ฉากสุดท้ายและการเริ่มใหม่ของความรัก ถึง ‘จูเลียน’ และ ‘จอห์น’ กว่าจะเป็น ‘Hey Jude’ เพลงดังของ The Beatles

ฉากสุดท้ายและการเริ่มใหม่ของความรัก ถึง ‘จูเลียน’ และ ‘จอห์น’ กว่าจะเป็น ‘Hey Jude’ เพลงดังของ The Beatles
/ Hey Jude, don’t make it bad. Take a sad song and make it better. / เสียงร้องของ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ (Paul McCartney) คือสรรพสำเนียงแรกที่เราได้ยินจาก ‘Hey Jude’ เพลงดังความยาว 7 นาที 11 วินาที ที่ครองใจคนทั่วโลกมานับ 5 ทศวรรษ – การันตีด้วยการติดชาร์ตยาว 9 สัปดาห์ในสหราชอาณาจักร หลังจากปล่อยเพลง การทะยานขึ้นอันดับหนึ่งทั้งในอังกฤษและอเมริกา การถูกนำมา cover ใหม่ในทุกยุคราวกับว่าเพลงจาก ‘The Beatles’ เพลงนี้คือเพลงรักร่วมสมัยที่ไม่เลือนหายไปตามเวลา แม้ว่าจะปล่อยมาตั้งแต่ปี 1968 แล้วก็ตาม  นอกจากเหตุผลดังกล่าว ‘Hey Jude’ ยังเป็นเพลงของ The Beatles ที่ถูกนำมาร้องในการเชียร์กีฬา การรวมกลุ่ม และทำกิจกรรมเป็นหมู่คณะมากกว่าเพลงอื่น ๆ ของวง จนสื่อหลายสำนักถึงกับขนานนามให้ว่า ‘Hey Jude’ คือเพลงจาก The Beatles ที่ผู้คน ‘รัก’ มากที่สุด หากเบื้องหลังเพลงเนื้อหาน่ารักที่ถูกรักจากโลกทั้งใบเพลงนี้ กลับมีที่มาจากห้วงเวลาแห่งความเศร้าในหัวใจของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และสมาชิก The Beatles ที่นอกจากจะเพิ่งเลิกกับ เจน แอชเชอร์ (Jane Asher) คู่หมายที่คบหาดูใจมานาน ยังหวนระลึกไปถึงการหย่าร้างของเพื่อนร่วมวง ‘จอห์น เลนนอน’ (John Lennon) และชะตากรรมของลูกชายเพื่อนอย่าง ‘จูเลียน เลนนอน’ (Julian Lennon) อีกด้วย แทนที่จะเป็นกีตาร์หรือเปียโนเหมือนเพลงอื่น ๆ ‘Hey Jude’ ถูกประพันธ์ขึ้นหลังพวงมาลัยรถยนต์บนเส้นทางจากลอนดอนสู่เวย์บริดจ์ – สู่บ้านของ ‘ซินเธีย’ (Cynthia) อดีตภรรยาที่เพิ่งหย่าหมาด ๆ ของจอห์น   Hey Jules / Hey Jude, don’t make it bad. Take a sad song and make it better. /  ฤดูร้อนปี 1968 เส้นทางระหว่างไม่มากเข็มไมล์คล้ายจะไกลสุดลูกหูลูกตาในสายตาของพอล ผู้กำลังมุ่งหน้าไปยังบ้านของเพื่อนร่วมวง แม้ว่าเจ้าของบ้านอย่างจอห์น เลนนอนจะไม่อยู่ที่นั่น หากพอลก็ยังตั้งใจไปทักทายซินเธีย หลังจากรู้ข่าวว่าจอห์น สมาชิกและผู้ก่อตั้ง The Beatles ได้ทิ้งภรรยาเก่าและลูกชายไปคบหาดูใจกับ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) ศิลปินชาวญี่ปุ่น  พอลรู้จักกับจอห์นมานานปี และคุ้นเคยกับซินเธียรวมทั้งลูกชายวัย 5 ขวบของเธอเป็นอย่างดี ภาพพอลอุ้มเด็กชายตัวจิ๋ว หยอกล้อให้เด็กน้อยหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกลายเป็นภาพคุ้นตาของวงสี่เต่าทองทุกคน รวมทั้งจอห์นผู้เป็นพ่อ ที่มักจะพูดอยู่บ่อย ๆ ว่าพอลเปรียบเสมือนคุณลุงแสนดีของจูเลียน ส่วนเขาคือคุณพ่อทึ่ม ๆ ที่ไม่รู้แม้แต่วิธีเล่นกับเด็กที่เขาให้กำเนิด “ผมเป็นห่วงอนาคตของเด็กที่พ่อแม่แยกทางกันอยู่เสมอ ทันทีที่ผมรู้ว่าจอห์นหย่ากับซินเธีย ผมเป็นห่วงจูเลียนยิ่งกว่าอื่นใด” พอลเล่าเรื่องราวเบื้องหลังเพลงดังที่ตัวเองแต่ง “ระหว่างขับรถนั่นเองที่ผมร้องออกมาว่า ‘Hey Jules – don’t make it bad, take a sad song, and make it better…’ มันคือข้อความแห่งความหวังจากผมถึงจูเลียน ประมาณว่า เอาน่าไอ้หนู พ่อกับแม่ของแกเลิกกัน ลุงรู้ว่ามันไม่สุขนักหรอก แต่สุดท้ายแล้วแกจะไม่เป็นไร “ผมเปลี่ยนจาก ‘Jules’ เป็น ‘Jude’ เพราะตัวละครในละครเพลง Oklahoma ชื่อ ‘Jud’ และผมชอบชื่อนั้น ผมเปลี่ยนเป็น ‘Jude’ เพราะมันเข้ากับเพลงได้พอดี” / And anytime you feel the pain, hey Jude, refrain, Don't carry the world upon your shoulders. /   Hey John แม้จุดเริ่มต้นของ ‘Hey Jude’ จะถือกำเนิดขึ้นบนถนนหนึ่งสายและระยะทางไม่กี่ไมล์ หากหลังจากนั้นพอลก็ต้องใช้เวลาและความเป็นศิลปินอีกไม่น้อยในการเกลาดนตรีและเนื้อความให้ออกมาเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจ ไม่เพียงสำหรับตัวเอง แต่สำหรับแขกคนสำคัญที่แวะมาเยี่ยมพอลถึงสตูดิโอในเดือนกรกฎาคม ปี 1968 ด้วย / And don’t you know that it’s just you, hey Jude, you’ll do, The movement you need is on your shoulder. / “จอห์นและโยโกะยืนอยู่ด้านหลังขณะที่ผมเล่นเปียโนและร้องเพลงนี้ เมื่อผมเล่นท่อน ‘The movement you need is on your shoulder’ ผมหันไปหาจอห์นแล้วบอกเขาว่า ‘ฉันว่าจะเปลี่ยนท่อนนี้ทีหลัง มันไม่เห็นจะเข้าท่า’ แต่เขากลับตอบมาว่า ‘แกไม่ต้องเปลี่ยนมันหรอก มันเป็นประโยคที่ดีที่สุดในเพลงเลยนะ’ นั่นทำให้ผมประทับใจมากทีเดียว” การแสดงสดเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยเสียงร้องและการบรรเลงเปียโนของพอลจบลงแล้ว จอห์นและโยโกะกลายเป็นสองบุคคลแรก ๆ ที่ได้ฟัง ‘Hey Jude’ ฉบับเดโมสด ๆ กับหู หลังจากทุกสรรพเสียงเงียบลง สิ่งที่จอห์นพูดกับพอลเป็นอย่างแรกคือ “นั่นฉันนี่ ที่นายเขียนถึงน่ะ” และแน่นอนว่าพอลปฏิเสธ   ไม่ได้เขียนถึงแต่คิดถึงเสมอ ต่อให้พอลจะย้ำผ่านการให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ‘Hey Jude’ คือเพลงที่เขียนให้จูเลียนอย่างไม่ต้องสงสัย หากตั้งแต่วันแรกที่จอห์นได้ยินพอลเล่นเพลงนี้ จวบจนการให้สัมภาษณ์ครั้งท้าย ๆ ของเขาเมื่อปี 1980 จอห์นก็ยังเชื่ออย่างสนิทใจว่าเพลงดังกล่าวนั้น พอลแต่งให้เขา ไม่ใช่ลูกชายของตน “เขาบอกว่าเขาเขียนให้จูเลียน แต่ทุกครั้งที่ผมฟังมัน ผมกลับรู้สึกว่าพอลเขียนมันให้ผม มันอาจจะฟังดูเหมือนทฤษฎีของแฟนคลับไปสักหน่อย แต่ว่าลองคิดดูสิ โยโกะเข้ามาในชีวิตผม และพอลก็บอกว่า ‘Hey Jude – Hey John’ เขาร้องท่อน ‘now go and get her’ เหมือนจะบอกว่า ‘เอาสิ ทิ้งฉันไป’ แต่ในใจเขาไม่ต้องการให้ผมไปไหน จริงอยู่ที่เทวดาในตัวเขาบอกว่า ‘ยินดีด้วยนะ’ แต่ปิศาจในตัวเขากำลังไม่พอใจ เขาไม่อยากเสียคู่หู (ในการทำเพลง) ไป” คำให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นของจอห์นอาจทำให้บางคนส่ายหน้า แต่ขณะเดียวกัน แฟนเพลงหลาย ๆ คนกลับมองเห็นความเป็นไปได้ในคำพูดเหล่านั้น หลังการจากไปที่น่าเศร้าของเขาในปีเดียวกัน และการทิ้งห้วงระยะให้ความคิดถึงได้ทำงานอยู่นานหลายปี พอลจึงได้โอกาสพูดถึงความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกับเพื่อนผู้จากไกลคนนี้อีกครั้ง  ความทรงจำครั้งที่จอห์นยืนเยื้องอยู่เบื้องหลังเขาพร้อมทั้งบอกให้เขามั่นใจในเนื้อเพลงของตัวเอง ยังดังก้องอยู่ในใจพอลราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน “ทุกครั้งที่ผมร้อง ‘Hey Jude’ ผมก็ยังนึกถึงจอห์น ได้ยินตัวเองร้องท่อน The movement you need is on your shoulder ทีไร ผมยังคงอดมีอารมณ์ร่วมไปกับมันไม่ได้ ไม่ต่างอะไรจากวันวานเลย” หลังการจากไปของจอห์นและจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) สองสมาชิกวง The Beatles ปัจจุบัน ‘Hey Jude’ กลายเป็นบทเพลงที่พอลหยิบมาเล่นบ่อยครั้งเพื่อระลึกถึงพวกเขาและความรุ่งเรืองในครั้งอดีตที่กลุ่มเพื่อนนักดนตรีสี่ชีวิตร่วมสร้างมาด้วยกัน  แม้จะผ่านเรื่องราวร้าย ๆ และทุ่มเถียงกันเพราะต่างทางความคิดไปมากมาย หากสุดท้าย The Beatles ทุกคนก็ยังเห็นตรงกันว่าบทเพลงที่พอลแต่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ดีพอให้โลกขานรับและร้องตอบกลับมา เช่นเดียวกับคำพูดของจอห์น เลนนอน ที่เคยพูดไว้อย่างไม่เคยเปลี่ยนใจว่า “Hey Jude คือเพลงที่ดีที่สุดของพอล”   ที่มา: https://www.beatleswiki.com/wiki/index.php/Hey_Jude https://www.theguardian.com/music/2018/aug/21/how-hey-jude-became-our-favourite-beatles-song https://www.songfacts.com/facts/the-beatles/hey-jude https://faroutmagazine.co.uk/the-beatles-paul-mccartney-hey-jude-the-story-behind-the-song/