เนลสัน แมนเดลา: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ของวีรบุรุษนักสู้
The People Talk: ‘อุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิต’ สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษนักสู้ผู้เรียกร้องความเท่าเทียมของทุกคน
*The People Talk รวมสุนทรพจน์เปลี่ยนโลก
** ‘I Am Prepared to Die’ สุนทรพจน์ของเนลสัน แมนเดลา ผู้นำเรียกร้องอิสรภาพและความเท่าเทียม ระหว่างขึ้นศาลต่อสู้ข้อกล่าวหาจากรัฐบาล ในกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1964
***ภาพประกอบคือภาพที่ถ่ายเนลสัน แมนเดลาเมื่อเดือนเมษายน 2007 ไม่ใช่ภาพจากสถานที่กล่าวสุนทรพจน์ต้นเรื่อง
เนลสัน แมนเดลา ตำนานนักสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้ล่วงลับ ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการประท้วง และอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมต่อต้านรัฐบาลคนผิวขาวในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1964
สุนทรพจน์นี้เกิดขึ้นระหว่างเปิดการพิจารณาคดีครั้งแรก โดยอดีตผู้นำผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ อธิบายมูลเหตุของการประท้วง และที่มาของเหตุวินาศกรรมโดยละเอียด
ขณะเดียวกันยังปฏิเสธข้อหาที่รัฐบาลพยายามเชื่อมโยงขบวนการของเขากับพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนปิดท้ายสุนทรพจน์ด้วยประโยคที่ว่า “มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมพร้อมแลกมาด้วยชีวิต”
สุนทรพจน์นี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเนลสัน แมนเดลา เนื่องจากบอกเล่าประวัติความเป็นมา และเหตุผลเบื้องหลังอุดมการณ์การต่อสู้ทั้งหมดที่ผ่านมาอย่างละเอียด
โดยภายหลังการพิจารณาคดีนี้ แมนเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และต้องใช้เวลาอีก 30 ปีต่อมาต่อสู้จากในเรือนจำ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในปี 1990 และเป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดนโยบายแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้
นี่คือสุนทรพจน์เต็มของเนลสัน แมนเดลา ที่อธิบายว่า ทำไมเขาจึงยอมตายเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และอยากให้ทุกคนเท่าเทียมกัน
...
“ท่านผู้พิพากษาครับ ผมคือจำเลยคนแรก
ผมจบปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต และทำงานเป็นทนายความในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก อยู่หลายปีโดยมีมิสเตอร์โอลิเวอร์ แทมโบ ผู้ร่วมสมคบคิดในคดีนี้เป็นหุ้นส่วน ผมเป็นนักโทษถูกจำคุก 5 ปี จากความผิดข้อหาเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และยุยงปลุกปั่นให้เกิดการประท้วงเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1961
ผมยอมรับทันทีว่าเป็นหนึ่งในผู้ช่วยก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ Umkhonto we Sizwe (หอกแห่งชาติ) และมีบทบาทสำคัญในกองกำลังดังกล่าวจนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคม 1962
ในถ้อยแถลงซึ่งผมกำลังจะบอกต่อไป ผมจะขอแก้ไขทัศนคติผิด ๆ ซึ่งพยานของรัฐสร้างขึ้นมา ในจำนวนนี้ผมจะแสดงให้เห็นว่า บางการกระทำที่อ้างถึงในหลักฐานนั้นไม่ถูกต้อง และ Umkhonto ไม่สามารถทำได้
ผมจะอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (ANC) กับส่วนที่ผมเข้าไปมีบทบาทเป็นการส่วนตัวในกิจการของทั้งสององค์กร และจะเล่าถึงบทบาทในส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์
เพื่อให้การอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ผมต้องอธิบายว่า Umkhonto มีเป้าหมายอะไร วิธีการอะไรที่มันถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์เหล่านี้ และทำไมถึงเลือกใช้วิธีการเหล่านี้
ผมจะต้องอธิบายด้วยว่า ผมมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร ผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กรเหล่านี้ได้อย่างไร
อันดับแรกผมต้องการจะบอกว่า ข้อกล่าวหาของรัฐช่วงเปิดการพิจารณาคดีที่ว่า การต่อสู้ในแอฟริกาใต้อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวต่างชาติหรือคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ความจริงโดยสิ้นเชิง
อะไรก็ตามที่ผมทำลงไป ทั้งในฐานะปัจเจกและผู้นำประชาชน มาจากเหตุผลเรื่องประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ และความรู้สึกภูมิใจในประวัติความเป็นชาวแอฟริกันของตนเอง ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่คนนอกคนใดอาจพูดกัน
ในช่วงเป็นวัยรุ่นที่ทรานสไก (Transkei) ผมได้ฟังเรื่องเล่าของวันเก่า ๆ จากผู้อาวุโสประจำเผ่า ในจำนวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผมคือเรื่องสงครามปกป้องปิตุภูมิของบรรพบุรุษ
ชื่อของ Dingane และ Bambatha, Hintsa และ Makana, Squngathi และ Dalasile, Moshoeshoe และ Sekhukhune ได้รับการยกย่องในฐานะความภูมิใจและชัยชนะของชาวแอฟริกันทั้งมวล จากนั้นผมก็หวังว่า ชีวิตอาจมอบโอกาสให้ผมได้รับใช้ผู้คน และอุทิศตนอย่างถ่อมตัวเพื่อต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพให้กับพวกเขาบ้าง นี่คือแรงกระตุ้นทั้งหมดที่ทำให้ผมกระทำการลงไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อหาที่ฟ้องร้องผมในคดีนี้
มาถึงตรงนี้ ผมต้องตอบคำถามเรื่องการก่อวินาศกรรมทันที และต้องลงรายละเอียดค่อนข้างยาว ข้อมูลบางอย่างที่บอกต่อศาลไปแล้วเป็นความจริง แต่บางเรื่องก็เป็นเท็จ
อย่างไรก็ดี ผมไม่ปฏิเสธว่า ผมเคยวางแผนวินาศกรรมแต่ไม่ได้วางแผนมันด้วยวิญญาณแห่งการไร้ความยั้งคิด หรือเป็นเพราะผมรักความรุนแรง ผมคิดแผนขึ้นมาจากผลของการประเมินสถานการณ์การเมืองด้วยความสงบและสุขุม มันผุดขึ้นมาหลังเกิดทรราชย์ การฉกฉวยประโยชน์ และกดขี่ประชาชนด้วยฝีมือของคนผิวขาวมาเป็นเวลานานหลายปี
ผมขอปฏิเสธความรับผิดชอบของ Umkhonto ต่อเหตุการณ์หลายครั้งซึ่งอยู่นอกเหนือนโยบายขององค์กรชัดเจน แต่เรากลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ผมไม่ทราบถึงเหตุผลการตัดสินใจกระทำการเหล่านี้ รวมถึงใครคือผู้ก่อเหตุ แต่เพื่อบรรยายว่า Umkhonto ไม่ได้อนุญาต หรือกระทำด้วยตนเอง ผมจึงต้องการอ้างอิงสั้น ๆ ถึงรากเหง้าและนโยบายขององค์กรดังกล่าว
ผมแจ้งไปแล้วว่า ผมคือหนึ่งในผู้ช่วยก่อตั้ง Umkhonto ผมและผู้เริ่มต้นองค์กรคนอื่น ๆ ทำสิ่งนั้นด้วยเหตุผล 2 ข้อ
ข้อแรก เราเชื่อว่า ด้วยผลของนโยบายรัฐบาล ความรุนแรงที่เกิดจากประชาชนชาวแอฟริกันกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และหากไม่มีผู้นำที่รับผิดชอบนำทางและควบคุมอารมณ์ผู้คน การก่อการร้ายจะแพร่กระจายออกไป และจะทำให้เกิดความขมขื่นและเป็นศัตรูกันมากยิ่งขึ้นระหว่างเชื้อชาติอันหลายหลายในประเทศ และจะไม่ได้นำไปสู่แค่เรื่องของสงครามเท่านั้น
เหตุผลข้อสอง เรารู้สึกว่า หากไม่ก่อวินาศกรรม มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่ชาวแอฟริกันจะประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับหลักการคนผิวขาวเป็นใหญ่ วิธีแสดงออกเพื่อคัดค้านหลักการนี้ตามกฎหมายถูกปิดตายทุกทางด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ และเราถูกจับให้อยู่ในจุดที่ต้องยอมรับสถานะที่ด้อยกว่าแบบถาวร หรือต้องออกมาท้าทายรัฐบาล ซึ่งเราเลือกอย่างหลัง
เราเริ่มด้วยการทำผิดกฎหมายในแบบที่เลี่ยงทุกปัจจัยซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรง เมื่อรูปแบบนี้ถูกกฎหมายปิดกั้น และรัฐบาลใช้การแสดงอำนาจเพื่อบดขยี้ฝ่ายต่อต้านด้วยนโยบายต่าง ๆ เมื่อนั้นเองที่เราตัดสินใจตอบโต้กับความรุนแรงด้วยความรุนแรง
แต่ความรุนแรงที่เราเลือกใช้ไม่ใช่การก่อการร้าย เราผู้ก่อตั้ง Umkhonto ทุกคนคือสมาชิกพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา และมีธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค ANC เป็นฉากหลังเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและเน้นการเจรจา คือวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
เราเชื่อว่าประเทศแอฟริกาใต้เป็นของประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าคนผิวดำหรือผิวขาว เราไม่ต้องการให้เกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติ และพยายามหลีกเลี่ยงมันจนถึงนาทีสุดท้าย
หากศาลสงสัยในเรื่องนี้ มันมองได้ว่า ประวัติศาสตร์ทั้งหมดขององค์กรเราจะช่วยยืนยันในสิ่งที่ผมพูด และที่กำลังจะพูดหลังจากนี้ เมื่อผมอธิบายแทคติกที่ Umkhonto ตัดสินใจนำมาใช้ จากนั้นผมต้องการจะบอกบางอย่างเกี่ยวกับพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา
พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกาตั้งขึ้นมาในปี 1912 เพื่อปกป้องสิทธิของชาวแอฟริกัน ซึ่งถูกจำกัดสิทธิอย่างรุนแรงด้วยบทบัญญัติแอฟริกาใต้ (South Africa Act) จากนั้นยังถูกคุกคามด้วยบทบัญญัติดินแดนพื้นเมือง (Native Land Act)
เป็นระยะเวลา 37 ปี จนถึงปี 1949 พรรคยึดมั่นในการต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด พรรคนำเสนอความต้องการและข้อเรียกร้องต่าง ๆ เราส่งตัวแทนเข้าไปในรัฐบาลเพราะเชื่อว่า ความคับแค้นใจต่าง ๆ ของชาวแอฟริกันจะสามารถจัดการได้ผ่านการหารือกันอย่างสันติ และชาวแอฟริกันจะสามารถค่อย ๆ ก้าวไปสู่การมีสิทธิทางการเมืองที่สมบูรณ์
ทว่า รัฐบาลของคนผิวขาวยังคงนิ่งเฉย และสิทธิของชาวแอฟริกันกลับลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้น ในคำพูดของ Chief Luthuli ผู้นำของเรา ซึ่งกลายเป็นประธานพรรค ANC และได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเวลาต่อมา ผมขอยกคำพูดมาตามนี้ว่า
‘ใครจะปฏิเสธว่า ชีวิต 30 ปีของผมหมดไปกับการเคาะประตูที่ปิดกั้นและปิดตายด้วยความอดทน ไม่เกรี้ยวกราด และเจียมเนื้อเจียมตัวอย่างเปล่าประโยชน์ อะไรคือผลแห่งการรู้จักประมาณตน ไม่ใช่ความรุนแรง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกฎหมายจำกัดสิทธิและความก้าวหน้าออกมามากมาย จนถึงทุกวันนี้เรามาถึงขั้นที่แทบจะไม่มีสิทธิใด ๆ เหลืออยู่เลย’
แม้กระทั่งหลังปี 1949 พรรค ANC ยังคงยึดมั่นแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามช่วงเวลานี้เอง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับวิธีประท้วงตามรัฐธรรมนูญอันเคร่งครัดซึ่งใช้มาในอดีต การเปลี่ยนแปลงถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างในการตัดสินใจประท้วงต่อต้านกฎหมายแบ่งแยกสีผิว เป็นการประท้วงโดยสันติ แต่ผิดกฎหมายเพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าว
ตามหลักนโยบายนี้ พรรค ANC เปิดตัวแคมเปญเพื่อการขัดขืน (Defiance Campaign) ซึ่งผมถูกวางตัวเป็นอาสาสมัคร แคมเปญนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักการต่อต้านเชิงรับ (passive resistance) มีผู้ออกมาท้าทายกฎหมายแบ่งแยกสีผิวกว่า 8,500 คนถูกจับขังคุก แต่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตลอดแคมเปญนี้แม้แต่ครั้งเดียว
ผมและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 19 คน ถูกดำเนินคดีจากการกระทำดังกล่าว และข้อหานี้ยังอยู่ภายใต้บทบัญญัติการปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ (Suppression of Communism Act) ถึงแม้แคมเปญของเราไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิส์เลย แต่ต่อมาโทษของเราก็ได้รับการงดเว้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้พิพากษาพบว่า กฎระเบียบและการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นได้มีการเน้นย้ำตลอดการประท้วง
นี่คือช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งฝ่ายอาสาสมัครของพรรค ANC ขึ้นมา และคำว่า ‘Amadelakufa’ ถูกใช้เป็นครั้งแรก นี่เป็นช่วงเวลาที่อาสาสมัครได้รับการร้องขอให้กล่าวคำปฏิญาณว่าจะยึดมั่นในหลักการขององค์กร
หลักฐานเกี่ยวกับอาสาสมัครและคำปฏิญาณตนมีการนำเสนอเข้าสู่คดีนี้แล้ว แต่เนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง อาสาสมัครไม่ใช่ และไม่เคยเป็นทหารของกองทัพคนผิวดำที่ให้คำมั่นว่าจะทำสงครามกลางเมืองต่อต้านคนผิวขาว
พวกเขาเป็น และเคยเป็นแรงงานผู้อุทิศตน ที่เตรียมนำแคมเปญของพรรค ANC ไปปฏิบัติ เพื่อแจกจ่ายใบปลิว จัดการประท้วง หรือทำทุกอย่างตามวัตถุประสงค์ของแคมเปญนั้น พวกเขาถูกเรียกว่าอาสาสมัคร เพราะพวกเขาอาสาเผชิญหน้ากับบทลงโทษต่าง ๆ ทั้งโทษจำคุกและเฆี่ยนตี ซึ่งตอนนี้มีประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว
ระหว่างมีแคมเปญเพื่อการขัดขืน กฎหมายความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety Act) และบทบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาญา (Criminal Law Amendment Act) ได้ผ่านความเห็นชอบให้บังคับใช้ กฎหมายเหล่านี้ระบุบทลงโทษรุนแรงมากขึ้นกับผู้ฝ่าฝืนด้วยการประท้วงผิดกฎหมาย แต่แม้จะมีสิ่งนี้ การประท้วงยังคงเกิดขึ้นต่อไป และพรรค ANC ยังยึดมั่นในนโยบายไม่ใช้ความรุนแรง
ในปี 1956 สมาชิกแกนนำพันธมิตรคองเกรส (Congress Alliance) จำนวน 156 คน รวมถึงผม ถูกจับกุมในข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ และถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายที่ใช้ปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ รัฐมีการหยิบยกนโยบายไม่ใช้ความรุนแรงของพรรค ANC มาเป็นประเด็น แต่เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาในอีกประมาณ 5 ปีต่อมา พบว่า พรรค ANC ไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงใด ๆ เราถูกตัดสินให้พ้นผิดทุกข้อหา รวมถึงข้อหาที่ว่า พรรค ANC พยายามล้มล้างระบอบการปกครองปัจจุบันเพื่อก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์
รัฐบาลมักพยายามตีตราฝ่ายต่อต้านทุกคนให้เป็นคอมมิวนิสต์ ข้อกล่าวหานี้เกิดซ้ำอีกครั้งในคดีล่าสุด แต่อย่างที่ผมจะแสดงให้เห็น พรรค ANC ไม่ใช่ และไม่เคยเป็นองค์กรคอมมิวนิสต์
ในปี 1960 มีเหตุยิงกันเกิดขึ้นที่ Sharpeville ซึ่งส่งผลให้เกิดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และขึ้นบัญชีพรรค ANC เป็นองค์กรผิดกฎหมาย หลังจากไตร่ตรองกันอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผมและบรรดาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะไม่เชื่อฟังประกาศิตนี้
ประชาชนชาวแอฟริกันไม่ได้ร่วมอยู่ในรัฐบาล และไม่ได้ร่วมออกกฎหมายซึ่งพวกเขาอยู่ภายใต้การปกครอง เราเชื่อคำพูดในคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ‘ความปรารถนาของประชาชนจะเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล’ และสำหรับพวกเรา การยอมรับคำสั่งห้ามดังกล่าวไม่ต่างจากการยอมรับการปิดปากชาวแอฟริกันไม่ให้มีปากเสียงมาตลอด
เราปฏิเสธการยุบพรรค_ANC_และเปลี่ยนไปเป็นองค์กรเคลื่อนไหวใต้ดิน เราเชื่อว่าเป็นหน้าที่ในการคงไว้ซึ่งองค์กรนี้ที่สร้างมาจากการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ผมไม่สงสัยเลยว่า จะไม่มีองค์กรการเมืองของคนผิวขาวที่พวกเขานับถือองค์กรใดยอมยุบตัวเองไป หากถูกประกาศให้เป็นองค์กรผิดกฎหมายโดยรัฐบาลที่ไม่ให้พวกเขาได้มีปากเสียงใด ๆ
ในปี 1960 รัฐบาลจัดให้มีการลงประชามติซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐ แต่ชาวแอฟริกัน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศแอฟริกาใต้กลับไม่มีสิทธิลงคะแนน หรือแม้แต่ถูกรับฟังความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนั้น
เราทุกคนล้วนหวาดระแวงกับอนาคตภายใต้ข้อเสนอจัดตั้งสาธารณรัฐของคนผิวขาว และตัดสินใจที่จะจัดการประชุมคอนเฟอเรนซ์ที่ชาวแอฟริกันทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อเรียกร้องให้เกิดการประชุมคอนเวนชันระดับชาติ และจัดการประท้วงใหญ่หนึ่งวันก่อนการเริ่มตั้งสาธารณรัฐที่เราไม่ต้องการ หากรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการประชุมคอนเวนชันดังกล่าว
การประชุมคอนเฟอเรนซ์มีชาวแอฟริกันจากฝ่ายการเมืองอันหลากหลายเข้าร่วม ผมได้เป็นเลขาธิการของการประชุม และรับผิดชอบในการจัดการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นตามมาในช่วงเวลาเดียวกับที่มีคำประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ
ขณะที่การประท้วงทุกรูปแบบของชาวแอฟริกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้นำจัดการประท้วงจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ผมได้รับเลือกให้เป็นบุคคลผู้นั้น และผลที่ตามมาก็คือ ผมต้องทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว และหน้าที่การงาน เพื่อไปหลบซ่อนตัวหลบหนีการจับกุม
การหยุดงานประท้วงตามนโยบายของพรรค ANC เป็นการประท้วงโดยสันติ มีการให้คำแนะนำอย่างรอบคอบแก่ผู้จัดการและสมาชิก เพื่อหลีกเลี่ยงทุกเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง
การตอบโต้ของรัฐบาลคือการประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น มีการระดมกองกำลังติดอาวุธ และส่งพวกซาระเซน (นักรบครูเสด) ยานพาหนะติดอาวุธ และทหารไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงพลังครั้งใหญ่ในการข่มขวัญประชาชน นี่คือเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐบาลตัดสินใจปกครองด้วยกำลังเพียงอย่างเดียว และการตัดสินใจนี้ คือ หลักไมล์บนเส้นทางสู่การจัดตั้งกองกำลัง Umkhonto
บางอย่างในนี้อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีครั้งนี้ ข้อเท็จจริงก็คือ ผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะผมหวังว่า ในที่สุดมันจะทำให้ศาลพึงพอใจกับทัศนคติที่ผู้คนและองค์กรอันหลากหลายยึดมั่นเกี่ยวกับขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติ (National Liberation Movement)
ตอนผมถูกจำคุกในปี 1962 แนวคิดหลักก็คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ตอนนี้ผมรู้ว่า แนวคิดนี้ยังคงเหมือนเดิมในปี 1963
ผมต้องย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 1961 เราในฐานะผู้นำมวลชนได้ทำอะไรกันบ้าง พวกเรายอมจำนนต่อการแสดงอำนาจ และการคุกคามทางอ้อมต่อปฏิบัติการในอนาคต หรือเราจะต่อสู้กับมัน และถ้าเป็นอย่างนั้นเราควรทำอย่างไร
เราไม่เคยสงสัยเลยว่า เราต้องเดินหน้าต่อสู้ต่อไป มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมแพ้อันน่าอดสู #ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าจะสู้หรือไม่_แต่คือเราจะเดินหน้าสู้ต่อไปอย่างไร เราในนามพรรค ANC มีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติมาตลอด และเราเลี่ยงการกระทำใดที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติมากขึ้น
แต่ข้อเท็จจริงที่ยากจะยอมรับคือ ตลอด 50 ปีของการไม่ใช้ความรุนแรง ประชาชนชาวแอฟริกันไม่ได้สิ่งได้กลับมาเลย นอกจากกฎหมายที่กดขี่พวกเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสิทธิที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ศาลนี้จะเข้าใจ แต่มันคือข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้คนมีการพูดคุยถึงเรื่องความรุนแรงกันมานาน พูดถึงวันที่พวกเขาจะสู้กับคนผิวขาวและคว้าชัยนำประเทศกลับคืนมา และเราในฐานะผู้นำพรรค ANC ขณะเดียวกันก็ต้องคอยโน้มน้าวพวกเขาในหลีกเลี่ยงความรุนแรง และทำตามกระบวนการสันติวิธี
เมื่อพวกเราบางคนถกเถียงกันเรื่องนี้ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 1961 มันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นโยบายเพื่อจัดตั้งรัฐที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่บรรลุผลใด ๆ และสมาชิกของเราเริ่มไม่มั่นใจในนโยบายนี้ และเริ่มมีแนวคิดอันน่าวิตกเรื่องการก่อการร้าย
ต้องไม่ลืมว่า ณ เวลานั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ความรุนแรงได้กลายเป็นส่วนสำคัญทางการเมืองของประเทศแอฟริกาใต้แล้ว มีเหตุรุนแรงในปี 1957 เมื่อสตรีจาก Zeerust ถูกบังคับให้ต้องพกบัตรผ่านแดน มีเหตุรุนแรงในปี 1958 จากการบังคับให้มีการคัดทิ้งวัวควายใน Sekhukhuniland มีเหตุรุนแรงในปี 1959 เมื่อผู้คนใน Cato Manor ประท้วงต่อต้านกฎหมายจำกัดการเดินทาง มีความรุนแรงในปี 1960 เมื่อรัฐบาลพยายามบังคับใช้กฎหมาย Bantu Authorities ใน Pondoland มีชาวแอฟริกันเสียชีวิต 39 คน ในความวุ่นวายเหล่านี้ ในปี 1961 มีเหตุจลาจลใน Warmbaths และตลอดเวลานี้ที่ทรานสไก มีเหตุชุลมุนวุ่นวายใหญ่ ๆ เกิดที่นั่น
ความวุ่นวายแต่ละครั้งชี้ให้เห็นชัดเจนถึงการเติบโตที่เลี่ยงไม่ได้ในหมู่ชาวแอฟริกันที่เชื่อว่า ความรุนแรงคือทางออกเดียว มันแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลซึ่งใช้กำลังเพื่อรักษาอำนาจ ได้สอนให้ผู้ถูกกดขี่ต้องตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง
มีกลุ่มขนาดเล็กเกิดขึ้นแล้วมากมายในเขตเมือง และพวกเขากำลังวางแผนกันเองเพื่อต่อสู้ทางการเมืองด้วยความรุนแรง ตอนนี้มีอันตรายผุดขึ้นมา เพราะว่ากลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะนำยุทธวิธีก่อการร้ายมาใช้กับชาวแอฟริกันและคนผิวขาวในแบบเดียวกัน หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม
ความวิตกที่ว่ามาคือรูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ อย่าง Zeerust, Sekhukhuniland และ Pondoland มันกำลังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในหมู่ชาวแอฟริกัน มันไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐบาล แม้สิ่งนี้จะเป็นต้นตอ แต่เป็นสงครามกลางเมืองในหมู่พวกเรากันเอง เกิดขึ้นในแบบที่ไม่สามารถคาดหวังสิ่งใด นอกจากความตายและความขมขื่น
ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 1961 หลังจากประเมินสถานการณ์ในแอฟริกาใต้อันยาวนานและเคร่งเครียด ผมและเพื่อนบางคนได้ข้อสรุปว่า เมื่อความรุนแรงในประเทศนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดและไม่ตรงความเป็นจริง หากบรรดาผู้นำชาวแอฟริกันจะเดินหน้าเทศนาเรื่องสันติภาพ และการไม่ใช่ความรุนแรงต่อไป ในเมื่อรัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้องอย่างสันติของเราด้วยการใช้กำลัง
ข้อสรุปนี้ไม่ได้มาง่าย ๆ มันเกิดขึ้นเมื่อทุกอย่างที่ทำไปล้มเหลว เมื่อการประท้วงโดยสันติทุกช่องทางของเราถูกปิดกั้น_นั่นคือการตัดสินใจเริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบความรุนแรง และมีการจัดตั้งกองกำลัง Umkhonto we Sizwe ขึ้นมา เราทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเราปรารถนาวิธีแบบนั้น แต่เป็นเพราะเหตุผลเดียวนั่นคือ รัฐบาลทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น
ในคำประกาศของ Umkhonto ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1961 ซึ่งเป็นของกลางรหัส AD เราพูดว่า
‘ในช่วงชีวิตของชาติใดชาติหนึ่งมันถึงเวลาเมื่อมีทางเลือกเหลือเพียง 2 ทาง คือ ยอมจำนนหรือต่อสู้ ตอนนี้ช่วงเวลานั้นได้มาถึงประเทศแอฟริกาใต้แล้ว เราจะไม่ยอมจำนน และเราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการตอบโต้ด้วยกำลังที่เรามีทุกวิถีทางเพื่อปกป้องประชาชนของเรา อนาคตของเรา และอิสรภาพของเรา’
นี่คือความรู้สึกของเราในเดือนมิถุนายน 1961 เมื่อเราตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายของขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ ผมบอกได้เพียงว่า ผมรู้สึกถึงพันธะทางศีลธรรมในการทำสิ่งที่ผมทำลงไป
เราผู้ตัดสินใจในครั้งนี้เริ่มปรึกษาบรรดาผู้นำองค์กรต่าง ๆ รวมถึงพรรค ANC ผมจะไม่ขอบอกว่าเราพูดคุยกับใครบ้าง หรือพวกเราพูดอะไรกัน แต่ผมต้องการบอกถึงบทบาทของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ในขั้นของการต่อสู้นี้ ด้วยนโยบายและเป้าหมายของ Umkhonto we Sizwe
เท่าที่พรรค ANC เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง มันทำให้เห็นภาพชัดเจนซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
มันคือองค์กรการเมืองขนาดใหญ่ พร้อมฟังก์ชันการเมืองให้เติมเต็ม สมาชิกขององค์กรมาร่วมมือกันบนพื้นฐานของนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง
เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มันไม่สามารถ และจะไม่กระทำการใด ๆ ด้วยความรุนแรง สิ่งนี้ต้องถูกเน้นย้ำ ไม่มีผู้ใดสามารถเปลี่ยนองค์กรนี้ให้กลายเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีสายสัมพันธ์อันแนบชิด และต้องการก่อวินาศกรรมได้
สิ่งนี้ยังไม่ใช่เรื่องถูกต้องทางการเมือง เพราะมันจะส่งผลให้สมาชิกละทิ้งการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง หรือการจัดการในองค์กร และมันยังไม่สามารถเปิดทางให้มีการเปลี่ยนธรรมชาติทั้งหมดขององค์กร
ในอีกด้าน มุมมองของสถานการณ์นี้ที่ผมได้บรรยายไป พรรค ANC ได้เตรียมตัวหันหลังให้กับนโยบายไม่ใช้ความรุนแรงที่มีอายุ 50 ปีของตนเอง เพื่อไปสู่ขอบเขตนี้ที่ว่า มันจะไม่มีการปฏิเสธความรุนแรงที่มีการควบคุมอย่างเหมาะสมอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พรรค ANC จะไม่ดำเนินการทางวินัยกับสมาชิกคนใดที่กระทำกิจกรรมดังกล่าว
ผมพูดว่า 'ความรุนแรงที่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม' เพราะผมอยากทำให้ชัดเจนว่า หากผมตั้งองค์กรขึ้นมา ผมจะต้องจัดการองค์กรนั้นให้อยู่ภายใต้ข้อชี้แนะทางการเมืองของพรรค ANC ตลอดเวลา และจะไม่ดำเนินรูปแบบกิจกรรมที่ต่างไปจากที่พรรค ANC ได้พิจารณาเห็นชอบแล้วเท่านั้น และตอนนี้ผมจะบอกกับศาลว่า รูปแบบการใช้ความรุนแรงนั้นมีการพิจารณากันอย่างไร
จากผลของการตัดสินใจครั้งนี้ Umkhonto ได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1961 ตอนเราตัดสินใจเรื่องนี้และกำหนดแผนการตามมา เรายังติดอยู่กับมรดกของ ANC ว่าด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และความปรองดองทางเชื้อชาติเป็นอย่างมาก
เรารู้สึกว่า ประเทศกำลังมุ่งหน้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว เรามองสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง สงครามกลางเมืองอาจหมายถึงการทำลายล้างสิ่งที่พรรค ANC ยืนหยัดต่อสู้มา เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง การเกิดสันติภาพทางเชื้อชาติจะทำได้ยากกว่าที่เคยเป็นมา
เรามีตัวอย่างผลของสงครามในประวัติศาสตร์ของประเทศแอฟริกาใต้มาแล้ว มันใช้เวลานานกว่า 50 ปี กว่าที่แผลเป็นจากสงครามแอฟริกาใต้จะจางหายไป แล้วแผลเป็นจากสงครามกลางเมืองระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่ของทั้งสองฝ่าย จะใช้เวลาเยียวยายาวนานเท่าใด
การหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้ครอบงำความคิดของเรามาหลายปี แต่เมื่อเราตัดสินใจใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย เราตระหนักดีว่า เราอาจต้องเผชิญโอกาสเกิดสงครามแบบนั้นสักวัน สิ่งนี้จึงต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนของเรา
เราต้องการแผนที่ยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้เรากระทำการอันสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา เหนือสิ่งอื่นใด แผนนั้นต้องยอมรับสงครามกลางเมืองในฐานะทางเลือกสุดท้าย และปล่อยให้อนาคตตัดสินใจในคำถามนี้ เราไม่ต้องการสงครามกลางเมือง แต่เราต้องการเตรียมพร้อมหากมันกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
รูปแบบของความรุนแรงที่เป็นไปได้มี 4 แบบ มีการก่อวินาศกรรม มีการทำสงครามกองโจร มีการก่อการร้าย และการทำปฏิวัติอย่างเปิดเผย เราเลือกใช้วิธีการแรก และจะใช้มันให้หมดก่อนตัดสินใจเลือกทางอื่น
ภายใต้แสงบนฉากหลังทางการเมืองของเรา ทางเลือกนี้มีความเป็นเหตุเป็นผล วินาศกรรมไม่ทำให้ใครเสียชีวิต และมันเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติในอนาคต ความขมขื่นจะถูกกดไว้ในระดับต่ำที่สุด และหากนโยบายได้ผล การมีรัฐบาลประชาธิปไตยอาจกลายเป็นเรื่องจริง นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกได้ในเวลานั้น และนี่คือสิ่งที่เราบอกไว้ในคำประกาศของเรา (ของกลางรหัส AD)
‘พวกเรา Umkhonto we Sizwe จะพยายามต่อสู้อยู่เสมอเพื่อให้ได้รับการปลดปล่อยโดยปราศจากการนองเลือดและสงครามกลางเมือง แม้ในชั่วโมงสุดท้ายนี้ เราหวังว่า ปฏิบัติการแรกของเราจะทำให้ทุกคนตื่นรู้ และตระหนักถึงวิกฤตซึ่งนโยบายชาตินิยมกำลังนำพาเราไป เราหวังว่าจะสามารถทำให้รัฐบาล และผู้สนับสนุนของเขามีสำนึกก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อให้ทั้งรัฐบาล และนโยบายของเขาสามารถเปลี่ยนแปลง ก่อนที่เหตุการณ์ต่าง ๆ จะไปสู่สถานะอันสิ้นหวังของสงครามกลางเมือง’
แผนขั้นต้นอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ เราเชื่อว่า ประเทศแอฟริกาใต้พึ่งพาทุนต่างชาติ และการค้าระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เราคิดว่า แผนทำลายโรงไฟฟ้า และก่อกวนการขนส่งทางรางและการสื่อสารทางโทรศัพท์ จะทำให้ทุนเหล่านั้นเข็ดขยาดออกจากประเทศนี้ไป ทำให้การขนส่งสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมสู่ท่าเรือมีความลำบากมากขึ้นในการกำหนดระยะเวลาส่งมอบ และจะกระทบต่อวงจรเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศต้องทบทวนจุดยืนของพวกเขาในที่สุด
การโจมตีวงจรเศรษฐกิจของประเทศจะเชื่อมโยงกับการวินาศกรรมตามอาคารที่ทำการของรัฐบาลและสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิวอื่น ๆ การโจมตีเหล่านี้จะเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้กับคนของเรา นอกจากนี้ พวกมันจะเป็นทางออกให้กับผู้ที่กำลังเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง และจะทำให้เราสามารถพิสูจน์ให้สมาชิกของเรารู้ว่า เราได้ใช้วิธีการที่แข็งกร้าวมากขึ้น และกำลังตอบโต้ความรุนแรงจากรัฐบาล
นอกจากนี้ หากปฏิบัติการครั้งใหญ่ดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จ และมีการแก้แค้นครั้งใหญ่เกิดขึ้น เราคิดว่าประเทศอื่นจะเห็นใจในการต่อสู้ของเรา และจะเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลแอฟริกาใต้
นี่คือแผนในตอนนั้น Umkhonto มีหน้าที่ก่อวินาศกรรม และสมาชิกของกลุ่มได้รับแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น ไม่ให้พุ่งเป้าทำร้ายหรือสังหารผู้คนในการวางแผนหรือดำเนินการใด ๆ แนวทางปฏิบัติเหล่านี้มีการอ้างถึงในหลักฐานของ ‘มิสเตอร์เอ็กซ์’ และ ‘มิสเตอร์ซี (Z)’
กิจการของ_Umkhonto_คือควบคุมและสั่งการโดยกองบัญชาการสูงสุดแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจคัดเลือกสมาชิกและแต่งตั้งกองบัญชาการภาค กองบัญชาการสูงสุดคือหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องแทคติกและเป้าหมาย รวมถึงรับผิดชอบในด้านการฝึกซ้อมและการเงิน
หน่วยภายใต้กองบัญชาการสูงสุด คือ กองบัญชาการภาคซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางของกลุ่มวินาศกรรมท้องถิ่น กองบัญชาการภาคมีอำนาจในการเลือกเป้าหมายที่จะโจมตี ซึ่งอยู่ภายในกรอบการทำงานตามนโยบายของกองบัญชาการสูงสุดแห่งชาติ พวกเขาไม่มีอำนาจดำเนินการนอกเหนือกรอบการทำงานที่ระบุไว้ และไม่มีอำนาจในการเริ่มการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือไม่อยู่ในแผนการก่อวินาศกรรมโดยรวม
ยกตัวอย่างเช่น สมาชิก Umkhonto ไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธไปในการออกปฏิบัติการ คำว่ากองบัญชาการสูงสุด และกองบัญชาการภาค บังเอิญเป็นคำที่มาจากองค์กรใต้ดินระดับชาติของชาวยิวชื่อ Irgun Zvai Leumi ซึ่งเคลื่อนไหวในอิสราเอล ระหว่างปี 1944 - 1948
Umkhonto เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1961 ด้วยการโจมตีอาคารรัฐบาลในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก, พอร์ตเอลิซาเบธ และเดอร์บัน การเลือกเป้าหมายดังกล่าวคือหลักฐานทางนโยบายที่ผมได้กล่าวไป หากเราตั้งใจจะทำร้ายผู้คน เราจะเลือกเป้าหมายที่มีคนมารวมตัวกัน ไม่ใช่อาคารและโรงไฟฟ้าที่ว่างเปล่า
วินาศกรรมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 1961 คือการทำงานของกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับ Umkhonto ข้อเท็จจริงก็คือ เหตุการณ์เหล่านี้บางเหตุการณ์ รวมถึงการก่อการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกจำนวนหนึ่ง มีองค์กรอื่นออกมาอ้างความรับผิดชอบแล้ว
คำประกาศของ Umkhonto ระบุไว้ในวันเดียวกับที่เราเริ่มต้นปฏิบัติการแรก การตอบสนองต่อปฏิบัติการและคำประกาศของเราในหมู่ประชากรคนผิวขาวคือความรุนแรงตามเนื้อผ้า รัฐบาลขู่จะดำเนินการอย่างแข็งกร้าว และเรียกร้องให้กลุ่มผู้สนับสนุนลุกขึ้นมายืนหยัดและเพิกเฉยต่อความต้องการของชาวแอฟริกัน คนผิวขาวล้มเหลวในการตอบรับด้วยการเปลี่ยนแปลงตามที่เราเสนอแนะ พวกเขาตอบข้อเรียกร้องของเราด้วยการแสดงจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
ในทางตรงข้าม การตอบสนองของชาวแอฟริกันกลับเป็นหนึ่งในการให้กำลังใจ ทันใดนั้นเรากลับมามีความหวังอีกครั้ง หลายสิ่งกำลังเกิดขึ้น ผู้คนตามเมืองต่าง ๆ เริ่มหันมาเสพข่าวการเมือง ความสำเร็จในช่วงต้นก่อให้เกิดความกระตือรือร้นขึ้นมากมาย และผู้คนเริ่มคาดการถึงระยะเวลาที่จะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง
แต่พวกเราใน Umkhonto ชั่งน้ำหนักการตอบโต้ของคนผิวขาวด้วยความวิตก มีการขีดเส้นเกิดขึ้น คนผิวขาวและคนผิวดำกำลังเคลื่อนไปสู่ค่ายที่แยกจากกัน และโอกาสในการหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองลดลง หนังสือพิมพ์คนผิวขาวรายงานว่า ผู้ก่อวินาศกรรมจะถูกลงโทษด้วยความตาย หากเป็นอย่างนั้นจริง เราจะสามารถขัดขวางไม่ให้ชาวแอฟริกันใช้วิธีก่อการร้ายได้อย่างไร
มีชาวแอฟริกันจำนวนมากเสียชีวิตแล้วจากผลของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ในปี 1920 เมื่อมาซาบาลา ผู้นำคนดังถูกจับขังคุกในพอร์ตเอลิซาเบธ กลุ่มชาวแอฟริกัน 24 คนที่รวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยผู้นำคนดังกล่าว ถูกตำรวจและพลเรือนผิวขาวสังหารเสียชีวิต
ในปี 1921 มีชาวแอฟริกันกว่า 100 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ Bulhoek ในปี 1924 ชาวแอฟริกันกว่า 200 คนถูกสังหารเมื่อผู้บริหาร เซาท์-เวสต์แอฟริกา นำกำลังปะทะกับกลุ่มกบฏต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีสุนัข วันที่ 1 พฤษภาคม 1950 ชาวแอฟริกัน 18 คนเสียชีวิตจากการสังหารของตำรวจระหว่างการประท้วง วันที่ 21 มีนาคม 1960 ชาวแอฟริกันมือเปล่า 69 คนเสียชีวิตที่ Sharpeville
จะมีชาว Sharpeville เสียชีวิตอีกกี่คนในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา และมีชาว Sharpeville อีกกี่คนที่ประเทศนี้สามารถยอมทนได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและความหวาดกลัวมาเป็นอำนาจสั่งการในวันนั้น และอะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนเมื่อขั้นนั้นมาถึง
ในระยะยาวเรารู้สึกมั่นใจว่าเราต้องทำสำเร็จ แต่ด้วยราคาเท่าไรที่เราและคนอื่นในประเทศต้องจ่ายไป และหากสิ่งนี้เกิดขึ้น คนผิวดำและคนผิวขาวจะกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งอย่างสันติและสมานฉันท์ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่เราเผชิญ และสิ่งเหล่านี้คือการตัดสินใจของเรา
ประสบการณ์ทำให้เราเชื่อว่าการก่อกบฏจะเปิดโอกาสอันไร้ขีดจำกัดให้รัฐบาลสังหารผู้คนได้แบบไม่เลือกหน้า แต่ที่มันชัดเจนก็เพราะแผ่นดินแอฟริกาใต้ ได้เปียกโชกไปด้วยเลือดของชาวแอฟริกันผู้บริสุทธิ์แล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ในการเตรียมพร้อมเพื่อดำเนินการในระยะยาว ในการใช้กำลังปกป้องตัวเราเองจากการใช้กำลังของฝ่ายอื่น
หากสงครามเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เราต้องการให้การต่อสู้เป็นไปในเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับคนของเรามากที่สุด การต่อสู้ซึ่งให้โอกาสที่ดีที่สุดกับเรา และเสี่ยงชีวิตคนทั้งสองฝ่ายน้อยที่สุด นั่นคือการทำสงครามกองโจร ดังนั้น เราจึงตัดสินใจเตรียมพร้อมเพื่ออนาคต ด้วยการมองหาความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามกองโจร
คนผิวขาวทุกคนต้องผ่านการฝึกทหารที่เป็นภาคบังคับ แต่ไม่มีการฝึกในแบบเดียวกันกับชาวแอฟริกัน เรามองว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างแก่นของผู้ได้รับการฝึกฝน ซึ่งจะสามารถมาทำหน้าที่ผู้นำในยามที่ต้องการ หากสงครามกองโจรเริ่มต้นขึ้น
เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์แบบนั้นก่อนที่มันจะสายเกินกว่าจะสามารถเตรียมการได้อย่างเหมาะสม มันยังจำเป็นในการสร้างแก่นของผู้ที่ได้รับการฝึกฝนในการบริหารจัดการด้านพลเรือนและความเชี่ยวชาญอื่น ๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ชาวแอฟริกันมีความพร้อมในการเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลของประเทศนี้ ทันทีที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น
ในขั้นตอนนี้ เราตัดสินใจว่า ผมควรเข้าร่วมการประชุมคอนเฟอเรนซ์ของขบวนการเรียกร้องอิสรภาพแพนแอฟริกาจากภาคกลาง ตะวันออก และตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งจัดขึ้นช่วงต้นปี 1962 ที่กรุงแอดดิส อาบาบา (ประเทศเอธิโอเปีย) และเพราะเราต้องการเตรียมพร้อม เราจึงตัดสินใจว่า หลังจบงานคอนเฟอเรนซ์ ผมจะตระเวนเยือนรัฐต่าง ๆ ในแอฟริกา ด้วยความคิดในการหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกทหาร และผมยังจะขอทุนการศึกษาในระดับสูงให้กับนักศึกษาชาวแอฟริกันด้วย
การฝึกฝนในแวดวงทั้งสองจะเป็นเรื่องจำเป็น แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างสันติ ผู้บริหารจะเป็นสิ่งจำเป็น ผู้มีความประสงค์และสามารถบริหารจัดการรัฐที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ รวมถึงผู้ที่จำเป็นในการควบคุมกองทัพ และกำลังตำรวจของรัฐ
มันคือเหตุผลนี้ที่ผมต้องเดินทางออกจากประเทศแอฟริกาใต้ ไปยังแอดดิส อาบาบา ในฐานะตัวแทนพรรค ANC การเดินทางประสบความสำเร็จด้วยดี ทุกที่ที่ไปผมได้พบกับผู้ที่เห็นใจในการต่อสู้ของเรา และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือ ทวีปแอฟริกาทั้งหมดล้วนสามัคคีกันต่อต้านจุดยืนของแอฟริกาใต้ที่ปกครองโดยคนผิวขาว แม้แต่ในกรุงลอนดอน ผมได้รับความเห็นใจมากมายจากบรรดาผู้นำการเมือง อาทิ มิสเตอร์เกตสเคลล์ และมิสเตอร์กริมมอนด์
ในแอฟริกา ผมได้รับคำมั่นสัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากบุรุษอย่างจูเลียส เอ็นเยเรเร ประธานาธิบดีแทนกานยีกา (Tanganyika) คนปัจจุบัน, มิสเตอร์คาวาวา อดีตนายกรัฐมนตรีแทนกานยีกา, จักรพรรดิ Haile Selassie จากเอธิโอเปีย, นายพลอับบูด ประธานาธิบดีซูดาน, Habib Bourguiba ประธานาธิบดีตูนีเซีย, เบน เบลลา ประธานาธิบดีแอลจีเรียคนปัจจุบัน, โมดิโบ เกอิตา ประธานาธิบดีมาลี, ลีโอโปลด์ เซงกอร์ ประธานาธิบดีเซเนกัล, เซกู ตูเร ประธานาธิบดีกีนี, ประธานาธิบดีทับแมนแห่งไลบีเรีย และมิลตัน โอโบเต นายกรัฐมนตรียูกันดา
เบน เบลลา เชิญผมไปเยือน Oujda สำนักงานใหญ่ของกองทัพเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย การเยือนดังกล่าวมีบรรยายไว้ในสมุดบันทึกของผม ซึ่งเป็นหนึ่งในของกลาง
ผมเริ่มศึกษาศิลปะของสงครามและการปฏิวัติ และระหว่างอยู่ต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการฝึกทหารด้วย หากจะมีสงครามกองโจรเกิดขึ้น ผมต้องการที่จะสามารถลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกับคนของผม และร่วมแบ่งปันอันตรายจากสงครามกับพวกเขา
บันทึกการฟังเลคเชอร์ที่ผมได้รับมาจากแอลจีเรีย รวมอยู่ในของกลางหมายเลข 16 ที่ให้ไว้เป็นหลักฐาน บทสรุปของหนังสือว่าด้วยสงครามกองโจร และยุทธวิธีทางทหารยังมอบไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน ผมยอมรับแล้วว่า เอกสารเหล่านี้เป็นลายมือของผม และผมรับรู้ว่า ผมศึกษาเรื่องเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวเองในการทำหน้าที่ซึ่งผมอาจต้องเล่น หากการต่อสู้ถลำไปสู่สงครามกองโจร
ผมตอบคำถามนี้แบบที่นักชาตินิยมแอฟริกันทุกคนควรทำ ผมทำตามเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ ศาลจะเห็นว่า ผมได้พยายามพิจารณาประเภทของอำนาจทุกรูปแบบในหัวข้อนั้นจากทั้งตะวันออกและตะวันตก ย้อนกลับไปถึงงานคลาสสิกของ Clausewitz และครอบคลุมงานอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตุง และเช เกบารา หรืองานเขียนเกี่ยวกับสงคราม Anglo-Boer แน่นอนว่าบันทึกเหล่านี้เป็นเพียงสรุปเนื้อหาของหนังสือที่ผมอ่าน และไม่มีการใส่มุมมองส่วนตัวลงไปแต่อย่างใด
ผมยังจัดการเกณฑ์คนเข้าฝึกทหาร แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการฝึกที่นี่โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพรรค ANC ในแอฟริกา จากนั้นผมจึงได้รับอนุญาตให้ทำสิ่งนี้จากพรรค ANC ในแอฟริกาใต้ การทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดการตัดสินใจดั้งเดิมของพรรค ANC แต่มันใช้กับนอกประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้น จริง ๆ แล้วผู้ถูกเกณฑ์ชุดแรกเดินทางถึงแทนกานยีกา ตอนผมกำลังเดินทางกลับแอฟริกาใต้ผ่านประเทศนั้นพอดี
ผมกลับมาประเทศแอฟริกาใต้ และรายงานต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถึงผลของการเดินทาง ระหว่างเดินทางกลับผมพบว่า ฉากทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย การข่มขู่ลงโทษประหารชีวิตผู้วินาศกรรมมาถึงตอนนี้กลายเป็นข้อเท็จจริงแล้ว แต่ผมรู้สึกได้ว่า ทัศนคติของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ใน Umkhonto ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขารู้สึกในแบบของตนเองอย่างระมัดระวัง และคิดว่ายังอีกนานกว่าความเป็นไปได้ในการก่อวินาศกรรมจะตีบตัน
ข้อเท็จจริงคือ มีบางคนมองว่า การฝึกทหารเกณฑ์ยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป ผมบันทึกสิ่งนี้ในเอกสารของกลางหมายเลข R14 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือกันจบสิ้น แผนฝึกทหารได้รับไฟเขียวเพราะข้อเท็จจริงที่ว่า มันต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างแก่นของทหารที่ถูกฝึกแล้วได้เพียงพอเพื่อเริ่มต้นสงครามกองโจร และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การฝึกซ้อมถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์
ตอนนี้ผมขอเปลี่ยนไปพูดเรื่องข้อกล่าวหาทั่วไปที่รัฐฟ้องในคดีนี้ แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นนั้น ผมขอย้อนไปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพอร์ตเอลิซาเบธ และอีสต์ ลอนดอน ที่พยานได้กล่าวไว้ ผมหมายถึงการวางระเบิดบ้านพักส่วนตัวของผู้สนับสนุนรัฐบาลในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน 1962
ผมไม่รู้ว่าอะไรคือความชอบธรรมของปฏิบัติการเหล่านี้ และอะไรคือการยั่วยุให้เกิดขึ้น แต่หากเชื่อในสิ่งที่ผมพูดมาแล้ว มันชัดเจนว่า ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุตามแนวนโยบายของ Umkhonto
ข้อกล่าวหาหลักข้อหนึ่งในคำสั่งฟ้องดังกล่าวคือ ANC เป็นพรรคการเมืองที่สมรู้ร่วมคิดในการก่อวินาศกรรม ผมอธิบายไปแล้วว่าทำไมข้อกล่าวหานี้จึงไม่ถูกต้อง แต่ทำไมโดยภายนอกจึงมีการละทิ้งหลักการดั้งเดิมที่พรรค ANC วางไว้
แน่นอนมันมีความทับซ้อนกันของหน้าที่ภายในด้วยเช่นกัน เพราะมีความแตกต่างกันระหว่างปณิธานที่ยอมรับกันในบรรยากาศของห้องประชุม กับความยากลำบากที่ชัดเจนซึ่งเกิดขึ้นในฝ่ายปฏิบัติการ ในส่วนของฝ่ายหลังจุดยืนมักได้รับผลกระทบตามมาจากการถูกแบนและถูกกักบริเวณ และจากบุคคลที่เดินทางออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ
สิ่งนี้นำไปสู่ปัจเจกที่ต้องทำงานด้วยสมรรถภาพต่างกัน แต่แม้สิ่งนี้ทำให้ความแตกต่างระหว่าง Umkhonto กับพรรค ANC อาจพร่ามัว มันไม่ได้หมายความว่าความแตกต่างนั้นได้ถูกลบทิ้งไป มีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษากิจกรรมของทั้งสององค์กรในแอฟริกาใต้ให้แตกต่างกัน
พรรค ANC ยังคงเป็นองค์กรการเมืองขนาดใหญ่ของชาวแอฟริกัน ดำเนินการแค่ในงานการเมืองแบบที่เคยทำมาก่อนถึงปี 1961 ส่วน Umkhonto ยังคงเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่เกณฑ์สมาชิกจากเชื้อชาติและองค์กรอันหลากหลาย และพยายามบรรลุเป้าหมายเฉพาะของตนเอง
ข้อเท็จจริงที่ว่า สมาชิก Umkhonto ถูกเกณฑ์มาจากพรรค ANC และข้อเท็จจริงที่ว่า หลายคนทำงานให้กับทั้งสององค์กร อย่างโซโลมอน เอ็มบันจวา ในมุมมองของเรา มันไม่ได้เปลี่ยนธรรมชาติของพรรค ANC หรือทำให้มีนโยบายใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ความทับซ้อนกันนี้ของคนทำงานถือเป็นข้อยกเว้นมากกว่าข้อบังคับ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนอย่าง ‘มิสเตอร์เอ็กซ์’ และ ‘มิสเตอร์ซี’ ซึ่งอยู่ในกองบัญชาการภาคในพื้นที่ของแต่ละคน จึงไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือเป็นกรรมการของพรรค ANC และทำไมคนอย่างมิสเตอร์เบนเนตต์ มาชิยานา และมิสเตอร์เรจินัลด์ เอ็นดูบี จึงไม่ทราบเรื่องวินาศกรรมในการประชุมของพรรค ANC
อีกข้อกล่าวหาในคำสั่งฟ้องคือการระบุว่า ริโวเนียเป็นสำนักงานใหญ่ของ_Umkhonto นี่ไม่ใช่เรื่องจริงในช่วงเวลาที่ผมได้ไปอยู่ที่นั่น แน่นอนผมได้ยินคนบอกเล่าและรู้มาว่า มีกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการอยู่ที่นั่น แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลว่าทำไมผมจึงไม่ควรใช้สถานที่ดังกล่าว
ผมไปที่นั่นด้วยทัศนคติดังต่อไปนี้
อย่างที่ชี้แจงไปแล้ว ช่วงต้นเดือนเมษายน 1961 ผมลงใต้ดินเพื่อจัดการประท้วงใหญ่ในเดือนพฤษาคม งานของผมคือการตระเวนไปทั่วประเทศ อาศัยอยู่ในเมืองของชาวแอฟริกันตอนนี้ ก่อนย้ายไปตามหมู่บ้าน และกลับมาในเมืองอีกครั้ง
ในช่วงครึ่งปีหลัง ผมเริ่มไปเยือนพาร์คทาวน์ บ้านเกิดของอาร์เธอร์ โกลดริช ที่ซึ่งผมเคยได้พบกับครอบครัวเป็นการส่วนตัว ถึงแม้ผมไม่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตรงกับเขา ผมรู้จักอาร์เธอร์ โกลดริช ตามงานสังคมตั้งแต่ปี 1958
ในเดือนตุลาคม อาร์เธอร์ โกลดริช บอกกับผมว่า เขากำลังย้ายไปที่อื่น และเสนอให้ที่หลบซ่อนกับผมที่นั่น หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราส่งไมเคิล ฮาร์เมล มารับผมไปที่ริโวเนีย ผมค้นพบเองว่า ริโวเนียคือสถานที่ในอุดมคติของผู้ใช้ชีวิตผิดกฎหมาย จนถึงเวลานั้น ผมถูกบีบให้ต้องอยู่แต่ภายในอาคารในช่วงกลางวัน และสามารถออกมาข้างนอกได้แค่ในช่วงที่ความมืดปกคลุม แต่ที่ Liliesleaf (ฟาร์มในริโวเนีย) ผมสามารถมีชีวิตที่ต่างจากนั้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยเหตุผลอันชัดเจน ผมต้องปิดบังตัวตน และใช้ชื่อปลอมว่าเดวิด ในเดือนธันวาคม อาร์เธอร์ โกลดริช และครอบครัวของเขาย้ายเข้ามา ผมอยู่ที่นั่นจนกระทั่งได้ไปต่างประเทศเมื่อวันที่ 11 มกราคม 1962 อย่างที่ชี้แจงไปแล้ว ผมกลับมาในเดือนกรกฎาคม 1962 และถูกจับกุมที่นาทาล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม
จนถึงเวลาที่ถูกจับ ฟาร์ม Liliesleaf ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ของทั้งพรรคสมัชชาแห่งชาติ หรือ Umkhonto ยกเว้นตัวผมแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกองค์กรเหล่านี้คนใดอาศัยอยู่ที่นั่น ไม่เคยมีการประชุมคณะผู้บริหารจัดขึ้นที่นั่น และไม่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทั้งสององค์กรถูกดำเนินการหรือสั่งการจากที่แห่งนั้น
มีหลายครั้งระหว่างที่ผมพักอยู่ในฟาร์ม Liliesleaf ที่ผมได้พบกับกรรมการบริหารพรรค ANC รวมถึง NHC แต่การเจอกันดังกล่าวเกิดขึ้นที่อื่น ไม่ใช่ในฟาร์ม
ขณะพักอยู่ที่ฟาร์ม Liliesleaf ผมแวะไปหาอาร์เธอร์ โกลดริช ในบ้านใหญ่หลายครั้ง และเขาก็มาเยี่ยมผมที่ห้องเช่นกัน เราถกกันเรื่องการเมืองหลายครั้ง ครอบคลุมหลากหลายเรื่อง เราถกคำถามทั้งในเชิงปฏิบัติและปรัชญา เรื่องพันธมิตรคองเกรส Umkhonto และกิจกรรมทั่วไป รวมถึงประสบการณ์ของเขาในฐานะทหารที่ Palmach ซึ่งเป็นปีกกองกำลังของ Haganah
Haganah คือองค์กรการเมืองของขบวนการแห่งชาติชาวยิวในปาเลสไตน์
เพราะสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโกลดริช ผมเสนอแนะตอนเดินทางกลับแอฟริกาใต้ว่า เขาควรถูกเกณฑ์เข้าร่วม Umkhonto โดยส่วนตัวผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นหรือไม่
อีกข้อกล่าวหาของรัฐคือ พรรค ANC และพรรคคอมมิวนิสต์มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน ผมขอพูดเรื่องนี้ด้วยจุดยืนการเมืองส่วนตัว เพราะผมต้องสันนิษฐานว่า รัฐอาจพยายามโต้แย้งจากของกลางบางชิ้นที่ผมพยายามนำเสนอลัทธิมาร์กซิสต์ให้กับพรรค ANC
ข้อกล่าวหานั้นต่อพรรค ANC ไม่เป็นความจริง นี่คือข้อกล่าวหาเก่าซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงในการพิจารณาคดีกบฏ และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่เพราะข้อกล่าวหาถูกนำมาใช้อีกครั้ง ผมจะขอจัดการกับมันไปพร้อมกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรค ANC กับพรรคคอมมิวนิสต์ และ Umkhonto กับพรรคดังกล่าว
ความเชื่อทางอุดมการณ์ของพรรค ANC คือความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมแอฟริกา และจะเป็นเช่นนั้นเสมอ คอนเซปต์ของลัทธิชาตินิยมแอฟริกาไม่ได้แสดงออกมาในการร้องตะโกนว่า ‘จงขับคนผิวขาวลงทะเลไป’
ลัทธิชาตินิยมแอฟริกาที่พรรค ANC ยึดถือคือคอนเซปต์ของอิสรภาพ และการเติมเต็มชีวิตของชาวแอฟริกันบนดินแดนของตนเอง เอกสารการเมืองที่สำคัญที่สุดซึ่งพรรค ANC เคยยอมรับคือ ‘กฎบัตรอิสรภาพ’ มันไม่ใช่พิมพ์เขียวของรัฐสังคมนิยมแต่อย่างใด
มันเรียกร้องให้มีการจัดสรรทรัพยากรใหม่ แต่ไม่ใช่การยึดที่ดินทั้งหมดมาเป็นของรัฐ มันคือการให้รัฐเข้าไปเป็นเจ้าของเหมือง ธนาคาร และอุตสาหกรรมผูกขาด เพราะกิจการผูกขาดขนาดใหญ่มีคนเชื้อชาติเดียวเป็นเจ้าของ หากปราศจากการยึดมาเป็นของรัฐแล้ว การครอบงำทางเชื้อชาติจะไม่มีทางหายไป แม้จะมีการกระจายอำนาจทางการเมืองแล้วก็ตาม
มันจะเป็นการกระทำที่มีช่องโหว่ หากมีการยกเลิกกฎหมายห้ามชาวแอฟริกันขุดทอง เมื่อเหมืองทองคำทั้งหมดล้วนเป็นของบริษัทยุโรป ในแง่นี้ นโยบายของพรรค ANC สอดคล้องกับนโยบายเดิมของพรรคชาตินิยมในขณะนี้ ซึ่งมีโครงการนำเหมืองทองกลับมาเป็นของรัฐมานานหลายปี เนื่องจากในเวลานั้นถูกควบคุมโดยทุนต่างชาติ
ภายใต้กฎบัตรอิสรภาพ การโอนกิจการมาเป็นของรัฐจะเกิดขึ้นในพื้นฐานเศรษฐกิจแบบบริษัทเอกชน การตระหนักถึงกฎบัตรอิสรภาพจะเปิดประตูไปสู่ดินแดนใหม่อันสดใสสำหรับประชากรแอฟริกันทุกชนชั้นที่รุ่งเรือง ซึ่งรวมถึงชนชั้นกลาง
พรรค ANC ไม่เคยมีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเท่าที่ผมจำได้ ไม่เคยประณามสังคมทุนนิยมแต่อย่างใด
ตราบเท่าที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ และถ้าผมเข้าใจนโยบายของมันถูกต้อง มันมีจุดยืนในการจัดตั้งรัฐที่อยู่บนฐานของหลักการลัทธิมาร์กซิสต์ แม้มันเตรียมพร้อมทำงานเพื่อกฎบัตรอิสรภาพ ในฐานะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาระยะสั้นต่อสิ่งที่นโยบายคนผิวขาวเป็นใหญ่สร้างขึ้นมา มันมองกฎบัตรอิสรภาพเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบของแผนการของพรรคแต่อย่างใด
พรรค ANC ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเรายอมรับชาวแอฟริกันเป็นเพียงสมาชิก เป้าหมายหลักของเราคือการทำให้ชาวแอฟริกันมีความสามัคคี และมีสิทธิทางการเมืองเต็มที่ ส่วนเป้าหมายหลักของพรรคคอมมิวนิสต์คือการกำจัดนายทุน และแทนที่ด้วยรัฐบาลเพื่อชนชั้นแรงงาน พรรคคอมมิวนิสต์พยายามเน้นย้ำความต่างทางชนชั้น ขณะที่พรรค ANC พยายามสร้างความสมานฉันท์ให้พวกเขา นี่คือความแตกต่างสำคัญ
มันจริงที่มักมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพรรค ANC และพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ปฏิบัติการร่วมกันนั้นเป็นเพียงข้อพิสูจน์เรื่องเป้าหมายร่วมกัน ในกรณีนี้คือการกำจัดนโยบายคนผิวขาวเป็นใหญ่ และไม่ใช่เครื่องพิสูจน์การเป็นชุมชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันแบบสมบูรณ์
ประวัติศาสตร์โลกล้วนเต็มไปด้วยตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน บางทีการฉายภาพที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือปฏิบัติการร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตในการสู้กับฮิตเลอร์ ไม่มีใครนอกจากฮิตเลอร์ จะกล้าชี้ว่าความร่วมมือกันแบบนั้นทำให้เชอร์ชิล หรือรูสเวลต์ กลายเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ หรือบอกว่า สหราชอาณาจักร และอเมริกา กำลังทำงานเพื่อสร้างโลกที่เป็นคอมมิวนิสต์
อีกตัวอย่างของความร่วมมือกันดังกล่าวพบได้ชัดเจนใน Umkhonto ไม่นานหลังจาก Umkhonto ตั้งขึ้นมา ผมได้รับแจ้งจากสมาชิกบางคนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จะให้การสนับสนุน Umkhonto และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากนั้น ในเวลาต่อมาการสนับสนุนได้เกิดขึ้นอย่างเปิดเผย
ผมเชื่อว่า คอมมิวนิสต์มักเล่นบทบาทเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศอาณานิคม เพราะเป้าหมายระยะสั้นของคอมมิวนิสต์มักสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของขบวนการเรียกร้องอิสรภาพ ดังนั้น คอมมิวนิสต์จึงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศอย่างมาลายา แอลจีเรีย และอินโดนีเซีย แต่ในวันนี้ รัฐเหล่านี้ไม่มีประเทศใดเป็นคอมมิวนิสต์
เช่นเดียวกับขบวนการต่อสู้ที่อยู่ใต้ดินซึ่งผุดขึ้นมาในยุโรปช่วงสงครามโลกครั้งล่าสุด คอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทสำคัญ แม้แต่นายพลเจียงไคเช็ก ที่ทุกวันนี้เป็นหนึ่งในศัตรูที่เจ็บแสบที่สุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ ยังสู้ร่วมกับคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านชนชั้นนำในการต่อสู้ซึ่งนำไปสู่การมีอำนาจในจีน ช่วงทศวรรษ 1930s
รูปแบบความร่วมมือนี้ระหว่างคอมมิวนิสต์ กับไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ได้ถูกฉายซ้ำในขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติแอฟริกาใต้ ก่อนหน้ามีคำสั่งแบนพรรคคอมมิวนิสต์ แคมเปญร่วมกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับขบวนการต่าง ๆ ของคองเกรส ยังเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ
คอมมิวนิสต์แอฟริกันสามารถเป็นสมาชิกพรรค ANC และบางคนยังทำงานเป็นกรรมการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ พวกเขาเหล่านั้นทำงานในฝ่ายบริหารแห่งชาติ คือ อัลเบิร์ต เอ็นซูลา อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, โมเซส โคตาเน อดีตเลขาธิการอีกคน และ เจบี มาร์กส์ อดีตสมาชิกกรรมการกลาง
ผมเข้าร่วมกับพรรค ANC ในปี 1944 และตอนอายุน้อยกว่านี้ ผมมีมุมมองเกี่ยวกับนโยบายยอมรับคอมมิวนิสต์ให้เข้าร่วมพรรค ANC และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นเฉพาะระหว่างพรรค ANC กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น จะนำไปสู่ความเสื่อมของคอนเซปต์ลัทธิชาตินิยมแอฟริกา ในช่วงนั้นผมเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนของพรรค ANC และเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่คอมมิวนิสต์ออกจากพรรค ANC
ข้อเสนอนี้ถูกตีตกไปอย่างรุนแรง ผู้ร่วมโหวตคัดค้านข้อเสนอคือสมาชิกบางคนในฝ่ายที่มีแนวคิดทางการเมืองแอฟริกาแบบหัวอนุรักษนิยมมากที่สุด พวกเขาให้เหตุผลในการปกป้องนโยบายนี้ว่า การกำเนิดของพรรค ANC ไม่ได้เริ่มจากการเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดทางการเมืองด้านใดด้านเดียว แต่เป็นสภาของประชาชนชาวแอฟริกัน เป็นที่รวมผู้คนซึ่งมีแนวทางการเมืองหลากหลาย โดยทุกฝ่ายมีความสามัคคีกันภายใต้เป้าหมายร่วมกัน นั่นคือการปลดปล่อยแห่งชาติ ในที่สุดผมจึงยอมรับแนวคิดนี้ และยึดมั่นมาตลอดนับแต่นั้นมา
บางทีมันยากสำหรับชาวแอฟริกันผิวขาว ซึ่งมีอคติกับลัทธิคอมมิวนิสต์ฝังหัว จะเข้าใจว่าทำไมนักการเมืองแอฟริกันที่มีประสบการณ์ จึงยอมรับคอมมิวนิสต์เป็นมิตรแบบไม่สงสัย แต่สำหรับเราแล้วเหตุผลนั้นชัดเจน ความต่างทางทฤษฎีในหมู่นักต่อสู้กับการกดขี่เป็นความหรูที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ในจุดนี้
จะมีอะไรมากกว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คอมมิวนิสต์คือกลุ่มการเมืองเดียวในแอฟริกาใต้ที่พร้อมปฏิบัติกับชาวแอฟริกันในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียม ใครกันที่พร้อมกินข้าวกับเรา พูดคุยกับเรา ใช้ชีวิตร่วมกับเรา และทำงานร่วมกับเรา พวกเขาคือกลุ่มการเมืองเดียวที่พร้อมทำงานกับชาวแอฟริกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมือง และส่วนแบ่งในสังคม
เพราะเหตุนี้ ชาวแอฟริกันหลายคนทุกวันนี้จึงมีแนวโน้มที่จะมองอิสรภาพเท่ากับลัทธิคอมมิวนิสต์ ความเชื่อนี้ได้รับการสนับสนุนโดยกฎหมายซึ่งตีตราผู้เรียกร้องรัฐบาลประชาธิปไตยและอิสรภาพของชาวแอฟริกันทุกคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และสั่งแบนพวกเขาหลายคน (ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์) ด้วยกฎหมายเพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้ผมไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ตัวผมเองก็ถูกขึ้นบัญชีด้วยกฎหมายอันตรายนั้น เพราะผมมีบทบาทในแคมเปญแห่งการท้าทาย ผมยังถูกแบนและติดคุกภายใต้กฎหมายนั้นด้วย
ไม่ใช่แค่การเมืองภายในเท่านั้นที่เรามองคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของเรา ในเวทีนานาชาติ ประเทศคอมมิวนิสต์ยังมักยื่นมือช่วยเหลือเรา ในสหประชาชาติ และองค์กรโลกอื่น ๆ กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์สนับสนุนการต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมของชาวแอฟโฟร - เอเชีย และดูเหมือนมักจะมีความเห็นอกเห็นใจความทุกข์ของเรามากกว่ามหาอำนาจตะวันตกบางชาติเสมอ
แม้จะมีการประณามนโยบายแบ่งแยกสีผิวในระดับสากล กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์กลับออกมาประกาศต่อต้านสิ่งนี้ด้วยเสียงที่ดังกว่าโลกของคนผิวขาวส่วนใหญ่ ในสภาพการณ์เหล่านี้ มันต้องเป็นนักการเมืองวัยรุ่นที่ไม่รู้กาละเทศอย่างที่ผมเป็นเมื่อปี 1949 ที่จะออกมาป่าวประกาศว่า คอมมิวนิสต์คือศัตรูของเรา
ตอนนี้ผมขอพูดถึงจุดยืนของตนเองบ้าง ผมปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และคิดว่าในสภาพการณ์ต่าง ๆ ผมยอมที่จะพูดตรงไปตรงมาว่าความเชื่อทางการเมืองของผมคืออะไร
ผมมักมองตัวเองในอันดับแรกเป็นคนรักชาติชาวแอฟริกันคนหนึ่ง เหนือสิ่งอื่นใดผมเกิดใน Umtata เมื่อ 46 ปีก่อน ผู้ปกครองของผมคือญาติ ซึ่งเป็นรักษาการประมุขสูงสุดของ Tembuland และผมก็เป็นญาติกับทั้งประมุขสุงสุดของ Tembuland คนปัจจุบัน ซาบาตา ดาลินดีเอโบ และไกเซอร์ มาแทนซิมา มุขมนตรีของทรานสไก
วันนี้ผมสนใจแนวคิดสังคมไร้ชนชั้น เป็นความสนใจที่ผุดขึ้นมาส่วนหนึ่งจากการอ่านงานของมาร์กซิสต์ และบางส่วนจากความชื่นชอบโครงสร้างและการจัดการของสังคมแอฟริกันในประเทศก่อนหน้านี้ ผืนดินที่อดีตเคยเป็นเครื่องมือหลักในการให้ผลผลิต มีชนเผ่าเป็นเจ้าของ ไม่มีคนจนหรือคนรวย และไม่มีการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
มันจริงอย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า ผมได้อิทธิพลจากแนวคิดมาร์กซิสต์ แต่นี่ยังเป็นเรื่องจริงสำหรับผู้นำในรัฐอิสระเกิดใหม่อีกหลายคน เป็นบุคคลที่แตกต่างกันหลากหลายอย่างคานธี, เนห์รู, เอ็นกรูมา และนัสเซอร์ ทุกคนรับรู้ข้อเท็จจริงนี้
เราทุกคนล้วนยอมรับความต้องการรูปแบบบางอย่างจากลัทธิสังคมนิยม เพื่อทำให้ประชาชนของเราสามารถไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วในโลกนี้ได้ทัน และก้าวข้ามมรดกของความยากจนสุดขั้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราคือมาร์กซิสต์
อันที่จริงในส่วนของผมเอง ผมเชื่อว่ามันเปิดให้ถกเถียงได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ มีบทบาทเฉพาะเจาะจงเรื่องใดในช่วงนี้ของการต่อสู้ทางการเมืองของเราหรือไม่ บทบาทพื้นฐาน ณ เวลานี้คือการกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และเพื่อได้มาซึ่งสิทธิประชาธิปไตยบนพื้นฐานของกฎบัตรอิสรภาพ
ตราบใดที่พรรคนั้นทำให้งานนี้เดินไปข้างหน้า ผมยินดีรับความช่วยเหลือ ผมตระหนักดีว่า มันเป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้คนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าร่วมในการต่อสู้ของเราได้
จากการอ่านงานวรรณกรรมมาร์กซิสต์ และได้พูดคุยกับพวกมาร์กซิสต์ ผมมีความประทับใจที่คอมมิวนิสต์มองระบบรัฐสภาของตะวันตกว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และพาสังคมย้อนกลับสู่อดีต แต่ในทางตรงข้าม ผมคือผู้ที่ชื่นชอบระบบดังกล่าว
กฎบัตรแมกนา คาร์ตา, คำร้องขอสิทธิราษฎร (Petition of Rights) และบัญญัติแห่งสิทธิ (Bill of Rights) คือเอกสารซึ่งนักประชาธิปไตยทั่วโลกให้ความเคารพ
ผมให้ความเคารพอย่างสูงต่อสถาบันการเมืองของอังกฤษและระบบตุลาการของประเทศ ผมมองรัฐสภาอังกฤษเป็นสถาบันที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ความเป็นอิสระและเป็นกลางของตุลาการไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง
สภาคองเกรสของอเมริกา ที่มีหลักการแบ่งแยกอำนาจของประเทศ รวมถึงความเป็นอิสระของตุลาการ ปลุกความรู้สึกชื่นชอบให้ผมไม่ต่างกัน
ผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากทั้งตะวันออกและตะวันตก ทั้งหมดนี้นำผมไปสู่ความรู้สึกว่า ในการค้นหาสูตรทางการเมืองของผม ผมควรต้องเป็นกลางและมองที่เป้าหมายเป็นหลักอย่างชัดเจน ผมไม่ควรผูกมัดตัวเองไว้กับระบบสังคมใดสังคมหนึ่งที่นอกเหนือจากสังคมนิยม ผมต้องปล่อยให้ตัวเองเป็นอิสระเพื่อที่จะยืมสิ่งที่ดีที่สุดมาจากตะวันตก และตะวันออก
มีของกลางซึ่งบอกว่า เราได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างชาติ และผมขอตอบคำถามนี้
การต่อสู้ทางการเมืองของเราได้รับทุนจากแหล่งที่มาภายในประเทศเสมอ จากกองทุนที่คนของเราตั้งขึ้นมา และจากผู้สนับสนุนของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เรามีแคมเปญพิเศษ หรือคดีความทางการเมืองที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาคดีกบฏ เราได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากทั้งองค์กรและปัจเจกที่เห็นอกเห็นใจในประเทศตะวันตก เราไม่เคยรู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องไปขอเงินนอกเหนือจากแหล่งเหล่านี้ที่กล่าวมา
แต่เมื่อถึงปี 1961 ซึ่งมีการจัดตั้ง Umkhonto และเริ่มการต่อสู้ขั้นใหม่ เราตระหนักว่า กิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้ทุนมากมายจากทรัพยากรอันน้อยนิดที่เรามี และขนาดของกิจกรรมจะถูกลดทอนด้วยการขาดเงินทุน หนึ่งในคำแนะนำของผมก็คือ ผมจะช่วยระดมทุนจากรัฐต่าง ๆ ในแอฟริกา ระหว่างที่ผมเดินทางไปต่างประเทศในเดือนมกราคม 1962
ผมต้องเสริมว่า ขณะอยู่ต่างประเทศ ผมได้หารือกับบรรดาผู้นำขบวนการการเมืองในแอฟริกา และพบว่า เกือบทุกขบวนการในดินแดนที่ยังไม่ได้อิสรภาพ ล้วนรับความช่วยเหลือทุกรูปแบบจากประเทศสังคมนิยมและตะวันตก รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินด้วย ผมยังพบด้วยว่า รัฐแอฟริกาชื่อดังบางรัฐ ทั้งหมดไม่ใช่คอมมิวนิสต์ บางรัฐต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ พวกเขาได้รับความช่วยเหลือที่คล้ายคลึงกัน
ช่วงขากลับมาสาธารณรัฐนี้ ผมให้คำแนะนำชัดเจนกับพรรค ANC ว่า เราไม่ควรปิดกั้นตนเองไว้กับประเทศตะวันตกและแอฟริกา แต่เราควรส่งคณะไปยังประเทศสังคมนิยมด้วย เพื่อระดมทุนซึ่งเรามีความต้องการเร่งด่วน
ผมทราบมาว่า หลังจากผมถูกดำเนินคดี คณะแบบนั้นได้ถูกส่งไป แต่ผมไม่ขอเอ่ยชื่อประเทศที่ไป และไม่ขอเปิดเผยชื่อประเทศและองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสัญญาจะทำอย่างนั้น
ตามที่ผมเข้าใจคดีความของรัฐ โดยเฉพาะหลักฐานของ ‘มิสเตอร์เอ็กซ์’ ซึ่งพยายามชี้แนะว่า Umkhonto คือแรงบันดาลใจที่พรรคคอมมิวนิสต์มองหา ซึ่งใช้ความทุกข์ร้อนในจินตนาการมาเกณฑ์ชาวแอฟริกันเข้าสู่กองทัพเพื่อต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์
ไม่มีอะไรหนีความจริงไปได้ ข้อเท็จจริงก็คือ ข้อชี้แนะแบบนั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด Umkhonto ตั้งขึ้นมาโดยชาวแอฟริกัน เพื่อเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพบนผืนดินของตนเอง คอมมิวนิสต์และผู้อื่นให้การสนับสนุนขบวนการดังกล่าว และเราแค่หวังว่า ส่วนต่าง ๆ ของสังคมจะเข้ามาร่วมกับเรามากขึ้น
การต่อสู้ของเราเป็นการสู้กับความจริง ไม่ใช่จินตนาการ เป็นการสู้กับความยากลำบาก หรือใช้ภาษาของอัยการรัฐว่า ‘ที่เรียกกันว่าความยากลำบาก’ โดยพื้นฐานแล้ว เราสู้กับ 2 เรื่องซึ่งเป็นจุดเด่นของชีวิตชาวแอฟริกันในประเทศแอฟริกาใต้ และสิ่งที่ฝังรากลึกด้วยกฎหมายซึ่งเราพยายามให้ยกเลิก เรื่องเหล่านี้คือความยากจน และความไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราไม่ต้องการคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้ยุยงปลุกปั่น’ มาสอนเราในสิ่งเหล่านี้
ประเทศแอฟริกาใต้คือประเทศร่ำรวยที่สุดในทวีปแอฟริกา และสามารถเป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในโลก และมันคือดินแดนแห่งความสุดขั้ว และความแตกต่างอย่างชัดเจน
คนผิวขาวมีความสุขกับสิ่งที่อาจเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตที่สูงที่สุดในโลก ขณะที่ชาวแอฟริกันมีชีวิตที่ลำบากและยากจน ชาวแอฟริกัน 40% อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดไร้ซึ่งความหวัง และในบางกรณี ไร้แหล่งน้ำทำกิน เป็นที่ซึ่งเกิดการกัดเซาะหน้าดิน และดินถูกใช้งานมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่บนผืนดินของตนเองได้อย่างเหมาะสม
ร้อยละ 30 เป็นผู้ใช้แรงงาน ผู้ขายแรงงานแลกกับที่ดินทำกิน และผู้พักอาศัยในฟาร์มของคนผิวขาว และดำรงชีวิตพร้อมทำงานภายใต้เงื่อนไขคล้ายกับทาสในยุคกลาง อีกร้อยละ 30 อาศัยอยู่ในเมืองที่พวกเขาได้รับโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทำให้ในหลายแง่มุมใกล้เคียงมาตรฐานชีวิตของคนผิวขาว แต่ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ แม้แต่ในกลุ่มนี้ ยังมีฐานะยากจน เพราะมีรายได้ต่ำ และค่าครองชีพสูง
ชีวิตชาวแอฟริกันในเมืองที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด และมีความเจริญมากที่สุดอยู่ในนครโจฮันเนสเบิร์ก แต่ตำแหน่งจริง ๆ ของพวกเขายังถือว่าสิ้นหวัง ตัวเลขล่าสุดที่ได้มาจากมิสเตอร์คาร์ ผู้จัดการสำนักงานกิจการนอกภาคพื้นยุโรปในโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 1964 ระบุว่า
เส้นมาตรฐานความยากจนสำหรับครอบครัวชาวแอฟริกันในโจฮันเนสเบิร์ก เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 42.84 แรนด์ ส่วนเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.24 แรนด์ และร้อยละ 46 ของครอบครัวชาวแอฟริกันทั้งหมดในโจฮันเนสเบิร์ก มีรายได้ไม่เพียงพอให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้
ความยากจนมาพร้อมกับภาวะขาดสารอาหารและโรค ภาวะขาดสารอาหารและโรคขาดสารอาหารพบมากในหมู่ชาวแอฟริกัน ขณะที่วัณโรค, โรคเพลลากรา, โรคควาซิออร์กอร์, โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ และโรคลักปิดลักเปิดทำให้มีผู้เสียชีวิตและทำลายสุขภาพ อัตราเด็กเสียชีวิตแรกเกิดมีจำนวนสูงที่สุดชาติหนึ่งของโลก
จากรายงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกรุงพริทอเรีย พบว่า วัณโรคทำให้มีผู้เสียชีวิตวันละ 40 ราย (เกือบทั้งหมดเป็นชาวแอฟริกัน) และในปี 1961 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 58,491 คน โรคเหล่านี้ไม่เพียงทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อสติปัญญา ทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ และลดทอนพลังอำนาจในการใช้สมาธิ ส่วนผลที่ตามมาจากสภาพดังกล่าวจะกระทบต่อชุมชนโดยรวม รวมถึงมาตรฐานการทำงานของแรงงานชาวแอฟริกัน
อย่างไรก็ดี คำร้องทุกข์ของชาวแอฟริกันไม่ใช่แค่ว่า พวกเขายากจนและคนผิวขาวร่ำรวย แต่กฎหมายที่ออกโดยคนผิวขาวยังออกแบบมาเพื่อรักษาสถานการณ์เช่นนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป
การจะออกจากความยากจนได้มีอยู่ 2 ทาง หนทางแรกคือการได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ และทางที่สองคือคนงานได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานให้สูงขึ้น และได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น เท่าที่ชาวแอฟริกันรับทราบมา หนทางแห่งความก้าวหน้าทั้งคู่นี้ถูกปิดกั้นด้วยความตั้งใจจากการใช้กฎหมาย
รัฐบาลปัจจุบันมักพยายามสกัดกั้นชาวแอฟริกันที่มองหาโอกาสการศึกษา หนึ่งในกฎหมายช่วงเริ่มแรกหลังมีอำนาจ คือการหยุดให้เงินอุดหนุนค่าอาหารกับโรงเรียนของชาวแอฟริกัน เด็กชาวแอฟริกันหลายคนที่ไปโรงเรียนต้องพึ่งพาอาหารเสริมนี้เพื่อโภชนาการ สิ่งนี้ถือเป็นกฎหมายที่โหดร้าย
เด็กผิวขาวทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับโดยที่ผู้ปกครองแทบไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกคล้ายกันกลับไม่มีให้เด็กชาวแอฟริกัน แม้บางคนอาจได้รับความช่วยเหลือนั้น อย่างไรก็ตาม เด็กชาวแอฟริกันโดยทั่วไปกลับต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงกว่าคนผิวขาว
จากตัวเลขของสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติแอฟริกาใต้ในวารสารปี 1963 เด็กแอฟริกันอายุระหว่าง 7 - 14 ปี ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เรียนหนังสือ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปโรงเรียน มาตรฐานชีวิตแตกต่างมากจากเด็กผิวขาวที่ได้เข้าเรียน
ในปี 1960 - 61 รัฐบาลใช้งบประมาณต่อหัวของนักเรียนแอฟริกันในโรงเรียนรัฐที่ประมาณ 12.46 แรนด์ แต่ในปีเดียวกัน เด็กผิวขาวได้งบประมาณต่อหัวใน Cape Province (ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวที่ผมหาได้) ที่ 144.57 แรนด์ แม้ผมจะไม่มีตัวเลขในมือ แต่สามารถพูดได้แบบไม่สงสัยว่า เด็กผิวขาวที่ได้งบไปหัวละ 144.57 แรนด์ ทุกคนล้วนมาจากครอบครัวที่รวยกว่าเด็กแอฟริกันที่ได้งบเพียงหัวละ 12.46 แรนด์
คุณภาพการศึกษาก็มีความแตกต่างกัน จากข้อมูลในวารสารการศึกษา Bantu มีเด็กแอฟริกันเพียง 5,660 คนทั่วแอฟริกาใต้ เรียนจบระดับมัธยมต้นในปี 1962 และในปีนั้นมีแค่ 362 คนเรียนจบมัธยมปลาย สิ่งนี้คาดเดาได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของ Bantu ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันพูดไว้ ระหว่างการดีเบตเกี่ยวกับกฎหมายการศึกษา Bantu ในปี 1953
‘เมื่อผมได้ดูแลการศึกษาของคนพื้นเมือง ผมจะปฏิรูปมันเพื่อให้คนพื้นเมืองได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กที่จะตระหนักว่า ความเท่าเทียมกับชาวยุโรปไม่ใช่เพื่อพวกเขา...ผู้คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมไม่ใช่ครูที่ต้องการสำหรับคนพื้นเมือง เมื่อสำนักงานของผมควบคุมการศึกษาของคนพื้นเมือง มันจะเป็นที่รับรู้สำหรับการศึกษาขั้นสูงว่าระดับไหนที่เหมาะกับคนพื้นเมือง และเขาจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้นั้นในชีวิตหรือไม่’
อุปสรรคหลักอีกเรื่องสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาวแอฟริกัน คือ แถบสีทางอุตสาหกรรมภายใต้หลักเกณฑ์ซึ่งงานในอุตสาหกรรมที่ดี ๆ ทั้งหมดถูกสงวนไว้ให้กับคนผิวขาวเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวแอฟริกันที่ได้รับการว่าจ้างในอาชีพที่ไม่ต้องการทักษะ หรือต้องการทักษะเล็กน้อย ซึ่งเปิดกว้างสำหรับพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพการค้า ซึ่งเป็นที่รับรู้ภายใต้กฎหมายเพื่อความสมานฉันท์ทางอุตสาหกรรม
สิ่งนี้หมายความว่าการประท้วงของคนงานชาวแอฟริกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิในการรวมตัวกันต่อรอง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำได้สำหรับคนผิวขาวที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า
การเลือกปฏิบัติกับแรงงานแอฟริกันมีในนโยบายทุกรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นในสิ่งที่เรียกกันว่า ‘นโยบายแรงงานศิวิไลซ์’ ซึ่งพบว่ามีการสงวนงานในรัฐบาลที่ไม่ต้องการทักษะไว้สำหรับแรงงานผิวขาวที่ไม่สามารถทำคะแนนได้ดีในภาคอุตสาหกรรม ด้วยค่าแรงซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างชาวแอฟริกันในภาคอุตสาหกรรมมาก
รัฐบาลมักตอบเสียงวิจารณ์ด้วยการบอกว่า ชาวแอฟริกันในประเทศแอฟริกาใต้ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าผู้พักอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ผมไม่รู้ว่าคำพูดนี้จริงหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าการเปรียบเทียบนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องมองเรื่องดัชนีค่าครองชีพในแต่ละประเทศได้หรือไม่ แต่ถึงแม้มันเป็นเรื่องจริง เท่าที่เกี่ยวกับชาวแอฟริกันมันเป็นเรื่องที่ไม่สัมพันธ์กัน
ข้อร้องเรียนของเราไม่ใช่ว่า เรายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนในประเทศอื่น แต่เรายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนผิวขาวในประเทศของเราเอง และเราถูกกีดกันด้วยกฎหมายไม่ให้เปลี่ยนแปลงความไร้สมดุลนี้
ประสบการณ์ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวแอฟริกันคือผลโดยตรงของนโยบายคนผิวขาวเป็นใหญ่ การที่คนผิวขาวเป็นใหญ่สื่อเป็นนัยว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่า กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นใหญ่ของคนผิวขาวทำให้แนวคิดนี้ฝังรากลึก
งานที่ไม่ต้องการทักษะมากนักในแอฟริกาใต้ มักตกเป็นของชาวแอฟริกันเรื่อยมา เมื่อบางสิ่งต้องใช้การแบกหาม หรือทำความสะอาด คนผิวขาวจะมองไปรอบ ๆ เพื่อหาชาวแอฟริกันมาทำให้ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ว่าจ้างชาวแอฟริกันผู้นั้นหรือไม่
เพราะทัศนคติแบบนี้ คนผิวขาวจึงมีแนวโน้มที่จะมองชาวแอฟริกันเป็นเผ่าพันธุ์ที่แปลกแยก พวกเขาไม่ได้มองคนเหล่านี้คล้ายคนในครอบครัวเดียวกัน พวกเขาไม่ตระหนักว่าคนเหล่านี้มีอารมณ์ พวกเขาสามารถตกหลุมรักเหมือนที่คนผิวขาวทำ พวกเขาต้องการอยู่กับภรรยาและลูกเหมือนคนผิวขาวที่ต้องการอยู่กับครอบครัว พวกเขาต้องการเงินที่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ลูก และส่งพวกเขาไปโรงเรียน และอะไรคือสิ่งที่ ‘เด็กรับใช้’ หรือ ‘เด็กทำสวน’ หรือผู้ใช้แรงงานสามารถหวังจะได้ทำสิ่งนี้
กฎหมายบัตรผ่าน (Pass Laws) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกกฎหมายที่ชาวแอฟริกันรังเกียจมากที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้ เปิดทางให้ชาวแอฟริกันถูกตำรวจสอดแนมได้ทุกเวลา ผมสงสัยว่าจะมีชายชาวแอฟริกันในแอฟริกาใต้สักคนมั้ย ที่ไม่เคยมาถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเกี่ยวกับเรื่องบัตรผ่าน
ชาวแอฟริกันหลายแสนคนถูกจับขังคุกในแต่ละปีด้วยกฎหมายบัตรผ่านนี้ ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า กฎหมายบัตรผ่านทำให้สามีภรรยาไม่สามารถมาเจอหน้ากัน และนำไปสู่ชีวิตครอบครัวที่แตกสลาย
ความยากจนและการล่มสลายของชีวิตครอบครัวมีผลกระทบที่ตามมา เด็ก ๆ ต้องออกมาเร่ร่อนตามท้องถนนในเมือง เพราะพวกเขาไม่มีโรงเรียนให้ไป หรือไม่มีเงินไปโรงเรียน หรือไม่มีผู้ปกครองที่บ้านคอยดูว่าพวกเขาไปโรงเรียนหรือไม่ เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ (หากทั้งคู่ยังอยู่ด้วยกัน) ต้องไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
สิ่งนี้นำไปสู่การล่มสลายของมาตรฐานทางศีลธรรม นำไปสู่การทำผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะทางการเมือง แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง
ชีวิตในเมืองมีความอันตราย ไม่มีวันใดที่ผ่านไปโดยปราศจากคนถูกแทงหรือทำร้าย และความรุนแรงได้เกิดขึ้นในเมืองซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนผิวขาวด้วย ผู้คนหวาดกลัวที่จะเดินคนเดียวบนถนนหลังค่ำมืด การบุกรุกที่อยู่อาศัยและจี้ปล้นกำลังเพิ่มขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำเช่นนั้นสามารถถูกประหารชีวิตได้ในปัจจุบันก็ตาม โทษประหารชีวิตไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่กำลังเน่าเฟะได้
ชาวแอฟริกันต้องการได้รับค่าจ้างที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ชาวแอฟริกันต้องการทำงานที่พวกเขามีความสามารถทำได้ และไม่ใช่งานที่รัฐบาลประกาศให้พวกเขาทำ ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในที่ที่พวกเขาได้งานทำ และไม่ถูกขับไล่ออกนอกพื้นที่เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้เกิดที่นั่น
ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของผืนดินในสถานที่ที่พวกเขาทำงาน และไม่ถูกผูกมัดให้อาศัยในบ้านเช่าซึ่งพวกเขาไม่สามารถเรียกมันว่าบ้านของตนเอง ชาวแอฟริกันต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโดยรวม และไม่ถูกจำกัดพื้นที่ให้มีชีวิตอยู่แต่ในแหล่งเสื่อมโทรมของตนเอง
ชายชาวแอฟริกันต้องการมีภรรยาและลูกที่อาศัยอยู่ร่วมกันในที่ที่พวกเขาทำงาน และไม่ถูกบังคับให้อยู่แบบไม่เป็นธรรมชาติในหอพักชาย หญิงชาวแอฟริกันต้องการอยู่กับผู้ชาย และไม่ถูกทิ้งให้เป็นหม้ายอย่างถาวรในเขตพื้นที่สงวน
ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้หลัง 5 ทุ่ม และไม่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในห้องเหมือนเด็กเล็ก ชาวแอฟริกันต้องการได้รับอนุญาตให้เดินทางในประเทศตนเองได้ และไปหางานได้ทุกที่ที่ต้องการ ไม่ใช่แค่ที่ที่สำนักงานแรงงานสั่งให้ไป ชาวแอฟริกันต้องการส่วนแบ่งที่เป็นธรรมในแอฟริกาใต้ทั้งประเทศ พวกเขาต้องการความปลอดภัยและส่วนแบ่งในสังคม
เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียม เพราะปราศจากสิ่งเหล่านี้ การไร้ความสามารถของเราจะอยู่อย่างถาวร ผมรู้ว่าสิ่งนี้ฟังดูเหมือนการปฏิวัติสำหรับคนผิวขาวในประเทศนี้ เพราะผู้มีสิทธิโหวตส่วนใหญ่จะเป็นชาวแอฟริกัน สิ่งนี้ทำให้คนผิวขาวกลัวประชาธิปไตย
แต่ความกลัวนี้ไม่อนุญาตให้มาขัดขวางทางออกเดียวซึ่งจะการันตีความปรองดองทางเชื้อชาติและอิสรภาพของทุกคนได้ มันไม่จริงที่ว่า การปลดปล่อยทุกความปรารถนาจะนำมาสู่การครอบงำทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกทางการเมืองบนพื้นฐานของสีผิวล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมา และเมื่อมันหายไป การครอบงำของกลุ่มสีผิวใดสีผิวหนึ่งก็จะหายไปเช่นกัน
พรรค ANC ใช้เวลาครึ่งศตวรรษต่อสู้กับลัทธิเหยียดเชื้อชาติ เมื่อมันได้ชัยชนะมันจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น
สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่พรรค ANC กำลังต่อสู้ การต่อสู้ของพวกเขาคือการทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง มันคือการต่อสู้ของประชาชนชาวแอฟริกัน มีแรงบันดาลใจจากความทุกข์และประสบการณ์ของตนเอง มันคือการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีชีวิต
ระหว่างที่ผมยังมีชีวิต ผมขออุทิศตนเพื่อการต่อสู้นี้ของประชาชนชาวแอฟริกัน ผมขอสู้กับการครอบงำของคนผิวขาว และสู้กับการครอบงำของคนผิวดำ ผมขอเทิดทูนอุดมการณ์เพื่อสังคมที่อิสระและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวและได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมหวังจะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น และจะต้องได้มา แต่หากจำเป็น มันคืออุดมการณ์ซึ่งผมพร้อมแลกมาด้วยชีวิต”
ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.mandela.gov.za/mandela_speeches/before/640420_trial.htm
เรียบเรียง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล