แคเธอรีน จอห์นสัน: หญิงสาวผิวสีผู้คว้า ‘ดวงจันทร์’ ให้นาซา แรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์ Hidden Figures
“พวกเขาร้องขอดวงจันทร์จากเธอ และแคเธอรีนก็หามาให้”
ย้อนกลับไปในวันวานที่การไปเหยียบดวงจันทร์ยังเป็นเพียงความฝันใฝ่ของมนุษยชาติ – เบื้องหลังความสำเร็จในการทะยานขึ้นสู่อวกาศของแอลัน บาร์ตลิต เชปเพิร์ด จูเนียร์ (Alan Bartlett Shepard Jr.) เมื่อปี 1961 การโคจรรอบโลกภายในยานเมอร์คิวรี เฟรนด์ชิป เซเว่น (Mercury Friendship 7) ของจอห์น เกล็นน์ (John Glenn) เมื่อปี 1962 และการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 (Apollo XI) เมื่อปี 1969 ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะการคำนวณด้วยมันสมองและสองมือของแคเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson) หญิงสาวเชื้อสายแอฟริกัน – อเมริกันผู้ทำงานให้นาซาในฐานะ ‘คอมพิวเตอร์’
นับตั้งแต่วันแรกที่เธอเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจอวกาศเมื่อปี 1953 จวบจนวันสุดท้ายที่เธอทำหน้าที่ดังกล่าวเมื่อปี 1986 แคเธอรีนคือผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานขององค์การนาซา (NACA ภายหลังเปลี่ยนเป็น NASA) โดยแทบไร้การพูดถึงจนกระทั่งปี 2016 ที่โฉมหน้าและผลงานของเธอถูกนำเสนอผ่าน ‘Hidden Figures – ทีมเงาอัจฉริยะ’ ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกัน
ภายในภาพยนตร์ดังกล่าวประกอบด้วยฉากระเบิดอารมณ์ถึง ‘ห้องน้ำผิวสี’ ของแคเธอรีน จอห์นสัน การ ‘ทุบทำลาย’ ป้ายห้องน้ำของอัล แฮร์ริสัน และประโยคเท่ ๆ ของเขาที่บอกว่า “ไม่มีห้องน้ำผิวสี ไม่มีห้องน้ำผิวขาว มีแต่ห้องน้ำ – ที่นาซา ทุกคนฉี่สีเดียวกัน”
แม้ฉากและคำพูดที่ว่าจะเป็นเรื่องสมมติที่แต่งขึ้นเพื่อเพิ่มมิติและ climax ให้กับภาพยนตร์ดีกรีเข้าชิงออสการ์เรื่องนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเหยียดผิว เหยียดเพศ และการต่ำต้อยด้อยค่าผู้หญิงในแวดวงที่เต็มไปด้วยสุภาพบุรุษอย่างนาซานั้นมีอยู่จริง
และนี่คือเรื่องราวของแคเธอรีน จอห์นสัน คอมพิวเตอร์ผิวสีที่ถูกนิยามโดยนาซาว่าเป็น ‘คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เคยมีมา’
* คำ ‘ผิวสี’ ในบทความ ใช้ตามบริบทของภาพยนตร์ที่สร้างจากยุคที่คนขาวยังเรียกผู้มีเชื้อสายแอฟริกัน – อเมริกัน ว่า ‘colored’
** บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์ Hidden Figures
120ไมล์และการนับขั้นบันไดแห่งความฝัน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก แคเธอรีน โคลแมน (นามสกุลเดิม) ฉายแววความเก่งกาจมาตั้งแต่ยังเล็ก เช่นเดียวกับฉากเปิดในภาพยนตร์ที่เธอสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ยาก ๆ ได้ภายในเวลาอันสั้น ความรักในการคำนวณของเธอทำให้แคเธอรีนได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนและครอบครัว
แคเธอรีนอายุเพียงสิบขวบเท่านั้นตอนที่พ่อของเธอตัดสินใจเช่าบ้านหลังใหม่ที่ห่างจากหลังเดิมถึงหนึ่งร้อยยี่สิบไมล์ เพื่อให้เธอได้เข้าเรียนหลักสูตรระดับสูงที่ West Virginia State College จนสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 14 และเรียนจบหลักสูตรมหาวิทยาลัยจาก HBCUs เมื่ออายุได้ 18 ปีเท่านั้น
“ฉันนับทุกอย่างที่นับได้ ก้าวที่ฉันเดิน ขั้นบันไดที่ฉันเหยียบ จานที่ฉันล้าง ฉันนับทุกอย่างไม่ว่ามันจะเป็นอะไร”
คือคำที่แคเธอรีนพูดถึงความหลงใหลที่เธอมีต่อศาสตร์แห่งการคำนวณและตัวเลข เด็กหญิงที่เติบโตขึ้นมาเป็นนางสาวแคเธอรีนไม่รู้เลยว่าในอนาคตเธอจะได้นับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าก้าวเดิน ขั้นบันได จานและชามมากมายนัก
หลังจากเรียนจบ แคเธอรีนเข้าทำงานในฐานะครูของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอมีสามีและลูกสามคนก่อนที่จะสูญเสียสามีจากโรคร้าย เธอกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่นาซาในฐานะ ‘คอมพิวเตอร์’ อันหมายถึงกลุ่มนักคำนวณผิวสีที่มีหน้าที่คิดเลขให้กับองค์กร
ที่นั่นเองที่เธอมีโอกาสได้นับองศาโคจรของกลุ่มดาวและนับก้าวความฝันของมนุษย์ในการมุ่งสู่ดวงจันทร์
ห้องน้ำผิวสีและสตรีที่ถูกกีดกัน
“นาซาเป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ พวกเขาไม่มีเวลามากังวลว่าฉันมีผิวสีอะไร” คือคำพูดของแคเธอรีนเมื่อถูกถามถึงโมงยามที่เธอร่วมงานกับนาซา
ต่างจากในภาพยนตร์ ‘Hidden Figures’ ชีวิตจริงของแคเธอรีนไม่ได้พบกับการกีดกันด้วยเหตุแห่งสีผิวมากเท่าใดนัก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้นเก็บเล็กผสมน้อยมาจากประสบการณ์ของหญิงผิวสีหลาย ๆ คนที่ถูกกีดกันทางเพศในทศวรรษที่ 60 ซึ่งฉาก ‘ตามหาห้องน้ำ’ นั้นดูจะใกล้เคียงกับประสบการณ์ของ แมรี แจ็กสัน วิศวกรสาวเชื้อสายแอฟริกัน - อเมริกันคนแรกของนาซาเสียมากกว่า
“ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการแบ่งแยกห้องน้ำผิวสีและผิวขาว” แคเธอรีนเล่า เป็นเพราะห้องน้ำที่ถูกแปะป้าย ‘สำหรับคนผิวสี’ นั้นหาได้ยาก ส่วนห้องน้ำสำหรับคนผิวขาวกลับไม่มีป้ายที่ว่า เธอจึงใช้ห้องน้ำร่วมกับคนขาวคนอื่น ๆ โดยไม่ทันได้เอะใจถึงสายตาแปลก ๆ ที่มองมายังเธอในช่วงแรก (และแม้เธอจะรู้ว่ามี ‘ห้องน้ำผิวสี’ หลังจากทำงานไปแล้วร่วมปี เธอก็ยังตีเนียนเข้าห้องน้ำคนขาวที่อยู่ใกล้กว่าต่อไปอยู่ดี)
“ที่นาซาฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก แม้ว่ามันอาจจะมี (การเหยียดหรือดูถูก) อยู่บ้าง แต่ฉันวุ่นอยู่กับงานจนไม่ได้รู้สึกถึงมัน”
แคเธอรีนโชคดีที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะสีผิว แต่เธอก็ยังถูกกีดกันเพราะเพศสภาพ
“ฉันอยากร่วมการประชุมกับทุกคนด้วย”
“พวกเขาไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าประชุม”
“กฎหมายห้ามไว้เหรอคะ”
“ไม่ แต่ว่า...”
ประโยคที่ถูกหยิบยกมาไว้ในภาพยนตร์เหล่านี้คือเรื่องจริงเสียยิ่งกว่าจริงในยุคสมัยที่สิทธิในการทำงานของผู้หญิงยังอยู่ภายใต้การควบคุมและกฎเกณฑ์แบบชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่เพียงแคเธอรีนเท่านั้น ผู้หญิงทั่วทั้งอเมริกาต่างถูกกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศไม่ต่างกัน ไม่ว่าเธอคนนั้นจะมีสีผิวและเชื้อชาติใด
ผู้หญิงและอวกาศ
“ให้เธอตรวจตัวเลขเถอะ ผู้หญิงที่เก่ง ๆ คนนั้นน่ะ” หลังจากที่แคเธอรีนยืนกรานที่จะเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้ชายในนาซา และสามารถคำนวณองศาการปล่อยยานของแอลัน บาร์ตลิต เชปเพิร์ด จูเนียร์ได้อย่างถูกต้อง ความสามารถของเธอก็เป็นที่ประจักษ์จนกระทั่งจอห์น เกล็นน์ ถึงกับเอ่ยปากขอให้เธอตรวจสอบชุดข้อมูลที่ถูกคำนวณโดย ‘IBM’ นวัตกรรมคอมพิวเตอร์ใหม่แกะกล่องที่ไม่ใช่ ‘คอมพิวเตอร์มนุษย์’ ของอเมริกาในช่วงเวลานั้น
ข้อผิดพลาดแม้เพียงเสี้ยว 0.001 ของทศนิยมก็อาจนำมาซึ่งหายนะแทนที่จะเป็นความสำเร็จ การคำนวณของเธอกลายเป็นคำการันตีที่สร้างความอุ่นใจให้กับทีมงานนาซาและนักบินที่ต้องขึ้นไปเสี่ยงอันตรายนอกชั้นบรรยากาศ
“ถ้าเธอรับรองตัวเลขพวกนี้ให้ ผมก็พร้อมจะไป”
หลังจากการยืนยันความถูกต้องจากแคเธอรีน กระสวยอวกาศจึงถูกปล่อย จอห์น เกล็นน์และ Mercury Friendship 7 ทะยานขึ้นสู่ฟ้าและโคจรรอบโลกได้ถึงสามรอบก่อนที่จะกลับสู่พื้นผิวโลกอย่างปลอดภัย เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแข่งขันทางอากาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียต และนำมาซึ่งการไขว่คว้าดวงจันทร์ด้วย ‘อะพอลโล 11’ ในเจ็ดปีให้หลัง
ชื่อของแคเธอรีนถูกจารึก แต่กลับไม่ถูกป่าวประกาศจนกระทั่งเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับ แมรี แจ็กสัน วิศวกรหญิงผิวสีคนแรกของนาซา โดโรธี วอห์น (Dorothy Vaughan) ผู้จัดการเชื้อสายแอฟริกัน - อเมริกัน คนแรกของนาซา และผู้หญิงผิวสีอีกจำนวนมากที่ถูกเล่าผ่านปลายปากกาของมาร์โกต์ ลี เช็ตเทอร์ลีย์
แม้แคเธอรีน จอห์นสัน จะจากโลกใบนี้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 หากสิ่งที่เธอสร้างไว้ก็ทรงพลังมากพอทั้งในแง่การสำรวจอวกาศ และการกรุยทางให้คนเชื้อสายแอฟริกัน - อเมริกัน รวมทั้งผู้หญิงทั้งโลกได้มีที่มีทางในการการส่งคนขึ้นสู่ฟ้าในนามนาซาไม่ต่างจากที่ผู้ชายผิวขาวชาวอเมริกันมี ดังเช่นคำของ เจมส์ ไบรเดนสไตน์ (James Bridenstine) ผู้ดูแลระบบของนาซาที่ได้กล่าวไว้ว่า
“เธอคือฮีโรของชาวอเมริกัน สิ่งที่เธอสร้างและบุกเบิกไว้จะไม่มีวันถูกลืม”
ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-51619848
https://www.bbc.com/news/magazine-39003904
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48617919
https://www.nasa.gov/audience/forstudents/k-4/stories/nasa-knows/who-was-katherine-johnson-k4
https://www.nasa.gov/content/katherine-johnson-biography
https://www.hollywoodreporter.com/lists/hidden-figures-10-films-stars-real-life-inspirations-964715
https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/hidden-figures/
https://www.nytimes.com/2020/02/24/science/katherine-johnson-dead.html