วันที่ 5 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันนักข่าว’ การทำหน้าที่ของนักข่าวนับแต่ปีที่แล้ว (2563) ถึงปีนี้ (2564) มีสถานการณ์ทางการเมืองระลอกใหม่ที่นักข่าวภาคสนามต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายอีกครั้ง
The People สัมภาษณ์ ธนกร วงษ์ปัญญา หรือ เอก ผู้สื่อข่าว THE STANDARD กับประสบการณ์รายงานข่าวเฉียดระเบิดอย่างน้อย 2 ครั้ง
โดยเมื่อย้อนกลับไปก่อนที่เอกจะเข้าสู่อาชีพสื่อมวลชน เขาเคยทำกิจกรรมนักศึกษา ขณะเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเรียนปี 1 เมื่อปี 2552 ได้รับการเลือกตั้งสู่สภานักศึกษาตลอดการเรียนปี 1 - 4 นอกจากนั้น ยังเคยเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวกับรุ่นน้องอย่างเช่น รังสิมันต์ โรม สมัยเป็นสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และ ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ระหว่างที่คุณพ่อของปณิธาน คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกคุมขังในเรือนจำ คดีมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2554
ประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงบอกจุดยืนทางการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำงานสื่อมวลชนคือการแสวงหาและรายงานข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย โดยไม่นำความเห็นส่วนตัวมาเป็นอุปสรรคในการรายงานข่าว ซึ่งเอกเล่าถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
The People: จากนักกิจกรรมมาเป็นนักข่าว จัดการกับจุดยืนหรือความเห็นส่วนตัวระหว่างทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างไร
ธนกร: เรามีจุดยืนเชิงสังคมการเมืองอยู่แล้ว เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นบวกเป็นลบแบบไหน หรือว่ามีจุดยืนในเชิงหลักการอย่างไร อันนี้ก็จะเป็นจุดยืนส่วนตัวเรา ซึ่งผมก็เชื่อว่า ทุกคนมี แล้วผู้สื่อข่าวทุกคนก็มี เหมือนอย่างถ้าถามถึงจุดยืนของสื่อ หรือจุดยืนของตัวผมในการทำงานข่าว ก็ยึดหลักเรื่องประชาธิปไตย
แน่นอนว่า มันมีแค่ระบอบนี้แหละที่อนุญาตให้เราสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ ถ้าประชาธิปไตยมันเต็มใบนะ ถ้าเป็นเรื่องของหลักการประชาธิปไตยที่มันควรจะเป็นจริง ๆ
จากนักกิจกรรมเวลานั้น เราอาจจะอินกับหลายเรื่อง เราอาจจะมีจุดยืนกับหลายเรื่อง เราอาจจะมองเห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเลนส์ของความเป็นนักเคลื่อนไหว ผ่านเลนส์ของนักศึกษา ผ่านเลนส์ของประชาชนคนหนึ่งที่มองว่า เอ้ย ทำไมรัฐถึงทำแบบนี้ ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงทำแบบนี้ เราตั้งคำถาม แล้วเราก็พยายามหาคำตอบ แต่คำตอบที่เราได้มันก็คือคำตอบในมุมการเป็นประชาชน การเป็นนักศึกษา
พอเราหันเหบทบาทและตั้งใจกับการทำงานในวิชาชีพสื่อ มันก็มีหลายเรื่องที่เราต้องตระหนัก แล้วก็รายละเอียดมันก็ค่อนข้างจะมีเยอะมากขึ้น
ผมไม่สามารถใช้ความรู้สึกในการตัดสินได้ทันที มันก็จะเกิดกระบวนการใช้ตรรกะในการทำงานว่า เราตั้งคำถาม เราสงสัย แล้วต้องหาคำตอบหาความจริงยังไง เราเข้าถึงแหล่งข่าวได้นี่ ในเชิงสังคมเรามีช่องทางและมีโอกาสมากกว่าประชาชนในการที่จะหาความจริง ในการที่จะเข้าถึงแหล่งข่าว
สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการคิดหรือมุมมองในการหาความจริงด้วย ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าตอนที่เป็นประชาชนทั่วไป ก็คือเราอ่านข่าวหรืออยู่กับสถานการณ์ ก็คิดได้เลย ตัดสินได้เลย เพราะจุดยืนเรามันตรง ๆ กับเรื่องนั้น
แต่พอมาเป็นสื่อ ก็มีความต้องระวังว่า วิธีคิดหรือจุดยืนของตัวเอง หรือความเห็นของตัวเอง ต้องเก็บให้มากที่สุด
แล้วอยู่กับความจริง อยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คือต้องสร้างความสมดุลให้กับข่าว เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย
พอสวมบทบาทเป็นสื่อต้องมีความอดทนที่จะรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย แล้วก็นำเสนออย่างตรงไปตรงมาให้มากที่สุด มันก็เปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนชีวิตเรานะ มันไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อตัวเอง หรือรู้สึกกับตัวเองอย่างเดียวแล้ว มันคือการรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อวิชาชีพงานที่ทำ รับผิดชอบต่อองค์กรด้วย
และในขณะเดียวกันมันคือการรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน การที่เรานำเสนออะไรออกไปมันอาจจะมีผลกระทบอะไรกับเขา เพราะฉะนั้น ต้องยืนอยู่บนความจริง ข้อเท็จจริง
The People: มีปัญหาหรือความหนักใจอะไรไหม เมื่อต้องสัมภาษณ์คนที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่าง
ธนกร: ผมไม่มีปัญหาเลย ผมมองว่าเป็นความท้าทาย เมื่อย้อนกลับไปตอนเราเป็นนักเคลื่อนไหว หรือนักศึกษาที่มีส่วนร่วมทางการเมือง เวลานั้นเราอาจจะรู้สึกกับคนหนึ่งอย่างหนึ่ง
แต่พอเราเป็นสื่อก็มองอีกแบบหนึ่ง ลองตั้งคำถามกับเขาดู ก็ได้ความจริงในอีกมุมหนึ่งมานำเสนอ แต่คนตัดสินก็คือประชาชนคนที่รับข้อมูลข่าวสาร
รวมถึงในใจเราลึก ๆ ก็ต้องไปหาคำตอบเพิ่มเติมเช่นกัน ในสิ่งที่เขาตอบมาไม่เคลียร์
บางทีเราคิดว่า เขาคงมองแบบลึกซึ้งละเอียดอ่อน แต่ปรากฏว่า เขามองอย่างผิวเผิน หรือบางทีเราคิดว่าเขามองเรื่องนี้อย่างผิวเผิน แต่จริง ๆ เขามองลึกกว่านั้น แล้วเห็นวิธีคิดว่า ทำไมเขาตัดสินใจใช้วิธีแบบนี้ สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้ยินก็ได้ยิน ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น
เราก็นำเสนอตามข้อเท็จจริงซึ่งประชาชนก็จะตัดสินใจต่อ เราต้องวางความรู้สึกเยอะเยอะอยู่เหมือนกัน
The People: ประสบการณ์การทำข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง นับแต่การชุมนุมระลอกที่เกิดขึ้นปี 2563
ธนกร: ย้อนกลับไปปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ การตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มนักเรียนครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์มีความสร้างสรรค์ในการใช้โซเชียลมีเดียในการชุมนุม มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก ต่อมาเป็นกลุ่มนักศึกษาชุมนุมร่วมกับประชาชน เราเห็นบรรยากาศการชุมนุมอย่างสร้างสรรค์
แต่ความรุนแรงที่ผ่านมา เนื่องจากมีบทบาทสลับกันเยอะ ไม่ว่าจะกลุ่มผู้นำ กลุ่มการ์ดที่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหว รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมาปราศรัยถึงปัญหาต่าง ๆ
กระทั่งเหตุการณ์เดินมาถึงการสลายการชุมนุม วันที่ 16 ต.ค. 63 ที่แยกปทุมวัน รัฐใช้ยุทธวิธีที่พยายามจะยุติความเคลื่อนไหว วันนั้นก็จะเห็นว่า หลายภาคส่วนในสังคมออกมา call out เยอะมาก เนื่องจากมองว่ารัฐใช้ความรุนแรง หลายภาคส่วนออกแถลงการณ์ หลายภาคส่วนก็มองว่าสันติวิธี น่าจะเป็นคำตอบมากกว่าการใช้ความรุนแรง แล้วการพูดคุยกันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 วันนั้นผมไปอัดรายการ THE POWER GAME อัดรายการเสร็จก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ใช้น้ำแรงดันสูงฉีดมวลชนแล้ว ผมนั่งมอเตอร์ไซต์ไปถึงก็เริ่มรายงานข่าวเลย live จากจุดนั้น โดนน้ำฉีดตรงป้อมยามหน้ามาบุญครอง ตรงนั้นมีผมกับช่างภาพ 2 คน ผมเดินไปทางสนามกีฬาแห่งชาติ ก็ถูกไล่ฉีดอีก เพราะตรงนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ แล้ววันนั้นก็แสบตามาก ไม่รู้น้ำอะไรผสมอะไร ก็แบบที่เขาอธิบายแหละ ก็มีเจ้าหน้าที่มาช่วยปฐมพยาบาล แต่ช่างภาพก็ยังอึด live ยาวต่อเนื่อง
ตอนเดินกลับ ตำรวจไม่ให้ทะลุผ่าน โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างปฏิบัติการ ไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น เราก็นั่งรอก็ live เล่าว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้เราผ่าน
ก็รายงานไปตามความเป็นจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แต่ปรากฏว่า พอสื่อต่างชาติเดินผ่านมา สื่อต่างชาติเดินทะลุไปได้เลย มีบัตรมีอะไรเท่าเรา เราก็เดินไปถามว่า อ้าวพี่ ทำไมเขาผ่านได้ เจ้าหน้าที่ก็บอกอ้าวน้อง งั้นน้องผ่านไปได้เลย
พูดตรงไปตรงมาก็คือเรื่องการสื่อสารนั่นแหละ พอเห็นเป็นฝรั่ง เจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ตรงนั้น ก็ยอมให้ผ่านไป ผมเข้าใจว่าอย่างงั้น
เราก็บอก อ้าวพี่ นี่คนไทยพูดกันรู้เรื่องกว่า พูดภาษาเดียวกันด้วย ผมก็พูดอย่างตรงไปตรงมา ถ้าพี่ให้เขาผ่านพี่ก็ต้องให้ผมผ่าน เขาก็เลยให้เราผ่านไป
เวลาอยู่ในพื้นที่ แสดงตัวทุกอย่าง ปลอกแขน หมวก เสื้อติดว่าเป็น press และบัตรที่แสดงความเป็นสื่อ เพราะวันนั้นก็มีสื่อที่ถูกจับไปคือน้องที่ประชาไทถูกจับไปเนื่องจากมีความชุลมุน
The People: เหตุการณ์เฉียดระเบิดครั้งที่ 1 หลังการชุมนุมที่หน้า SCB Park เกิดอะไรขึ้น
ธนกร: คือที่ผ่านมาก็มองเห็นอยู่บ้างว่ามีกลุ่มที่เข้ามาก่อกวน มองเห็นอยู่ว่าสิ่งที่เรียกว่ามือที่สามเริ่มปรากฏขึ้น เราก็ระมัดระวังตนเอง พยายามบอกทีมพยายามเตือนกันว่าระวังตัวนะ อย่าอยู่ในจุดที่มันลับตาหรืออยู่ในจุดที่มันไม่สามารถดูแลตัวเองได้
แต่ปรากฏว่าวันนั้น เราอยู่ในจุดที่คนค่อนข้างพลุกพล่าน แล้วก็เกิดเสียงระเบิดขึ้น ก็ตกใจและพยายามหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรยังไง วันนั้นก็ตั้งสติก่อน ก็เป็นประสบการณ์ว่า ความรุนแรงมันเริ่มขยับเข้าใกล้ตัวเรา หรือสถานการณ์ที่สื่อต้องเผชิญอยู่มันเริ่มเห็นอะไรบางอย่าง
วันนั้น (25 พ.ย. 63) ตอนแรกผู้ชุมนุมจะไปสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แต่ก็เปลี่ยนมาเป็น SCB Park ผมก็อยู่ในสถานการณ์ที่หน้า SCB ตรง Avenue หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม รายงานข่าวอยู่ แล้วมีเสียงตู้มขึ้นมาจากด้านหลังเรา วันนั้นไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ตกใจมากกว่า
พอเสียงตู้มปุ๊บ ต่างคนต่างวิ่งหลบ มือระเบิดอยู่ในเฟรมเลยครับ คือเป็นจังหวะที่เราก็ไม่คิดนะว่ามือระเบิดจะอยู่ในเฟรมของเรา แล้วพอไปไล่ย้อนดู หรือที่ตำรวจย้อน หรือคนในโซเชียลฯ ย้อน
เออ ก็เดินเข้ามาตั้งแต่ก่อนที่เราจะเริ่ม live ด้วยซ้ำ ก็ถือว่า อาจจะเป็นจังหวะ แล้วก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ก็เป็นภาพที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงแบบนั้น
ตอนระเบิดลง ผมรายงานอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็วิ่งกระจายกันออกไป ช่างภาพก็วิ่งกระจายออกไปอีกมุมหนึ่ง จนกระทั่งเราก็มองหากัน แล้วก็ตั้งหลักได้ ก็เริ่มกลับมารายงานข่าวอีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้นมันก็ชุลมุนอยู่พอสมควร เพราะว่าพอเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนั้นปุ๊บ ในพื้นที่ตรงนั้นมันมั่วไปหมด มันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หรือไม่รู้ว่า ที่บาดเจ็บอยู่คือผู้ก่อเหตุ หรือว่าเป็นผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ
การรายงานข่าวก็ยากครับ ก็ต้องใช้ภาษาที่ระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลตัวเองไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญก็คือว่า เราเหมือนกลายเป็นผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ เพราะว่าวันนั้นเนี่ย ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่เริ่มทยอยกลับกันไปหมดแล้ว พวกผมอยู่น่าจะเป็นทีมท้ายๆ ตอนนั้น เพราะว่า สัมภาษณ์แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งอยู่ แล้วก็กำลังจะมา live สรุป
ตอนนั้นก็มี CNN เข้ามาขอสัมภาษณ์เรา มีไทยรัฐมาขอสัมภาษณ์เรา ในฐานะสื่อที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ก็คุยกันว่า ให้สัมภาษณ์ได้เท่าที่เราเห็น fact เห็นข้อเท็จจริง อะไรที่ไม่เป็นทางการ หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เราก็ตั้งข้อสังเกตเฉย ๆ
แต่วันนั้นก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ถือว่าได้ใช้สกิลสื่อเยอะมากอยู่พอสมควร เรื่องของการรายงานข่าว เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงอะไรแบบนี้ครับ
The People: เฉียดระเบิดครั้งที่ 2 หน้าจามจุรีสแควร์
ธนกร: ต่อมาวันที่มีการสลายการชุมนุมกันที่สามย่านมิตรทาวน์ ผมก็ไปอยู่ที่หน้าอาคารจามจุรีสแควร์ (16 ม.ค. 64) จริงๆ รายงานข่าวกันมาตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว มีกลุ่มอาชีวะเขาไปจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขียนป้ายผ้าความยาว 112 เมตรว่า อยากบอกอะไรรัฐบาล
เช้าวันนั้นเราก็เริ่มเห็นการใช้ความเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่แล้ว คือ ปกติเจ้าหน้าที่จะมาประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมเพราะถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย อาจจะไม่ได้แจ้งการชุมนุม หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐมักจะอ้างเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรวมตัว วันนั้นพอประกาศจบปุ๊บก็มีคำสั่งเลยว่า จับให้หมด ผู้ชุมนุมก็แตกฮือ
ผม live อยู่ใกล้ตัวรวจที่มาวันนั้น สื่อเองก็ประหลาดใจ เพราะที่ผ่านมาโดยหลักปฏิบัติ พอเขาประกาศเสร็จ โดยสภาพผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ยุติหรอกเพราะเขารู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการใช้สิทธิเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญก็รับรองให้เขาชุมนุมได้ตามกฎหมาย เขาก็ชุมนุมต่อ โดยปกติก็จบ นี่พูดตามข้อเท็จจริงที่เราเห็นกันมาตลอด
แต่วันนั้นตำรวจวิ่งไล่จับ เหมือนจับวงไพ่ ถ้าใครเคยเห็นวงแตกเป็นยังไง ตำรวจก็ทำอย่างงั้นเลย มีการล็อกคอ มีการอุ้ม มีการลากไปขึ้นรถผู้ต้องขัง เอาไปที่สน.พญาไท
จึงนำมาซึ่งการชุมนุมต่อเนื่อง เพราะว่ากลุ่มนี้ต้องการให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุมไป ก็ไปที่หน้าโรงพัก สน.พญาไท สุดท้ายผู้ชุมนุมก็นัดกันไปปิดแยกสามย่าน ผมก็ตามไปรายงาน
สถานการณ์ตอนนั้น ตำรวจได้รับคำสั่งให้ต้องยุติม็อบให้ได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องการชุมนุมในสถานการณ์โรคระบาดไม่อยากให้มีการรวมตัว
มีมวลชนเริ่มมาสมทบกันเยอะ ห้างก็เริ่มปิด เพราะคงมีการประสานงานกัน เจ้าหน้าที่ก็เริ่มมาแบบควบคุมฝูงชนเลย มุ่งหน้ามาเข้าแยกสามย่าน ตั้งกำลัง ตั้งแนวเข้ามา
ผู้ชุมนุมก็วิ่งหลบ วิ่งหนี เข้าไปในห้างก็มีส่วนหนึ่ง วิ่งหลบเข้าไปอาคารจามจุรีสแควร์ก็มี ผมแบ่งทีมอีกทีมไปสามย่านมิตรทาวน์ อีกทีมคือผมไปอาคารจามจุรีเอง เพราะตอนนั้นมีตำรวจส่วนหนึ่งเดินแถวไปหน้าจามจุรีสแควร์ และมีกลุ่มมวลชนส่วนหนึ่งหนีไปทางนั้น
ตำรวจก็พยายามที่จะไปกระชับพื้นที่ สลายการชุมนุม ผมก็เดิน ๆ อยู่ที่บริเวณฟุตบาท ก็เดินไปพร้อมตำรวจ เดินไปก็ live ไป รายงานไป
สักพักหนึ่งก็มีเสียงดังตู้มขึ้นมา ปฏิกิริยาเราก็ตกใจ เกิดอะไรขึ้นวะ พอหันไปดู ไอ้ตู้มนั้น จริง ๆ แล้วคือเฉียดขาไปนิดเดียว คือแบบส้นเท้า นิดเดียวมาก เพราะว่าเห็นกับตาเลย จังหวะลงแล้วมันแตก
ตอน 'พิสูจน์หลักฐาน' เขามาคุยกับผม เขายังพูดอยู่เลยว่า โชคดีมากที่ไม่เข้าตา
เพราะว่าพอผมไปดูสะเก็ดมัน การกระจายของมัน โอ้โห มันค่อนข้างเป็นวงกว้างมาก 30 - 40 จุดได้
ตอนนั้นก็วิ่งหนี มีมวลชนมาช่วยก่อน เขาบอก "เฮ๊ย พี่ ๆ หลบก่อน มีระเบิด โดนระเบิด"
ผมก็วิ่งเข้าไปข้าง ๆ ตึกจามจุรีสแควร์ ตอนนั้นไม่รู้สึกเจ็บ แต่รู้สึกว่ามันอื้อ ๆ และรู้สึกว่ากูโดนระเบิดอีกแล้ว ก็เลยวิ่งหลบไปก่อน ก็ได้น้อง ๆ นักข่าวมาช่วย
น้องเขาก็บอก เฮ้ย พี่เอก หลบมาทางนี้ หลบมาก่อน หลบมาก่อน จนกระทั่งหลบไปสักพักก็ยังรายงานอยู่นะ เราเริ่มแสบละ ถือกล้อง live ไม่ได้แล้ว
ก็ปรากฏว่ามีประชาชนมาช่วยถือกล้องให้ เขารายงานข่าวแทนเราด้วยนะ
เขาบอกตอนนี้สื่อมวลชนโดนระเบิดนะคะ ตอนนี้ดิฉันถือกล้องแทนคุณเอกค่ะ แล้วเขาก็ถ่ายเรา
สักพักหนึ่งเราก็บอก ไม่เป็นไร เราก็เอากล้องกลับมา แล้วเราก็ตัดจบการรายงานข่าว
แล้วเราก็ไปรักษา ไปปฐมพยาบาล ก็ปรากฏว่า พอเปิดมามันก็เป็นรอยเหมือนบุหรี่จี้ มันแสบ ๆ ร้อน ๆ พอง ๆ เหมือนบุหรี่จี้ เพราะสะเก็ดมันโดน ก็ทะลุกางเกงเข้าไป เป็นจ้ำ ๆ
วันนั้นก็ยังอยู่รายงานข่าวต่อ ก็มีพี่สื่อมวลชนหลายคน รวมทั้งกองบก. ของตัวเองก็โทรมา บอกให้ออกจากพื้นที่ดีกว่า
เราก็ดูสถานการณ์สักพักหนึ่ง เพราะเรายังมีทีมเหลืออยู่ เราก็เป็นห่วงเขาเหมือนกัน เพราะเป็นรุ่นน้องด้วย
เราก็โอเค สักพักหนึ่งเราก็ออกไป การชุมนุมก็เริ่มยุติลง
The People: สิ่งที่อยากสะท้อนหลังเจอเหตุการณ์ความรุนแรง
ธนกร: เป็นประสบการณ์ที่คิดว่า มันไม่ควรเกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องที่สามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจ ที่ผมสะท้อนคือ การชุมนุมก็ควรจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ อันนี้ต้องยืนยันแบบนี้ก่อนว่า ประชาชนออกมาเรียกร้องหรือประชาชนใช้เสรีภาพในการที่จะทวงถาม ตั้งคำถามถึงสิ่งที่รัฐทำในฐานะที่รัฐก็รับมอบอาณัติอะไรบางอย่างจากประชาชนไปในฐานะที่เป็นผู้แทนเขาด้วย
ผ่านทั้งการเลือกตั้ง ผ่านทั้งการที่เราจ่ายภาษีเพื่อไปให้เขาเป็นงบประมาณในการบริหารต่าง ๆ อันนี้ประชาชนตั้งคำถาม ประชาชนเคลื่อนไหว ประชาชนต้องการรู้ความจริง ต้องการให้แก้ไขปัญหา สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ ก็มีรองรับไว้ในหลายมุม ทั้งมุมกฎหมาย ทั้งมุมการเมือง
มาตรฐานที่รัฐปฏิบัติกับแต่ละกลุ่ม เช่น การอ้างเรื่องโรคติดต่อ ก็มีภาพเปรียบเทียบในหลายเหตุการณ์ว่า เอ๊ะ ทำไมถ้าเป็นการชุมนุมปุ๊บ จะถูกใช้กฎหมายเสมอ ขณะที่การรวมตัวของกลุ่มอื่นได้รับการปฏิบัติแบบไหน มาตรฐานของสังคมควรจะเท่ากันยังไง หมายถึงทุกองคาพยพ ในเชิงมาตรฐานการปฏิบัติกับแต่ละกลุ่ม ก็มีคำถามแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจจะเป็นเชื้อไฟที่รอการปะทุขึ้นมาอีกวันไหนก็ไม่รู้
อีกมุมหนึ่ง สื่อมวลชนเองก็ควรได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคนกลางที่นำเสนอได้ทุกแง่มุม นำเสนอได้ทุกฝั่งทุกฝ่าย เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ในสถานการณ์ที่มันมีความขัดแย้ง
อย่างน้อยสื่อก็ควรได้เป็นพื้นที่ในการเคลียร์ความขัดแย้ง หรือเคลียร์อะไรที่มันไม่ได้มีความชัดเจนอยู่ ณ เวลานั้น แต่โอเคว่า เราจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ขนาดไหน ประชาชนก็คงต้องเป็นคนตัดสินเรา
ผมก็คิดว่า พื้นที่ของสื่อ หรือพื้นที่การทำงานของเราทั้งหมด เรารับใช้สันติภาพ รับใช้ทางออกด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ควรจะออกด้วยความรุนแรงเหรอ มันควรจะออกด้วยการพูดคุยไหม หรือว่าชวนกันมาตั้งคำถามแบบไหน หรือสื่อสามารถที่จะช่วยในการหาทางออก หรือขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ต่อไปยังไง ทั้งประเด็นของผู้ชุมนุม รวมถึงประเด็นของทุกฝ่าย
แม้กระทั่งการชุมนุมจะนำไปสู่ความรุนแรงเสมอหรือไม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบมา กระทั่งเหตุการณ์ 13 ก.พ. กับ 28 ก.พ. ก็มีภาพความรุนแรงเกิดขึ้น
วันที่ 13 ก.พ. ผมก็อยู่ใกล้ระเบิดเหมือนกัน เป็นวันที่ไปชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วก็ผู้ชุมนุมเอากระถางต้นไม้ลงมาจากอนุสาวรีย์ เพราะเขาจะทวงคืนอนุสาวรีย์ให้ประชาชน
วันนั้นก็คิดว่าเหตุการณ์จบแล้ว แล้วก็นัดกันว่า อีก 7 วันมาเจอกัน แต่ปรากฏว่า แกนนำก็ประกาศว่าเดี๋ยวเดินไปที่ศาลหลักเมือง เพื่อต้องการให้ศาลหลักเมืองอยู่ข้างประชาชนอะไรประมาณนี้
ก็มีบรรยากาศการเผชิญหน้าตั้งแต่สะพานหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ถึงหน้าศาลฎีกา ก่อนถึงศาลหลักเมือง มีความชุลมุน
มีการเจรจากันระหว่างแกนนำกับเจ้าหน้าที่ แต่เราก็เห็นว่ามีกลุ่มบางกลุ่ม เมื่อยุติการชุมนุมแล้วไม่ยอมกลับ ก็มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่อยู่
แล้วก็มีภาพของการใช้ประทัดและมีการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายอาวุธเกิดขึ้น ขณะเดียวกันเห็นภาพตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวประชาชน สถานการณ์ตรงนั้นค่อนข้างวุ่นวาย
เราก็รอดูสถานการณ์ เมื่อเห็นว่าวุ่นวายมากขึ้นก็ให้ทีมบางส่วนออกจากพื้นที่ไป วันนั้นเราก็ไม่ได้บาดเจ็บ แต่ความรุนแรงเริ่มแรงขึ้น
ส่วนการชุมนุมวันที่ 28 ก.พ. ผมไม่ได้อยู่ในกทม. เพราะไปทำสกู๊ปที่เชียงใหม่
The People: สื่อมวลชนบนความคาดหวังของสังคม
ธนกร: ความคาดหวังของคนว่าอยากให้สื่อทำหน้าที่ยังไง มันทำให้เราต้องตระหนัก ย้อนคิดอยู่ตลอดว่าการทำหน้าที่ของเรามันตอบสนองต่อสังคม คือรับใช้ความจริงได้เท่าที่สังคมคาดหวังหรือเปล่า เพราะว่าสุดท้ายแล้วมีการเกิดขึ้นและล้มหายตายจากไปของสื่ออยู่จำนวนมาก และมันมีภาวะการ disrupt การทำงานของสื่อทั้งในเชิงโซเชียลมีเดีย ทั้งในรูปแบบอื่น ๆ ที่เขาสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วและน่าเชื่อถือ
คือถ้าวันหนึ่งคนไม่เชื่อถือสื่อ ผมว่าก็อันตราย แต่ผมก็คิดว่า มันต้องย้อนกลับมาว่า เราทำหน้าที่ได้อย่างที่เขาคาดหวังหรือเปล่า
The People: สื่อโซเชียลฯ ในสมัยที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธนกร: ตอนแรกผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 2551 ตอนนั้นเข้าไปคณะแพทย์ แต่ว่าเราก็เปลี่ยนคณะ จากหมอคนก็มาเป็นหมอความ มาเรียนจริงจังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คือคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ปี 2552
ตอนทำกิจกรรมเริ่มมีโซเชียลมีเดีย อย่าง facebook กับ twitter แล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีพลังเหมือนยุคนี้
ถ้ามองเรื่องกิจกรรมนักศึกษากับเรื่องสื่อยุค 2550 หรือช่วงที่ผมยังเรียนอยู่หรือย้อนกลับไปนิดนึง ส่วนใหญ่เขาก็จะพึ่งพาสื่อหลัก อย่างกรณี 'แพรวา' ก็มีสื่อหลักมาช่วยเราตีแผ่ มาทำสกู๊ปเยอะ หลายคนก็เป็นพี่ เป็นเพื่อนร่วมงานกันปัจจุบันนี้
สื่อโซเชียลมีเดียเหมือนเป็นอีกช่องทางหนึ่งแต่มันยังไม่ได้บูมขนาดว่าเป็นช่องทางหลักเหมือนยุคนี้ ยุคนี้ไม่ว่าจะ Clubhouse ไม่ว่าจะ Twitter, Facebook, Instagram หรือแม้แต่ Telegram, Discord อู้หู เยอะมาก เป็นเครื่องมือสื่อสาร เป็นเครื่องมือส่งข่าว เป็นเครื่องมือบอกเล่า แล้วเรียลไทม์ได้ด้วย ทั้ง live ทั้งเปิด Clubhouse ในม็อบอะไรอย่างงี้
แต่ยุคสมัยที่ผมเริ่ม ๆ ทำกิจกรรมนักศึกษา มันมีน้อยมากกับเรื่องพวกนี้ เรายังต้องทำโปสเตอร์อยู่เลย สมัยเราทำโปสเตอร์ขึ้นมา เตรียมเอาไปแปะที่ไหนในมหาวิทยาลัย ส่งไปที่ไหนดี หรือส่งอีเมลล์ยังไง ส่งหมายเชิญยังไง เมื่อก่อนก็มีหมายข่าวให้สื่อมวลชนทางอีเมลล์
โอเค ทุกวันนี้ก็มีโปสเตอร์นะ แต่เป็นโปสเตอร์ที่ส่งต่อกันในออนไลน์
ก็มีพลวัตของการเคลื่อนตัวของเทคโนโลยีหรือสภาพสังคมที่ทำให้การเคลื่อนไหวของนักเรียน หรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษา การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมก็มีมูฟเมนท์ที่กว้างขึ้นครับ
The People: มีตำแหน่งอะไรสมัยทำกิจกรรมนักศึกษา
ธนกร: ตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงาน 2 ขา ขาหนึ่งเป็นผู้แทนนักศึกษาคือสมาชิกสภานักศึกษา ตั้งแต่ปี 1 - 4 ได้รับเลือกตั้งมาตลอด 4 ปีจนกระทั่งเรียนจบ ขานี้จะดูแลสิทธิ์สวัสดิการนักศึกษา ต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิในมหาวิทยาลัย ต่อสู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัย ก็จะดีลกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ทั้งอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย เช่น ในสมัยนั้นกรณี 'แพรวา' ขับรถชนรถตู้ที่วิ่งรับส่งคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยบางคนตกลงมาจากโทลเวย์
ข้อเรียกร้องของนักศึกษาคือความปลอดภัยจากการโดยสารรถตู้ที่วิ่งจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งวิ่งรับส่งจากธรรมศาสตร์ ไปอนุสาวรีย์ชัยฯ หรือไปหมอชิต
เราก็หารือร่วมกันกับทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำเป็นหนังสือไปว่า เราควรจะมาดูแลเรื่องความปลอดภัยยังไงดีนะ ปรากฎว่าทางมหาวิทยาลัยก็ดำเนินการติดจีพีเอสในรถเพื่อควบคุมความเร็ว ก็เป็นรูปธรรมอันหนึ่ง และการดูแลผู้เสียหายทั้งเป็นเรื่องเงินและดูแลสภาพจิตใจ สภานักศึกษาก็ดูแลตรงนั้น จัดงานให้คุณพ่อคุณแม่ของผู้เสียหายมาทำบุญที่ธรรมศาสตร์ เป็นงานนักศึกษา เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่เราจะช่วยเหลือคนธรรมศาสตร์
นอกจากนั้น การต่อสู้เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตอนนั้น เป็นการต่อสู้ในเชิงข้อเรียกร้องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งตัวนักศึกษาปัจจุบันและรุ่นที่จะตามมา
กับอีกขาหนึ่งคือเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เรามีทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นนักกิจกรรมธรรมศาสตร์เยอะทีเดียว เช่น เราเห็นรังสิมันต์ โรม ตั้งแต่เป็นนักศึกษา มีสถานะเป็นเพื่อนใหม่ พูดง่าย ๆ ก็เป็นรุ่นน้องที่นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ได้ร่วมกิจกรรมที่โรมจัดเป็นบางครั้ง เห็นการเคลื่อนไหวของโรมผ่านกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) เวลานั้น เห็นจังหวะเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2557 จนกระทั่งวันนี้โรมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
กับอีกส่วนหนึ่ง ย้อนไปสมัยคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกคุมขังในเรือนจำ คดี ม. 112 คุณสมยศเป็นคุณพ่อของน้องไท ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข เป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์เหมือนกัน เขาโกนผมและต่อสู้ในคดีของคุณพ่อ เราก็มีโอกาสไปร่วมให้กำลังใจ ไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในเวลานั้น
แล้วก็มีอีกหลายเรื่องในระหว่างเป็นนักศึกษาก็ได้เข้าร่วมมาตลอด รวมถึงสมัยการต่อสู้ของ นปช. คนเสื้อแดง (เม.ย. 2553) ตอนนั้นอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการประกาศให้นักศึกษากลับบ้าน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะปิดมหาวิทยาลัยและท่าเรือก็จะปิด
วันนั้นกำลังเรียนวิชากฎหมายโรมันกับ อาจารย์หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านก็บอกให้รีบกลับบ้าน พอรีบกลับออกจากมหาวิทยาลัย บรรยากาศก็เหมือนการจราจรถูกปิดหมด ผมก็นั่งมอเตอร์ไซต์ออกมา มาติดแถวกรมที่ดิน ก็กลับไม่ได้ตอนนั้น จึงย้อนกลับไปเพราะมีเพื่อนอยู่อีกฝั่งของสะพานพระปิ่นเกล้า เขาเช่าหอพักเพื่อเรียนซัมเมอร์กัน
ไปติดอยู่บนสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะตอนนั้นมีการทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาจากเครื่องบิน มอเตอร์ไซค์ไม่กล้าขึ้นสะพาน เพราะมีรถทหารอยู่ข้างบน ผมต้องเดินข้ามไป ปรากฏว่าเจอน้องคนหนึ่งกับคุณแม่ เขาคอยบอกคนอื่นให้รีบหลบ เพราะมีการโปรยแก๊สน้ำตาลงมา
วันนั้นมีการสลายการชุมนุมที่แยกคอกวัว แล้วก็ไหลยาวไปถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ตอนผมโดนแก๊สน้ำตาก็มองไม่เห็นแล้ว เขาเข้ามาช่วย เป็นประสบการณ์ขณะเป็นนักศึกษา
The People: จุดเริ่มต้นการทำงานสื่อมวลชน
ธนกร: โห จริงๆ ต้องบอกว่าชีวิตไม่ได้คิดจะมาเป็นนักข่าวนะครับ (หัวเราะ) ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะทำอาชีพข่าว เพราะคิดว่าอาชีพนี้ยาก แล้วก็เป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความคาดหวังของผู้คน ความน่าเชื่อถืออะไรเยอะมาก ในมุมมองของเราที่มองจากมุมประชาชน ตอนที่เรายังไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าว มันเป็นอาชีพที่เราแค่คิดว่าเป็นหนึ่งในความฝันของเราเฉย ๆ อยากเป็นนักข่าว เพราะเราสนใจเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องปรากฏการณ์ เราก็นั่งคิดว่ามีอาชีพไหนที่จะทำให้เราได้คำตอบหรือได้เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ ในมุมที่ได้เห็นลึก ๆ แล้วทำอะไรต่อไป ก็โพสต์ facebook ไปถึงความฝันตัวเองว่าอยากเป็นนักข่าว ปรากฏว่า มีคนชวนมาทำ นั่นคือจุดเริ่มต้น และมติชนที่เราเคยทำงานก็มีส่วนในการสร้างเรามา ให้เรามีวันนี้ ก็คิดว่าจะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
บางครั้งก็หมดแรง แต่ยังไม่หมดพลัง ก็อยากทำให้สังคมนี้ไปข้างหน้าได้
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ภาพ: ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม