พิกเมเลียนและกาลาเทอา: ตำนานชายผู้หลงรักรูปปั้น สู่การทดลองที่พิสูจน์ว่า ‘คิดอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น’
“หากเทพเจ้าสามารถประทานได้ทุกสิ่ง โปรดประทานภรรยาให้กับข้า ข้าขออธิษฐาน...ให้บุคคลนั้นเป็นเหมือนหญิงสาวจากงาช้างแกะสลักนั่น”
นี่คือคำอธิษฐานของพิกเมเลียน ชายผู้สาบานว่าจะครองตนเป็นโสดตลอดกาล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คำอธิษฐานของเขานั้นสมดั่งใจหวัง ก่อนจะถูกนำมาตั้งชื่อปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Pygmalion Effect’ หรือปรากฏการณ์ที่เรา ‘คิดอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น’
และเรื่องราวต่อไปนี้ คือตำนาน การทดลอง และปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่แสดงถึงพลังความปรารถนาของมนุษย์
หันหลังให้ความรัก อุทิศตนเพื่อการทำงาน
โอวิด (Ovid) กวีชาวโรมันได้เล่าถึงตำนานพิกเมเลียนใน Metamorphoses เล่มที่สิบว่า ‘พิกเมเลียน’ (Pygmalion) คือประติมากร (บ้างก็เล่าว่าคือเขากษัตริย์) จากไซปรัส (Cyprus) ผู้ประสบพบเจอแต่หญิงสาวที่ทำให้เขารู้สึกสิ้นหวังกับความรักจนไม่อยากสานสัมพันธ์กับหญิงคนใด กระทั่งสาบานว่าจะไม่มีวันเข้าสู่ประตูวิวาห์
พิกเมเลียนหันหลังให้ความรัก มาอุทิศตนให้กับการทำงาน ทุก ๆ วันเขาจะใช้ชีวิตอยู่กับสิ่วและค้อนเพื่อสร้างสรรค์งานประติมากรรมของตนเอง ต่อมาพิกเมเลียนแกะสลักงาช้างออกมาเป็นรูปปั้นหญิงสาวนามว่า ‘กาลาเทอา’ (Galatea) ซึ่งการแกะสลักรูปปั้นนี้อาจเป็นความพยายามที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของเหล่าหญิงสาวที่เขาเคยพบเจอมาก่อนก็เป็นได้
ทุกขณะที่ใช้ค้อนและสิ่วแกะสลัก รูปปั้นค่อย ๆ เผยความงามของหญิงสาวออกมา พร้อมกับความหลงใหลของพิกเมเลียนที่ทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งรูปปั้นเสร็จสมบูรณ์ หัวใจของชายผู้หันหลังให้ความรักได้กลับมาทำงานอีกครั้ง ความรู้สึกเสน่หานั้นเอ่อล้นจนพิกเมเลียนเริ่มปฏิบัติต่อรูปปั้นราวกับมีชีวิต
เขาเริ่มแต่งกายให้กาลาเทอาด้วยเสื้อผ้าสะสวย เครื่องประดับครบชุด แล้วนำของขวัญอย่างดอกไม้ เปลือกหอย ลูกปัด และสิ่งที่หญิงสาวน่าจะถูกใจมาให้เธอ อีกทั้งยังพูดคุย กอด และจุมพิตรูปปั้นคล้ายว่าเป็นคนรักที่มีอยู่จริง
ช่างย้อนแย้งที่ประติมากรผู้นี้สาบานตนว่าจะไม่แต่งงานกับหญิงคนใดในโลก แต่กลับตกหลุมรักรูปปั้นหญิงสาวที่ตนเองแกะสลักขึ้นมา
ความรักของพิกเมเลียนนั้นปวดร้าวยิ่งกว่าการตกหลุมรักหญิงที่ไม่เคยชายตามองเขา ทำให้พิกเมเลียนได้แต่ภาวนาให้กาลาเทอากลายเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้ในสักวันหนึ่ง
คำอธิษฐานที่เป็นจริง
เมื่อถึงเทศกาลเฉลิมฉลองให้กับเทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือเทพีแห่งความรัก พิกเมเลียนจึงไม่พลาดที่จะมาร่วมพิธีกรรมครั้งนี้ ขณะยืนอยู่ข้างแท่นบูชา เขาอ้อนวอนภาวนาว่า
“หากเทพเจ้าสามารถประทานได้ทุกสิ่ง โปรดประทานภรรยาให้กับข้า ข้าขออธิษฐาน...ให้บุคคลนั้นเป็นเหมือนหญิงสาวจากงาช้างแกะสลักนั่น...”
เทพีอโฟรไดท์ได้ยินความปรารถนาอันแรงกล้าของพิกเมเลียน ด้วยความสงสาร นางจึงตอบรับคำอธิษฐาน ด้วยการดลบันดาลให้เปลวไฟลุกโชนขึ้นสามครั้งเป็นสัญญะแทนคำตอบ
เมื่อพิกเมเลียนกลับถึงบ้าน เขาไม่อาจสลัดภาพเปลวไฟออกไปได้ ความคิดของเขายังคงโลดแล่นหาคำตอบขณะที่สองเท้าก้าวไปยังห้องทำงานของตัวเอง พิกเมเลียนสวมกอดกาลาเทอาอย่างทุกวันที่ผ่านมา แต่วันนี้ผิวสัมผัสของรูปปั้นกลับแปลกไปจากเดิม
อ้อมกอดของกาลาเทอาอบอุ่นขึ้นกว่าครั้งไหน ๆ ส่วนผิวสัมผัสของเธอนั้นคล้ายกับร่างกายของมนุษย์ เมื่อได้จุมพิต ริมฝีปากของรูปปั้นกลับมีสัมผัสที่นุ่มนวล
พิกเมเลียนตกใจ ถอยกลับมายืนมองรูปปั้นด้วยความพิศวง เกรงว่าสัมผัสนั้นเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการของตนเอง เขาค่อย ๆ เอื้อมมือไปยังรูปปั้นอีกครั้ง ก่อนจะกดนิ้วลงไปบริเวณที่มีเส้นเลือด พิกเมเลียนรู้สึกได้ถึงชีวิตและลมหายใจของรูปปั้น เขารู้แน่ชัดในเวลานั้น...กาลาเทอามีชีวิตอยู่จริง !
เปลวไฟอันลุกโชนทั้งสามครั้งอาจสื่อความว่าอโฟรไดท์ได้มอบชีวิตให้รูปปั้นแล้ว...พิกเมเลียนทั้งตื่นเต้นและดีใจจนลืมความหลังฝังใจเรื่องหญิงสาวไปโดยปริยาย ไม่นานหลังจากนั้น พิกเมเลียนและกาลาเทอาได้แต่งงานกัน มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ พาฟอส (Paphos) ซึ่งพวกเขาจะเดินทางไปยังวิหารของอโฟรไดท์ เพื่อนำของขวัญแสดงความซาบซึ้งใจมาให้อย่างสม่ำเสมอ
เรื่องราวทั้งหมดจบอย่างสวยงามและโรแมนติกเหนือจริงสมกับเป็นตำนานกรีก หากคำอธิษฐานในชีวิตจริงจะสมดั่งใจได้แบบพิกเมเลียนหรือไม่ ?
เมื่อได้ยินคำถามนี้ หลายคนคงปฏิเสธทันควัน เพราะ ‘ความปรารถนา’ และ ‘ความศรัทธา’ ดูจะเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงน้อยนิด แต่ในโลกแห่งความจริง กลับมีมนุษย์ที่ไม่ได้ปฏิเสธข้อสงสัยนี้เสียทีเดียว ทั้งยังทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าความคาดหวัง ความเชื่อ และความปรารถนานั้นมีพลังมากพอจะผลักให้มนุษย์สมหวังดั่งใจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเขาคนนั้นคือ ‘โรเบิร์ต โรเซนธาล’ (Robert Rosenthal) และ ‘เลนอร์ จาค็อบสัน’ (Lenore Jacobson) สองนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
'Pygmalion Effect' จากตำนานสู่การทดลองจิตวิทยา
ในปี 1968 โรเซนธาลและจาค็อบสันได้ทำการทดลองสุดคลาสสิกขึ้นในเมืองโอกแลนด์ (Oakland) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) โดยมีสมมุติฐานว่า ความคาดหวังจากคนอื่น อาจมีอิทธิพลทางบวกหรือทางลบต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ทั้งคู่จึงเดินทางไปยังโรงเรียนแห่งหนึ่งแล้วให้นักเรียนทำแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา (IQ test) ก่อนจะบอกครูว่ามีนักเรียนกลุ่มหนึ่ง (ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด) เป็นเด็กหัวกะทิที่มีระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) สูง ซึ่งจริง ๆ แล้วรายชื่อเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากแบบทดสอบ หากแต่มาจากการสุ่ม (คล้ายกับการแบ่งห้องเด็กเก่ง และเด็กระดับกลาง ๆ โดยไม่ได้มีการทดสอบเพื่อคัดเลือก)
โรเซนธาลและจาค็อบสัน ปล่อยให้ครูเชื่ออย่างนั้นไปหลายเดือนจนกระทั่งกลับมาที่โรงเรียนแห่งเดิมอีกครั้ง พร้อมแบบทดสอบเชาววน์ปัญญา ผลปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่พวกเขาแค่สุ่มรายชื่อแล้วบอกครูว่าเป็น ‘เด็กหัวกะทิ’ กลับมีคะแนนในแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงขึ้นจริง ทั้งยังมีพฤติกรรมทางการเรียนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างน่าตกใจ
เหตุใดความเชื่อที่ครูมีต่อนักเรียนจึงส่งผลต่อความสามารถของเด็ก ๆ ได้มากถึงเพียงนั้น ? คำตอบไม่ใช่เทพเจ้าอย่างในตำนาน หรือเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น แต่เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling prophecy) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘Pygmalion Effect’ ซึ่งตั้งชื่อตามตำนานพิกเมเลียนข้างต้น
Pygmalion Effect คือการคาดหวังหรือการปักใจเชื่อในสิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริง นำไปสู่การกระทำที่ทำให้ความคิดหรือความคาดหวังในตอนต้นเป็นจริงขึ้นมา ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาที่เราคิดว่าใครคนหนึ่งดูไม่เป็นมิตร จึงพยายามตีตัวออกห่าง ไม่กล้าเข้าไปพูดคุย ยิ่งทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเราไม่อยากพูดคุยกับเขาเช่นกัน คนคนนั้นจึงไม่กล้าเข้ามาผูกมิตรกับเราไปด้วย ท้ายที่สุดเราจึงยืนยันกับตัวเองว่า เขาช่างหยิ่งและไม่เป็นมิตรอย่างที่คิดไว้จริง ๆ
เช่นเดียวกับการทดลองครั้งนี้ที่ ‘ความคาดหวัง’ ของครูส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกโดยไม่รู้ตัว เช่น การเรียกเด็ก ๆ กลุ่มไอคิวสูงตอบคำถามบ่อย ๆ การให้โจทย์ที่ยาก ๆ หรือเรียกไปทำกิจกรรมวิชาการมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น สิ่งเหล่านี้ผลักดันเด็ก ๆ ให้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนและพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมคอยผลักดันให้พวกเขากลายเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีในที่สุด
“เมื่อเราคาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากผู้อื่น เรามีแนวโน้มที่จะปฏิบัติในทิศทางที่จะทำให้พฤติกรรมที่คาดหวังไว้เป็นความจริงขึ้นมา” (Rosenthal และ Babad, 1985)
การทดลองของโรเซนธาลและจาค็อบสันจึงแสดงให้เห็นว่า ความคาดหวัง ความเชื่อ และความปรารถนานั้นไม่ได้เป็นเพียงฝันลม ๆ แล้ง ๆ หากแต่มีพลังที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยไม่ต้องใช้เวทมนตร์
ทั้งตำนาน การทดลอง และ Pygmalion Effect คล้ายกำลังบอกกับเราว่าความปรารถนาหรือความคาดหวังของเราอาจกำลังส่งผลต่อชีวิตของคนอื่น ๆ ขณะเดียวกันความปรารถนาหรือความคาดหวังของคนอื่น ก็อาจกำลังส่งผลต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
เพราะความปรารถนาของมนุษย์นั้น เป็นทั้งสิ่งที่มีพลังและน่าหวาดหวั่นมากกว่าที่เราคิด
ที่มา: