แบร์นาร์ด อาร์โนลต์: เส้นทางชีวิต ‘ราชา’ สินค้าแบรนด์เนมของชายผู้ร่ำรวยที่สุดในยุโรป
หากจะมีใครสักคนที่ขายสินค้าและบริการที่ถูกมองเป็นของฟุ่มเฟือย แต่คนจำนวนมากยังคงถวิลหา จนสามารถทำกำไรและกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกได้ เขาคนนั้นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ประธานและซีอีโอของบริษัท LVMH หรือ Louis Vuitton Moët Hennessy ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในยุโรป
LVMH มีสินค้าระดับไฮเอนด์ในครอบครองมากกว่า 70 แบรนด์ ตั้งแต่เสื้อผ้า-น้ำหอมอย่าง Christian Dior, Givenchy, Fendi, Kenzo, Marc Jacobs ตลอดจนเครื่องหนังยอดนิยมยี่ห้อ Louis Vuitton, กระเป๋าลาก Rimowa, นาฬิกา TAG Heuer ไปจนถึงเครื่องประดับ Tiffany & Co. และเชนร้านเครื่องสำอางขวัญใจสาวน้อยใหญ่อย่าง Sephora
นอกจากนี้ แบร์นาร์ด และ LVMH ยังมีไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับตำนานอยู่ในมืออีกกว่า 20 ยี่ห้อ อาทิ แชมเปญ Moët & Chandon (โมเอ็ท เอ ชองดอง) และ Dom Pérignon (ดอม เปรีญอง) รวมถึงคอนยัคสุดคลาสสิคแบรนด์ Hennessy ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบริษัท Louis Vuitton Moët Hennessy
เท่านั้นยังไม่พอ LVMH ยังเป็นเจ้าของร้านค้าปลอดภาษี DFS ที่ให้บริการนักเดินทางอยู่ตามสนามบินใหญ่ทั่วโลก และครอบครองห้างเก่าแก่หรูหรากลางกรุงปารีสอย่าง Le Bon Marché (เลอ บอง มาร์เช) ตลอดจนเครือโรงแรม, คาเฟ่, สวนสนุก, เรือสำราญ และกิจการสื่ออีกหลายบริษัท
เรียกได้ว่า ตอบโจทย์เกือบครบทุกไลฟ์สไตล์ของเหล่าไฮโซกระเป๋าหนักทั่วโลก
โตสวนกระแสโควิด-19
แม้ปี 2020 ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายโดยรวมของ LVMH ลดลง 17% จากปี 2019 แต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 รายได้จากสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังกลับโตสวนกระแส โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
โดยเฉพาะ Louis Vuitton และ Dior สองยี่ห้อเรือธงของบริษัท มีตัวเลขยอดขายเติบโต 2 หลักในครึ่งหลังของปี 2020 จากอานิสงส์ความต้องการสินค้าหรูหราที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และยอดขายที่โตขึ้นเล็กน้อยในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ความนิยมสินค้าไฮเอนด์ และอำนาจการจับจ่ายของบรรดาผู้มีอันจะกินที่มีอยู่ต่อเนื่องทำให้ LVMH ยังคงโกยเงินเข้าบริษัทเป็นจำนวนมหาศาล และแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ได้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของยุโรปในปี 2020
จากข้อมูลของนิตยสาร Forbes ระบุว่า ปี 2020 แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ มีทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 76,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรองแค่เจฟฟ์ เบซอส และบิลล์ เกตส์ สองมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเท่านั้น
มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของยุโรปเผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่เรื่องของ ‘เวลา’
“ผมคิดว่าในการทำธุรกิจ คุณต้องเรียนรู้ที่จะอดทน บางทีผมเองอาจไม่ใช่คนที่อดทนมากนัก แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด คือการรอคอยบางสิ่งบางอย่างและได้มันมาในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม”
จบวิศวะก่อนเข้าวงการแฟชั่น
แบร์นาร์ด ฌอง เอเตียน อาร์โนลต์ เกิดวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1949 ในเมืองรูเบ ประเทศฝรั่งเศส ใกล้พรมแดนประเทศเบลเยียม โดยหลังเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิค (École Polytechnique) สถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมอันดับ 1 ของฝรั่งเศส ในปี 1971 เขาเริ่มทำงานที่บริษัทวิศวกรรมโยธาของบิดา ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่
แบร์นาร์ดทำงานเป็นวิศวกรให้กับธุรกิจครอบครัวจนถึงปี 1976 ก่อนเริ่มโชว์วิสัยทัศน์โน้มน้าวให้บิดาขายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างออกไป และหันไปเน้นทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนกิจการเติบโตและเขาได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทในเวลาต่อมา
ปี 1981 แบร์นาร์ด ตัดสินใจหอบหิ้วครอบครัวอพยพไปทำธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อหลบเลี่ยงนโยบายขึ้นภาษีคนรวย หลังพรรคสังคมนิยมของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ ขึ้นครองอำนาจในฝรั่งเศส
แต่ย้ายไปอเมริกาได้แค่ 3 ปี เขาก็ต้องหอบข้าวของกลับบ้านเกิด เพราะมองเห็นลู่ทางแตกไลน์ธุรกิจ และสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมา
ธุรกิจใหม่ที่แบร์นาร์ด ต้องการแตกไลน์จากอสังหาฯ คือวงการแฟชั่นและความงามซึ่งเป็นรากเหง้าของชาวฝรั่งเศส โดยในปี 1983 รัฐบาลของนายมิตแตรองด์ พยายามมองหานักลงทุนมากอบกู้กิจการบริษัท Boussac เจ้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าอ้อมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสที่กำลังล้มละลาย
ด้วยเหตุนี้ แบร์นาร์ด จึงไม่รอช้า ขอเงินครอบครัวมา 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจับมือกับพาร์ตเนอร์คู่ใจเข้าซื้อกิจการดังกล่าวมาในราคา 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายอยากได้แค่แบรนด์ Christian Dior และห้าง Le Bon Marché ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของ Boussac
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า แบร์นาร์ด เคยรับปากจะเข้ามาฟื้นฟูกิจการ และไม่ไล่พนักงานออก แต่หลังจากปิดดีลซื้อขาย เขาปลดคนงานออกไปถึง 9,000 คน และขายธุรกิจเกือบทั้งหมดทิ้งได้เงินมา 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเหลือไว้เพียงแบรนด์ Dior และห้าง Le Bon Marché เท่านั้น
ฝันที่เป็นจริง
แบร์นาร์ดเล่าถึงความฝันอยากเป็นเจ้าของ Christian Dior ว่ามาจากเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก คือ มันเป็นแบรนด์น้ำหอมสุดโปรดที่แม่ของเขาชื่นชอบ และข้อที่สอง คือเป็นแบรนด์ตัวแทนของฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกรู้จัก
เขาเล่าว่า มีครั้งหนึ่งหลังเรียนจบใหม่ ๆ เคยเดินทางไปนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ และได้สนทนากับคนขับรถแท็กซี่ผู้หนึ่ง เขาถามโชเฟอร์ว่า รู้จักประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ชื่อ จอร์จ ปอมปิดู หรือไม่ และคำตอบที่ได้คือ “ไม่รู้จักครับ แต่ผมรู้จัก Christian Dior”
นั่นคือเหตุการณ์ซึ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า หากเขาต้องการทำธุรกิจที่ขายความเป็นฝรั่งเศสให้คนทั่วโลก ธุรกิจแฟชันและความสวยงามน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ไม่ใช่นักธุรกิจชาตินิยมที่มีเลือดรักฝรั่งเศสเข้มข้นอย่างที่หลายคนคิด เพราะแท้จริงแล้ว เขาเป็นแค่นักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะในโลกธุรกิจของตนเอง
ปี 2012 แบร์นาร์ดเคยพยายามเปลี่ยนสัญชาติเป็นชาวเบลเยียม (แต่ไม่สำเร็จ) เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายขึ้นภาษีคนรวยในฝรั่งเศส หลังพรรคสังคมนิยมของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ขึ้นครองอำนาจ แทนพรรคอนุรักษนิยมของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ที่เขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงเรื่องความรักชาติของแบร์นาร์ดต้องมัวหมอง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการขยายอาณาจักรธุรกิจใหม่ของชายผู้นี้
หมาป่าในผ้าแคชเมียร์
ความเด็ดขาดไร้ปราณีในเชิงธุรกิจของแบร์นาร์ด แสดงให้เห็นอีกครั้งในการต่อยอดกิจการเพื่อครอบครอง LVMH ในปี 1990 โดยเขาร่วมมือกับหัวหน้าแบรนด์ Louis Vuitton กำจัดหัวหน้าแบรนด์ Moët ออกไป ก่อนที่เขาจะไล่หัวหน้าแบรนด์ LV ที่เคยร่วมมือกันออกจากบริษัท และสามารถยึดกิจการ LVMH มาอยู่ภายใต้การดูแลของตนแต่เพียงผู้เดียว
หลังได้ครอบครอง LVMH แบร์นาร์ด พลิกฟื้นบริษัทเล็ก ๆ ที่ประสบปัญหาภายในให้กลายเป็นเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ และใช้ธุรกิจนี้เป็นฐานกว้านซื้อกิจการบริษัทชั้นนำอื่น ๆ ของยุโรปเข้าพอร์ตโฟลิโอ ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจในอเมริกา และเอเชีย จนได้ฉายา “หมาป่าในเสื้อคลุมผ้าแคชเมียร์ (the wolf in the cashmere coat)” จากความหิวกระหายและความร้ายที่ซ่อนไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันดูดี
อย่างไรก็ตาม แม้แบร์นาร์ดจะจัดเป็นผู้ล่าทางธุรกิจ แต่ความสำเร็จของเขาคงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนสำคัญมาจากการเลือกซื้อกิจการและบริหารธุรกิจอย่างมีวิสัยทัศน์ จนนิตยสาร Forbes ยกย่องให้เป็น “สุดยอดนักสร้างรสนิยมที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก”
ปรัชญาความสำเร็จ
ไลน์ธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมของแบร์นาร์ด ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วจนบางคนเรียกเขาว่าเป็น “โป๊ปแห่งวงการแฟชั่น"
เขาสามารถผสานโลกแห่งศิลปะและการออกแบบ เข้ากับโลกธุรกิจได้อย่างลงตัว โดยอาศัยเทคนิคการสร้างแบรนด์ที่มีทั้งความทันสมัย และไร้กาลเวลา ให้อิสระดีไซเนอร์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด แต่ควบคุมคุณภาพการผลิตอย่างเข้มงวด และเปิดตัวสินค้าใหม่ออกมาในจำนวนจำกัด
“เราจะไม่ทำให้ทั้งบริษัทมีความเสี่ยงด้วยการเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งหมดตลอดเวลา จริง ๆ แล้วแต่ละปี ธุรกิจเรามีสัดส่วนสินค้าใหม่แค่ 15% ที่เหลือมาจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินค้าคลาสสิค” ประธาน LVMH กล่าว
แบร์นาร์ดยังขึ้นชื่อเรื่องการบริหารงานแบบ Micromanagement ที่เข้าไปตรวจสอบลงลึกทุกรายละเอียดของงานแต่ละส่วน และมักนั่งเครื่องบินส่วนตัวไปตรวจสอบร้านค้าและกิจการในเครือที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกด้วยตนเองแบบไม่นัดหมายล่วงหน้า
แม้สไตล์การทำงานของเขายังเป็นแบบคนรุ่นเก่า แต่ก็พยายามเชื่อมโยงกับโลกคนรุ่นใหม่ด้วยการใช้ลูก ๆ ของตนเองมาช่วยดูแลบริหารธุรกิจ
ธุรกิจครอบครัว
แบร์นาร์ด มีลูกทั้งหมด 5 คนจากการแต่งงาน 2 ครั้ง โดยเดลฟีน ลูกสาวคนโตที่เกิดกับภรรยาคนแรก มารับตำแหน่งรองประธานบริหาร Louis Vuitton ส่วนอองตวน ลูกชายจากภรรยาคนแรกเช่นกัน นั่งหัวหน้าแบรนด์แฟชั่นหรูสำหรับบุรุษอย่าง Berluti และ Loro Piana
ด้านลูกชายวัยมิลเลนเนียลอีก 3 คน (อเล็กซานเดอร์, เฟรเดริก, ฌอง) ที่เกิดกับอีเลน เมอร์ซิเยร์ ภรรยาคนปัจจุบัน ก็ล้วนทำงานอยู่กับบริษัทในเครือ LVMH ยกเว้นคนสุดท้อง (ฌอง) ที่ยังเรียนไม่จบ แต่เมื่อเรียนจบก็เชื่อว่าจะมาร่วมงานกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ เช่นกัน
“พ่อของเราเป็นคนชอบการแข่งขันมาก เขาไม่ชอบความพ่ายแพ้ และนี่คือสิ่งที่เขาถ่ายทอดมาให้กับพวกเรา” เฟรเดริก ลูกชายคนรองสุดท้ายของตระกูลอาร์โนลต์ เล่าถึงอุปนิสัยของแบร์นาร์ด ซึ่งส่งต่อให้กับลูก ๆ ผ่านกิจกรรมยามว่างยอดนิยมของครอบครัว นั่นคือการตีเทนนิส
แม้แบร์นาร์ดจะชอบทำงานหนักและเข้าขั้นเป็นมนุษย์บ้างาน เขาทำงานมากกว่าวันละ 12 ชม. แต่ยังคงดูแลสุขภาพได้ดี ชอบเล่นเปียโน - ฟังเพลงคลาสสิคเพื่อผ่อนคลาย และเล่นกีฬาเพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ปี 2021 แม้แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ จะมีอายุเข้าสู่วัย 72 ปีแล้ว แต่เขายังไม่มีวี่แววจะเกษียณตนเองจากวงการธุรกิจ และยังคงเดินหน้าขยายกิจการ LVMH ออกไปอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าเป้าหมายข้างหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร และความมั่งคั่งของเขาจะเพิ่มพูนขึ้นจนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เขาคือ “ราชา” แห่งอาณาจักรสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหราที่หลายคนอยากได้ แต่ไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้มาครอบครอง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.france24.com/.../20200122-bernard-arnault...
https://hbr.org/.../the-perfect-paradox-of-star-brands-an...
https://www.forbes.com/.../the-100-billion-man-how.../...
https://www.bbc.com/news/business-55578195
https://www.reuters.com/.../us-lvmh-tiffany-changes-focus...
https://www.retailgazette.co.uk/.../lvmh-sales-drop-but.../