“จะขอดูแลเขา จนกว่าเราจะหลับตา” ความรักของ‘จันดี’ แม่ผู้ดูแล ‘น้ำผึ้ง’ ผู้ป่วยยากไร้ด้วยชีวิตและหัวใจ
ท่ามกลางแมกไม้ที่ขึ้นเบียดเสียดกันแน่นขนัด เสียงร้องไห้ของเด็กทารกดังก้องไปทั่วทั้งป่า ร่างเล็ก ๆ ที่ ‘จันดี’ หญิงวัยกลางคนโอบอุ้มขึ้นมาจากพื้นดินนั้นดูอ่อนล้า เจ็บป่วยและเต็มไปด้วยร่อยรอยมดกัด ภาพเด็กหญิงตัวจ้อยที่ร้องไห้จ้าเพราะความหิวและเจ็บนั่นเองที่ทำให้จันดีตัดสินใจเรียกตัวเองว่า ‘แม่’ ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้พบเด็กหญิงตรงหน้า แม้ว่าเธอจะไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดเจ้าหล่อนก็ตาม เธอบรรจงปัดมดแดงที่กำลังไต่ตอมดวงตาและรุมกัดทั่วร่างกายของหนูน้อย ก่อนที่จะประคอง ‘ลูก’ ขึ้นแนบอก
จันดีรักและสงสารเด็กหญิงอย่างจริงใจตั้งแต่แรกพบ ระหว่างการเดินเท้ากลับบ้านนั่นเองที่เธอตัดสินใจมอบชีวิตใหม่ให้กับทารกในอ้อมกอด และตั้งชื่อลูกสาวนอกสายเลือดของเธอว่า ‘น้ำผึ้ง’
นับเวลาได้เกือบปีนับจากที่จันดีเก็บน้ำผึ้งมาเลี้ยง ความกังวลหนแรกก็เริ่มขึ้น จันดีที่ขณะนั้นรับจ้างแบกหามและทำงานก่อสร้างอยู่ย่านถนนอยุธยา-กรุงเทพฯ สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกสาว เจ้าหนูน้ำผึ้งในวัยขวบกว่าไม่มีทีท่าว่าจะหัดคลานหรือแม้แต่จะลุกขึ้นนั่ง หนำซ้ำเด็กน้อยยังมีอาการคล้ายหอบอยู่ตลอดเวลา ความกังวลใจเหล่านั้นเองที่ทำให้จันดีต้องพาเธอเข้าพบกุมารแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้เคียง
“ตอนนั้นเขาตัวเขียว และมีอาการหอบ จึงรีบพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง น้ำผึ้งรักษาตัวอยู่ที่นั่นเกือบเดือนแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น”
ความป่วยไข้ที่ไม่ทุเลาลงของน้ำผึ้งทำให้คนเป็นแม่อย่างจันดีร้อนใจเป็นอย่างมาก เธอตัดสินใจหอบลูกน้อยขึ้นพาดบ่าพร้อมด้วยข้าวของติดตัวไม่มากนัก สองแม่ลูกออกเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง เพื่อหวังว่าจะมีนายแพทย์สักคน หรือโรงพยาบาลสักแห่งที่จะสามารถรักษาอาการของน้ำผึ้งให้หายขาดได้
จันดีพูดเสียงสั่นเครือเมื่อนึกถึงคืนวันแรก ๆ ที่เธอรู้จากหมอว่าน้ำผึ้งป่วยเป็นโรคพิการทางสมอง
“ตอนแรกกลัวมาก กลัวว่าเขาจะตาย”
“แต่มันก็เหมือนปาฏิหารย์ที่วันนั้นเขาได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจากคุณหมอโรงพยาบาลรามาธิบดี ตอนนั้นเขายังเล็กมาก จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เราตัดสินใจขอหัวหน้าย้ายมาทำงานในไซต์งานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ แทน ในใจก็คิดเสมอว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะดูแลเขาให้ดีที่สุด เขาเองยังสู้ แล้วเราจะไม่สู้ได้อย่างไร”
จากไซต์งานก่อสร้างที่กลายเป็นสถานที่หลับนอนและหลบฝนของสองแม่ลูก ทุกเดือนหญิงสาวจะแบกเด็กหญิงขึ้นบ่า และออกเดินด้วยเท้าเพื่อไปยังที่หมาย ‘โรงพยาบาลรามาธิบดี’ คือสถานที่ที่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังของสองแม่ลูก เธอทั้งคู่ได้รับทุนค่ารักษาภายใต้ “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” โครงการที่ผุดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้ว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับสิทธิการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิพื้นฐานอื่น ๆ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าว (อ้างอิงจากเว็บไซต์มูลนิธิรามาธิบดี)
ขณะที่จันดีเริ่มแก่ตัว น้ำผึ้งก็เริ่มเติบโตขึ้นตามวัย เด็กสาววัยแรกรุ่นยังไม่สามารถพูดและสื่อสารได้ หากเสียงอ้อแอ้ที่หลุดจากปากของเธอก็เป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจของจันดีมาเสมอ แม้กระทั่งในวันที่พายุลูกใหญ่เดินทางมาถึง – จันดีได้รับข่าวร้าย แม่ผู้ให้กำเนิดเธอที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุทัยธานีได้ล้มป่วยหนัก จันดีเก็บกระเป๋าอีกครั้งเพื่อพาลูกสาวย้ายกลับภูมิลำเนา
ภายในบ้านหลังเล็กที่รายล้อมด้วยพืชผักสวนครัว แม่ของจันดีและน้ำผึ้งล้วนได้รับการดูแลจากจันดีที่ตั้งใจว่าจะทำหน้าที่แม่และลูกให้ดีที่สุด ทุกเช้าค่ำที่เธอต้องป้อนข้าวและน้ำให้สองผู้ป่วย รวมทั้งดูแลในกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และเมื่อถึงวันตรวจและรักษาตามนัดแพทย์ของน้ำผึ้ง สองแม่ลูกก็ยังออกเดินทางไปและกลับอุทัยธานี - กรุงเทพฯ อยู่เสมอ
สองแขนและแผ่นหลังของจันดีไม่เคยอ่อนกำลังให้กับน้ำหนักตัวของเด็กน้อยที่วันนี้อายุย่างเข้า 20 ปี สองขาของแม่ในวัย 63 ปี ยังคงก้าวต่ออย่างไม่ย่อท้อให้กับระยะทางอันยาวไกลเพื่อมาให้ถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี… ครั้งแล้วครั้งเล่า
เป็นเวลาเกือบ 20 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่น้ำผึ้งได้รับโอกาสในการรักษาภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รับความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์จากธารน้ำใจของผู้บริจาคผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ แต่ด้วยเพราะน้ำผึ้งป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด ยาจึงทำได้เพียงช่วยประคองอาการ ในขณะที่จันดียังคงทำหน้าที่ของแม่ผู้ให้แสงนำทางต่อไป ดังเช่นคำที่เธอเคยพูดถึงลูกสาวเอาไว้ว่า
“จะขอดูแลเขา จนกว่าเราจะหลับตา”