว่ามันคืออินเดีย และไล่ชนพื้นเมืองที่ไปเรียกเขาว่าอินเดียนแดงออกไป เพราะพวกเขาไม่มีภาษาแบบที่เรามี ไม่มีวัฒนธรรมแบบที่เราเข้าใจ และไม่มีความเจริญเท่าเรา เป็นต้นว่าคุณเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ และไม่สามารถยอมรับได้เลยว่าสิ่งอื่นที่ไม่ได้มาในรูปแบบของงานวิจัยและรายงาน เป็นความรู้เหมือนกัน เป็นต้นว่าคุณเป็นนักอ่านวรรณกรรมตัวยง และไม่สามารถยอมรับได้เลยว่างานที่ไม่มีรูปเล่มและไม่ได้เขียนเป็นย่อหน้า ก็สามารถอ่านได้ด้วยสายตาวรรณกรรมของคุณ ยากเหลือเกินที่มนุษย์จะมีจินตนาการเรื่องคุณค่าเผื่อเอาไว้สำหรับสิ่งที่ตัวเองยังไม่เห็นว่ามันสื่อสารกับเราได้อย่างไร โปเกมอนเป็นหนึ่งในเหยื่อของความไร้จินตนาการนั้น และเป็นโชคร้ายของพวกมันที่กรณียกเว้นอย่างเนียส ไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับโปเกมอนทุกตัว เราต่างก็อยากจะเห็นโปเกมอนส่วนใหญ่ทำตัวน่ารักๆ หรือเท่ๆ และก็โชว์ทักษะสวยงาม ร้องออกมาได้เพียงชื่อของตัวเอง ต่อสู้และฝึกฝนตัวเองร่วมกับมนุษย์ต่อไป เป็นเพียงแต่ในสิ่งที่เรามองว่ามันเป็น หนึ่งในผู้โชคร้ายนั้นอาจเป็นปิกาจู ที่แม้จะโด่งดังมานาน แต่ก็ไม่เคยได้รับสิทธิในการถูกเห็นคุณค่าแบบอื่นในจินตนาการของเราสักที ไม่นานมานี้ปิกาจูใน Detective Pikachu อาจจะเพิ่งเดินทางตามตัวละครเนียสไป คือมันขยับสถานะทางชนชั้นให้กับตัวเอง และชนชั้นใหม่ของปิกาจูนี้เป็นชนชั้นที่พูดจากวนตีนกับเราได้มากเกินไป นี่อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ผมตอบให้ตัวเองได้ว่าทำไมเราถึงไม่สบายใจที่ปิกาจูจะพูดมากเกินไป มันกำลังไม่เชื่อฟังจินตนาการของเรา เราอยากจะได้มันมาอยู่ในครอบครองมากกว่าที่จะอยากจะรู้จักกับมันเพิ่มขึ้นเสียอีก มันจึงไม่ต้องพูด เพราะถ้ามันพูด เดี๋ยวมันจะขโมยตัวมันเองไปจากเรา   โปเกมอนยอมถูกครอบครองเพราะต้องการเข้าถึงทรัพยากร แต่อะไรกันนักที่ทำให้ปิกาจูหรือโปเกมอนตัวอื่นๆ อยากอยู่กับเทรนเนอร์ หรือชื่นชอบการมีมนุษย์อยู่ข้างๆ หนักหนา ไม่เคยมีคำแถลงการณ์ที่ชัดเจนจริงๆ จากจักรวาลของโปเกมอนว่า ตกลงแล้วโปเกมอนอยากที่จะถูกจับทุกตัวหรือไม่ โปเกมอนเป็นเหมือนทาสที่ถูกบังคับให้สู้อยู่หรือเปล่า คำถามเหล่านี้ถูกทำให้หายไปโดยการนำเสนอความรักและคำตอบต่างๆ โดยกลุ่มผู้เขียน หายไปในการไม่พูดของปิกาจู ระหว่างที่ค้นหาคำตอบเหล่านี้ ผมพบคำอธิบายทำนองหนึ่งที่น่าสนใจ คือทำนองที่บอกว่าโปเกมอนส่วนใหญ่อยากถูกจับ และออกมาสู้กับเทรนเนอร์ในป่าไม่ใช่เพราะถูกรบกวน หรือจะเอาชนะเพื่อหลีกหนีการถูกจับ แต่ทำไปก็เพื่อ ‘ทดสอบ’ คุณภาพของเทรนเนอร์คนนั้นๆ ว่าจะฝึกให้โปเกมอนตัวนั้นๆ เก่งขึ้นได้มากขนาดไหน หากเทรนเนอร์คนนั้นเอาชนะมันไม่ได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่มันจะกลายเป็นโปเกมอนของเทรนเนอร์คนนั้นอีกต่อไป มันก็หลีกทางไป เท่านั้นเอง ความคิดเห็นเรียงรายเสนอกันไปว่าโปเกมอนมีความสุขมากกว่าเมื่ออยู่กับเทรนเนอร์ เพราะเข้าถึงอาหาร การดูแล รวมถึงยังได้พัฒนาตัวเองอีกด้วย สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับมนุษย์เท่านั้น ชีวิตในป่าหากินยากกว่า ถ้าคิดแบบนี้แล้วก็พอจะมองได้ว่าโปเกมอนไม่ใช่ทาส มองไปมองมาจะคล้ายชีวิตสมัยใหม่ของพวกเราทุกวันนี้ที่ต้องหางานประจำทำเสียมากกว่า พวกเราจะได้เข้าถึงอาหาร การดูแล และการพัฒนาตัวเองที่ดีขึ้น เราออกจากป่า ออกจากบ้านและครอบครัวของพวกเราเองก็เพื่อหาเทรนเนอร์ หรือเจ้านายที่จะทำแบบนั้นได้ และก็กลายเป็นของเขา ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอะไรอื่นนอกจากทรัพยากรในที่ของเราที่มันมีไม่เพียงพอ ทั้งต้นทุน ทั้งข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือมันไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยตัวเราเอง เราจึงต้องออกไปหาจากคนที่เขามี ดูตลกแปลกๆ ไหมหากผมจะเทียบชีวิตคนทำงานในโลกสมัยใหม่ว่าเหมือนโปเกมอนมากกว่าเทรนเนอร์เสียอีก พวกเราพูดจริงๆ จังๆ ได้น้อย ต่อรองจริงๆ จังๆ ได้น้อย ไม่หือไม่อือ อะไรคล้ายๆ ปิก๊ะ เราพอจะทำได้ แต่ถ้าพูดเยอะไปเทรนเนอร์เขาก็จะตกใจและไม่ชอบเรา ถ้าเป็นสหภาพแรงงานยิ่งจะไม่อยากจะพูด วันๆ เราต่อรองกับการงานของเราได้เท่าๆ กับที่โปเกมอนสื่อสาร แทบไม่มีอะไรมากกว่านั้น บ้างก็เผลอเป็นเพื่อนกับเทรนเนอร์เข้าจริงๆ เผลอผูกพันกันไปทำงาน กับเจ้านาย แต่สุดท้ายความเป็นเพื่อนที่ซับซ้อนในโลกปัจจุบันนี้ก็สำแดงตนออกมาได้ ในวันที่เราล้มได้ แต่เพื่อนเจ้านายเราล้มไม่ได้ เหมือนกับที่เทรนเนอร์ยังคงชนะการต่อสู้ได้อยู่ ทั้งๆ ที่โปเกมอนบางตัวก็แพ้ไปแล้ว หรือทั้งๆ ที่เราก็แพ้ไปแล้ว สิ่งที่ทำให้เทรนเนอร์เป็นเทรนเนอร์อยู่ทุกวันนี้คือทรัพยากร หากแต่ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของเหล่าเทรนเนอร์แต่เพียงผู้เดียวจริงหรือ? และทำไมโปเกมอนป่าจึงขาดแคลนทรัพยากรจนต้องออกมาตามหาเทรนเนอร์? ทรัพยากรเหล่านั้นหายไปไหน? ไม่รู้มีกี่คนที่กำลังอ่านอยู่นี้ที่ไม่ใช่คนกรุงเทพ คุณต้องจากบ้านมาหาอะไรก็ตามจากกรุงเทพ และหวังจะเอาทรัพยากรเหล่านั้นกลับไปหล่อเลี้ยงที่บ้าน ผมอยากจะสงสัยว่าเงินที่ส่งกลับไปที่บ้านนั้น เรียกว่าเป็นเงินที่เราได้มาจากกรุงเทพ หรือเป็นเพียงแต่เงินที่เราได้คืนจากกรุงเทพกันแน่ ทราบหรือไม่ว่าภาษีที่หล่อเลี้ยงกรุงเทพอยู่ทุกวันนี้ ถูกหารแบ่งออกมาจากจังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัดตั้งแต่ต้นแล้วทั้งสิ้น ในจำนวนที่แม้จินตนาการของคุณก็คงไม่กล้าแตะ ปิกาจูก็เลยไม่พูดมาก พูดมากเราก็สงสัย   เรื่อง : วริศ ลิขิตอนุสรณ์