แสตมป์ อภิวัชร์: ก่อนความฝันจะล่มสลาย คุยเรื่องเส้นทางสายดนตรีกับ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’

แสตมป์ อภิวัชร์: ก่อนความฝันจะล่มสลาย คุยเรื่องเส้นทางสายดนตรีกับ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’
สวัสดีครับ เราเคยรู้จักกันหรือเปล่า...? หลังจากห่างหายจากวงการเพลงไทยแล้วไปออกอัลบั้มที่ญี่ปุ่น ต้นปี 2021 ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ กลับมาพร้อมกับเพลง ‘ใจอ้วน’ ที่ฟังแล้วชวนให้ใจพองด้วยความน่ารักที่ล้นเอ่ออยู่ในเพลง ตามฉบับและสไตล์ของผู้ชายขี้เล่นและขี้อายที่มีเส้นทางสายดนตรียาวไกลมาตั้งแต่เจ้าตัวเริ่มเข้าวัยประถม ผ่านเรื่องราวแบบ ‘anti climax’ มากมายจนได้แจ้งเกิดจากเพลง ‘ความคิด’ และมีเพลงฮิตอีกเพียบ กับความท้อที่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เขาคิดอยากเลิกล้มความฝันของตนในวงการเพลง “เลิกทำเพลงดีไหม หรือว่าเราทำเพลงต่อไปแต่อยู่เงียบ ๆ หรือเราทำเพลงต่อไปโดยไม่สน มันมีหลายอย่างมาก” The People ชวนคุยเรื่องวัยเด็ก การก่อตัวและ (เกือบ) ล่มสลายของความฝัน และการเดินทางครั้งถัดไปในฐานะ ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ ที่สร้างความสุขพร้อมทั้งเสียงหัวเราะให้ผู้คน ของ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ชายผู้มีดวงตายิ้มหยี รอยยิ้มกว้าง ๆ ที่มักมาพร้อมกับกีตาร์และเสียงร้องเพลงเพราะ ๆ เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวคนนี้   The People: ชีวิตวัยเด็กของคุณก่อนจะเข้าสู่วงการเพลงเป็นอย่างไร แสตมป์: ตอนเด็ก ๆ ก็เป็นเด็กทั่วไป เด็กกลาง ๆ เรียนก็ไม่ได้เก่งมาก แต่ว่าไม่ได้มีความสามารถพิเศษอื่นใด  เล่นกีฬาก็ไม่ได้เล่น แต่ชอบดูบอลนะตอนเด็ก ๆ แต่ว่าพบว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเราสนใจกว่าคนอื่นในรุ่นเดียวกันก็คือชอบฟังเพลง ตอนนั้นก็มีเพื่อนมาแนะนำให้รู้จักกับดนตรีร็อก ซึ่งสมัยก่อนมันยังไม่มี YouTube เหมือนสมัยนี้นะ ดนตรีร็อกที่เป็นเพลงฝรั่งในฟรีทีวีก็จะไม่มี ก็ต้องขวนขวายหาฟังเอาเอง ก็มีเพื่อนมาแนะนำให้รู้จัก Guns N' Roses รู้จัก Aerosmith อะไรอย่างนี้ ตอนนั้นอยู่ประถมฯ อยู่เลย เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย! เราชอบสิ่งนี้ เราชอบดนตรีแบบนี้มากกว่าดนตรีที่อยู่ทั่วไป ก็เลยสนใจที่จะศึกษามัน เริ่มฟังเพลงแบบเพลงที่ไม่ได้อยู่ในทีวี ก็เริ่มที่จะฟัง    The People: ตอนนั้นอายุเท่าไร แสตมป์:  น่าจะ 9 ขวบ 10 ขวบ เริ่มชอบดนตรีร็อก    The People: แล้วอะไรที่ทำให้เปลี่ยนจากคนฟังมาเป็นคนเล่น แสตมป์: ผมว่าสมัยก่อนดนตรีร็อกอาจจะเหมือนฮิปฮอปสมัยนี้ก็ได้ เป็น label ของความแมสที่มีอยู่ แต่ถึงที่สุดดนตรีร็อกก็แมสมากสมัยนั้น หลังจากที่เริ่มฟังเพลงอย่างจริงจัง เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราถนัด กลายเป็นว่าเรามีความรู้เรื่องเพลงมากกว่าคนอื่นในห้อง รู้สึกว่ามันกลายเป็นเรื่องของเรา แล้วมันกลายเป็นเหมือนจากที่เคยชอบ Final Fantasy ชอบ Dragon Quest มันกลายเป็นว่าเรามีสิ่งนี้เป็นความสามารถในการจดจำได้ว่าวงนี้เพลงนี้ วงนั้นเพลงนั้น ก็ศึกษามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งอยากจะเล่นมัน มันเริ่มจากฟังก่อน แล้วอยากจะเล่นก่อน แล้วค่อยอยากจะทำ    The People: ตอนที่หัดเล่นดนตรีครั้งแรกมีเครื่องดนตรีของตัวเองหรือยัง แสตมป์:  ตอนนั้นไม่มีครับ น้าผมมี Casiotone อันเล็ก ๆ อยู่อันหนึ่ง กดได้ทีละคีย์ กดสองคีย์จะไม่ออก แล้วก็จะมีพวกเขียนเป็นตัวเลข 1234 โดเรมีฟาซอล แต่เราก็พยายามจะกดให้มันเป็นเสียงที่เกิดขึ้นใน Guns N' Roses แบบ November Rain มันกดไงวะ แต่ว่ามันไม่ได้ ก็รู้สึกว่าอยากได้กีตาร์ ชอบเสียงกีตาร์ ตอนเด็ก ๆ ก็ดูมิวสิกวิดีโอ โอ้โห! แบบ Slash มันเท่มาก คือ Axl (Rose) ก็เท่นะ แต่ว่าเรารู้สึกว่าเราไม่ได้กล้าแสดงออกขนาดเป็นนักร้องอย่างนั้น เรารู้สึกว่าคนที่เท่ที่สุดในวงคือมือกีตาร์ เวลาดูมิวสิกวิดีโอก็จะแบบชอบดูมือกีตาร์ ก็มีความรู้สึกว่าอยากเป็นมือกีตาร์ตั้งแต่ตอนนั้น    The People: กีตาร์เป็นของตัวเองตัวแรก แสตมป์: ตอนนั้นผมไม่มีกีตาร์ แล้วก็ไปขอพ่อแม่แล้วเขาก็ยังไม่ให้ กลัวจะเสียการเรียน ก็เลยใช้วิธีไปดูเพื่อนเล่นแล้วก็ให้เพื่อนสอนเอา ที่โรงเรียนก็จะมีคนเอากีตาร์มาแล้วเราก็แบบสอนหน่อยดิ จับยังไง ตอนนั้นก็เล่นเพลงพวก Smile Buffalo อะไรพวกนี้ แต่ว่ามันก็ยากมาก เพราะว่าถ้าเราไม่ได้มีเวลากลับไปเล่นที่บ้าน มันต้องใช้เวลาเยอะมากที่จะทำให้นิ้วมันมีพลัง ก็เลยยังเล่นไม่ค่อยได้ จนมาขอพ่อประมาณ ม. ขึ้น ม. บอกว่าถ้าเกรดเฉลี่ยเกิน 3.00 นี่ตั้งกฎเองเฉยเลยนะ ตั้งข้อแม้เองว่าถ้าได้เกิน 3.00 ซื้อกีตาร์ให้หน่อย ปรากฏว่าก็ไม่ได้ ได้ 2.8 มั้ง (หัวเราะ) anticlimax มาก แต่พ่อซื้อให้ ก็พาไปเดอะมอลล์บางกะปิ แล้วก็ไปเลือกกีตาร์มา ได้กีตาร์โปร่งมาตัวหนึ่ง แล้วก็ซื้อพวกหนังสือเพลงมาดูว่ามันจับคอร์ดยังไงแล้วเล่นตาม    The People: ช่วงชีวิตที่ได้ร่วมงานกับวงกล้วยไทย แสตมป์: วงกล้วยไทยมันเป็นช่วงมหา’ลัยแล้ว พอเข้ามหา’ลัยมันก็จะมีกิจกรรมนิสิตค่อนข้างเยอะ มีละครเวที ละคอนถาปัด ละคอนถาปัดนี่เป็นที่ที่ใครมีความสามารถอะไรหรือสนใจอะไรก็จะไปอยู่ฝ่ายต่าง ๆ อย่างเช่น ชอบออกแบบเสื้อผ้าหรือว่าสนใจเสื้อผ้าไปเป็นฝ่ายคอสตูม ชอบออกแบบสถาปัตยกรรมก็เป็นฝ่ายฉาก ชอบการแสดงก็ไปเป็นนักแสดง หรือว่าเป็นทีมเขียนบทอะไรก็ตามแต่ แต่ผมชอบดนตรีก็เลยสมัครเป็นฝ่ายเสียง หน้าที่ของมันก็คือตอนเข้าไปปีแรก ๆ ก็ยังไม่ได้แต่งเพลง ทำเสียงพวกเอฟเฟกต์ กรุ๊งแกร๊ง ๆ เอาคราดมาตีตอนเด็ก ๆ  แล้วก็นี่แหละมันจะมีซีดีที่ขายหน้างานเป็นเพลงประกอบละครเวที เรารู้สึกแบบว่าโหย...สมัยนั้นมันทำยากมากนะ มันยังไม่มีโปรแกรมอะไรที่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ เราอยากจะแบบทำสร้างซีดีขึ้นมาหนึ่งอันมันก็ทำเองไม่ได้ทั้งหมด ทางรุ่นพี่ก็ไปขอสปอนเซอร์ให้ไปใช้ห้องอัดดี ๆ ตอนนั้นก็ไปอัดของห้องชื่อซีเนซาวด์ ซึ่งพี่ต๋อย (เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน) คนที่คุมซีเนซาวด์ตอนนั้นเป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ของวงกล้วยไทย ก็เลยมีโอกาสได้รู้จักกัน พี่ต๋อยใจดีมากให้พวกเราไปอัดเพลงฟรี เราก็เล่นกีตาร์อะไรไป แล้วเขาก็ขาดมือกีตาร์อยู่คนหนึ่งพอดี ก็เลยแนะนำเราเข้าไป ก็มีโอกาสได้เป็นมือกีตาร์ของวงกล้วยไทยอยู่ช่วงเล็ก ๆ ช่วงหนึ่ง ซึ่งสนุกมาก เล่นกีตาร์แบบ 7 สาย แบบโหดมาก    The People: หลังจากนั้น คุณมาทำวงของตัวเองได้อย่างไร แสตมป์: ตอนนั้นก็เริ่มทำเดโมของวงตัวเองแล้ว ตอนนั้นเป็นวง 7thSCENE ผมเคยเป็นมือเบสของวง Klear ด้วย เคลียร์แพท (รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย) เนี่ย ผมไปเล่นแทนเขาอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นไปประกวด คือรางวัลประกวดดนตรีของมหา’ลัยของประเทศไทย ก็ไม่ชนะนะ แต่พอผมออกปุ๊บชนะเลย มือเบสไม่ดี ผมเอง ผมทำอีกหลายวงเลย มีอีกหลายวงเลย แล้วก็ไม่ถึงฝั่งฝันสักที จนกระทั่งประมาณปี 3 ปี 4 วง 7thSCENE ก็ถูกตั้งขึ้น วง 7thSCENE นี่คือวงที่เกิดขึ้นในละคอนถาปัด คือรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำเพลงประกอบละครมารวมตัวกัน 3 รุ่น แล้วก็มีโอกาสตั้งวงว่า 7thSCENE แล้วเอาเดโมไปส่งพี่บอย โกสิยพงษ์ ตอนนั้นพี่บอยกำลังสร้างค่าย LOVEiS พอดี เป็นช่วงที่ผลัดจาก Bakery Music เปลี่ยนเป็น LOVEiS เขาก็ต้องการวงใหม่ ๆ แล้วก็พี่อาร์ต (กฤช วิรยศิริ) มือกีตาร์วงผมก็เอาซีดีไปให้เขาฟัง แล้วก็ได้มีโอกาสบรรจุอยู่ในอัลบั้ม LOVEiS Vol.1 ประมาณปี 2005    The People: ตอนนั้นเริ่มแต่งเพลงเองหรือยัง แสตมป์: นี่ครับ ก็เป็นครั้งแรกเลย แต่งเพลงครั้งแรกคือตอนละคอนถาปัด เป็นช่วงที่ฝึกแต่งเพลงตอนนั้นมันก็มีโจทย์ให้เราว่าฉากนี้นะจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น อยากได้เพลงประกอบแบบนี้    ตอนนั้นเป็นเพลงละครเรื่อง ‘ปริศนา’ ที่เป็นชายกลาง (จากละครเวทีเรื่อง ‘ชายกลาง โศกนาฏกรรมในจังหวะแทงโก้’, 2550) ที่พี่โน้ส-อุดม (แต้พานิช) เล่น ล่าสุดใครเล่นนะ ชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน) เล่น แต่เพลงนี้ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในเวอร์ชันชายกลาง เวอร์ชันปริศนา เพลงนี้ชื่อว่า ‘เทพี’ เป็นช่วงที่ปริศนาเข้ามาในงานเต้นรำ เป็นแบบฉากที่ปริศนาเดินเข้ามา ไฟบนเวทีดับพรึ่บ แล้วคนก็หันมามองปึ๊บ ๆๆ แล้วก็บรรยายฉากนั้นมาเป็นเพลง นี่แหละครับ ก็ได้ฝึกแต่งเพลงตอนทำละครเวที    The People: ทำไมถึงได้มาร่วมงานกับค่าย LOVEiS แสตมป์: ตอนนั้นเขาก็ทำค่าย LOVEiS ต่อ แล้วก็มีอัลบั้มแรกของค่ายเลยมั้งชื่อ Rhythm & Boyd E1EVEN1H ที่พี่บอยจะเอานักร้องใหม่ทั้งหมดมาร้องเพลงของพี่บอยเอง ตอนนั้นเราเข้าไปพอดี แล้วก็พี่บอยคงจะเห็นว่าเราร้องได้มั้ง ก็เลยชวนมาร้องเพลงในอัลบั้ม Rhythm & Boyd E1EVEN1H ก็ได้มีการทำเพลงต่อยอดมา ตอนนั้นก็ได้ร้องเพลงพี่บอย 2-3 เพลง เพลงโฆษณาบ้าง ในอัลบั้มบ้าง แล้ว 7thSCENE ก็ยังทำอัลบั้มอยู่ แต่ว่ายังไม่ได้ออกอยู่ประมาณ 2-3 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการเพลงงง ๆ อยู่ว่าจะเป็นยังไงต่อไป ช่วงที่แบบซีดีขายไม่ได้ แล้วก็อินเทอร์เน็ตยังไม่บูมมากขนาดนี้ สตรีมมิ่งยังไม่มี วงการก็ยังงง ๆ ว่าเราจะทำเงินมันยังไง ก็เลยยังไม่ได้ออกเพลงอะไรสักเท่าไร ค่ายไม่กล้าลงทุน ก็เป็นช่วงสุญญากาศอยู่ประมาณ 3 ปี คือผมเรียนจบแล้ว แต่ว่ายังอยากจะลองทำตามความฝันอยู่ แต่ว่าค่ายยังไม่ให้ออกเพลง เราก็เลยยังเคว้ง  ตอนนั้นก็เลยมีโอกาสได้ไปทำอย่างอื่นก่อน ผมก็ไปเป็นดีเจอยู่คลื่น True Music พี่วินิจ เลิศรัตนชัย ชวนผมไป แล้วก็เล่นดนตรีกลางคืนอยู่ แล้วก็งานหนึ่งซึ่งทำให้ผมมีรายได้จริง ๆ ก็คือแต่งเพลง ตอนนั้นก็มีเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันที่จบมาด้วยกัน เรียนมัธยมฯ มาด้วยกัน แล้วก็เล่นดนตรีด้วยกัน เขาก็ไปเรียนต่อ มศว ส่วนใหญ่ไปเรียน มศว ดนตรีกันหมดเลย จบมาก็เข้าไปเป็นนักแต่งเพลง Grammy บ้าง RS บ้าง แต่ผมก็เรียนจบถาปัด (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) มาคนละสายใช่ไหม คอนเนคชันทางนั้นไม่มีเลย ก็เลยไปของานจากเขา ตอนนั้นก็เลยมีโอกาสได้แต่งเพลงพวก Kamikaze หรือว่าค่ายไอดอลของ Grammy ตอนนั้นชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว แต่งเพลงให้กับน้อง ๆ เหล่านั้นช่วง 2-3 ปีนั้น    The People: ช่วงนั้นมีแต่งเพลงเตรียมไว้ให้ตัวเองบ้างไหม แสตมป์: เพลงสำหรับตัวเองมันค่อย ๆ มา แต่ว่าจุดประสงค์หลักก็คือแต่งเพื่อยังชีพไว้ก่อน แล้วก็เพื่อฝึก  ตอนนั้น 7thSCENE ผมว่าผมยังไม่ค่อยกล้าเขียนเนื้อเพลงเท่าไร ช่วงนั้นก็ฝึกกับพี่บอยด้วย เอาความรู้นี้มาใช้ตอนที่แต่งให้กับน้อง ๆ ค่ายอื่น ๆ   The People: เริ่มต้นฝึกแต่งเพลงอย่างไร แสตมป์: ตอนนั้นเป็นช่วงเคว้งมาก ถ้าถามจริง ๆ ก็คือมันไร้ซึ่งแพลนอนาคต คือสมมุติว่าถ้า 7thSCENE ได้ออกแล้วไม่ดังก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะมันไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้ใช่ไหม แต่เราก็ยังอยากจะลองมัน เราก็ยังอยากจะทำในวงการนั้นอยู่ ตอนนั้นก็เลยว่าง ว่างมากเลย ว่างเหมือนตอนโควิด-19 นี่เลย (หัวเราะ) แล้วก็เลยใช้วิธีการ ผมไปอ่านหนังสืออะไรไม่รู้ เขาบอกว่าถ้าอยากจะเป็นอย่างใครให้ไปดูว่าเขาทำยังไง พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) มั้ง ตอนประมาณปี 5 มั้ง มันจะมีคลาสที่เพื่อนผมเอา...ที่เพื่อน ๆ จะเอาคนดังของประเทศนี้มานั่งบรรยาย แล้วก็ปีผมเป็นพี่เก้ง แล้วพี่เก้งก็บอกว่า เฮ้ย! ถ้าอยากเป็นอย่างไรให้ไปดูชีวิตเขานะ เขาขับรถยังไง เขาอยู่ยังไง  ผมก็เลย เฮ้ย! ผมชอบพี่บอย โกสิยพงษ์ ก็เลยขอเข้าไปนั่งในห้องอัด ไปดูว่าเขาทำอะไรกัน ด้วยความที่ว่างมาก แล้วก็ไม่มีโควิด-19 ด้วย สามารถเข้าไปใกล้ชิดได้ พี่บอยก็ไม่ว่าอะไร ให้ผมเข้าไปปุ๊บ ไปนั่ง ตอนนั้นพี่บอยจะอัดเพลงอยู่ในชั้น 1 ของบ้านแก ห้องมันจะเล็ก เล็กกว่านี้มากเลย ผมก็ต้องเข้าไปนั่ง มันจะมีห้องส้วมเล็ก ๆ ไปนั่งคุดคู้ในนั้น ไปดูเขาทำอะไรกัน พี่บอยแต่งเพลงยังไงวะ อ๋อ! เขาอัดเพลงยังไงวะ เขาคิดยังไงวะ เขาทำดนตรีเสร็จแล้วเขาทำยังไงต่อ ประมาณปีหนึ่ง ตอนนั้นพี่บอยทำอัลบั้ม BOYdPOD ผมไปเป็นไอ้นี่ด้วยนะ ผมไปเป็นผู้จัดการของพี่ป๊อด (ธนชัย อุชชิน) ช่วงหนึ่ง ไม่ใช่ผู้จัดการ AR เป็นเด็กที่คอยดูแล นี่แหละอยากเป็นอย่างไรก็ให้ไปใกล้ชิด ตอนนั้นผมก็ขอพี่ป๊อด พี่ป๊อดไปเล่นดนตรี ผมก็แบบไปเอาอาหารให้แก เอาน้ำให้แกกิน คอยกันคนให้อยู่ช่วงหนึ่ง ก็ได้รับความเมตตาจากพี่ป๊อดพี่บอย ก็มีโอกาสได้เรียนรู้แล้วก็เอาวิชาเหล่านั้นมาลองแต่งเพลงให้กับศิลปินตอนนั้น Kamikaze บ้าง เพื่อน ๆ เรา แต่ว่ามันก็มีเพลงอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเราแต่งแล้วเรารู้สึกว่าโห!มันใช้ชีวิตจิตวิญญาณของเรามากเลย เราเสียดายมัน อย่างเพลง ‘ความคิด’ หรือว่า ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ก็เป็นเพลงที่คนอื่นมอบหมายให้เราแต่ง แต่ว่าเราไม่ให้ เฮ้ย! กูขอเถอะ ชอบมากเลย    The People: ที่มาของเพลง ‘ความคิด’ แสตมป์: เพลงความคิดนี่ แนตตี้ เสือร้องไห้ เป็นคนบอกให้ผมแต่งให้เขาหน่อย ผมก็ไม่แน่ใจเขาจะเอาไปทำอะไรนะ ต้องขอบคุณแนตตี้มาก เขาก็ให้โจทย์มาแล้วก็เขียนเหมือนเป็นเรียงความส่งมาทาง Microsoft Word นี่นะ เขาเดินผ่านที่ที่เจอกับคนรักเขาทุกวันแล้วคิดถึงจังเลย อะไรงี้ เราก็แต่งเพลงจากสิ่งที่เขาเขียนตรงนั้น แล้วก็ช่วยกันทำดนตรีกับแนตตี้ จนกระทั่งเป็นเพลงความคิด แต่พอแต่งเสร็จแล้วเรารู้สึกว่าแบบตอนที่เราแต่ง เราแบบ… ห้องทำงานของผมสมัยนั้นก็เล็ก ๆ ผมก็เดินไปเดินมา เขียนแล้วมันเหงื่อแตกไปหมดเลย มันรู้สึกว่ามันมีความรู้สึกบางอย่างกับเพลงนี้ ก็เลยขอแนตตี้ว่าเฮ้ย! กูขอเหอะเพลงนี้ ชอบมากเลย แนตตี้ก็บอกเอ้ย! ไม่เป็นไร กูไม่ทำไรอยู่แล้ว เขาก็น่ารักมาก ขอบคุณแนตตี้มาก ก็เลยมีเพลงจำนวนนี้เก็บไว้ 4-5 เพลง  ตอนนั้น 7thSCENE ก็ยังไม่ได้ออก แต่ว่าเราก็มีเพลงอยู่ในสต๊อกที่ไม่ได้เป็นแนวเดียวกับ 7thSCENE อยู่ ก็เลยเก็บเอาไว้แล้วก็ไปให้พี่บอยฟัง พี่บอยก็บอกว่าเราน่าจะทำอัลบั้มของผมที่เป็นอีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่นักร้องนำวง 7thSCENE ด้วย คือเป็นนักแต่งเพลง ตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นเหมือนพี่บอย ก็คือแต่งเพลงแล้วก็ให้คนอื่นมาร้อง อยากฟังเพลงความคิดก็เชิญคิว (วงฟลัวร์) มาร้อง เพลงคนที่คุณก็รู้ว่าใคร จะให้โต๋ (ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร) ร้อง สมัยนั้นก็เป็นเพื่อนรุ่น ๆ เดียวกัน แต่ว่าพอให้โต๋ร้องแล้วเราก็รู้สึกว่า... หวงอีก หวงอีกแล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นจิตวิญญาณเรามากเลย เราอยากจะร้องเอง มันเหมือนหวงขึ้นมา  ตอนนั้นก็ร้องเพลงแบบไม่ค่อยได้ความ แต่ว่าไปขอร้องพี่ไก่-สุธี แสงเสรีชน ให้พี่ไก่ช่วยทำให้ผมร้องได้หน่อย ผมมีเพลงเหล่านี้ พี่ไก่ช่วยทำให้ผมร้องได้ดีเท่าเพื่อน ๆ หน่อย พี่ไก่ก็น่ารักมาก ๆ ก็ช่วยไกด์ให้ว่าร้องแบบนี้นะ เสียงแบบนี้นะ จนกระทั่งเป็นเพลงชุดนั้นขึ้นมา เป็นชุดแรกของผม ตอนนั้น 7thSCENE ก็ออกไปตอนต้นปี แล้วชุดของผมก็ออกตอนปลายปี ปรากฏว่า 7thSCENE พักวงไปพอดี ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ถ้าอยากจะรู้เดี๋ยวต้องเชิญอีก 2 ท่าน ปรากฏว่าเพลงความคิดดันได้ไปประกอบหนังเรื่องหนึ่ง ‘A Moment in June’ (ณ ขณะรัก, 2552) แล้วก็เกิดเป็นที่รู้จักขึ้นมา ก็เป็นความโชคดีมาก    The People: แล้ว ‘ก่อนบทเพลงจะหมดความหมาย’ เกิดจากความรู้สึกอะไร แสตมป์: ตอนนั้นมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของค่ายเพลงว่าเราจะทำยังไงต่อดี ผมอาจจะโดนบิลต์จากฝ่ายบริหารมากว่าเพลงมันขายไม่ได้โว้ยจะออกทำไม ก็เลยมีไอเดียจะแต่งเพลงนี้ขึ้นมา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีสตรีมมิ่ง ผมต้องเล่าให้ตรงนี้นะ คือเพลงนี้ถ้าบริบทด้วยตอนนี้มันอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เพลงมันทำเงินไม่ได้แล้วก็คนจะดาวน์โหลดฟรีกัน ฟรี MP3 กัน ณ ตอนนั้นมันก็เลยค่อนข้างจะงง ๆ อยู่ว่าทำยังไงต่อดี เราจะอยู่ในวงการเพลงยังไงกัน ซึ่งในที่สุดมันก็มีทางออก แต่ตอนนั้นมันยังไม่มี ก็เลยเป็นเพลงนี้ขึ้นมาว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะทำเพลงต่อไป เพราะเราชอบมัน อันนี้แหละเป็นจุดของเพลงนี้ที่บิลต์ตัวเองด้วยว่าเราดันเข้ามาในยุคที่... เขาเรียกยุคมืดก็ได้นะ ยุคมืดของวงการเพลงที่ทำเงินไม่ได้เลย    The People: มีช่วงที่แสงแห่งความหวังในการทำเพลงมันหรี่ลงบ้างไหมในช่วงนั้น แสตมป์: โอ้โห! มีตลอดเวลาเลย มันมีหลาย ๆ ช่วง มีช่วงที่มีความปรารถนาอันแรงกล้า แต่ว่าเจออุปสรรคอันยิ่งใหญ่ เจออุปสรรคเยอะ หรือว่าใจมันฝ่อ เจอคนด่าเยอะ แล้วก็มีช่วงที่รู้ว่าความฝันมันไม่ได้เป็นทุกสิ่งในชีวิตนะ มันมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นอยู่ อย่างเช่น การเลี้ยงดูครอบครัว มันก็มีหลาย ๆ แวบที่รู้สึกว่าทำอย่างอื่นดีไหม ด้วยหน้าที่ของการเป็นคนแล้ว    The People: โมเมนต์ไหนที่มีความฝันอันแรงกล้าแต่เจออุปสรรค แสตมป์: ก็มีหลายอันนะ อย่างเช่นไม่ได้ออกอัลบั้มสักที 3-4 ปีแล้ว เรามีความฝันอันแรงกล้านะ แต่ว่า ถ้าเรายังทู่ซี้ต่อไปก็... ไม่รู้จะใช้ชีวิตต่อยังไง หรือว่าช่วงที่ประสบความสำเร็จมากเลย แต่ว่าโห...มันโดนกระแสต่อต้านเยอะมาก เราเป็นคนอ่อนไหวด้วย เราแบบ… หัวใจแบบ... ไม่ไหวว่ะ ทำไมเราต้องมาเจอคนด่าเยอะขนาดนี้วะ อะไรอย่างนี้ก็มี  ผมว่าผมก็เหมือนทุกคน ผมว่าคนทำเพลง คนทำงานพวกนี้จะมีความ sensitive ค่อนข้างเยอะ แล้วพอมีคนว่าเราก็ไปเชื่อเขาว่าโอ้! เรามันแย่ขนาดนั้น ซึ่งบางทีเราก็แย่ขนาดนั้นจริง ๆ นะ แต่ว่า บางอย่างมันก็ไม่จำเป็นจะต้องหยุดเพราะมันก็ได้ แต่ ณ ตอนนั้นเราก็ดันหยุดเพราะมัน เราก็เลยแห้งไปช่วงหนึ่ง ช่วง The Voice ก็เป็นช่วงที่คนสนใจเยอะหน่อย    The People: เพราะอยู่ในกระแสคนเลยสนใจตลอด  แสตมป์: ใช่, แล้วเราก็ดันชอบไปเช็กด้วยนะ ก็เลยมีช่วงที่ในหัวเรามีแต่คำด่าของเขา แล้วก็เวลาไปเล่นดนตรี ไปโชว์ตัวที่ไหนเราก็จะแบบคนนั้นอยู่ตรงนี้เปล่าวะ อะไรอย่างนี้ ก็จะมีความหลอนนิดนึง    The People: คิดว่าหนึ่งในคนที่ดูเราอาจเป็นคนที่ด่าเรา แสตมป์: ใช่ ๆ หรือว่าในใจเขาคิดตามสิ่งที่คนด่าเราเปล่าวะ ก็เลยเป็นช่วงที่ค่อนข้างดาวน์อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็หลาย ๆ อย่างผมว่าหลายอย่างมันทับถมพอดี โห! ชื่อเสียงมันมาแบบไม่ได้ตั้งตัว แล้วเราก็ไม่เคยรู้ว่ามันต้องเจอสิ่งเหล่านี้นะ ก็เลยอาจจะเป็นช่วงที่แฮงก์ไป    The People: ตอนนั้นยังอยากทำเพลงต่อไป หรือคิดจะหยุดแล้ว แสตมป์: มีทุกความคิดอยู่ในนั้นเลย มีความคิดที่… หรือเราเลิกทำเพลงดีไหม หรือว่าเราทำเพลงต่อไปแต่อยู่เงียบ ๆ หรือเราทำเพลงต่อไปโดยไม่สนอะไร มันมีหลายอย่างมาก โชคดีภรรยาเขาคอยดูแล ไกด์ให้ อย่างช่วงที่โดนอะไรเยอะ ๆ เขาติดต่อให้ผมไปแต่งเพลงที่ต่างประเทศ ซึ่งแบบโห! มันก็เป็นอีกโลกหนึ่งเลยที่เราไม่เคยรู้จัก ก็ refresh ดี    The People: ช่วงนั้นเลยไปทำงานเพลงที่ประเทศญี่ปุ่น แสตมป์: ใช่, มีช่วงที่เราลองไปหางานที่อื่นดีไหมวะ จะได้จิตใจโล่ง ๆ ตอนนั้นก็ไปสมัครเป็นนักแต่งเพลงของค่ายหนึ่ง เขาก็ต้อนรับเราดีมาก ด้วยความที่เราแต่งภาษาไม่ได้ เขาจะเรียกคนทำแบบผมเลยว่า topliner คือในอุตสาหกรรมดนตรีที่อื่นที่มันเป็นระบบมาก ๆ สมมุติว่ามีศิลปินคนหนึ่ง แล้วเขาก็จะแบบคนคนนี้ต้องการเพลงแบบนี้ medium sound แบบนี้ แล้วเขาจะโยนให้กับนักแต่งเพลง publisher จะโยนให้กับนักแต่งเพลงหลาย ๆ คน แล้วผมก็สมัครไปเป็นทีมนั้น แล้ว topliner ก็คือคนที่ร้องเมโลดี้ลงไปข้างบน มันจะมีคนที่ทำ track พวกดีเจ ทำเพลง ทำคอร์ด ทำอะไรมา แล้ว topliner คนที่ร้องปึ๊บ ๆ ขึ้นไป ผมก็ทำตรงนั้นอยู่สักพักหนึ่งแหละ ช่วงใหญ่ ๆ เลย แต่ก็ไม่เคยได้มีเพลงไหนผ่านเลย แต่ว่ามันเป็นช่วงที่ทำให้เราได้รู้จักวงการเพลง กฎหมายลิขสิทธิ์ผมเรียนจากตรงนั้นแบบโอ้โห! เยอะมาก ได้รู้จักคนทำเพลงที่ญี่ปุ่นเยอะมาก เป็นช่วงที่โอเค ที่ไทยมันอาจจะแบบผมหนีมาแป๊บนึง แต่ว่าตรงนี้เราได้ความรู้เยอะมากเลย  อยู่ที่ไทยเราแต่งเพลงให้ตัวเองหรือแต่งเพลงให้คนอื่น เขามอบโจทย์ให้เราเราก็แต่งให้เขา แล้วเราได้แน่นอน อันนั้นเป็นระบบ pitching คือประมูลกัน เพลงไหนถูกใจเขา เขาจะเอาไปใช้ ก็ต่างเยอะเหมือนกัน    The People: เพลงไม่ชอบก็ทิ้งไปเลย แสตมป์: ใช่, ทิ้งไปเลย ผมถูกทิ้งหมดเลย (หัวเราะ)   The People: คุณเคยออกอัลบั้มที่ญี่ปุ่นด้วย แสตมป์: อันนั้นเป็นช่วงหลัง ๆ แล้ว พอเรารู้จักกับคนในแก๊งนั้นเยอะ เราก็มีโอกาสได้เล่นสด เขาก็เห็นเฮ้ย! เราเป็นนักร้องนิ เราไปนี่ไหม เล่น lighthouse ก็เลยลองตะลุยเล่น lighthouse เราก็มีความอุตริว่าอยากทำเพลงภาษาอังกฤษขึ้นมาช่วงนั้นพอดี ประมาณปี 2016 ก็ทำอัลบั้มภาษาอังกฤษ แล้ว 2017 ไปทัวร์ที่ญี่ปุ่น ทัวร์แบบไปเอง ตอนนั้นมีค่ายเพลงอินดี้ค่ายหนึ่งเขาดูแลให้ โห! เหมือนเริ่มต้นใหม่สมัย 7thSCENE เลย คือแบกเอฟเฟกต์ไว้ 2 ข้าง เอากีตาร์ไถ ๆ ไปขึ้นรถไฟ สนุกมากช่วงนั้น   The People: เหมือนได้รีเฟรชตัวเอง แสตมป์: มันทำให้เรารู้สึกว่าดนตรีมันสนุกขนาดไหน พอมันไม่มีเรื่องเงินทองชื่อเสียง ดนตรีมันคือแค่นี้เอง คือไปเล่นแล้วมีคนดู เราก็สนุกกับมัน แล้วคนดูก็สนุกกับเรา ผมว่าคนเราเป็นอย่างนี้ว่าพอเราเติมเรื่องใหม่ ๆ ให้กับสมอง ให้กับหัวใจ มันเหมือนน้ำที่มันเคยขุ่น พอเติมสิ่งใหม่ ๆ มันก็ใสขึ้น ก็กลับมาใสขึ้น และมีแรงทำเพลงต่อ    The People: มีวิธีจัดการกับความเครียดหรือรับมือกับคอมเมนต์แง่ลบอย่างไร เล่นเกม อ่านการ์ตูน แสตมป์: ก็ช่วยนะ มันแค่ให้สมองไปคิดสิ่งอื่น ซึ่งอ่านการ์ตูน เล่นเกมก็อาจจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะ distract ตัวเองไปสนใจอย่างอื่น ระยะยาวจะต้องเจริญสติมั้ง ผมก็ยังทำไม่ได้นะ ฝึกลมหายใจหรือว่าเจริญสติอะไร แต่ถ้าถามในมุมมนุษย์โลกอย่างผมก็คือก็ไปทำอย่างอื่นบ้าง งานแต่งเพลงนี้เป็นงานที่แปลก ผมเพิ่งคุยกับพี่โน้ส อุดม ไปเมื่อวันก่อน แกก็คุยกับผมแล้วผมก็เฮ้ย! เหมือนแต่งเพลงเลย แกบอกว่างานเดี่ยวของแกเป็นงานที่ถ้าตั้งใจมากมันจะทำไม่ได้ ซึ่งมันฝืนกับทุกอย่างที่เราเรียนมาตอนเด็ก ที่ผู้ใหญ่บอกเราว่า เราต้องขยัน ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ต้องทำให้ได้นะ แต่ผมว่างานแต่งเพลงหรืองานอะไรพวกนี้เป็นงานที่เหมือนใครที่บอกว่า ไม้กอล์ฟจับแน่นเกินไป ตีแล้วมันจะไม่ได้ มันต้องจับลงหลวม ๆ หน่อย ซึ่งตรงนี้มันเป็นความบาลานซ์ยากมากเลย เราเป็นคนที่ถูกฝึกให้คิดว่าความขยันคือที่สุดแล้ว เราต้องขยันเพื่อที่จะเจริญก้าวหน้า แต่พอเป็นงาน creative กลายเป็นว่าเราต้องปล่อย ๆ มันบ้าง คิดไม่ออกก็ต้องทิ้งมันไปว่ะ ก็เป็นสิ่งที่ยาก แล้วก็มันจะว่าง่ายก็ง่ายนะ ง่ายดีนี่งานของคุณเป็นงานที่ไม่ต้องคิดอะไรกับมันมาก มันบาลานซ์ยาก การไปทำอย่างอื่น น่าจะทำให้เกิดไอเดียอะไรบ้าง    The People: เคยมีช่วงแต่งเพลงไม่ออกไหม  แสตมป์: โอ้โห! ตลอดเวลา ๆ ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะ ถ้าแต่งตลอดเวลาได้ก็คงแบบห้องนี้เป็นของผมไปแล้ว ตึกนี้เป็นของผมไปแล้ว แต่ผมว่าไอ้การที่แต่งไม่ได้มันคือการที่เรามีมาตรฐานของตัวเองระดับหนึ่ง แล้วแต่งออกมารู้สึกว่าไม่ได้ ไม่ถึง เราก็จะรู้สึกว่าเราแต่งไม่ได้เลย ก็มีคนแนะนำว่าก็แต่ง ๆ ไปเหอะ ให้มันออกมาให้หมด แล้วมันจะมีอันหนึ่งที่รู้สึกว่ามันเกินแล้วค่อยใช้ ซึ่งก็ยังทำไม่ได้ หลาย ๆ คนก็บอกให้ไปทำอย่างอื่นก่อน ให้เลิกคิดไปเลย เราอาจจะปิ๊งได้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ได้ด้วย     The People: อยากจะนิยามตัวเองว่าเป็นใคร แสตมป์: ผมว่าถ้าจะให้ประกอบอาชีพหนึ่งสำหรับผม ผมอยากเป็นนักเอนเตอร์เทน ผมชอบเวลาไปเล่นดนตรีแล้วคนหัวเราะ คนยิ้ม คนร้องตาม ผมชอบสิ่งนั้นที่สุดเลย ตอนเด็ก ๆ จะชอบคิดว่าเราต้องแต่งเพลงในสตูดิโอสิถึงจะเป็นนักแต่งเพลงที่แท้จริง แต่ว่าพอโตมารู้สึกว่าสิ่งที่เราสนุก แล้วรู้สึกมีประโยชน์ต่อคนอื่นจริง ๆ ก็คือไปเล่นแล้วเขาสนุก เขาลืมความทุกข์ได้ ผมอยากเป็น entertainer    The People: แล้วถือเป็นเป้าหมายในการแต่งเพลงช่วงนี้ด้วยหรือเปล่า แสตมป์: ด้วยครับด้วย แต่ผมว่าเป็น 2 งานที่ควบคู่กันไป เวลาเราได้เล่นสด มันไม่มีอะไรเทียบได้เลย มันรู้สึกดีมากเลย ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เล่นเลย    The People: เพลงใหม่ที่กำลังปล่อยออกมาในตอนนี้เล่าถึงอะไร แสตมป์: เพลงใหม่ชื่อว่า ‘ใจอ้วน’ จำได้ว่านั่งแท็กซี่อยู่มั้ง อยู่ดี ๆ ก็ปุ๊บ ไจแอนท์ใจอ้วน เฮ้ย! ถ้ามีเพลงชื่อใจอ้วนน่าจะน่ารักดีนะ มันมีเพลงใจบาง ๆ ไปแล้วใช่ไหม เราน่าจะมีเพลงใจอ้วน ๆ บ้าง ใจบาง ๆ คือความหวิวที่มันรู้สึกหวิว ๆ เมื่อเขาอยู่ใกล้หรือเมื่อเขาจากไป แต่ว่าเพลงใจอ้วน ๆ น่าจะเป็นเพลงที่พูดถึงความอัดแน่นของความรู้สึก เพลงนี้ก็เลยพูดถึงคนที่เข้ามาทำดีกับเรามาก ๆ แล้วเรารู้สึกโอ๊ย! หัวใจพองโตมากเลย จนมันรู้สึกอยากจะให้เขาควักหัวใจดวงนี้ออกไปอุ้มหน่อย ก็เลยเป็นเพลงใจอ้วนขึ้นมา    เพลงนี้ก็ได้ featuring กับ Young K จากวง Day6 ผมเป็นแฟนเพลงของ Day6 อยู่แล้ว แล้วก็รู้จักกับ Young K มาก่อนหน้านี้ผ่านการแนะนำของเพื่อน ๆ แล้วก็มีโอกาสได้ทำเพลงนี้เสร็จ แล้วคุยกับทาง JYP Thailand ว่าเราน่าจะมีศิลปินเกาหลีสักคนมาแร็ปในเพลงนี้หน่อยนะ เขาก็ส่งชื่อมาหลาย ๆ ชื่อ เราก็เลยเลือก Young K มา เรารู้จักเขาอยู่แล้ว แล้วก็ชอบเพลงของเขาด้วย  ด้วยความที่เป็นโควิด-19 กันอยู่ใช่ไหม ก็เลยบินไปไม่ได้ เขาก็บินมาไม่ได้ ก็เลยต้องทำเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตกัน ผ่าน Google Drive กัน ก็โยนกันไปโยนกันมา ตอนนี้ยังไม่ได้เจอหน้ากันเลยตั้งแต่ทำเพลง แต่ว่าก็ได้พูดคุยกันผ่านล่ามว่าเพลงนี้มันแปลว่าอย่างนี้นะ ตอนนี้นาทีที่เท่านี้ น่าจะเป็น Young K เข้ามานะ อะไรอย่างนี้    The People: ฝากผลงานเพลงหน่อย แสตมป์: ก็ฝากผลงานเพลงใจอ้วนนะครับ แล้วก็เพลงอื่น ๆ ก็ไป subscribe ใน YouTube ของผมได้ที่ 123records นะครับ