18 ก.พ. 2564 | 16:03 น.
เขาอาจจะเป็นเหยื่อของระบบการศึกษาและสังคมญี่ปุ่น เขียนถึงตัวละครหลายตัวใน Doraemon ไปแล้ว แต่ยังไม่เคยพูดถึงพระเอกของเรื่อง (?) เลย วันนี้จึงได้ฤกษ์พูดถึงเขากัน...โนบิ โนบิตะ (野比のび太) ‘โนบิ’ คำแรกเป็นนามสกุล แต่ ‘โนบิ (のび)’ ในชื่อของโนบิตะนั้น แปลว่า ‘ยืด เหยียดตัว’ ส่วน ‘ตะ (太)’ เป็นคำปัจจัย (Suffix) ที่นิยมใช้กับเพศชาย แต่เดิมพ่อของโนบิตะเคยพูดถึงไว้ในเล่ม 2 (หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนต้นฉบับมีรวมเล่มทั้งหมด 45 เล่ม) ว่าตั้งชื่อนี้เพราะอยากให้ “เติบใหญ่ และเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดไป (すこやかに大きく、どこまでも、のびてほしいというねがいをこめた名まえだよ。)” ซึ่งเป็นความหมายที่ดีมาก แต่พอโนบิตะโตขึ้นมากลับกลายเป็น โนบิ ที่แปลว่า เหยียดตัวนอนกลางวันและขี้เกียจไปเสียได้ พ่อของโนบิตะยังบอกกับแม่ไว้ด้วยในวันที่โนบิตะเกิดว่า “ถ้าลูกเหมือนแม่ก็จะเป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ถ้าเหมือนพ่อก็จะแข็งแรงเล่นกีฬาเก่ง” แต่โนบิตะกลับจะทำให้ทั้งพ่อและแม่ผิดหวังไปตาม ๆ กัน คือหัวก็ไม่ดีและร่างกายยังอ่อนแอไม่เก่งกีฬาอีกด้วย แต่ที่โนบิตะเป็นแบบนี้ เป็นความผิดของโนบิตะทั้งหมด 100% อย่างนั้นหรือ? ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่าโนบิตะเรียนไม่เอาถ่าน ขี้เกียจ เอาแต่นอน ร่างกายก็อ่อนแอ ขี้แพ้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ถ้าพิจารณากันแล้วจะเห็นว่าโนบิตะมีพรสวรรค์ในบางเรื่องอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องใช้พลังสมาธิ อย่างแรกคือการยิงปืน โนบิตะเป็นสิงห์แม่นปืนระดับจักรวาล ชนิดที่ว่าเคยไปดวลปืนกับนักฆ่าของต่างดาวก็ยังเอาชนะมาได้ แม้แต่ในโลกอนาคตก็ยังไม่มีใครยิงปืนแม่นและเร็วเท่าโนบิตะด้วยซ้ำ อย่างในเล่ม 12 ตอนที่เพื่อน ๆ เล่นเป็นคาวบอยกันทั้งเมืองด้วยของวิเศษปืนลมมือของโดราเอมอน ไจแอนท์ใช้แผนสกปรกให้หมาข้างถนนรุมกัดเพื่อให้โนบิตะใช้กระสุนจนหมด แล้วไจแอนท์ที่มีกระสุนครบบุกมายิงโนบิตะ โนบิตะยังมีไหวพริบกระโดดไปหยิบมือเพื่อนที่สลบอยู่ข้าง ๆ ยิงสวนและเอาชนะไจแอนท์มาได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความเร็วชั่วพริบตาชนิดที่ไจแอนท์ที่กระสุนเต็มมือยังยิงช้ากว่าโนบิตะที่กระโดดลงไปที่พื้นหยิบมือเพื่อนขึ้นมายิงสวนด้วยซ้ำไป เป็นฉากที่โนบิตะโชว์ความเทพและความเท่ไว้มากจริง ๆ โนบิตะยังเก่งเรื่องเล่นพันด้ายอย่างหาตัวจับยาก ตอนที่ใช้โทรศัพท์สั่งโลกในเล่ม 15 ให้กลายเป็นโลกที่ฮิตเล่นพันด้าย โนบิตะก็โชว์ฟอร์มถึงขั้นถูกสมาคมนักเล่นพันด้ายแห่งประเทศญี่ปุ่นขอซื้อตัวเข้าสังกัดสมาคมด้วยเงิน 30 ล้านเยน ซึ่งนี่คือค่าเงินเยนในทศวรรษที่ 70s ก็ 50 กว่าปีก่อนเอง คิดเอาเองว่าโนบิตะต้องเก่งขนาดไหน ถ้าโลกเราบังเอิญฮิตเล่นพันด้ายกันจริง ๆ ขึ้นมาล่ะก็ โนบิตะยังเก่งเรื่องนอนมาก ในเล่ม 30 ตอนที่ใช้โทรศัพท์สั่งโลกให้เป็นโลกที่นิยมการนอนกลางวัน โนบิตะทำลายสถิติโลกด้วยการหลับได้ทันทีภายในเวลา 0.93 วินาที เรียกว่าหลับได้ก่อนล้มตัวลงนอนด้วยซ้ำ และเป็นสถิติได้เหรียญทองโอลิมปิกประเภทนอนหลับเร็วในโลกนั้นด้วย อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านไม่ค่อยจะรู้กันคือ โนบิตะมีความสามารถในการเป็นแมวมองการ์ตูนทั้งแนวการ์ตูนผู้ชายแบบโชเน็น, การ์ตูนผู้หญิงแบบโชโจะ หรือแม้แต่การ์ตูนเด็กโตหรือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ คือโนบิตะจะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าการ์ตูนหรืออนิมะเรื่องไหนจะโด่งดังสร้างชื่อ อย่างในเล่ม 37 แม้แต่ไจแอนท์ยังยอมรับในความสามารถและเอาการ์ตูนที่น้องสาวตัวเองเขียนมาให้โนบิตะติชมด้วยซ้ำ เรียกว่าโนบิตะมีความสามารถของการเป็นนักวิจารณ์การ์ตูนอยู่เต็มเปี่ยม ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ โนบิตะว่องไวระดับกระโดดไปหยิบมือเพื่อนมายิงปืนสวนไจแอนท์ได้ แล้วยังยิงปืนไวที่สุดในจักรวาลทั้งปัจจุบันยันอนาคต จึงไม่น่าเชื่อว่าโนบิตะเป็นคนร่างกายอ่อนแอไปได้เลย (คนร่างกายอ่อนแออะไรจะเคลื่อนไหวได้เร็วผิดมนุษย์ขนาดนั้น) การที่เล่นพันด้ายเก่งระดับมหาเทพที่มีจินตนาการสร้างโครงสร้างด้ายอันซับซ้อนที่คนธรรมดาทำไม่ได้ จะหาว่าโนบิตะโง่เง่าอย่างนั้นหรือ แล้วยังเรื่องนอนเร็วที่สุดในโลกก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าโนบิตะมีพรสวรรค์อย่างมากในการควบคุมสมาธิจิตของตัวเอง แล้วที่เชี่ยวชาญเรื่องการ์ตูนระดับที่ทำนายล่วงหน้าได้ว่าเรื่องไหนจะดัง ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า โนบิตะนั้นไม่ใช่คนโง่ที่ไม่เอาถ่านแต่อย่างใด นอกจากพรสวรรค์ทั้ง 4 ที่กล่าวมาแล้ว โนบิตะยังเคยสอบได้คะแนนเต็ม 100 ด้วยความสามารถของตัวเอง แล้วเวลาผจญภัยหลายครั้งก็สามารถคำนวณคณิตคิดในใจได้เองเมื่อจำเป็นต้องทำอีกด้วย แต่ทำไมในชีวิตประจำวันปกติ โนบิตะถึงล้มเหลว? ต้องมาพิจารณาบริบทของระบบการศึกษาและสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นกัน โนบิตะน่าจะเป็นเด็กอัจฉริยะที่มีเงื่อนไข คือจะสนใจและทุ่มเทอย่างมากเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองชอบ และไม่ทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อถูกบังคับก็จะยิ่งไม่ทำเข้าไปใหญ่ แต่ญี่ปุ่นในทศวรรษ 70s นั้นยังเป็นระบบเดียวคือ หล่อหลอมให้ประชากรทุกคนเป็น Salaryman (ซาลารีมัง - มนุษย์เงินเดือน) คือทุกคนต้องเรียนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการให้ได้ดี เพื่อเข้าโรงเรียนมัธยมดี ๆ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ และจะได้เข้าเป็นพนักงานในบริษัทดี ๆ แล้วบริษัทญี่ปุ่นยุคนั้นก็ยังเน้นการจ้างงานตลอดชีพ (終身雇用) อีกต่างหาก เลยยิ่งทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่พยายามบังคับลูกให้เรียน ๆ ๆ ๆ ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการให้เก่ง ๆ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจพรสวรรค์หรือความสนใจของลูกกันเลย แล้วตอนนั้นยังฮิตระบบการศึกษาที่เรียกว่า Spartan Education (スパルタ教育) อีกด้วย คือระบบการศึกษาแบบยัดเยียดทุกสิ่ง มีเพียงมาตรวัดเดียวและเป็นระบบแพ้คัดออก ผู้ที่ทำตามระบบที่กระทรวงศึกษาวางไว้ไม่สำเร็จ ก็จะกลายเป็น ‘ผู้แพ้’ ของสังคมญี่ปุ่นไป คือสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ ในระบบกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ และสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ไม่ได้ รวมทั้งเข้าบริษัทดี ๆ ไม่ได้นั่นเอง ในเนื้อเรื่องต้นฉบับไม่ได้กล่าวถึงชื่อโรงเรียนของโนบิตะไว้ แต่ในอะนิเมะจะใส่กันเองในหลายชื่อ เช่น โรงเรียนประถมชิตะมะจิ, โรงเรียนประถมมะรุบัตสึ, โรงเรียนประถมทสึคิมิได แม้แต่ตัวละครอาจารย์ของโนบิตะก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงชื่อเอาไว้ในต้นฉบับ แต่เท่าที่จับความรู้สึกได้ อาจารย์และโรงเรียนของโนบิตะก็ยังเป็นแบบระบบกระทรวงศึกษาเต็มที่ คือมีมาตรวัดเดียวและทุกคนต้องเรียนทุกวิชาเหมือนกันหมด เน้นทำคะแนนสอบให้สูง ๆ เท่านั้น ในยุคนั้นยังไม่ได้มีแนวคิดเรื่องโรงเรียนทางเลือก, โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ หรือโรงเรียนสำหรับเด็กอัจฉริยะบางด้าน แบบในยุคปัจจุบันนี้ที่เริ่มเห็นได้บ้าง ทำให้โนบิตะพลาดโอกาสพัฒนาพรสวรรค์และความสนใจของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย ไม่อย่างนั้นโนบิตะอาจกลายเป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติญี่ปุ่นหรืออาจเป็นระดับโลกก็ได้ (เพราะเก่งระดับจักรวาลและเก่งข้ามยุคสมัยด้วยซ้ำ) หรือไม่ โนบิตะอาจกลายเป็นนักพัฒนาระบบแอนิเมชัน 3 มิติให้เกิดเป็นมิติใหม่ ๆ ได้ ด้วยพลังการรับรู้บางอย่างที่สร้างมิติใหม่ ๆ ในการเล่นพันด้าย โนบิตะยังอาจเป็นนักวิจารณ์ผลงานในสื่อต่าง ๆ หรืออาจจะใช้พลังการควบคุมสมาธิในการนอนไปทำอะไรได้อีกหลายต่อหลายอย่างมากมาย คิดว่าในสังคมญี่ปุ่นเอง รวมทั้งอีกหลายประเทศในโลก น่าจะมีคนที่กำลังทรมานกับระบบการศึกษา และทรมานจากแรงกดดันทางสังคมรอบข้าง จนทำให้พลาดโอกาสพัฒนาพรสวรรค์ของตัวเองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก คงมีคนแบบ ‘โนบิตะ’ อยู่อีกมากมายบนโลกใบนี้ คนเป็นพ่อแม่ควรเปิดรับความเป็นไปได้ต่าง ๆ ให้มากขึ้น เปิดทางเลือกให้ลูกมากขึ้น ทางฝั่งโรงเรียนหรือในระดับนโยบายอย่างเช่นกระทรวงศึกษาธิการก็ควรตระหนักถึงความหลากหลายในด้านศักยภาพของเด็กให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งเจ้าตัวเองก็ควรค้นหาพรสวรรค์และความสนใจของตัวเองที่มีเพื่อจะได้พัฒนาไปให้ถูกทาง จะได้ไม่ต้องทรมานเหมือนที่โนบิตะต้องเป็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง Doraemon “ถ้าระบบการศึกษาดี โนบิตะคงไม่ต้องเป็นไอ้ขี้แพ้”