แอกเซล มันซอร์ : ไอคอน Clubhouse ที่ร้องเพลงกล่อมผู้คนในห้องสนทนา 'Lullaby Club'
หลังเปิดตัวได้เกือบหนึ่งปี 'Clubhouse' แอปฯ สำหรับห้องสนทนาด้วยเสียงแบบเรียลไทม์นี้ เริ่มมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึงสองล้านคน เมื่ออีลอน มัสก์เข้าไปสร้างห้องสนทนาของตัวเองในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 (อ่านบทความพอล เดวิสัน: ‘Clubhouse’ แอปฯ มูลค่าพันล้านเหรียญ ที่ ‘อีลอน มัสก์’ มีส่วนช่วยให้ปัง เพิ่มเติมได้ที่ (https://thepeople.co/clubhouse-paul-davison/)
แต่แทนที่จะใช้ภาพกราฟิกหรือโลโก้แบบแอปพลิเคชันอื่น ๆ Clubhouse กลับใช้ภาพขาวดำของชายหนุ่มสวมหมวกหันข้างให้กับกล้อง
สงสัยกันไหมว่า ชายคนนี้เป็นใคร? และด้วยเหตุผลอะไรหน้าของเขาถึงแปะอยู่บนแอปฯ นี้?
ชายคนนี้คือ ‘แอกเซล มันซอร์’ (Axel Mansoor)
เขาคือโฮสต์ของห้องสนทนาที่ชื่อว่า ‘Lullaby Club’ ซึ่งเขาจะมาร้องเพลงกล่อมให้ผู้คนหลับใหลในช่วง 21.00 น. ของทุก ๆ วัน
หลังจากภาพของเขาได้กลายเป็นไอคอนของ Clubhouse แอกแซลทวีตในแอคเคานท์ชื่อ @iamaxelm ว่า “ว้าว! ทั้งหมดนี้เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงกล่อมเด็กกับเพื่อนสองสามคนในแอปฯ Clubhouse และตอนนี้เรามาถึงจุดนี้แล้ว ! ผมกลายเป็นไอคอน ขอบคุณ clubhouse สำหรับโอกาส คุณมันเจ๋งที่สุดเลย”
แอกเซลเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เขาเกิดที่เบเธสดา (Bethesda) สหรัฐอเมริกา พ่อแม่ของแอกเซลอพยพจากเกาะเล็ก ๆ ชื่อมอริเชียส ในแอฟริกาตะวันออก พวกเขาย้ายไปทำงานยังประเทศต่าง ๆ แอกเซลจึงได้ออกเดินทางบ่อยครั้งและได้ไปเยือนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม ซิมบับเว มอริเชียส ก่อนจะลงหลักปักฐานที่แคลิฟอร์เนียและทำอาชีพนักดนตรี
แอกเซลเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Emmy Award และมีชื่อเสียงจากซิงเกิล Wasted My Love ในปี 2017 ซึ่งขึ้นถึงอันดับ 5 ในชาร์ต US Viral 50 ของ Spotify รวมถึงซิงเกิล Talk To Me ที่มาพร้อมกับมิวสิกวิดีโอแนวใหม่ เปิดตัวในช่อง Snapchat Discover ของ BuzzFeed และได้เซ็นสัญญาร่วมงานกับ Kaskade ดีเจและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม แอกเซลไม่ใช่คนแรกที่เป็นไอคอนของแอปฯ Clubhouse เพราะภาพของเขาเพิ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 และก่อนหน้านี้ไอคอนของ Clubhouse คือภาพของศิลปินหนุ่มผมหยิกไว้เคราถือกีตาร์คู่ใจอย่าง ‘โบมานี เอกซ์’ (Bomani X) ผู้เคยร่วมงานกับศิลปินชื่อดังอย่าง Nicki Minaj หรือ Wyclef Jean
โบมานีเข้าร่วม Clubhouse ช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ในช่วงที่โรคระบาดแพร่กระจายไปพร้อมกับความเหงาของเหล่าคนทำงานจากที่บ้าน (work from home) เช่นเดียวกับโบมานี เขาเริ่มจากการเข้าร่วมห้องสนทนาพร้อมดีดกีตาร์บรรเลงเพลงประกอบ (Background Music) ก่อนจะออกมาเป็นโฮสต์ของห้องสนทนาที่ชื่อว่า ‘Cotton Club’ ซึ่งตั้งชื่อตามคลับแจ๊สชื่อดังแห่งมหานครนิวยอร์ก
โบมานีใช้ห้องสนทนานี้สำหรับคอนเสิร์ตเดี่ยวและแจมกับศิลปินคนอื่น ๆ ทั่วโลกจน Cotton Club กลายเป็นหนึ่งในห้องสนทนาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน Clubhouse และภาพของเขาได้กลายเป็นไอคอนของแอปพลิเคชันนี้ในเดือนธันวาคม ปี 2020
อย่างไรก็ตาม โบมานีให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ La Voce di New York ว่า เขาไม่ได้แสวงหาความสนใจจากผู้คนอย่างจริงจัง เขาเลยรู้สึกไม่สบายใจเล็กน้อยที่การเป็นไอคอนดึงดูดความสนใจของผู้คนจำนวนมาก แต่โดยรวมแล้วโบมานีคิดว่าความสนใจเหล่านี้ก็นับเป็นประสบการณ์ที่ดีเช่นกัน เพราะมันทำให้เขาสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มคนที่น่าสนใจและหลากหลายได้อย่างรวดเร็ว
โบมานียังบอกอีกว่า “พื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะใช้เพื่อการสนทนาแล้ว ยังให้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย”
นอกจากภาพของศิลปินทั้งสองคน Clubhouse ยังเคยใช้ภาพของคนที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลในแอปพลิเคชันอย่าง Julie Wenah ทนายความผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับ NASA และ Airbnb ซึ่งการเปลี่ยนไอคอนแต่ละครั้ง มาจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันที่ต้องการให้ Clubhouse เป็นพื้นที่ของเหล่านักสร้างสรรค์คอนเทนต์ (Creator) และตั้งใจจะเน้นให้ผู้ใช้งานได้รับรู้และยกย่องบุคคลที่โดดเด่นของคอมมูนิตี้สนทนาด้วยเสียงดังกล่าว
หากมองย้อนกลับมาที่ Clubhouse บ้านเรา หลายคนอาจจะมองภาพแอปพลิเคชันนี้เป็นคอมมูนิตี้เปี่ยมสาระเหมือนได้ฟังสัมมนาเติมอาหารสมอง ตรงกันข้ามกับภาพสองหนุ่มนักดนตรีที่เสิร์ฟคอนเทนต์แนวสาระบันเทิงและดนตรีพักสมองก่อนเข้านอน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต Clubhouse ของไทยอาจจะมีคอนเสิร์ต ดนตรีสด หรือคอนเทนต์ชวนผ่อนคลายมาเสิร์ฟผู้ใช้งานในไทยบ้างก็เป็นได้
ที่มา