ชิค คอเรีย (Chick Corea) จัดเป็นหนึ่งในบรรดาอดีตลูกวงของ ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) ที่ยังเปี่ยมด้วยไฟสร้างสรรค์ไม่สร่างซา ตราบจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
คนส่วนใหญ่ทั่วโลกคุ้นเคยกับบทเพลง Spain ของ ชิค คอเรีย ที่มีการนำไปร้องบรรเลงและถ่ายทอดออกมาหลากหลายเวอร์ชัน และยังมีการร้องสดๆ ตามไนต์คลับและแจ๊สบาร์มาตราบจนทุกวันนี้
เวอร์ชันดั้งเดิมของ Spain บรรจุเป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้ม Light As A Feather ภายใต้ชื่อ ‘ชิค คอเรีย แอนด์ รีเทิร์นทูฟอร์เอฟเวอร์’ ออกขายเมื่อปี 1973 เพลงนี้บรรจุท่อน adagio ที่มาจากผลงาน กีตาร์คอนแชร์โต Concierto de Aranjuez ของ โฮอาควิน รอดริโอ (Joaquin Rodrigo) ในช่วงอินโทร. ก่อนจะขยับไปสู่จังหวะอันเร่งเร้าสนุกสนานบนชีพจรแซมบ้าในเวลาต่อมา และได้กลายมาเป็นบทเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สที่เหมาะสำหรับการบรรเลงเพื่อแสดงออกถึงทักษะอันเอกอุของนักดนตรีในการอิมโพรไวเซชันเป็นสำคัญ
ในฐานะนักดนตรี ชิค คอเรีย อยู่กับภาวะการดำรงอยู่อย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอด หนุ่มอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนและสแปนิชคนนี้ เติบโตมาจากเมืองเชลซี รัฐแมสซาชูเส็ทท์ สหรัฐอเมริกา มุ่งหน้าสู่นิวยอร์กซิตี ด้วยความฝันที่จะทำงานดนตรี เขาเลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่อยู่ได้เพียง 1 เดือน ตามด้วยสถาบันดนตรีชื่อดัง “จูลลิอาร์ด” แต่ก็อยู่ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
หลังจากนั้น ชิค คอเรีย ตัดสินใจหันหลังให้แก่การเรียนในระบบอย่างสิ้นเชิง แล้วกระโจนสู่ยุทธจักรดนตรีของเมืองบิ๊กแอปเปิล (นิวยอร์ก) อันเต็มด้วยสีสันมากมาย
ด้วยฝีมือดีที่ติดตัวมาก่อนหน้า จากการถูกหล่อหลอมในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักดนตรี และมีครูเปียโน ซัลวาตอร์ ซัลโล ทำหน้าถ่ายทอดวิทยายุทธให้ตั้งแต่ยังเป็นละอ่อน ทำให้ชิคได้งานเล่นดนตรีในวงของนายวงบิ๊กแบนด์ อย่าง แค็บ แคลโลเวย์ (Cab Calloway) ต่อด้วยมือทรัมเป็ต บลู มิทเชลล์ (Blue Mitchell) เรื่อยมาจนถึง สแตน เก็ทซ์ (Stan Getz) ที่เขามีส่วนร่วมบันทึกเสียงอัลบั้ม Sweet Rain เมื่อปี 1967
ในห้วงเวลาระหว่างนั้น แจ๊สกำลังสูญเสียความนิยมลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดนตรีร็อคก้าวขึ้นครองใจคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยุคเบบี้บูมเมอร์ ด้วยสถานการณ์ที่กดดันนี้ ไมล์ส เดวิส ศิลปินแจ๊สตัวเอ้ของวงการ ศิลปินเบอร์หลักแห่งค่ายโคลัมเบีย (หรือโซนีมิวสิคในปัจจุบัน) จึงพยายามทดลองสร้างดนตรีแจ๊สรูปแบบใหม่เพื่อเรียกฐานผู้ฟังกลับคืน ชิค โคเรีย มีโอกาสเข้าร่วมในวงของ ไมล์ส ในระยะนี้ โดยก้าวมาเป็นมือเปียโนและคีย์บอร์ดแทนที่ เฮอร์บี แฮนค็อก (Herbie Hancock) ในช่วงปลายทศวรรษ 1960s
เขามีส่วนร่วมในอัลบั้มช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่าง Filles De Kilimanjaro ต่อด้วย In A Silent Way และลงเอยด้วยความเป็น “แจ๊ส ร็อค ฟิวชั่น” อย่างเต็มตัว ในอัลบั้มแผ่นคู่ Bitches Brew ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในหมู่คนหนุ่มสาว
เมื่อออกจากวงของ ไมล์ส เดวิส นักเปียโนคนนี้สานต่องานดนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับ เดฟ ฮอลแลนด์ มือเบสระดับพระกาฬ ทำวงแนวฟรีแจ๊ส “เดอะ เซอร์เกิล” ต่อด้วยวงฟิวชันแจ๊ส “รีเทิร์น ทู ฟอร์เอฟเวอร์” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสุดยอดนักดนตรีรุ่นใหม่ในยุคนั้น อย่าง มือกีตาร์ อัล ดิ เมโอลา และมือเบส สแตนลีย์ คลาร์ค ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์แจ๊สแห่งยุคทศวรรษ 1970s ไปโดยปริยาย
ในยุคตกต่ำอย่างต่อเนื่องของดนตรีแจ๊สในทศวรรษถัดมา ชิค คอเรีย ยังยืนหยัดในแนวทางของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ เขาทำวง Chick Corea Elektric Band สลับกับวง Chick Corea Acoustic Band แล้วขยับมาทำผลงานเดี่ยว ผลงานดูเอ็ท และผลงานบันทึกเสียงในฐานะแขกรับเชิญให้แก่อัลบั้มอื่น ๆ ของเพื่อนศิลปิน ทั้งนี้ ความสำเร็จในเชิงวิชาชีพของ ชิค อาจวัดได้จากการคว้ารางวัลแกรมมี่ถึง 23 ตัว และการได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่อีกกว่า 60 ครั้ง จัดว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประวัติศาสตร์การมอบรางวัลทางดนตรีอย่าง “แกรมมี่” เลยทีเดียว
ตลอด 5 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี ชิค คอเรีย ไม่ได้เป็นเพียงนักเปียโนที่มีทักษะอันเจนจัดชนิดหาตัวจับยากเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่ง เขายังมีบทบาทด้านการประพันธ์ดนตรีที่หลากหลาย ตั้งแต่งานเพลงแจ๊ส (Jazz Tunes) ในแบบฉบับบีบ็อพ จนถึง อะวอง-การ์ด และตั้งแต่งานเพลงเด็กบริสุทธิ์สดใส ไปถึงโทนโพเอม (Tone Poem) อันวิจิตรอลังการ
โดยส่วนตัว ชิค คอเรีย สนใจดนตรีในกลุ่มโทนโพเอมเป็นพิเศษ เขามีงานดนตรีที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องราวในบทกวี วรรณกรรม หรือแรงบันดาลใจที่จับต้องได้อยู่ไม่ใช่น้อย ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างงาน ที่สายดนตรีคลาสสิกเรียกว่า “โปรแกรม มิวสิค” (Programme Music) ไม่ว่าจะเป็น The Leprechaun, The Mad Hatter, My Spanish Heart, The Romantic Warrior จนถึงงานในยุคหลังอย่าง To the Stars
[The Ultimate Adventure]
เจ้าของตำนานวงดนตรี “รีเทิร์น ทู ฟอร์เอเวอร์” คนนี้ สนุกกับการเดินทางในโลกของวรรณกรรม และนำเรื่องราวน่าสนใจมาผูกร้อยเป็นเสียงดนตรี ดังปรากฏในผลงานรางวัลแกรมมี่ อัลบั้ม The Ultimate Adventure (2006) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายแนวไซไฟชื่อเดียวกัน เขียนโดย แอล. รอน ฮับบาร์ด (L. Ron Hubbard)
The Ultimate Adventure มีบทประพันธ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาของวรรณกรรมชิ้นนี้ 12 ชิ้นด้วยกัน โดยแต่ละชิ้นงาน มีทั้งงานเดี่ยวที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือผลงานที่แบ่งออกเป็นท่อนย่อย (movements) คล้าย ๆ กับฉากตอนของเรื่องราว โดยในภาคดนตรี ชิค คอเรีย ทำหน้าที่ประพันธ์และเรียบเรียงทั้งหมด และได้ผองเพื่อนนักดนตรีมาสนับสนุนอย่างคับคั่ง
เสน่ห์ของงานชิ้นนี้ คือการผสมผสานอิทธิพลของดนตรีสแปนิช กับดนตรีแอฟริกัน เข้าไว้ด้วยกัน จึงให้ความงดงามแบบมลังเมลืองที่แสดงให้เห็นการปะทะสังสรรค์ของวัฒนธรรม 2 สายหลัก โดยมีฟอร์มหรือรูปทรงของดนตรีแจ๊สเป็นแกนกลางของการนำเสนอ
เริ่มต้นที่ Three Ghouls หรือ 'ปอบ 3 ตน' ที่มีความแตกต่างในบุคลิกภาพ เป็นการใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทริก อย่างเปียโนไฟฟ้า โดยการบรรเลงของ คอเรีย กับซาวนด์เพอร์คัสชันสังเคราะห์ และเสียงฟลู้ตของ ฮิวเบิร์ต ลอว์ส
City of Brass นำเสนอซีน ฉาก และบรรยากาศของท้องเรื่อง มือฟลู้ตเปลี่ยนจาก ฮิวเบิร์ต ลอส์ว มาเป็น ฮอร์จ ปาร์โด สมาชิกวง ทัชสโตน เพลงนี้โดดเด่นด้วยการด้นสดหรืออิมโพรไวเซชั่น ที่ประชันกับเพอร์คัสชั่น จากฝีมือของ ฮอสซาม แรมซี ได้อย่างประณีตบรรจง ถือเป็นงานเด่นชิ้นหนึ่งของอัลบั้ม
ทุกโน้ตในเพลง Queen Tednur คือความลงตัวที่น่าตื่นตาบนความสลับซับซ้อน เพลงมีหลายจังหวะ และมีการเลือกใช้เฟรสซิ่งที่แตกต่างออกไป สื่อถึงบุคลิกภาพของตัวละคร เสียงฟลู้ตของ ฮิวเบิร์ต ลอว์ส ชวนให้ระลึกถึงงานแจ๊สยุคปลายเซเวนตีส์ขึ้นมาในบัดดล
El Stephen ซึ่งมาจาก สตีวี เจ็บเซน ตัวละครหลักของเรื่อง ซาวด์ของดนตรีค่อนข้างหนักแน่นและทรงพลัง หากยังมีปลายวรรคที่บ่งบอกถึงความเลิศหรูแบบสแปนิช เป็นการบรรเลงในแบบควอร์เทท มี คอเรีย, สตีฟ แกดด์ มือกลองรุ่นอาวุโส, ชาร์ลส์ เบนาเวท์-เบส และ ฮอร์จ ปราโด-ฟลู้ต ในตอนย่อยที่ 2 มีลูกเล่นในเรื่องส่วนและจังหวะที่ทำได้อย่างน่าติดตาม
ทุกอย่างโปร่งใสขึ้นด้วยกลิ่นอายของความสุข เมื่อมาถึง King & Queen ซึ่ง คอเรีย พยายามสื่อถึงงานปาร์ตี้ในแบบฟลาเมงโก ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ Moseb The Executuioner ที่มีการคลี่คลายถึง 3 บทตอน ทิม การ์แลนด์ มือเทเนอร์แซ็ก กับ คอเรีย ประชันเครื่องกันอย่างเมามันในพาร์ทแรก ตามด้วยพาร์ทถัดมาที่เสียงปรบมือ (palmas) ยังเป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้ ในพาร์ทสุดท้าย มวลเสียงดนตรีร่วมกันสะท้อนภาพ ราวกับทุกอย่างกำลังมุ่งหน้าสู่ความดิบเถื่อนในป่ารกชัฏ
North Africa คือคำตอบในเวลาต่อมา บนจังหวะเนิบนาบ เพอร์คัสชั่นสุดๆ ให้กลิ่นอายความเป็นแอฟริกันเด่นชัด โดยมี Flight From Karoof เป็นงานชิ้นถัดมา ที่ใช้ทำนองเคลื่อนไหวไปมาบนโครเมติกสเกล ดนตรีกระเดียดไปทางทึบทึม ชิค คอเรีย ยังมีบทบาทหลักในการนำเสนอเสียงดนตรี โดยเฉพาะการอิมโพรไวซ์อย่างสุดฝีมือ
จากนั้น ตัวละครหลักของเรื่องกลับมาสู่การเดินทางอีกครั้งใน Planes of Existence ซึ่งผู้ฟังจะตะลึงพรึงเพริศไปกับซาวด์แปลกใหม่ที่ คอเรีย สร้างขึ้น ตัดสลับไปที่ความหอมหวานใน Arabian Nights ทั้งสองตอน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักอีกส่วนหนึ่งของอัลบั้มนี้ ทำนองหลักของพาร์ทแรก ถือเป็นเพลงธีมของอัลบั้มได้เลยทีเดียว ความโดดเด่นยังอยู่ที่ฝีมือโซโล่อะคูสติกกีตาร์ของ แฟรงค์ แกมเบิล นักดนตรีรุ่นใหญ่ที่คอเพลงบ้านเรารู้จักดี
ชิค คอเรีย แวะพักที่ Gods & Devils เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนจะย้อนกลับสู่พาร์ทที่ 2 ของ Planes of Existence เป็นการปิดท้ายการเดินทางอันแสนตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้
เสร็จสิ้นจาก The Ultimate Adventure ชิคหวนคืนสู่โครงการ “รีเทิร์น ทู ฟอร์เอเวอร์” อีกครั้งในปี 2008 กับเพื่อน ๆ อย่าง สแตนลีย์ คลาร์ก , เลนนี ไวท์ และ อัล ดิ เมโอลา ออกทัวร์ทั่วโลกเพื่อย้อนรอยและเฉลิมฉลองกับดนตรี “ฟิวชั่น” ที่เขามีส่วนบุกเบิกในยุคเซเวนตีส์
ในเวลาใกล้ ๆ กัน ชิค ยังรวมวงเฉพาะกิจ The Five Peace Band ที่เข้มข้นสุด ๆ กับนักดนตรีอดีตลูกวงของไมล์ส เดวิส คนอื่น ๆ ประกอบด้วย จอห์น แมคลาฟลิน , เคนนี การ์เรทท์ โดยมี วินนี คอลายอูตา มือกลองของ แฟรงค์ แซปปา และนักดนตรีฝีมือระดับพระกาฬรุ่นหลัง อย่าง คริสเตียน แมคไบรด์ ร่วมสมทบในตำแหน่งเบส
[The Vigil]
ในช่วงปี 2013 ด้วยวัย 72 ปี ณ เวลานั้น ชิค คอเรีย เตรียมการกับผลงานใหม่ โดยมีนักดนตรีรุ่นหลานทำหน้าที่ซัพพอร์ท ในนาม เดอะ วิจิล (The Vigil) ซึ่งเป็นโปรเจ็คท์ที่ ชิค ให้น้ำหนักกับเรื่องของ “อิสรภาพในการแสดงออก” เป็นพิเศษ โดย ชิค คอเรีย มีโอกาสเยือนไทย และเปิดแสดงคอนเสิร์ต ณ เวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในค่ำวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2013 ในงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ หรือ Bangkok Internation Festival of Dance and Music
The Vigil เป็นการรวมนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่คัดสรรมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ ประกอบด้วย ทิม การ์แลนด์ (Tim Garland) นักแซ็กโซโฟนชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัลแกรมมี่ ที่มีประสบการณ์โชกโชน , ชาร์ลส์ อัลทูรา (Charles Altura) มือกีตาร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มาร์คัส กิลมอร์ (Marcus Gilmore) มือกลอง ที่มีศักดิ์เป็น “หลานตา” ของ รอย เฮย์นส์ และ คาร์ลิโตส เดล ปูแอร์โต (Carlitos Del Puerto) มือเบส เป็นสืบทอดการเล่น “เบส” มา 3 รุ่น โดย คาร์ลิโตส เป็นลูกชายของ คาร์ลอส หนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งวง “อิราเคเร” อันโด่งดังของคิวบานั่นเอง
ในอัลบั้ม The Vigil ทั้ง 7 เพลงเป็น “ออริจินัล คอมโพสิชั่น” ของ ชิค คอเรียทั้งหมด โดยชิคยังคงแนวคิดในการผสานสุ้มเสียงบราซิลเลียน-สแปนิช ให้ลื่นไหลไปบนชีพจรดนตรีแจ๊สแบบ “ฟรีฟอร์ม” บางครั้งกระแทกกระทั้นด้วยจังหวะของดนตรีร็อก โดยมุ่งปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการของ “กาละเทศะ” พร้อม ๆ กับการน้อมคาระต่อผลงานดนตรีของศิลปินแจ๊สที่เคยสร้างงานมาก่อนหน้านี้
อย่างน้อย ๆ ในอัลบั้มนี้ ชิค คอเรีย เขียนเพลงอุทิศให้แก่ รอย เฮย์นส์ มือกลองที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ และ จอห์น โคลเทรน ศิลปินที่มุ่งสู่การค้นหาตัวตนด้านใน โดยมีเพลง Outside of Space ที่เจ้าตัวเขียนคำร้องสะท้อนผ่านปรัชญาลึกซึ้งของเขา เพื่อให้คนฟังได้สดับใคร่ครวญ
The Vigil จึงเป็นอีกสถานะหนึ่งของ ชิค คอเรีย ในโลกแห่งจินตนาการ ที่พาเราไปสัมผัสประสบการณ์ความงามที่แตกต่าง พร้อม ๆ กับมองหาหนทางใหม่ ๆ ในการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี
ในปี 2016-7 ชิค ตัดสินใจทำโปรเจ็คท์ Chick Corea Elektric Band อีกครั้ง และเขามีโอกาสมาเปิดการแสดงสดที่โรงละครสยามพิฆเนศวร์ สยามสแควร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2017 (นับเป็นโอกาสสุดท้ายที่แฟนเพลงชาวไทยจะได้มีโอกาสชมการแสดงสดของเขาบนเวทีในประเทศไทย)
ปี 2020 ชิค ทำผลงานดับเบิลอัลบั้มชุด Plays ซึ่งเป็นเสมือนการรวบรวมผลงานการแสดงสดในพื้นที่ต่าง ๆ ของเขามาบรรจุเข้าไว้ด้วยกัน โดยอิงกับเครื่องดนตรีอย่างเปียโนเป็นหลัก ด้วยบทเพลงที่เขาเขียนขึ้นสำหรับเด็กๆ เพลงของศิลปินหลากแนว ตั้งแต่ โมสาร์ต, ธีโลเนียส มังค์ จนถึง สตีวี วันเดอร์
วัย 79 ปี ชิค คอเรีย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 ณ บ้านพักเขตแทมปาเบย์ ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยได้ฝากผลงานดนตรีที่มีความงดงามจำนวนมากเพื่อให้มวลหมู่ผู้รักในเสียงดนตรีได้ชื่นชม
"ผมขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการเดินทางของผม ผู้ช่วยกันจุดไฟแห่งเสียงดนตรีให้สุกสว่างต่อไป มันเป็นความหวังของผมที่ได้เห็นผู้คนมุ่งมั่นจะเล่น, แต่งเพลง, ร้องบรรเลง หรืออะไรก็ตาม ถ้าไม่ใช่สำหรับตัวคุณแล้ว ก็เพื่อพวกเราที่ยังเหลืออยู่ โลกไม่ได้ต้องการศิลปินเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องการความสุขสนุกสนานอย่างมากด้วยเช่นกัน"
นั่นคือข้อความท้ายๆ ในชีวิตของ ชิค โคเรีย ที่โพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊คของเขา