read
social
15 มี.ค. 2564 | 07:00 น.
กำนันนพดล เข็มเพชร ผู้ตั้งใจพัฒนาหมู่บ้านให้ลูกหลานได้กลับมาสร้างอาชีพที่บ้านเกิด
Play
Loading...
วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากสูญเสียความมั่นคงทางรายได้ หลายคนจึงหวนกลับมาตั้งหลักและหาเลี้ยงชีพในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง การพัฒนาเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านให้มีแหล่งรายได้และอาชีพรองรับจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งบ้านฝั่งแวน หมู่ 11 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นับเป็นแบบอย่างที่ดีของหมู่บ้านที่มีการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการรวมกลุ่มอาชีพสำหรับลูกหลานที่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
“ชาวบ้านฝั่งแวนเป็นชุมชนที่น่าอยู่ เป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทลื้อ เรามีอัตลักษณ์ในเรื่องของการแต่งกายและภาษาพูด เป็นหมู่บ้านที่มีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ด้วยกันแบบฉันพี่ฉันน้อง มีการแบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน”
นพดล เข็มเพชร กำนันตำบลเชียงบานผู้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านมาเกือบ 10 ปี เล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชนบ้านฝั่งแวน ซึ่งเดิมทีคือบ้านแวนวัฒนา หมู่ที่ 5 ก่อนจะแยกตัวออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนของชาวบ้านฝั่งแวนมีคนไทลื้อประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา และยังยึดถือ ปฏิบัติ สืบสานวัฒนธรรมไทลื้อจากรุ่นสู่รุ่น และด้วยความที่บ้านฝั่งแวนเคารพนับถือองค์เจ้าหลวงเมืองล้าจึงมีการทำพิธีบวงสรวงทุก 3 ปี เรียกว่าประเพณี 3 ปี 4 รวงข้าว ดังคำขวัญบ้านฝั่งแวนที่ว่า
“น้ำแวนใสใหญ่ ถิ่นลำไยรสหวาน สืบสานวัฒนธรรมไทยลื้อ เลื่องลือผ้าทองามตา บูชาองค์เจ้าหลวงเมืองล้า งามล้ำค่าน้ำใจคนฝั่งแวน”
กำนันนพดลเล่าว่า ความถ้อยทีถ้อยอาศัย ความกลมเกลียวสามัคคีระหว่างคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับชาวบ้าน รวมทั้งการดึงจุดแข็งของหมู่บ้านมาต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้บ้านฝั่งแวนได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง
"แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง"
(หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2563 ระดับภาค
เศรษฐกิจพอเพียงและการดูแลแหล่งน้ำ
จุดเด่นของหมู่บ้านฝั่งแวนอย่างแรกที่เห็นได้ชัด คือการมีพื้นที่ทำการเกษตรและแหล่งเพาะปลูกจำนวนมาก กำนันนพดลและทีมงานจึงเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการดูแลแหล่งน้ำเป็นหลัก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน
“ก่อนหน้านี้เราพยายามให้หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่ก็ติดภาวะโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ตอนนี้เราจึงเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต
บ้านเราโชคดีที่มีน้ำไหลผ่านเป็นบริเวณกว้าง ปัญหาเรื่องน้ำก็จะมีน้อย แต่พื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ไกล ๆ ก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง เราก็ทำงบประมาณในเรื่องของการขุดเจาะบ่อบาดาล แล้วก็น้ำเพื่อการเกษตร เรามีการบริหารจัดการน้ำ โดยให้คณะกรรมการเราไปศึกษาดูงานที่โครงการร้อยใจรักษ์ แล้วนำโครงการพระราชดำริจากโครงการร้อยใจรักษ์เข้ามาพัฒนาในหมู่บ้านของเรา อันดับแรกที่เราพัฒนากันอยู่ทุกวันนี้คือน้ำอุปโภคและบริโภคซึ่งปัจจุบันเรามีประปาอยู่ 2 แห่งในหมู่บ้าน
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจากโครงการหลวง บริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เราส่งเสริมให้มีการปลูกผัก ในอดีตผักสวนครัวจะปลูกหลังบ้าน ตอนนี้เราจะปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร นอกจากจะกินเองแล้วเราก็แบ่งปันให้ชุมชนที่ยังขาดแคลน หรือเอามาแลกเปลี่ยนกัน”
สร้างเครือข่ายและรายได้ผ่าน ‘การรวมกลุ่มอาชีพ’
นอกจากการวางรากฐานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว การรวมกลุ่มอาชีพก็เป็นอีกหนทางหนึ่งเพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในระยะยาวให้กับชาวบ้าน
“บ้านฝั่งแวนเป็นหมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่ม ผมจะเน้นการรวมกลุ่มอาชีพ การรวมกลุ่มที่จดเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มผ้าทอไทลื้อเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีผ้าทอ ย้อมครามด้วยสีธรรมชาติ มีที่เดียวของจังหวัดพะเยา แล้วก็มีกลุ่มทำข้าวแคบของผู้สูงอายุ กลุ่มแปรรูปถนอมอาหาร กลุ่มทำลำไย กลุ่มทำนา อันนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง แล้วก็เป็นศูนย์เรียนรู้ในระดับตำบลและในระดับอำเภอ”
การสร้างกลุ่มวิสาหกิจเหล่านี้ช่วยสร้างเครือข่ายอาชีพให้ลูกหลานมีพื้นฐานและแหล่งรายได้รองรับ ซึ่งกำนันนพดลกล่าวว่า
“ลูกหลานที่ได้ทำงานอยู่ที่โรงงาน อนาคตข้างหน้า ในโอกาสข้างหน้าจะต้องผันตัวเอง ถ้ามีอายุที่สูงขึ้นก็ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน ในส่วนที่เขาจะกลับมาอยู่ที่บ้าน ต้องหาแหล่งทำงานให้กับลูกกับหลาน ดังนั้น การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะทำให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้านได้”
‘คณะกรรมการหมู่บ้าน’ ส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาหมู่บ้าน
“เราได้เห็นพัฒนาการในส่วนของความคิด ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่มีการกระตุ้น แล้วก็ดึงลูกหลานที่ได้ไปเล่าเรียนที่อื่น หรือไม่มีงานทำ กลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เราได้พัฒนาอยู่”
นี่คือผลลัพธ์หลังดำเนินโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียงและการดูแลแหล่งน้ำ ซึ่งกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการและผลักดันโครงการเหล่านี้ นอกจากกำนันนพดลแล้ว ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านคนอื่น ๆ ที่คอยผลักดันและพัฒนาบ้านฝั่งแวน
“คณะกรรมการหมู่บ้านส่วนมากจะเป็นจิตอาสาที่มีความตั้งใจจริง ๆ ที่จะช่วยในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อลูกหลานของเราที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็จะเชื่อมโยงกับผู้นำทุกคน
คณะกรรมการหมู่บ้านฝั่งแวนจะมีความร่วมมือร่วมใจ ผมจะใช้กลยุทธ์ อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น เอาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพราะคณะกรรมการหมู่บ้านก็เปรียบเทียบเหมือนกับรากฐานของแผ่นดิน เมื่อแผ่นดินมีความแข็งแรง ประเทศชาติก็จะมีความแข็งแรงเหมือนกัน”
ในวันนี้ผลงานของคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับสมาชิกในหมู่บ้านฝังแวนได้เป็นที่ประจักษ์ และกลายเป็นต้นแบบสำคัญของหมู่บ้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานให้คนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี พออยู่พอกิน และมีกลุ่มวิสาหกิจให้ลูกหลานรวมทั้งคนในชุมชนได้เรียนรู้และลงมือทำเป็นอาชีพได้
“ผมอยากจะขอขอบคุณท่านคณะกรรมการทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน จนถึงทุกวันนี้หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เราก็จะช่วยกันสร้างบ้านแปงเมืองให้ได้ดีที่สุด ขอขอบคุณคณะทำงานสร้างบ้านแปงเมือง ขอขอบคุณคณะทำงานผู้ปิดทองหลังพระทุก ๆ ท่าน ต่อจากนี้ไปผมเชื่อว่าบ้านฝั่งแวนจะไม่ใช่หมู่บ้านธรรมดา จะโดดเด่น และจะเป็นที่ที่น่าอยู่ของคนชุมชนบ้านฝั่งแวนต่อไป”
กำนันนพดล คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านฝั่งแวน ยังคงตั้งใจที่จะดูแลและพัฒนาบ้านเกิดต่อไป โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้คนรุ่นหลังยังคงรัก หวงแหนและภูมิใจที่จะลงหลักปักฐาน ประกอบอาชีพในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ณ หมู่บ้านฝั่งแวนแห่งนี้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
วันคณะกรรมการหมู่บ้าน