นพ.อิน เว่ยตง: บิดา ‘ซิโนแวค’ และวัคซีนโควิด-19 เจ้าแรกในไทย ผู้ตั้งใจ ‘คืนรอยยิ้ม’ ให้ทุกคน
รอคอยมาแรมปี ในที่สุดประเทศไทยก็ได้รับวัคซีนโควิด-19 กับเขาสักที โดยวัคซีนเจ้าแรกที่ตกมาถึงไทยมีชื่อทางการค้าว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) เป็นของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จากจีน และเป็นวัคซีน Made in China อย่างแท้จริง
ซิโนแวค ไบโอเทค หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ซิโนแวค ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2001 โดยนายแพทย์อิน เว่ยตง (Yin Weidong) คุณหมอนักธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นทั้งประธาน และซีอีโอของซิโนแวค
ซิโนแวคเป็น 1 ใน 2 บริษัทยาชั้นนำของจีนที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จเป็นเจ้าแรก โดยอีกบริษัทที่ทำได้คือ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ของรัฐบาลจีน ส่วนซิโนแวค เป็นบริษัทเอกชน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค (NASDAQ) ของสหรัฐฯ และบริษัทในเครือซีพีของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ร่วมถือหุ้นด้วย 15.03%
หลายคนอาจสงสัยว่า ซิโนแวคมีดีอะไรถึงได้รับความสนใจจากซีพี และทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจควักเงิน 1,228 ล้านบาท ซื้อวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค 2 ล้านโดส เข้ามาฉีดให้คนไทย
ไปทำความรู้จักกับซิโนแวค และนพ.อิน เว่ยตง บิดาผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้เพื่อหาคำตอบกัน
กำเนิดหมอนักธุรกิจ
“ผมไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ แต่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย ในยามที่ทั้งสองหน้าที่ขัดแย้งกัน ผมจะไม่ลังเลเลยว่า สิ่งแรกและสำคัญที่สุด คือการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในการทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือทุกเรื่องที่ทำได้ในแวดวงของตนเอง” นพ.อิน เว่ยตง หรือหมออินกล่าว
หมออินเกิดวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1964 เขาเรียนจบแพทย์จากโรงเรียนการแพทย์เมืองถังชาน ในมณฑลเหอเป่ย์ ของจีน และจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์
หลังเรียนจบแพทย์ช่วงต้นทศวรรษ 1980s หมออินเข้าทำงานเป็นแพทย์ที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เมืองถังชาน และที่นั่นทำให้เขาได้รับประสบการณ์ตรงในการรับมือสถานการณ์โรคระบาดไวรัสตับอักเสบเอ ช่วงปลายปี 1987 - มีนาคม 1988 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจีนประมาณ 310,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 47 ราย
“ในฐานะหมอ CDC วัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ ผมรู้สึกไร้อำนาจ ซึ่งทำให้ผมตัดสินใจกระโจนเข้าสู่วงการวิจัยโรคไวรัสตับอักเสบเอทันที” หมออินเล่าถึงที่มาของการเข้าสู่แวดวงผู้ผลิตวัคซีนในวารสาร Human Vaccines ที่เผยแพร่เมื่อปี 2011
วัคซีนราคาถูก
จุดเริ่มต้นความสำเร็จของหมออินเริ่มขึ้นในปี 1985 เมื่อเขาสามารถคัดแยกเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ และอีกสามปีต่อมา ก็สามารถพัฒนาชุดตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ไวรัสตับอักเสบเอได้สำเร็จ โดยชุดตรวจของเขามีราคาเพียง 1.5 หยวน ถูกกว่าชุดตรวจนำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาชุดละประมาณ 40 หยวน
ต่อมาในปี 1993 หมออินก่อตั้งบริษัทถังชาน เหยียน ไบโอโลจิคัล เอ็นจิเนียริง ในเมืองถังชาน เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ จนกระทั่งประสบความสำเร็จกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์จีนคนแรกที่สามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวจากเชื้อตายแล้วได้ในปี 1999
หมออินเผยถึงเบื้องหลังในการตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาวัคซีนของตนเองว่า ในยุค ‘90 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของชาวจีนอยู่ที่ครอบครัวละประมาณ 300 หยวน แต่วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึง 400 หยวนต่อโดส
“สิ่งนี้ทำให้ผมถามตัวเองว่า ทำไมบริษัทในประเทศถึงไม่สามารถหาวัคซีนคุณภาพทัดเทียมกันมาฉีดให้เยาวชนของเราได้ ในฐานะหมอคนหนึ่ง ผมจึงตระหนักว่า ผมมีความรับผิดชอบที่ต้องลงมือทำ และเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนคุณภาพสูงมาให้เด็ก ๆ ชาวจีน”
ก่อตั้งซิโนแวค
หลังประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ หมออินและทีมงานย้ายมาปักหลักทำงานในกรุงปักกิ่ง และก่อตั้งบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ขึ้นที่นั่นในปี 2001 โดยเน้นทั้งการวิจัยและพัฒนา การผลิต และทำการตลาดผลิตภัณฑ์วัคซีนต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน
ซิโนแวค ผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และนำออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ Healive ในปี 2002 นับเป็นวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอจากเชื้อตายแล้วชนิดแรกที่ผลิตและทำการตลาดโดยบริษัทสัญชาติจีน ก่อนที่บริษัทจะพัฒนาวัคซีนตัวอื่น ๆ ตามมา อาทิ Bilive (ไวรัสตับอักเสบเอ-บี), Inlive (โรคมือเท้าปาก), Panflu (ไข้หวัดนก H5N1) และ Panflu.1 (ไข้หวัดหมู H1N1)
นอกจากนี้ ซิโนแวคยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส ซึ่งเริ่มระบาดในจีนเมื่อปี 2002 และกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่ทดสอบทางคลินิกระยะแรกเสร็จก่อนใครในปี 2004 แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำออกจำหน่าย เพราะโรคซาร์สจู่ ๆ ก็หยุดแพร่ระบาดไป
หมออินบอกว่า แม้การวิจัยและพัฒนาครั้งนั้นจะล้มเหลวในทางธุรกิจ และทำให้บริษัทขาดทุนกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ประสบการณ์และความรู้ที่ได้มานั้นประเมินค่ามิได้ ทำให้บริษัทสามารถต่อยอดพัฒนาวัคซีนตัวอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วทันเวลามากขึ้น
เข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ
แม้ความล้มเหลวทางธุรกิจจากการผลิตวัคซีนโรคซาร์ส จะทำให้ต่อมา ซิโนแวคต้องนำบริษัทไปจดทำเบียนเพื่อระดมทุนเพิ่มในตลาดหุ้นอเมริกัน (AMEX) ในปี 2004 ก่อนจะย้ายมาซื้อขายในตลาดเทคโนโลยีแนสแดค เมื่อปี 2009 ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซิโนแวคสามารถพัฒนาวัคซีนสำหรับมนุษย์ได้ทั้งหมด 6 ชนิด และวัคซีนสำหรับสัตว์อีก 1 ชนิด
โดยในปี 2009 ซิโนแวคมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อใช้เวลาเพียง 87 วัน ในการคิดค้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ไข้หวัดหมู ซึ่งมาจากเชื้อไวรัส H1N1 ที่ระบาดทั่วโลก
“พันธกิจของผมได้ขยายจาก ‘การจัดหาวัคซีนคุณภาพสากลให้กับเด็ก ๆ ชาวจีน สู่การจัดหาวัคซีนที่ผลิตในจีน (Made in China) ให้กับเด็ก ๆ ทั่วโลก” หมออินกล่าวถึงวิสัยทัศน์ใหม่ของซิโนแวค
สำหรับวัคซีนโควิด-19 หรือโคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อเข้ามาใช้เป็นเจ้าแรก ผ่านการทดลองทางคลีนิกระยะ 3 มาแล้วในหลายประเทศ รวมถึงที่อินโดนีเซีย ตุรกี และบราซิล
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เคยตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของวัคซีนจากซิโนแวค โดยอ้างอิงจากประวัติการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้วัคซีนได้รับการอนุมัติ และออกวางจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว
ติดสินบนอื้อฉาว
วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ในปี 2016 หมออินเคยขึ้นศาลในประเทศจีน และยอมรับว่า เขาจ่ายสินบนกว่า 83,000 เหรียญสหรัฐฯ ระหว่างปี 2002 - 2011 ให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลการตรวจสอบวัคซีนชื่อ อิน ฮงจาง และภรรยา เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองวัคซีนของซิโนแวค
“ปีที่ระบุมานั้นสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ซิโนแวคเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ได้รับเลือกจากทางการกรุงปักกิ่งให้เป็นผู้นำในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคซาร์ส ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู” วอชิงตันโพสต์ ระบุ
อิน ฮงจาง ยอมสารภาพผิดในการขึ้นศาลครั้งนั้น และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่ซีอีโอของซิโนแวค กลับไม่ถูกตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีใด ๆ โดยวอชิงตันโพสต์ เผยว่า นักข่าวไม่สามารถสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมในคดีความนี้ได้ เพราะทางการจีนมีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด
ขณะที่ซิโนแวค ชี้แจงคำถามของวอชิงตันโพสต์ เกี่ยวกับคดีสินบนเพียงสั้น ๆ ว่า บริษัทมีความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของจีน ว่าสามารถจัดการกับคดีสินบนในอดีตที่ผ่านมาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว
รายงานของวอชิงตันโพสต์ ทำให้บางประเทศตั้งข้อกังขากับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค ทว่า สื่อจอมขุดคุ้ยของสหรัฐฯ ระบุในรายงานดังกล่าวว่า ข้อมูลเก่าที่เปิดเผยออกมาไม่ได้หมายความว่า วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ไร้ประสิทธิภาพ
จุดเด่น จุดด้อยของวัคซีน
รายงานดังกล่าวของวอชิงตันโพสต์ มีขึ้นก่อนที่ซิโนแวค จะเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 กับมนุษย์ในระยะ 3 ซึ่งผลออกมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 78% เทียบกับไฟเซอร์ (95%) โมเดอร์นา (94.5%) แอสตราเซเนกา (62-90%) หรือแม้แต่ซิโนฟาร์ม (79%) จากชาติเดียวกัน
นอกจากนี้ผลการทดลองในบราซิลยังพบว่า วัคซีนของซิโนแวค มีประสิทธิภาพลดเหลือเพียง 50.73% เมื่อใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม โคโรนาแวคของซิโนแวค มีข้อดีที่การเก็บรักษาง่าย เนื่องจากใช้อุณหภูมิแค่ 2 - 8 องศาเซลเซียส สามารถแช่ในตู้เย็นทั่วไปได้ ไม่เหมือนวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งต้องเก็บไว้ในอุณหูมิต่ำมากถึง -70 องศาเซลเซียส หรือโมเดอร์นา ที่ต้องรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกัน โคโรนาแวคยังเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีเก่าจากเชื้อตายแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่มีประวัติเคยใช้งานกับมนุษย์มาแล้ว จึงปลอดภัยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่มาจากนวัตกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) จากการใช้หน่วยพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยรับรองให้ใช้กับมนุษย์อย่างแพร่หลายมาก่อน
ราคาก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้วัคซีนของซิโนแวค ได้เปรียบเจ้าอื่นอย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา โดยโคโรนาแวค มีราคาประมาณ 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อโดส เทียบกับของไฟเซอร์ ที่ราคาโดสละ 20 เหรียญสหรัฐฯ และ 15 - 25 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับโมเดอร์นา
โคโรนาแวคชุดแรกจำนวน 200,000 โดส เดินทางจากจีนมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2021 หรือกว่า 1 ปี หลังจากไทยกลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2020 และเกือบครบ 1 ปี หลังจากมีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคมปีเดียวกัน
นับถึงวันแรกที่วัคซีนโควิด-19 จากจีนมาถึงแผ่นดินไทย ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสะสมที่ได้รับการยืนยันไปแล้วทั้งหมด 25,692 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 83 ราย
คืนรอยยิ้ม
"วันนี้เลิกพูดได้แล้วนะครับว่า ประเทศไทยไม่มีวัคซีนโควิด ประเทศไทยช้า ประเทศไทยไม่สามารถดูแลประชาชนในเรื่องวัคซีนได้ ผมพูดได้คำเดียวครับว่าวันนี้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิดอยู่ในมือมากที่สุดในทวีปเอเชีย” บีบีซีไทย รายงานคำพูดของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกระหว่างเดินทางไปรับวัคซีนล็อตแรกจากซิโนแวค ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
แม้ในพิธีรับมอบวัคซีนดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” ไม่มีรายงานว่า หมออิน บิดาผู้ก่อตั้งซิโนแวค เดินทางมาร่วมงานและแสดงความยินดีกับไทยด้วยหรือไม่ แต่เขาเคยกล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เอาไว้ว่า
“เราหวังอย่างจริงใจว่า ชีวิตผู้คน ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งได้โดยเร็ว และนั่นจะทำให้เราสามารถกลับมามีรอยยิ้มได้โดยไม่ต้องซ่อนอยู่ใต้หน้ากากอีกต่อไป”
นั่นคือความคาดหวังของผู้ก่อตั้งซิโนแวค และเจ้าของวัคซีนโควิด-19 เจ้าแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากความตั้งใจนำวิชาความรู้มาช่วยเหลือผู้คนในบ้านเกิด ก่อนขยายไปสู่สากล
เป็นความคาดหวังที่ไม่ต่างจากคนทั่วโลก ที่ต้องการกลับมาเห็นรอยยิ้มของกันและกันอีกครั้งอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.sinovac.com/?optionid=452
http://www.chinadaily.com.cn/.../29/content_14287345.htm
http://www.china.org.cn/.../2021-01/22/content_77142600.htm
https://www.biospectrumasia.com/.../dr-weidong-yin...
https://www.tandfonline.com/doi/pdf/10.4161/hv.7.12.18971
https://business.inquirer.net/.../bribery-past-hounds...
https://www.bbc.com/thai/thailand-55623129